รูป..สื่อการสอนที่มุสลิมพึงระวัง


รูป คือ สื่อง่ายๆที่ใช้ได้ดี แต่ในการนำไปใช้ควรคำนึงถึงขอบเขตของมันด้วย

                วันนี้ขอพูดถึงอดีตนิดหน่อย .               

                เมื่อครั้งที่ผมเรียนอยู่ปีสุดท้ายของหลักสูตร B.Ed. in Science(Physics), King Saud University, Riyadh ประเทศซาอุดิอาราเบีย  ก็ต้องออกไปฝึกสอนเหมือนทุกคนที่เรียนหลักสูตรศึกษาศาสตร์ ผมเลือกสอนในโรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่งใกล้ๆกับมหาวิทยาลัย เพราะสะดวกในการเดินทางและไม่ยุ่งยากเหมือนโรงเรียนใหญ่ ที่สำคัญผมอยากเรียนรู้ระบบโรงเรียนของเขาทั้งระบบด้วย

                 ผมสอนวิชาวิทยาศาสตร์ชั้น ม 1 นักเรียนในชั้นที่ผมสอนก็คล้ายๆกับนักเรียนชั้นอื่นๆ เป็นลักษณะของเด็กซาอุฯ ซน ดื้อ ต้องใช้พลังอย่างมากที่จะทำให้สนใจในบทเรียนที่เราสอน แต่ข้อดีของเขา คือ ไม่เป็นนักเรียนแบบอะไรก็ได้เหมือนเด็กไทย จะมีเสนอข้อคิดเห็นตลอด ถ้าถามอะไรพวกเขาจะแย่งตอบ ถูกบ้าง ผิดบ้าง แม้แต่เด็กที่ไม่เคยสนใจเรียนก็จะยกมือขอตอบ เลยทำให้การเรียนการสอนบรรลุจุดประสงค์ไม่ยากนักวันหนึ่ง...

                 ผมสอนในหัวข้อสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เป็นเรื่องยากมากเลยที่จะบอกชื่อสัตว์ต่างๆ ในให้พวกเขาที่อยู่ท่ามกลางทะเลทราย นึกภาพตามที่เราพูดถึง(แถมต้องเรียกชื่อสัตว์ต่างๆเหล่านั้นด้วยภาษาอาหรับด้วยยิ่งทำให้ผู้สอนมีปัญหามากขึ้น) ก็เลยให้งานพวกเขาทำโดยให้พวกเขาไปรวบรวมภาพสัตว์ต่างๆ แล้วมาแยกว่าอันไหนคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม อันไหนคือสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง และอันไหนที่ไม่ใช่ทั้งสอง..

                 แต่อาจเป็นด้วยสาเหตุที่พวกเขาไม่อยากทำงานหรืออย่างไรนั้นไม่อาจรู้ได้ พวกเขาไปฟ้องครูสอนศาสนาผมว่าสั่งให้พวกเขาหารูปสัตว์ ครูสอนศาสนาก็เรียกผมไปคุยบอกว่าทำแบบนั้นไม่ได้มันผิดศาสนา.. เขาอาจจะมองว่าผมไม่ใช่คนอาหรับ อาจจะไม่เข้าใจศาสนาดี อาจทำอะไรที่ไม่ถูกต้องไปบ้าง แต่จริงๆแล้วเรื่องการใช้สื่อลักษณะนี้ผมรู้ดีว่าอย่างไรได้และอย่างไรไม่ได้ผมก็บอกครูท่านนั้น(ซึ่งไม่ได้เป็นคนแก่หรือคนตาบอดอย่างที่บางคนเขาว่า) ....

                  .ถ้าอยู่เมืองไทยผมสามารถพานักเรียนไปดูได้ไม่ยากนัก (คุยไปงั้นเอง)...

                  ถ้าที่นี้(ซาอุฯ) มีสวนสัตว์ดีๆ ก็จะพานักเรียนไปดู (แต่เป็นไปได้ยาก)...

                  และอย่างพวกปลาวาฬ ปลาโลมา เราจะให้เด็กไปดูที่ไหนเราจำเป็นต้องใช้สื่อ ช่วยให้เด็กเข้าใจ .....

