บังอาจตีความ ศก.พอเพียง
จากพอมี พอกิน พัฒนาไปจนถึงกินดี อยู่ดี หรือกินอิ่ม นุ่งอุ่น ไปสู่ กินแซบ นุ่งสวย
- พอเพียงนี้ ก็หมายความว่า
ให้ทุกคนพอมีพอกิน ไม่ฟุ่มเฟือยไม่หรูหรา แต่ว่าพอ ข้อความนี้เคยอ่านเจอที่สะพานลอยข้ามถนนที่อำเภอพุนพิน สุราษฎร์ธานี เมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว ตอนนี้ไม่ทราบว่ายังมีอยู่หรือไม่
- เศรษฐกิจพอเพียง เป็นคำที่ฮิตมาก มาตั้งแต่แผนฯ9 และมาเด่นชัดในยุครัฐบาลท่านพลเอกสุรยุทธฯ
- จุดด้อยของเศรษฐกิจพอเพียง คือ การที่คนไทยเคารพองค์พระมหากษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง เมื่อทราบว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพระราชดำรัส ก็เลยไม่กล้าตีความ เมื่อไม่บังอาจตีความ มันก็เลยทำให้มึนงงกันไปหมด ประโยชน์ที่บ้านเมืองจะได้รับ มันก็หย่อนไป
- ผมขอบังอาจสักครั้ง ขอตีความ เศรษฐกิจพอเพียงพอเป็นสังเขป ดังนี้
- แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการรวบรวมแนวความคิดหลัก อย่างน้อย 3 ทางด้วยกัน
1 คำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้ครอบคลุมแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงทั้งหมด ทุกระดับองค์กร และธุรกิจ
2 แนวคิดทฤษฎีลดการพึ่งพิง
นำไปสู่การช่วยเหลือตนเองก่อน ค่อยพึ่งพิงคนอื่น
3 แนวคิดทฤษฎีความจำเป็นพื้นฐาน
คือการไม่ฟุ้งเฟ้อ ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น คือใช้ในระดับปัจจัยสี่
- เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร
?
คือวิธีการให้คุณค่าต่อสรรพสิ่ง ต่ออารมย์(คือสิ่งที่จิตเข้าไปจับ) เป็นวิธีคิด วิธีตัดสินใจในแต่ละทางเลือกสุดท้าย เป็นวิธีการในการปฏิบัติตลอดสายการผลิต หรือตลอดสายกิจกรรม
- ปัญหาเดิมๆของบ้านเรา ก็คือปัญหาห้าหมู่ คือการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ค่านิยม และธรรมชาติ(สิ่งแวดล้อม)
- บ้านเมืองเราประสบปัญหาห้าหมู่ดังกล่าวข้างต้น ทำให้บ้านเมืองตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ คือ โง่ จน และเจ็บ ทั้งสามอย่าง ซึ่งเป็นทั้งมูลเหตุ และผลซึ่งกันและกัน
- การพัฒนาที่ผิดพลาด
เดิมเป็นแนวคิดในการพัฒนาแบบรถจักรไอน้ำ คือการเอาพลังงานใส่ที่หัวรถจักร หรือเปรียบเสมือนส่วนกลาง หรือกรุงเทพฯ หวังว่าหัวรถจักรจะลากตู้สินค้า ตู้โดยสาร หรือจังหวัดทุกจังหวัดให้เจริญไปด้วย แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ มันโตเฉพาะกรุงเทพฯ
- เอาใหม่
พอเข้ายุคเศรษฐกิจพอเพียง กำลังเปลี่ยนแนวเป็นแบบ ดีเซลราง หรือสปรินเตอร์ คือการใส่พลังงานไปที่ทุกตู้ หรือทุกองค์กร ทุกท้องที่ หรือทุกท้องถิ่น ให้บริหารจัดการกันเอง คาดว่าจะทำให้ทุกตู้ ทุกโบกี้ สามารถมีพลังของตนเอง ช่วยกันผลักช่วยกันเคลื่อนที่ หรือสร้างงานได้เอง