                ..ทำไมครูสอนศาสนาท่านนั้นบอกการนำรูปภาพมาผิดศาสนา ผมก็ศึกษาได้ดังนี้ครับท่านนบีมุฮำมัด(ศอลฯ) ได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า

‏كُلُّ مُصَوِّرٍ فِي النَّارِ يَجْعَلُ لَهُ بِكُلِّ صُورَةٍ صَوَّرَهَا نَفْسًا فَتُعَذِّبُهُ فِي جَهَنَّمَ 

         ความว่า : ผู้สร้างรูปทุกคนตกนรก และรูปที่เขาสร้างขึ้นมานั้นจะถูกใส่วิญญาณ และถูกทรมานในนรก (รายงานโดยมุสลิม)

               และมีรายงานอีกว่าท่านนบี(ศอลฯ) ห้ามมีรูปในบ้าน และห้ามสร้างรูปด้วย และท่านใช้ให้อุมะร์ อิบนุ อัล-ค็อฏฏอบ(รอฎีฯ) ล้างรูปให้หมดที่อยู่ที่กะอฺบะฮฺ และจะไม่เข้าบ้านจนกว่าบ้านนั้นจะลบล้างรูปให้หมดจากบ้าน (รายงานโดย อะฮฺหมัด)

               จากทั้งสองหะดีษ เป็นที่ชัดเจนว่า อิสลามห้ามการสร้างและการมีรูป 

              อุลามาอฺหรือผู้รู้ในอิสลามได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับคำว่า  صورة (รูป) ออกเป็นสองลักษณะ

              1.        หมายถึง รูปปั้น อันนี้อุลามาอฺส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า ถ้าเป็นรูปคนหรือสัตว์ เป็นสิ่งที่ห้าม ไม่ให้สร้างและไม่ให้มี เว้นแต่ รูปที่เป็นของเด็กเล่น เพราะมีรายงานว่า ครั้งหนึ่งท่านหญิงอาอิชะห์ภรรยาท่านนบีได้เล่นกับหลานและมีของเล่นที่เป็นรูปม้าที่มีปีก นบีเห็นนบีก็ไม่ได้ว่าอะไร ส่วนรูปปั้นที่เป็นรูปอื่นๆ ที่ไม่ใช่รูปสัตว์หรือรูปคนสามารถมีได้ 

              2.        หมายถึง รูปภาพ ถ้าเป็นรูปภาพที่ไม่ใช่ภาพคนและสัตว์ สามารถสร้างและมีได้ ส่วนรูปภาพที่เป็นภาพคนหรือสัตว์  อุลามาอฺยังมีความเห็นที่แตกต่าง โดยเฉพาะรูปภาพที่ไม่ใช่ภาพวาดแต่เป็นภาพถ่าย อุลามาอฺบางท่านให้ความเห็นว่าไม่ได้เป็นภาพที่เกิดขึ้นจากการสร้างหรือการวาดจากฝีมือมนุษย์ก็คล้ายกับภาพที่เกิดขึ้นบนกระจกเงา เพียงแต่ว่าภาพถ่ายนั้นจะติดที่กระดาษ ฉะนั้นการมีและการใช้ภาพลักษณะนี้อนุโลมให้ใช้ได้ ส่วนภาพที่เกิดจากการวาดจัดอยู่ในกรณีเดียวกับรูปปั้นตามข้อที่ 1 จะสร้างและมีไม่ได้

                อย่างที่กล่าวมาข้าต้น บางครั้งครูจำเป็นต้องใช้รูปคนหรือสัตว์เพื่อสร้างความเข้าใจแก่เด็กให้ดียิ่งขึ้น(ตามหลักทฤษฎีของเกสตอลท์) และบางครั้งใช้การบรรยายหรือบอกเล่าอย่างเดียวนักเรียนไม่สามารถที่จะเข้าใจอย่างถูกต้องได้ หรือถ้าไม่สามารถให้เด็กไปสัมผัสของจริงได้ ครูจำเป็นต้องใช้โมเดลหรือรูปช่วยในการสอน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เกิดคำถามเปิดขึ้นจะใช้รูปปั้นหรือรูปเป็นสื่อการเรียนการสอนได้ไหม