- เป้าประสงค์ หรือจุดหมายของเศรษฐกิจพอเพียง
มุ่งสู่ความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อที่มนุษย์จะคงอยู่อย่างยั่งยืน ในสิ่งแวดล้อมที่ดี คืออยู่อย่างปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ปราศจากความหวาดกลัว มีความมั่นคง ไม่ยากลำบาก คือไม่โง่ ไม่จน ไม่เจ็บนั่นเอง ตัวอย่างของความมั่นคงเช่นระบบการออมแบบเครดิตยูเนี่ยน จากการมีรายได้ถาวร นอนตายตาหลับ เป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศ จากพอมีพอกิน เป็นกินดีอยู่ดี หรือจากระดับกินอิ่ม นุ่งอุ่น เป็น กินแซบ นุ่งสวย
- แนวคิด แนวทางปฏิบัติ หรือหัวใจของเศรษฐกิจพอเพียง
พอเป็นสังเขป
1 การลดการพึ่งพิง คือพึ่งตนเองก่อน ก่อนพึ่งคนอื่น
2 การประมาณตน(มัตตัญญุตา) ไม่เป็นแบบช้างขี้ ขี้ตามช้าง หรือนกน้อยทำรังแต่พอตัว
3 ประหยัด อดออม เมื่อมีเงินออมนำเงินไปลงทุนถูกทาง
4 การเติบโตจากเล็กไปหาใหญ่ ค่อยๆเรียนรู้ ฝึกทักษะ จนเข้าใจลึกซึ้ง(ทำแบบไทย ทำจากใหญ่ไปหาเล็ก ทำแบบเจ๊ก ทำจากเล็กไปหาใหญ่)
5 การเติบโตจากภายในสู่ภายนอก เป็นการฝึกวิทยายุทธ์จากในกะลา ก่อนออกนอกกะลา หรือเหมือนกับการฟักไข่ ออกมาจากเปลือกไข่
6 การเรียนรู้ คือการฝึกเรียนผิดเรียนถูกด้วยตนเอง เมื่อถูกทางค่อยขยายงาน
7 การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือการทำงานร่วมกับผู้อื่น ในชุมชน ในองค์กร
8 การแข่งขันภายใน เป็นกระบวนการเรียนรู้ เช่นการลดต้นทุนการผลิต ไม่ต้องแข่งกันลดราคา เป็นการแข่งขันกับตนเอง ไม่ใช่แข่งขันกับผู้อื่น
9 การสร้างภูมิคุ้มกัน ทำจริง แก้ปัญหาจริง จนแตกฉาน มั่นใจ มรสุมที่ใหญ่กว่าก็รับได้
10 การลดความเสี่ยง กระจายความเสี่ยง สร้างสถานการณ์จำลอง และอื่นๆ
- ระดับของเศรษฐกิจพอเพียง
1 ระดับปัจเจก หรือระดับตัวคน เช่น การดำรงตนในศีล ในสัตย์ ขยัน ประหยัด อดออม ลงทุนถูกทาง มีส่วนร่วมในสังคม ชุมชน ด้านการเกษตรยึดระบบเกษตรทฤษฎีใหม่ กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน เหลือแจกจ่ายเพื่อนบ้านเพื่อสร้างรั้วน้ำใจ และขายในที่สุด หรือแปรรูปเพิ่มมูลค่า
2 ระดับครอบครัว
คือการเอื้ออาทรกันและกัน ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ การลด กระจายความเสี่ยง กำหนดผังการใช้ที่ดิน มีแผนการผลิต การกระจายการใช้แรงงาน การร่วมกันออม ร่วมกันลงทุนในชุมชน ร่วมกิจกรรมในสังคม
3 ระดับชุมชน สร้างกิจกรรมการมีส่วนร่วม ตามความเหมาะสม เช่นมีระบบการออมแบต่างๆ เช่น กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารหมู่บ้าน(ยุทธศาสตร์ธนาคารชาวบ้าน โรงงานชนบท) กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เครดิตยูเนี่ยน มีร้านค้าชุมชน ธนาคารข้าว ธนาคารโค กระบือ ธนาคารแรงงาน วิสาหกิจชุมชน สร้างสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และอื่นๆ อันจะนำไปสู่ชุมชนเข้มแข็ง คือ รวมกลุ่มคน ร่วมกันคิด ร่วมกันผลิต ร่วมกันขาย ร่วมกันจ่าย ร่วมกันออม วัฒนธรรมพร้อม สิ่งแวดล้อมดี มีคุณธรรม
4 ระดับเหนือขึ้นไป
เช่นอำเภอ จังหวัด ประเทศ และนานาชาติ มีกิจกรรมต่างๆมากมาย เช่น ระบบ
Logistic
คือระบบเครือข่ายการขนส่งที่มีตัวสินค้าด้วย เช่นสินค้าชุมชน สินค้าจากวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนของคนทั้งประเทศ ธุรกรรมอื่นๆ เช่นประกันภัย ประกันชีวิต ตลาดหลักทรัพย์ ศูนย์รวมและกระจายสินค้า โรงงานแปรรูประดับจังหวัด เช่นโรงสี โรงอบ โรงกวน ห้องเย็น ห้องแช่แข็ง นำผลิตผลหลากหลายจากทั่วประเทศ ขนส่งไปแปรรูปเพิ่มมูลค่า และกระจายออก จนกระทั่งเชื่อมเครือข่ายนานาชาติ ส่วนระบบบริหารองค์กรใช้ระบบเลือกตั้งขึ้นมาเป็นชั้นๆของผู้มีส่วนได้เสีย
- มาตรการเสริม ที่ควรมี เช่น
1 การจัดการระดมทุนไปสร้างวิสาหกิจต่างๆ ให้ประชาชนทุกคนมีช่องทางการลงทุน ตลอดสาย คือการเป็นเจ้าของทุนนั่นเอง
2 การสานเครือข่าย ให้ได้จนถึงระดับนานาชาติ อาจจะใช้ช่องทางเครดิตยูเนี่ยน ซึ่งมีสมาชิกร่วม 100 ประเทศ
3 การสร้างวิสาหกิจแนวตั้ง เป็นวิสาหกิจรายกิจกรรม เช่นเครือข่าย
[Cluster]
ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ไม้ผล และอื่นๆ ให้ผู้มีอาชีพเหล่านั้นมีโอกาสกำหนดอนาคตของตนเอง
4 การจัดองค์กร ใช้ระบบการเลือกตั้งทั้งสิ้น
5 สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างหลากหลาย จากระบบล่างสุด ถึงบนสุด
บทสรุป
การนำเอาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ แม้จะสายไปหน่อย เพราะได้กำหนดปักธงไว้ตั้งแต่แผนฯ9 แต่ก็ไม่ได้นำมาใช้ มัวแต่ ลด แลก แจก แถมกันอยู่ ได้ทำลายค่านิยมดีๆของคนไทย ไปสู่บริโภคนิยม ถึงหยิบมาปัดฝุ่นช้าไปหน่อย แต่ก็ดีกว่าไม่ได้ทำเลย น่าจะเกิดสิ่งดีๆขึ้นในอนาคต เช่น
1 เกิดกระบวนการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสังคมไทย
2 เกิดช่องทางในการเป็นเจ้าของทุนวิสาหกิจ
3 เกิดการมีส่วนร่วม ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ
4 จะเกิดองค์กรใหม่ คือองค์กรแห่งการเรียนรู้
5 เกิดระบบการพัฒนาทั่งยืน มั่นคง
6 เป็นการแก้ไขปัญหาความยากจน
ท้ายที่สุด ก็จะถือเป็นการจัดการความรู้
[Knowledge Management]
ที่น่าจะทรงประสิทธิภาพที่สุด คือการเรียนรู้จากการกระทำจริง ด้วยตนเอง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไชยยงค์ คงตรีแก้ว ใน สถาปนิกสังคม
คำสำคัญ (Tags)#เศรษฐกิจพอเพียง
หมายเลขบันทึก: 61624, เขียน: 21 Nov 2006 @ 13:56 (), แก้ไข: 08 May 2012 @ 04:16 (), สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ, ความเห็น: 3, อ่าน: คลิก