                -          รูปปั้นที่รูปสัตว์หรือรูปคนเต็มตัวหรือครึ่งตัวที่จะตั้งแสดงไว้ในบ้านหรือในห้องนั้นไม่ได้เด็ดขาด แต่ถ้ามีเพื่อการศึกษา เช่น จะอธิบายโครงสร้างของคนหรือสัตว์ ทั้งภายนอกและภายใน สำหรับนักเรียนนักศึกษาบางสาขาวิชา อาจจะมีได้แต่ไม่ควรเป็นรูปเต็มตัว

               -          รูปภาพ ควรใช้ภาพถ่ายที่ถ่ายจากตัวจริง แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ภาพวาดไม่ควรเป็นรูปเต็มตัว อุลามาอฺบางท่านอนุโลมให้ใช้ในลักษณะนี้ได้   ผมได้อ่านหนังสือของ เชคอับดุลมาญีด อัล-ซันดานี ซึ่งเป็นที่รู้จักว่าท่านเป็นผู้เคร่งศาสนาผู้หนึ่งและมีแนวคิดเป็นวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยที่วางอยู่บนพื้นฐานอัลกุรอาน ในหนังสือของท่านถ้ามีรูปสัตว์จะมีเส้นขีดฆ่าเพื่อให้เห็นรูปที่ไม่เต็มตัว

                 วันหลังผมจะกล่าวถึงเจตนารมณ์ของการห้ามรูปต่างๆ เหล่านี้

หมายเลขบันทึก: 61633เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2006 14:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
ถ้าอย่างนั้นเราถ่ายรูปรับปริญญาติดไว้ที่ฝาบ้านได้หรือไม่เพราะเหตุใด

ขออนุญาตเสริมในเรื่องของการใช้รูป

ความเห็นของผม ผมมองเห็นว่าต้องแยกเป็นกรณีๆ ไป อย่างหะดีษที่อาจารย์ยกมาอ้างในเรื่องของรูปนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นกรณีทั่วๆ ไป เพื่อป้องกันการนำรูปดังกล่าวที่สร้างขึ้นไปสู่การเชื่อหรือศรัทธาต่อสิ่งอื่นหรือการตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์

สำหรับการสอนนั้น เราจะเห็นได้ว่าในการให้ความรู้แก่ซอฮาบะห์ของท่านรอซูลนั้น บางครั้งท่านได้วาดรูปบนพื้นดินด้วย ดังรายงานจากซุนนะฮิ มุตอฮีเราะ กล่าวว่า แท้จริงท่านนบีได้พำนักในสถานที่แห่งความรู้ ในการที่จะสอนซอฮาบะห์ได้รู้ถึงความหมายที่ชัดเจน และมีความจำที่ยืนยาว จึงมีการขีดเขียน เพื่อให้การเรียนรู้นั้นชัดแจง

และท่านอาบูฆอดะห์ กล่าวว่า เมื่อก่อนฉันไม่เคยเห็นท่านรอซูลขีดเส้น 4 เส้นดังกล่าวเพื่อความประเสริฐของสตรีทั้งสี่ท่านที่ประเสริฐที่สุดในสวนสวรรค์ จากการประกาศดังกล่าวเป็นการประกาศจากท่านรอซูลเอง และจากได้ดูจากการท่านได้ขีดเขียนเส้นด้วยมือของท่านเอง

และครั้งหนึ่งท่านนบีได้วาดรูปสี่เหลี่ยมแล้วกล่าวว่า นี้คือายุขัยของมนุษย์ในรูปสี่เหลี่ยม แล้วท่านวาดรูปวงกลม แล้วกล่าวว่า นี้คือลูกหลานอาดัม ส่วนนอกกรอมสี่เหลี่ยมท่านได้วาดวงกลมอีกรูปหนึ่งแล้วกล่าวว่า นี้คือความต้องการของมนุษย์

ส่วนคำถามที่ว่าใช้ภาพเป็นสื่อในการสอนได้หรือไม่นั้น นักวิชาการฮาดิษบางท่านกล่าวว่า ท่านนนบีได้ใช้สื่อประเภทนี้และมีปรากฏเป็นฮะดีษในซอเอี๊ยะบุคคอรี เช่น รายงานจากอับดุลลอฮ์ บินมัสอูด กล่าวว่า ท่านนบีได้ขีดเส้นเป็นสี่เหลี่ยมและขีดเส้นอีกเส้นหนึ่งตรงกลางของมันจนมันเลยออกไป และท่านได้ขีดเส้นอีกเส้นหนึ่งเป็นเส้นเล็กๆ  แล้วท่านก็กล่าวว่า นี้คือมนุษย์และนี้คือสิ่งที่ถูกกำหนดแก่เขาเป็นสิ่งที่ล้อมรอบเขาอยู่ และเส้นที่อยู่ข้างนอกนั้นคือ ความใฝ่ฝันของเขาและเส้นเล็กๆ เหล่านั้นคือ สิ่งที่มาประสบกับเขา เมื่สิ่งนี้มันได้พลาดจากเขาไป สิ่งนี้มันก็จะมาเขมือบเขาต่อ และเมื่อสิ่งนี้พลาดจากเขาไป สิ่งนี้ก็จะมาเขมือบเขาต่อ

ผมเชื่อว่าในสมัยของท่านรอซูล ภาพน่าจะเป็นในทำนองเดียวกันคือ เป็นลายเส้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าในการสอนของท่านเองท่านก็ใช้ภาพประกอบ

ส่วนการใช้สิ่งมีชีวิตเพื่อการประดับบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำภาพรับปริญญามีติดไว้ที่ฝาบ้าน อันนี้คงไม่ต้องสงสัยว่าได้หรือเปล่า เพราะคำตอบก็คือ ไม่ได้ เพราะนอกจากจะเป็นภาพแล้ว เจตนาในการไปติดไว้ก็ถ้าไม่ใช่ ความภูมิใจของตนเองในความสามารถ (ซึ่งมุสลิมก็ไม่ควรมี) ก็เพื่อโอ้อวด ซึ่งมุสลิมก็ไม่ควรมีเช่นกัน

 

  • สรุปว่าภาพวาดเหมือนไม่อนุญาติใช่ไหมคะ

..................

 

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปภาพ
ในอิสลามห้ามไม่ให้มีรูปคนและรูปสัตว์ติดผนังบ้านเพราะบาป

       จากความคิดเห็นของอาจารย์ที่ว่า  การใช้สิ่งมีชีวิตเพื่อการประดับบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำภาพรับปริญญามีติดไว้ที่ฝาบ้าน อันนี้คงไม่ต้องสงสัยว่าได้หรือเปล่า เพราะคำตอบก็คือ ไม่ได้ เพราะนอกจากจะเป็นภาพแล้ว เจตนาในการไปติดไว้ก็ถ้าไม่ใช่ ความภูมิใจของตนเองในความสามารถ (ซึ่งมุสลิมก็ไม่ควรมี) ก็เพื่อโอ้อวด ซึ่งมุสลิมก็ไม่ควรมีเช่นกัน 

    กระผมขอสนับสนุน  และขอเสนอแนะอีกประการนี้  ปัจจุบันวัยรุ่นชอบเก็บตุ๊กตาไว้บนเตียงนอน   เพราะเป็นสิ่งของที่ระลึกจากคนพิเศษ  และก็ไม่กลัวว่าอะไรเป็นอะไร  ดังนั้นอยากให้อาจารย์แสดงความคิดเห็นและยกหลักฐานประกอบด้วย  ............วัสสาลาม

รูปถ่ายส่วนใหญ่มีไว้ดู   แต่ไม่บูชา  ผิดด้วยหรือ ขอความชัดเจนในส่วนของรายงานที่ว่า ครั้งหนึ่งท่านหญิงอาอิชะห์ภรรยาท่านนบีได้เล่นกับหลานและมีของเล่นที่เป็นรูปม้าที่มีปีก นบีเห็นนบีก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะอะไร

อัสสะลามุอะลัยกุม

ผมขออนุญาตแสดงความคิดเห็นด้วยนะครับ  อันที่จริง  ผมก็เคยเรียนกับอาจารย์ที่สอนศาสนามา  ท่านเคยบอกว่า "ถ้าเป็นตุ๊กตาเด็กเล่น  ไม่เป็นไร  แต่ถ้าเป็นรูปภาพสิ่งมีชีวิตไม่ได้(ห้าม)"  ผมขออนุญาตท่านอาจารย์ช่วยอธิบายหน่อยครับ  จากรายงานที่ว่า ครั้งหนึ่งท่านหญิงอาอิชะห์ภรรยาท่านนบีได้เล่นกับหลานและมีของเล่นที่เป็นรูปม้าที่มีปีก นบีเห็นนบีก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะเหตุใด  อยากทราบครับ...เพื่อเป็นความรู้ในการเผยแผ่ต่อไป

นานมากที่ไม่ได้ตอบ ขอตอบเท่าที่รู้หรือเท่าที่ทำได้ก็แล้วกัน

หะดีษนบี(ศ็อลฯ) มีอยู่ว่า

 قَدِمَ رَسُولُ اللهِ ‏‏صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ‏مِنْ ‏‏غَزْوَةِ‏ ‏تَبُوكَ‏ ‏أَوْ ‏خَيْبَرَ‏ ‏وَفِي ‏سَهْوَتِهَا ‏سِتْرٌ فَهَبَّتْ رِيحٌ فَكَشَفَتْ نَاحِيَةَ السِّتْرِ عَنْ بَنَاتٍ ‏لِعَائِشَةَ‏ ‏لُعَبٍ فَقَالَ مَا هَذَا يَا ‏عَائِشَةُ ‏قَالَتْ بَنَاتِي وَرَأَى بَيْنَهُنَّ فَرَسًا لَهُ جَنَاحَانِ مِنْ ‏‏رِقَاعٍ ‏ ‏فَقَالَ مَا هَذَا الَّذِي‏ ‏أَرَى وَسْطَهُنَّ قَالَتْ فَرَسٌ قَالَ وَمَا هَذَا الَّذِي عَلَيْهِ قَالَتْ جَنَاحَانِ قَالَ فَرَسٌ لَهُ جَنَاحَانِ قَالَتْ أَمَا سَمِعْتَ أَنَّ ‏لِسُلَيْمَانَ‏ ‏خَيْلاً لَهَا أَجْنِحَةٌ قَالَتْ ‏‏فَضَحِكَ حَتَّى رَأَيْتُ ‏نَوَاجِذَهُ

ความว่า : ท่านเราะซูลุลลอฮฺ(ศ็อลฯ)กลับจากสงครามตะบูกหรือคัยบะรฺ ลมได้พัดกระท่อมเก่าๆที่มีผ้าม่านอยู่ ผ้าม่านก็ได้เปิดเห็นหลานๆท่านหญิงอาอิชะฮฺกำลังเล่นอยู่ ท่านนบีก็ถามอาอิชะฮฺว่า “นี้อะไร?” อาอิชะฮฺตอบว่า “หลานฉัน” ระหว่างเด็กๆเหล่านั้นมีรูปปั้นม้าที่มีสองปีกผิดธรรมชาติอยู่ ท่านก็ถามต่อว่า “อะไรที่เห็นอยู่ระหว่างเด็กๆเหล่านั้น” ท่านหญิงอาอิชะฮฺตอบว่า “ม้า” แล้วท่านก็ถามต่อว่า “แล้วข้างบนมันละเป็นอะไร?” อาอิชะฮฺตอบว่า “ปีกสองข้าง” ท่านก็กล่าวว่า “ม้ามีสองปีกด้วยหรือ” อาอีชะฮฺกล่าวตอบว่า “ท่านไม่เคยได้ยินหรือว่า ม้าของสุไลมานมีกปีก” อาอีชะฮฺว่า ท่านนบีหัวเราะจนเห็นฟัน (บันทึกโดย อะบูดาวูด)

จากหะดีษนี้ อุลามอฺบางคนได้ให้ความเห็นว่า รูปปั้นหรือรูปที่เป็นตัว ให้เด็กหญิงเล่นถือว่าไม่ผิด เพราะจะเป็นฝึกฝนเขาในการเลี้ยงดูลูกๆในอนาคต

วาดรูปสิงมีชีวิตได้มัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท