ศึกษาพฤติกรรม คุณธรรม และจริยธรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา คนอง วังฝายแก้ว สาขาวิชารัฐศาสตร์ มจร.วข.พะเยา


บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาพฤติกรรมทางการเมือง คุณธรรมและจริยธรรม

ทางการเมืองของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา วิชาเอกการเมืองการปกครอง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ศึกษาในครั้งนี้ ได้แก่ บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา วิชาเอกการเมืองการปกครอง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา และผู้บังคับบัญชาของบัณฑิต จำนวน 264 รูป/คน ได้แบบสอบถามคืน จำนวน 198 ชุด คิดเป็นร้อยละ 75 ในการวิจัยครั้งนี้ใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์เนื้อหา

ผลการวิจัย พบว่า (1) บัณฑิตมีพฤติกรรมทางการเมืองดังนี้คือ เข้าร่วมพฤติกรรมทางการเมือง ได้แก่ การเป็นวิทยากร การอบรมสัมมนา การเทศนาทางการเมือง การไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง กิจกรรมทางการเมืองที่เข้าร่วมบ่อยที่สุด ได้แก่ การเข้าร่วมประชุม การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การเป็นวิทยากร การอบรมสัมมนา การให้คำปรึกษา บัณฑิตนำความรู้ความเข้าใจไปใช้ในกิจกรรมทางการเมืองอยู่ในระดับปานกลาง และมีพฤติกรรมทางการเมือง เมื่อมีสิทธิเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง ได้แก่ การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มการเมือง การเข้าร่วมรณรงค์หาเสียง การให้คำปรึกษาหรือให้ความรู้ความเข้าใจด้านการเมืองที่ถูกต้องแก่บุคคลทั่วไป การปรึกษาหารือกับครอบครัว กลุ่มเพื่อน และผู้ที่ให้ความเคารพนับถือ การเข้าร่วมลงนามยื่นเสนอข้อเรียกร้อง และการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส่วนพฤติกรรมของบัณฑิตที่เป็นฆราวาสไม่เข้าร่วม ได้แก่ การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มการเมือง และการไม่ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ทางการเมือง (2) บัณฑิตมีคุณธรรมและจริยธรรมทางการเมือง อยู่ในระดับมากที่สุดได้แก่ ความจงรักภักดีในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และใช้หลักธรรมในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ได้แก่ ทศพิธราชธรรม พรหมวิหาร 4, ศีล, สังคหวัตถุ 4, อิทธิบาท 4 และ อธิปไตย 3

คำสำคัญ

พฤติกรรม คุณธรรมและจริยธรรม

BEHAVIOR MORALITY AND ETHICS

ABSTRACT

The purpose of this research was to study the political behavior, morality and ethics of the bachelor of arts in political science of Mahachulalongkornrajavidlaya Phayao campus.

The samples used in this study consisted of the 264 graduates and their administrators of Mahachulalongkornrajavidlaya Phayao campus and 198 questionaires recived for 75 percent. Statistical procedures used in this research were Arithmetic, Means, Standard Deviation and content analysis.

The findings show that: (1) Political behavior of graduates to participation in political activities for being scholar, conferrence, political preaching, membership, political consultation to families, friends and respectable people, complaining and being candidate were often found to be moderate appropriate, but there is no participation in political activities of lay-graduates for being political membership and connection with political officer. (2) Political morality and ethics of graduates for allegiance of nation, religion and the king and the using of Buddhist doctrine such as Dasavidharajadharma (Royal vidtues), Brahmavihara VI (divine abiding), Sila (precept), Sangahavatthu VI (helpful integration), Iddhipada VI (pathways to success) and Adhipatya III (dominant influence) for proceeding the political activities were found to be most appropriate.

1.ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

พฤติกรรมเป็นการแสดงออกของบุคคล ทั้งส่วนที่เป็นพฤติกรรมภายใน และพฤติกรรมภายนอก มนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายจึงมีการแสดงพฤติกรรมได้อย่างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งภายในคือจิตใจ และปัจจัยภายนอก คือสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่มีผลต่อการแสดงพฤติกรรม ในส่วนของพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการเมือง เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกที่ส่งผลต่อการเมืองการปกครอง หรือส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อให้ประชาชนหรือผู้ที่อยู่ร่วมกันในสังคมมีความสงบสุข ดังนั้นพฤติกรรมทางการเมืองจึงเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาให้กระจ่างชัด เพื่อนำผลการศึกษาเหล่านั้นมาพัฒนาประเทศดังกล่าว เช่น จากการศึกษาพฤติกรรมทางการเมืองของ ฐิตินันท์ เวตติวงศ์ (2531: 66-67) ได้กล่าวว่า “พฤติกรรมและกระบวนการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และพฤติกรรมในการลงคะแนนเสียงของประชาชนในปัจจุบันเป็นภาพสะท้อนของปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของไทยที่ได้สะสมติดต่อกันเป็นเวลานานการซื้อ-ขายเสียงและระบบหัวคะแนน เป็นเพียงปัญหารูปธรรมที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด และมีผลกระทบต่อการปกครองและการบริหารประเทศอย่างชัดเจน”

จากพฤติกรรมทางการเมืองดังกล่าว หากวิเคราะห์ให้ลึกลงไปจะพบว่าเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากตัวบุคคลเป็นสำคัญ ทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทั้งผู้มีสิทธิในการเลือกตั้ง จึงส่งผลกระทบต่อการเมืองการปกครองโดยตรง และพฤติกรรมดังกล่าวเป็นผลมาจากการขาดคุณธรรมและจริยธรรมทางการเมือง

ในสังคมไทยได้มีการสอนคุณธรรมและจริยธรรมทางการเมือง ให้กับนักการปกครองและนักบริหารมาตั้งแต่สมัยโบราณ เริ่มตั้งแต่สถาบันพระมหากษัตริย์มาจนถึงสถาบันการปกครอง สถาบันการศึกษา ตลอดจนสถาบันครอบครัว โดยกำหนดให้เป็นราชธรรม การเทศนา การ อบรมสั่งสอนและการฝึกอบรม

โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา ได้เปิดทำการสาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2534 จนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักการปกครอง และการบริหารตามหลักพุทธธรรม และทฤษฎีรัฐศาสตร์สมัยใหม่ ให้สามารถใช้ความรู้ในการปกครองและการบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาสังคม

จากวัตถุประสงค์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การจัดการศึกษาให้กับพระนิสิตจะต้องให้มีความสอดคล้องปรัชญาของหลักสูตรที่จะพัฒนาคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ คือ มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส ใฝ่รู้ใฝ่คิด เป็นผู้นำด้านจิตใจและปัญญา มีความสามารถในการแก้ปัญหา มีศรัทธาอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา รู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีโลกทัศน์ที่กว้างไกลมีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองให้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรม

จึงเป็นที่คาดหวังว่าพระนิสิตที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วจะมีพฤติกรรมทางการเมืองที่ดี เป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรมทางการเมือง อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาสังคม และส่งผลให้สังคมเกิดสันติสุขได้ในที่สุด

ปัจจุบันวิทยาเขตพะเยา มีนิสิตที่สำเร็จการศึกษาวิชาเอกการปกครอง สาขาวิชารัฐศาสตร์ จำนวน ๒๑ รุ่น ดังตารางต่อไปนี้

รุ่นที่

จำนวนที่สำเร็จการศึกษา

ปีที่สำเร็จการศึกษา

1

29

2538

2

18

2539

3

9

2540

4

14

2541

5

27

2542

6

27

2543

7

30

2544

8

๓๕

2545

๓๒

254๖

๑๐

๒๙

254๗

๑๑

๒๑

254๘

๑๒

๒๑

254๙

๑๓

๖๓

25๕๐ (รวมนิสิตคฤหัสถ์) **

๑๔

๑๐๐

25๕๑

๑๕

๘๖

25๕๒

๑๖

๑๐๓

25๕๓

๑๗

๙๘

25๕๔

๑๘

๗๗

25๕๕

๑๙

๗๗

25๕๖

๒๐

๖๔

25๕๗

๒๑

๖๔

25๕๘

รวม

จำนวนทีสำเร็จการศึกษา

๙๙๗

จากสถิติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า มหาวิทยาลัยได้ผลิตบัณฑิตสาขาวิชารัฐศาสตร์เป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งเป็นผลผลิตที่เป็นด้านปริมาณ อย่างไรก็ตามคณะผู้วิจัยเห็นว่า การผลิตบัณฑิตจะต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และปรัชญาของหลักสูตรดังกล่าว จึงต้องการที่จะศึกษาพฤติกรรม คุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองของพระนิสิต เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการวางแผนการบริหารจัดการศึกษาในสาขาวิชาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งเป็นข้อมูลให้กับมหาวิทยาลัย ได้เป็นแนวทางในการพัฒนาการจัดการศึกษาทุกคณะวิชาในโอกาสต่อไป

2.วัตถุประสงค์การวิจัย

2.1 เพื่อศึกษาพฤติกรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากวิชาเอกการปกครอง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา

2.2 เพื่อศึกษาคุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากวิชาเอกการปกครอง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา

3. วิธีวิจัยเชิงปริมาณ

4. ขอบเขตของการวิจัย

4.1 ขอบเขตด้านเนื้อหา

ผู้วิจัยได้กำหนดขอบเขตด้านเนื้อหาออกเป็น 2 ประเด็นคือ

4.1.1 ด้านพฤติกรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา เช่น การเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง การเลือกตั้ง การเป็นสมาชิกพรรคการเมือง การเมืองการปกครองท้องถิ่น ผู้นำทางการเมือง เป็นต้น

4.1.2 ด้านคุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา เช่น การมีพฤติกรรมที่ดี การนำหลักพุทธธรรมไปใช้ และการใช้หลักธรรมาธิปไตย เป็นต้น

4.2 ขอบเขตด้านประชากร

4.2.1 ประชากร แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้คือ

กลุ่มที่ 1 ได้แก่ บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา วิชาเอกการปกครอง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา ตั้งแต่รุ่นที่ 1 - รุ่นที่ ๒๑ จำนวน ๙๙๗ รูป/คน

กลุ่มที่ 2 ได้แก่ ผู้บังคับบัญชา/ผู้จ้างงาน ของบัณฑิตที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 196 รูป/คน

4.2.2 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาวิชาเอกการปกครอง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา ตั้งแต่รุ่นที่ 1-รุ่นที่ ๒๑ จำนวน ๑๙๖ รูป/คน และผู้บังคับบัญชา / ผู้จ้างงาน ของบัณฑิต จำนวน 132 รูป/คน รวม ๓๒๘ รูป/คน กำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางของ Krejcie and Morgan และใช้วิธีการสุ่มอย่างง่าย (Simple random sampling) โดยวิธีการจับสลาก (มนัส สุวรรณ และคณะ. 2542 : 118)

5. ทฤษฎีและกรอบแนวคิด

- การเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง

- การเลือกตั้ง

- การเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

- การเมืองการปกครองท้องถิ่น

- ผู้นำทางการเมือง

ฯลฯ

ตัวแปรต้น ตัวแปรตาม


6. ผลการวิเคราะห์ข้อมูล

การวิจัยเรื่อง ศึกษาพฤติกรรม คุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากวิชาเอกการปกครอง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา ผลการวิเคราะห์ข้อมูล แบ่งออกเป็น 3 ตอน ดังนี้

ตอนที่ 1 สภาพทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม

ตอนที่ 2 พฤติกรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา วิชาเอกการปกครอง

ตอนที่ 3 คุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา วิชาเอกการปกครอง

ตอนที่ 1 สภาพทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม

คณะผู้วิจัยได้ศึกษาสภาพทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามของบัณฑิตและผู้บังคับบัญชา จำแนกเป็นตารางดังต่อไปนี้

ตารางที่ 4.1 จำนวนและร้อยละของผู้ตอบแบบสอบถามของบัณฑิต จำแนกตามสถานภาพ

สถานภาพ

จำนวน (รูป/คน)

ร้อยละ

บรรพชิต

ฆราวาส

87

12

87.9

12.1

รวม

99

100

N = 99

จากตาราง 4.1 สถานภาพทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นบัณฑิต พบว่า บัณฑิตส่วนใหญ่เป็นบรรพชิต คิดเป็นร้อยละ 87.9

ตารางที่ 4.2 จำนวนและร้อยละของผู้ตอบแบบสอบถามของบัณฑิต จำแนกตามอายุ

อายุ

จำนวน ( รูป/คน)

ร้อยละ

ระหว่าง 20-24 ปี

ระหว่าง 25-29 ปี

ระหว่าง 30-34 ปี

ระหว่าง 35-39 ปี

ระหว่าง 40-44 ปี

ระหว่าง 45-49 ปี

ไม่ตอบ

43

32

12

7

2

2

1

43.4

32.3

12.1

7.1

2.0

2.0

1.0

รวม

99

100

N = 99

จากตาราง 4.2 อายุของผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นบัณฑิต พบว่า บัณฑิตส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 20-24 ปี คิดเป็นร้อยละ 43.4 รองลงมาได้แก่ อายุระหว่าง 25-29 ปี คิดเป็นร้อยละ 32.3

ตารางที่ 4.3 จำนวนและร้อยละของผู้ตอบแบบสอบถามของบัณฑิต จำแนกตามระดับการศึกษา

สูงสุด

ระดับการศึกษาสูงสุด

จำนวน (รูป/คน)

ร้อยละ

ปริญญาตรี

ปริญญาโท

ไม่ตอบ

89

5

5

89.8

5.1

5.1

รวม

99

100

N = 99

จากตาราง 4.3 ระดับการศึกษาสูงสุดของผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นบัณฑิต พบว่า บัณฑิตส่วนใหญ่มีการศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 89.8

ตารางที่ 4.4 จำนวนและร้อยละของผู้ตอบแบบสอบถามของบัณฑิต จำแนกตามตำแหน่งปัจจุบัน

ตำแหน่งปัจจุบัน

จำนวน (รูป/คน)

ร้อยละ

พระลูกวัด

ผู้ช่วยเจ้าอาวาส

รองเจ้าอาวาส

เจ้าอาวาส

เลขานุการเจ้าคณะตำบล

อื่น ๆ (ครู, ครูใหญ่, ทหาร พนักงานเอกชน ฯลฯ)

ไม่ตอบ

18

3

1

11

12

15

39

18.2

3.0

1.0

11.1

12.1

15.2

39.4

รวม

99

100

N = 99

จากตาราง 4.4 ตำแหน่งปัจจุบันของผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นบัณฑิต พบว่า บัณฑิตส่วนใหญ่อยู่ในตำแหน่งพระลูกวัด คิดเป็นร้อยละ 18.2

ตารางที่ 4.5 จำนวนและร้อยละของผู้ตอบแบบสอบถามของของผู้บังคับบัญชาของบัณฑิต

จำแนกตามสถานภาพ

สถานภาพ

จำนวน (รูป/คน)

ร้อยละ

บรรพชิต

ฆราวาส

89

9

90.8

9.2

รวม

99

100

N = 99

จากตาราง 4.5 สถานภาพทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นผู้บังคับบัญชาของบัณฑิต พบว่า ส่วนใหญ่เป็นบรรพชิต คิดเป็นร้อยละ 90.8

ตารางที่ 4.6 จำนวนและร้อยละของผู้ตอบแบบสอบถามของผู้บังคับบัญชาของบัณฑิต

จำแนกตามอายุ

อายุ

จำนวน (รูป/คน)

ร้อยละ

ระหว่าง 20-24 ปี

ระหว่าง 25-29 ปี

ระหว่าง 30-34 ปี

ระหว่าง 35-39 ปี

ระหว่าง 40-44 ปี

ระหว่าง 45-49 ปี

50 ปีขึ้นไป

9

19

5

12

20

7

27

9.14

19.2

5.1

12.1

20.2

7.1

27.3

รวม

99

100

N = 99

จากตาราง 4.6 อายุของผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นผู้บังคับบัญชาของบัณฑิต พบว่า ส่วนใหญ่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 27.3 รองลงมาได้แก่ อายุระหว่าง 40-44 ปี คิดเป็นร้อยละ 20.2

7.สรุปผลการวิจัย อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ

การวิจัยเรื่อง ศึกษาพฤติกรรม คุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากวิชาเอกการปกครอง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา คณะผู้วิจัยได้สรุปผล อภิปรายผล และข้อเสนอแนะดังนี้

7.1 สรุปผลการวิจัย

ในการวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาพฤติกรรมทางการเมือง คุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากวิชาเอกการปกครอง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นบัณฑิตและผู้บังคับบัญชาของบัณฑิตจำนวน 99 ชุด คิดเป็นร้อยละ 75 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด จำนวน 132 รูป/คน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการวิจัย และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา

7.1.1 สถานภาพทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม

สถานภาพทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นบัณฑิต พบว่า บัณฑิตส่วนใหญ่เป็นบรรพชิต คิดเป็นร้อยละ 87.9 มีอายุอยู่ระหว่าง 20-24 ปี รองลงมาได้แก่ อายุระหว่าง 25-29 ปี มีการศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 89.9 และอยู่ในตำแหน่งพระลูกวัด คิดเป็นร้อยละ 18.2

สถานภาพทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นผู้บังคับบัญชาของบัณฑิต พบว่า ส่วนใหญ่เป็นบรรพชิต คิดเป็นร้อยละ 89.9 มีอายุอยู่ระหว่าง 50 ปีขึ้นไป มีการศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 35.4 และอยู่ในตำแหน่งเจ้าอาวาส คิดเป็นร้อยละ 38.4

7.1.2 พฤติกรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา วิชาเอกการปกครอง

พฤติกรรม หมายถึง การกระทำ หรือการที่แสดงออกทางกล้ามเนื้อ ความคิด และความรู้สึกเพื่อตอบสนองสิ่งเร้า พฤติกรรมจัดเป็นกิจกรรมต่าง ๆ ที่อินทรีย์เป็นผู้กระทำ ทั้งที่แสดงออกมาให้เห็น รวมทั้งที่ซ้อนเร้นไว้ภายใน และพฤติกรรมนั้นบุคคลอื่นสามารถสังเกตเห็นได้ดี เช่น การนอน การเคลื่อนไหว อิริยาบถและกิริยาท่าทางต่าง ๆ จัดเป็นพฤติกรรมภายนอก ส่วนการกระทำภายในบุคคล ซึ่งผู้อื่นไม่สามารถรับรู้ หรือสามารถสังเกตได้โดยตรง แต่ใช้เครื่องมือวัดได้ เช่น เราสามารถวัดความดันเลือด การเปิดของม่านตา คลื่นสมอง แรงต้านทานไฟฟ้าของผิวหนัง เป็นต้น เหล่านี้จัดเป็นพฤติกรรมภายใน ส่วนทรงพล ภูมิพัฒน์ (2541 : 18-19) กล่าวถึงความหมายของพฤติกรรม คือ การแสดงออกซึ่ง ปฎิกิริยาอาการ หรือ การกระทำของมนุษย์(และสัตว์ด้วย)

พฤติกรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา วิชาเอกการปกครอง สรุปผลการวิจัยได้ดังนี้

1) การเข้าร่วมพฤติกรรมทางการเมือง

การเข้าร่วมพฤติกรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่เป็นบรรพชิต ที่สำเร็จการศึกษาจากสาขาวิชาเอกการปกครอง เป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ การเป็นวิทยากร การอบรมสัมมนา การเทศนาทางการเมือง รองลงมาได้แก่ การมีโอกาสเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งและรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และการให้คำปรึกษาทางการเมือง ตามลำดับ ส่วนบัณฑิตที่เป็นฆราวาสมีพฤติกรรมทางการเมืองเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ การไปใช้สิทธิเลือกตั้งรองลงมาได้แก่ การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และการติดตามข่าวสารบ้านเมือง ตามลำดับ และจากการสอบถามผู้บังคับบัญชา บัณฑิตมีพฤติกรรมทางการเมืองเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ การเป็นวิทยากร การอบรมสัมมนา การเทศนาทางการเมือง รองลงมาได้แก่ การมีโอกาสไปใช้สิทธิเลือกตั้งและรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเลือกตั้ง ตามลำดับ

2) กิจกรรมทางการเมืองที่บัณฑิตเข้าร่วมบ่อยที่สุด

กิจกรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่เป็นบรรพชิตที่เข้าร่วมบ่อยที่สุด เป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ การเข้าร่วมประชุม รองลงมา ได้แก่ การเป็นวิทยากร การอบรมสัมมนา การให้คำปรึกษา และการให้ความร่วมมือในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ตามลำดับ ส่วนบัณฑิตที่เป็นฆราวาสที่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองบ่อยที่สุด เป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง รองลงมา ได้แก่ การติดตามข่าวสารบ้านเมือง และจากการสอบถามผู้บังคับบัญชา บัณฑิตเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองบ่อยเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ การเข้าร่วมประชุม รองลงมา ได้แก่ การเป็นวิทยากร การ อบรมสัมมนา การให้คำปรึกษา และการไปใช้สิทธิเลือกตั้งและการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ตามลำดับ

3) การนำความรู้ด้านการเมืองการปกครองไปใช้ในกิจกรรมทางการเมือง

การนำความรู้ทางการเมืองการปกครองไปใช้ในกิจกรรมทางการเมืองของบัณฑิต พบว่า บัณฑิตนำความรู้ด้านการเมืองการปกครองไปใช้ในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 36.4 รองลงมา ได้แก่ นำไปใช้ในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 22.2 และจากการสอบถามผู้บังคับบัญชา พบว่า บัณฑิตนำความรู้ด้านการเมืองการปกครองไปใช้ในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 37.4 รองลงมา ได้แก่ นำไปใช้ในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 31.3

4)พฤติกรรมทางการเมืองของบัณฑิตเมื่อมีสิทธิในการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง

(1) พฤติกรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่เป็นบรรพชิต พบว่า ท่านจะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละ 93.1 เหตุผลที่ไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ เป็นสิทธิและหน้าที่ รองลงมาได้แก่ ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง และแสดงพลังทางการเมือง ตามลำดับ ไปใช้สิทธิทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละ 86.2 เหตุผลที่ไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งทุกครั้งเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ ใช้สิทธิของตน รองลงมาได้แก่ ต้องการเลือกผู้แทนที่เป็นคนดี มีความรู้ความสามารถ และต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง ตามลำดับ จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก คิดเป็นร้อยละ 73.6 เหตุผลที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มการเมืองเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ ต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ รองลงมาได้แก่ นำความรู้ที่ได้ศึกษาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทางการเมือง และได้เสนอความคิดเห็นทางการเมือง ตามลำดับ จะเข้าร่วมรณรงค์หาเสียง คิดเป็นร้อยละ 87.3 เหตุผลที่เข้าร่วมรณรงค์หาเสียงเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ เห็นความสำคัญของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย รองลงมาได้แก่ ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง และเป็นแนวทางในการเลือกผู้นำที่เป็นคนดี มีคุณธรรมและมีความรู้ความสามารถ ตามลำดับ ได้ให้คำปรึกษาหรือให้ความรู้ความเข้าใจด้านการเมืองที่ถูกต้องแก่บุคคลทั่วไป คิดเป็นร้อยละ 90.8 เหตุผลที่ให้คำปรึกษาเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ ให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจระบบการเมืองที่ถูกต้อง รองลงมาได้แก่ ให้ประชาชนเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการเลือกตั้ง และต้องการพัฒนาประเทศ ตามลำดับ

(2) พฤติกรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่เป็นฆราวาส พบว่า จะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละ 83.3 เหตุผลที่ไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ เป็นสิทธิและหน้าที่ รองลงมาได้แก่ ชอบและสนใจทางการเมือง และจากการสอบถามผู้บังคับบัญชา บัณฑิตไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละ 83.3 ไปใช้สิทธิทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละ 75.0 เหตุผลที่ไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งทุกครั้งเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ ใช้สิทธิของตน รองลงมาได้แก่ ต้องการปฏิรูปทางการเมือง จะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิก คิดเป็นร้อยละ 66.7 เหตุผลที่ไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มการเมืองเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ ยังไม่มีโอกาส/ไม่มีความพร้อม รองลงมาได้แก่ ไม่ทราบการสมัครเป็นสมาชิก จะเข้าร่วมรณรงค์หาเสียง คิดเป็นร้อยละ 66.7 เหตุผลที่เข้าร่วมรณรงค์หาเสียงเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ เข้าใจกระบวนการเลือกตั้ง รองลงมาได้แก่ สร้างความกระตือรือร้นทางการเมืองของประชาชน และไม่ต้องการให้มีการซื้อสิทธิขายเสียง ตามลำดับ ได้ให้คำปรึกษาหรือให้ความรู้ความเข้าใจด้านการเมืองที่ถูกต้องแก่บุคคลทั่วไป คิดเป็นร้อยละ 66.7 เหตุผลที่ให้คำปรึกษาเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ ให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจระบบการเมืองที่ถูกต้อง รองลงมาได้แก่ ต้องการสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม จะปรึกษาหารือกับครอบครัว กลุ่มเพื่อน และผู้ที่ให้ความเคารพนับถือ คิดเป็นร้อยละ 83.3 เหตุผลที่ปรึกษาเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ ให้ความรู้ทางการเมืองการปกครอง รองลงมา ได้แก่ เป็นข้อมูลในการตัดสินใจในการเลือกผู้แทนที่มีความรู้ความสามารถ และต้องการพัฒนาประเทศ ตามลำดับ ไม่มีการติดต่อส่วนตัวกับเจ้าหน้าที่ทางการเมือง คิดเป็นร้อยละ 83.3 เหตุผลที่ไม่มีการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ทางการเมือง เป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ ไม่มีโอกาสติดต่อ รองลงมาได้แก่ ไม่รู้จักเจ้าหน้าที่ทางการเมือง และไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับการเมือง/ไม่ปลอดภัย ตามลำดับ หากเห็นว่ามีการทุจริตในการเลือกตั้งทุกระดับ จะเข้าร่วมลงนามยื่นเสนอข้อเรียกร้อง คิดเป็นร้อยละ 91.7 เหตุผลที่เข้าร่วมลงนามเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ ช่วยป้องกันการทุจริต/ป้องกันคนไม่ดีไปบริหารบ้านเมือง รองลงมาได้แก่ ต้องการความยุติธรรม และเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน ตามลำดับ หากเห็นว่ามีนักการเมืองทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวง จะเข้าร่วมลงนามยื่นเสนอข้อเรียกร้อง คิดเป็นร้อยละ 75.0 เหตุผลในการเข้าร่วมลงนามเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ ไม่ต้องการให้เกิดการทุจริต รองลงมาได้แก่ เป็นหน้าที่ของประชาชน และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประชาชน ตามลำดับ และต้องการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละ 58.3 เหตุผลที่ต้องการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ ต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ รองลงมา ได้แก่ นำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์

(3) พฤติกรรทางการเมืองของบัณฑิต จากการสอบถามผู้บังคับบัญชา พบว่า บัณฑิตไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละ 83.3 ไปใช้สิทธิทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละ 66.7 บัณฑิตไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มการเมือง คิดเป็นร้อยละ 58.3 เข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละ 66.7 ให้คำปรึกษาหรือให้ความรู้ความเข้าใจด้านการเมืองที่ถูกต้องแก่บุคคลทั่วไป คิดเป็นร้อยละ 91.7 จะปรึกษาหารือกับผู้บังคับบัญชา คิดเป็นร้อยละ 58.3 ไม่มีการติดต่อส่วนตัวกับเจ้าหน้าที่ทางการเมือง คิดเป็นร้อยละ 58.3 เมื่อมีการทุจริตในการเลือกตั้งทุกระดับ บัณฑิตได้เข้าร่วมลงนามยื่นเสนอข้อเรียกร้อง คิดเป็นร้อยละ 75.0 เมื่อมีนักการเมืองทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวง บัณฑิตได้เข้าร่วมลงนามยื่นเสนอข้อเรียกร้อง คิดเป็นร้อยละ 66.7

7.1.3 คุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา วิชาเอกการปกครอง

1) คุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองของบัณฑิต

1.1 ความหมายของคุณธรรม

คุณธรรม ตามความหมายในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 หมายถึง คุณงามความดี ซึ่งสอดคล้องกับ เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ (2544 : 205) ได้ให้ความหมายไว้ว่า คุณธรรมหมายถึงคุณงามความดี, ธรรมแห่งความดี หรือเพรียบพร้อมด้วยความสามารถและคุณธรรม ส่วน กีรติ บุญเจือ (2538 : 79) กล่าวถึงความหมายของคุณธรรมไว้ว่า หมายถึง ความเคยชินในการประพฤติดีอย่างใดอย่างหนึ่ง ตรงกันข้ามกับกิเลส ซึ่งได้แก่ ความเคยชินในการประพฤติผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวโดยสรุป คุณธรรม คือคุณงามความดีหรือความประพฤติดีของมนุษย์ที่มีต่อสรรพสิ่งทั้งหลาย

คุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาวิชาเอกการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยู่ในระดับมากที่สุดได้แก่ ความจงรักภักดีในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ (= 4.72) นอกนั้นอยู่ในระดับมาก และจากการสอบถามผู้บังคับบัญชา คุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองของบัณฑิต อยู่ในระดับมากที่สุดได้แก่ ความจงรักภักดีในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ (= 4.73) นอกนั้นอยู่ในระดับมาก

1.2 ความหมายของจริยธรรม

ในพจนานุกรม ฉบับบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของคำว่า จริยธรรม ไว้ว่า หมายถึง ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ, ศีลธรรม, กฎศีลธรรม ส่วน บุญมี แท่นแก้ว (2541 : 1) ได้ให้ความหมายของจริยธรรมไว้ว่า หมายถึง ธรรมชาติหรือหลักธรรมที่บุคคลควรประพฤติ และถือว่า จริยธรรม เป็นคุณธรรมที่แสดงออกทางร่างกายในลักษณะที่ดีงามถูกต้อง อันเป็นสิ่งที่ประสงค์ของสังคม และจริยธรรมจะมีได้ต้องอาศัยหลักคำสอนทางศาสนา อันได้แก่ ศีล ซึ่งสอดคล้องกับ ลำดวน ศรีมณี. (ม.ป.ป. : 1) ได้กล่าวไว้ว่า หมายถึง การปฏิบัติตามคำสอนในศาสนาหรือการประพฤติตามกฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง สถิต วงศ์สวรรค์ (2529 : 92) กล่าวถึงความหมายของจริยธรรมในแง่ของจิตวิทยา ไว้ว่า หมายถึงลักษณะทางสังคมหลายลักษณะของมนุษย์ และมีขอบเขตรวมถึงการกระทำของมนุษย์ หรือพฤติกรรมทางสังคมประเภทต่าง ๆ ด้วยลักษณะ และพฤติกรรม (การกระทำ) ที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม จะมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 ประเภท ต่อไปนี้คือ

ประเภทแรก เป็นลักษณะที่สังคมต้องการให้มีอยู่ในสมาชิกในสังคมนั้น มีลักษณะที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนอื่นเป็นสำคัญ เป็นพฤติกรรมที่สังคมนิยมชมชอบ ให้การส่งเสริมสนับสนุน และผู้กระทำส่วนมากเกิดความพอใจ รู้สึกว่าสิ่งที่ตนกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และเหมาะสม ผู้มีจริยธรรมสูงจะมีลักษณะและการกระทำที่กล่าวมานี้มาก

ประการที่สอง คือลักษณะที่สังคมไม่ต้องการให้มีอยู่ในสมาชิกในสังคมนั้น เป็นการกระทำที่สังคมลงโทษ หรือพยายามกำจัดหลีกเลี่ยงหรืองดเว้นที่จะกระทำการอันจะก่อให้เกิดโทษ เป็นลักษณะที่สังคมรังเกียจ และลงโทษเมื่อมีผู้กระทำเช่นนั้น และผู้ที่กระทำพฤติกรรมนั้น ส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ผิด เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ดีงาม ไม่สมควร มีความอับอาย หรือละอาย ฉะนั้นผู้มีจริยธรรมสูง คือผู้ที่มีลักษณะและพฤติกรรมประเภทแรกมาก และประเภทหลังน้อย

ดังนั้น ผู้มีจริยธรรมก็คือ ผู้ที่แสดงแต่พฤติกรรมในทางที่ดี ประพฤติปฏิบัติแต่ในสิ่งที่ดีงาม เป็นที่ยอมรับในสังคม เช่น มีสัมมาคารวะ เมตตา กรุณา ซื่อสัตย์ เสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักรับผิดชอบ รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตน ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น

2) การใช้หลักธรรมของบัณฑิตในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

หลักธรรมที่บัณฑิตใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง อันดับหนึ่ง ได้แก่ ทศพิธราชธรรม 10 รองลงมาได้แก่ พรหมวิหาร 4, ศีล, สังคหวัตถุ 4 อิทธิบาท 4 และ อธิปไตย 3 ตามลำดับ และจากการสอบถามผู้บังคับบัญชา หลักธรรมที่บัณฑิตใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง อันดับหนึ่ง ได้แก่ พรหมวิหาร 4 รองลงมาได้แก่ ศีล, อิทธิบาท 4, ทศพิธราชธรรม และ สังคหวัตถุ 4 ตามลำดับ

8.อภิปรายผล

8.1.1 พฤติกรรมทางการเมืองของบัณฑิต

พฤติกรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา วิชาเอกการปกครอง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา จากผลการวิจัยพบว่า บัณฑิตทั้งบรรพชิตเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในด้าน การเป็นวิทยากร การอบรมสัมมนา การเทศนาทางการเมือง เป็นต้น และกิจกรรมที่เข้าร่วมบ่อยได้แก่ การเข้าร่วมประชุม การเป็นวิทยากร การอบรมสัมมนา การให้คำปรึกษา เป็นต้น ในส่วนของบัณฑิตที่เป็นฆราวาสเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในด้าน การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เป็นต้น ส่วนกิจกรรมที่เข้าร่วมบ่อยที่สุด ก็คือ การไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง ซึ่งการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองของบัณฑิตทั้งสองฝ่าย สอดคล้องกับการสอบถามจากผู้บังคับบัญชา และจากการเข้าร่วมกิจกรรมของบัณฑิตที่แตกต่างกัน เป็นเพราะว่า บัณฑิตที่เป็นบรรพชิต ไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง จึงมีบทบาทในการเป็นวิทยากร การอบรมสัมมนา และการเทศนาทางการเมือง ซึ่งก็ถือว่าเป็นบทบาทที่เหมาะสมกับสมณะเพศ ส่วนการนำความรู้ด้านการเมืองการปกครองไปใช้ในกิจกรรมทางการเมือง พบว่า บัณฑิตนำความรู้ไปใช้ในระดับปานกลาง รองลงมาได้แก่นำไปใช้ในระดับมาก ซึ่งก็สอดคล้องกับการสอบถามจากผู้บังคับบัญชา อาจเป็นเพราะว่า บัณฑิตส่วนใหญ่เป็นบรรพชิต จึงไม่ค่อยมีโอกาสในการใช้ความรู้ด้านการเมืองการปกครองได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากการที่ไม่เปิดโอกาสให้พระสงฆ์มีบทบาททางการเมือง โดยเฉพาะในกฎหมายการเลือกตั้ง มาตรา 106 วงเล็บ 2 กำหนดว่า ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

จากการสอบถามพฤติกรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่เป็นเป็นบรรพชิต ถ้ามีสิทธิในการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง ปรากฏว่าพระสงฆ์ต้องการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งทุกครั้ง การเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคการเมือง การเข้าร่วมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง การให้คำปรึกษาหารือทางการเมือง ส่วนบัณฑิตที่

เป็นฆราวาส ก็มีส่วนร่วมทางการเมืองและสอดคล้องกับความคิดเห็นของผู้บังคับบัญชา จะเห็นได้ว่า บัณฑิตมีสำนึกในการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะเหตุผลที่ว่า เป็นสิทธิและหน้าที่ และสิทธิในการเลือกตั้ง ความต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งการนำความรู้ด้านการเมืองที่ได้ศึกษามาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติได้อย่างแท้จริง ส่วนบทบาทที่บัณฑิตที่เป็นฆราวาสไม่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมก็คือ การไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มการเมือง การติดต่อกับเจ้าหน้าที่ทางการเมือง ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่ทราบการสมัครเป็นสมาชิก ยังไม่มีโอกาส ไม่มีความพร้อม และการไม่มีโอกาสติดต่อหรือรู้จักกับเจ้าหน้าที่ทางการเมือง

จากพฤติกรรมทางการเมืองของบัณฑิต ได้สอดคล้องกับแนวคิดของ ณรงค์ สินสวัสดิ์ (2539 : คำนำ) ที่ว่า พฤติกรรมทางการเมืองของบุคคล เช่น การเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองในระดับต่าง ๆ การไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การช่วยพรรคการเมืองหาเสียง การลงสมัครรับเลือกตั้ง การเดินขบวนหรือการแสดงออกซึ่งการคัดค้านรัฐบาล การเลือกพรรคการเมืองที่เห็นว่าดีที่สุด การเลือกอุดมการณ์ทางการเมืองที่เห็นว่าดีที่สุด รวมไปถึงพฤติกรรมของผู้นำทางการเมือง เป็นต้น รวมทั้งสอดคล้องกับแนวคิดของสิทธิพันธ์ พุทธหุน (2538 : 156-161) ที่กล่าวถึงรูปแบบการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง 4 แบบคือ การใช้สิทธิเลือกตั้ง กิจกรรมการรณรงค์หาเสียง กิจกรรมของชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคมและการเมือง และการติดต่อเป็นการเฉพาะกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือข้าราชการเพื่อแก้ไขปัญหา และก็สอดคล้องกับแนวคิดของ Almond กับ Powell ซึ่งได้จำแนกรูปแบบการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง ออกเป็น 2 รูปแบบคือ Conventional Forms ได้แก่ การออกเสียงเลือกตั้ง การพูดจาปรึกษาเรื่องการเมือง กิจกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง การจัดตั้งและการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มต่างๆ การติดต่อส่วนตัวกับเจ้าหน้าที่ทางการเมืองและการบริหาร และ Unconventional Forms ได้แก่ การยื่นข้อเสนอเรียกร้อง การเดินขบวน การเข้าประจัญหน้ากัน การละเมิดกฎระเบียบของสังคม การใช้ความรุนแรง และสงครามกองโจรและการปฏิวัติ ในกรณีของบัณฑิตในรูปแบบของ Unconventional Forms ก็คือ การยื่นเสนอข้อเรียกร้อง หรือการร่วมลงนามยื่นเสนอข้อเรียกร้องในกรณีที่มีการทุจริตในการเลือกตั้ง หรือการที่มีนักการเมืองทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวง ด้วยเหตุผลที่ว่า ช่วยป้องกันการทุจริตหรือคนไม่ดีเข้าไปบริหารประเทศ เป็นหน้าที่ของประชาชนและเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประชาชนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และจากงานวิจัยของ มงคล บุญเรือง (2545) ก็สอดคล้องกับพฤติกรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของบัณฑิต นั่นคือ การที่ประชาชนในเขตเทศบาลเมืองพะเยามีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง ตามลำดับดังนี้คือ การไปใช้สิทธิเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาพเทศบาล การปรึกษากับครอบครัวและกลุ่มเพื่อน และผู้ที่เคารพนับถือ เป็นต้น

8.1.2 คุณธรรมจริยธรรมทางการเมืองของบัณฑิต

คุณธรรมจริยธรรมทางการเมืองของบัณฑิต ที่สำเร็จการศึกษาวิชาเอกการปกครอง ได้แก่ การจงรักภักดีในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนคุณธรรมจริยธรรมทางการเมืองในด้านอื่น ๆ อยู่ในระดับมาก ซึ่งก็สอดคล้องกับการสอบถามผู้บังคับบัญชา และจากการศึกษาของ พัทยา สายหู และคณะ (2530) ในเรื่องจริยธรรมในประเทศไทย โดยเฉพาะการศึกษาจริยธรรมด้านการเมืองการปกครอง ได้แก่ การเคารพในสิทธิหน้าที่ตนเองและผู้อื่น การเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย ความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมในการปกครอง การจงรักภักดีในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ความรักชาติและการมีส่วนร่วมในการป้องกันประเทศ การรูปแบบแก้ปัญหาขัดแย้งอย่างสันติวิธี ความรับผิดชอบต่อชาติต่อท้องถิ่น และความซื่อสัตย์สุจริต จะเห็นได้ว่าบัณฑิตมีสำนึกในด้านคุณธรรมจริยธรรมทางการเมืองการปกครองครบทั้งหมด หากมองตามหลักทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบิร์ก ตั้งแต่ขั้นที่ 4 คือ หลักการทำตามหน้าที่ เป็นขั้นของการปฏิบัติตามหน้าที่เป็นสำคัญ เป็นการกระทำเพื่อหน้าที่ที่ตนเองรับผิดชอบ ในขั้นที่ 5 คือ หลักการทำตามคำมั่นสัญญา เป็นขั้นของการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม การมีเหตุมีผลและเคารพตนเอง และขั้นสุดท้ายคือ หลักการทำตามอุดมคติสากล เป็นขึ้นของการกระทำเพื่อชีวิต ยึดมั่นในอุดมคติ ถือว่าเป็นผู้ใหญ่โดยสมบูรณ์เป็นจริยธรรมขั้นสูงสุด

ส่วนหลักธรรมที่บัณฑิตใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ได้แก่ หลักทศ พิธราชธรรม, พรหมวิหาร 4, ศีล, สังคหวัตถุ 4, อิทธิบาท 4 เป็นต้น ซึ่งใน 5 ลำดับแรกนั้นก็สอดคล้องกับการสอบถามผู้บังคับบัญชา จะเห็นได้ว่า บัณฑิตมีพฤติกรรมทางการเมืองที่ดี ซึ่งประกอบด้วยคุณธรรมและจริยธรรม 2 ลักษณะควบคู่กันได้แก่ ประพฤติเป็นธรรม คือ มีความเที่ยงธรรม และยุติธรรม เช่น ประพฤติตามหลักของทศพิธราชธรรม อคติ พละ เป็นต้น และมีการประพฤติตามธรรม คือ การประพฤติตามธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เช่น การปฏิบัติตามหลักพรหมวิหาร 4 อิทธิบาท 4 สังคหะวัตถุ 4 เป็นต้น

9. ข้อเสนอแนะ

1.ด้านพฤติกรรมทางการเมือง พฤติกรรมทางการเมืองที่สำคัญก็คือ การมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งมีหลายด้าน เช่น การไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง กิจกรรมการรณรงค์หาเสียง กิจกรรมของชุมชนหรือองค์กรเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและการเมือง การติดต่อเป็นการเฉพาะ รวมทั้งการใช้กำลังรุนแรง เป็นต้น จากผลการวิจัยจะเห็นได้ว่า การมีส่วนร่วมของบัณฑิต โดยเฉพาะบัณฑิตที่เป็นฆราวาสมีเพียงบางด้าน ได้แก่ การไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง การเข้าร่วมรณรงค์หาเสียง การให้คำปรึกษาหรือให้ความรู้ความเข้าด้านการเมือง เป็นต้น แต่มีบางด้านที่บัณฑิตไม่ได้เข้าร่วม เช่น การไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มการเมือง และการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ทางการเมือง ซึ่งในการให้การศึกษาของมหาวิทยาลัย ควรมุ่งเน้นให้นิสิตได้ตระหนักถึงบทบาทในด้านนี้ให้มากขึ้น เพราะเป็นการส่งเสริมให้บัณฑิตได้เข้ามามีส่วนร่วมและมีส่วนในการรับผิดชอบต่อการบริหารบ้านเมืองหรือชุมชนของตนเอง รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแก่นิสิตไปด้วย

2.นอกจากข้อเสนอแนะในข้อหนึ่งแล้ว ทางมหาวิทยาลัยควรปลูกฝังให้นิสิตได้ให้ความรู้ความเข้าใจทางการเมืองที่ถูกต้องแก่ประชาชน โดยเฉพาะให้นิสิตได้เข้าไปมีส่วนในการกระตุ้นให้ประชาชนให้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น

3.ด้านคุณธรรมและจริยธรรมทางการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ ถึงแม้ว่าผลการวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าบัณฑิตมีคุณธรรมทางการเมืองอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด ก็ต้องมีการส่งเสริมหรือปลูกฝังให้มีคุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองแก่นิสิตในรุ่นต่อ ๆ มา เพื่อให้เป็นแบบอย่างแก่ประชาชนทั่วไป ในฐานะที่ศึกษาด้านการเมืองการปกครองและมีความรู้ความเข้าใจในทางพระพุทธศาสนาควบคู่ไปด้วย นอกจากนั้นยังต้องมุ่งเน้นให้นิสิตได้ส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองให้กับประชาชนอีกทอดหนึ่งด้วย

10. ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป

หากมีการทำวิจัยครั้งต่อไป ควรจะมีการศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรม คุณธรรมและจริยธรรมทางการเมือง ของบัณฑิตที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่เป็นฆราวาส เพื่อนำผลที่ได้จากการศึกษาเปรียบเทียบยืนยันข้อเท็จจริงจากการศึกษา แต่ทั้งนี้จะต้องศึกษาอย่างเป็นกลางมากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสถาบันที่ศึกษาทั้งสองฝ่าย

บรรณานุกรม

  • ภาษาไทย:

1.1 ข้อมูลทุติยภูมิ

กีรติ บุญเจือ. จริยศาสตร์สำหรับผู้เริ่มเรียน. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช,

2538.

จิราภา เต็งไตรรัตน์ และคณะ. จิตวิทยาทั่วไป. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543.

ณรงค์ สินสวัสดิ์, ดร. การเมืองไทย : การวิเคราะห์เชิงจิตวิทยา. กรุงเทพฯ: ออเรียนแทล

สกอล่า, 2539.

ทรงพล ภูมิพัฒน์. จิตวิทยาสังคม. กรุงเทพฯ: ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา มหาวิทยาลัย

ศรีปทุม, 2541.

เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ. พจนานุกรมไทย ฉบับใหม่. กรุงเทพฯ: รวมสาส์น (1977), 2544.

บุญมี แท่นแก้ว. จริยธรรมกับชีวิต. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2541.

ประหยัด หงษ์ทองคำ. การปกครองท้องถิ่นไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช,

2526.

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพมหานคร: อักษร

เจริญทัศน์, 2539.

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). ธรรมนูญชีวิต. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: Religious Affairs

Printing Press, 2541.

พัทยา สายหู และคณะ. จริยธรรมในประเทศไทย. File:// จริยธรรมในประเทศไทย.htm, 2530.

มงคล บุญเรือง. พฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนายกเทศมนตรีโดยตรง :

กรณีศึกษาเทศบาลเมืองพะเยา. ปัญหาพิเศษปริญญาศิลปะศาสตรบัณฑิต สาขาวิชา

บริหารการพัฒนา มหาวิทยาลัยแม่โจ้, 2545.

ลำดวน ศรีมณี, พ.ต.ท. จริยธรรมและจริยศาสตร์ตะวันออก. กรุงเทพฯ: ดวงแก้ว, ม.ป.ป.

วิจัยและพัฒนา, สำนักงาน. ธรรมาภิบาล. http://www.kpi.ac.th/kpiuser/govermance.asp

สถาบันพระปกเกล้า, 2542.

ศันสนีย์ ตันติวิท. จิตวิทยาทั่วไป. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543.

สถิต วงศ์สวรรค์. จิตวิทยาสังคม. กรุงเทพฯ: บำรุงสาส์น, 2529.

สิทธิพันธ์ พุทธหุน. ทฤษฎีพัฒนาการเมือง. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัย

รามคำแหง, 2538.

________. สังคมวิทยาการเมืองกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัย

รามคำแหง, 2542.

อรุณ รักธรรม. พฤติกรรมข้าราชการไทย. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2524.

1.2 วิทยานิพนธ์

สรพล สุริยาสาคร. แนวคิดเรื่องความชอบธรรมในรัฐะรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

พุทธศักราช 2540. วิทยานิพนธ์สาขาวิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2545.

1.3 สารนิพนธ์

ฐิตินันท์ เวตติวงษ์. พฤติกรรมและกระบวนการหาเสียงของผู้สมัครที่มีโอกาสได้รับเลือก

ตั้ง กรณีศึกษาเขตเลือกตั้งที่ 2 ของจังหวัดหนึ่งทางภาคกลางด้านทิศตะวันตก 24

กรกฎาคม 2531. สารนิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการปกครอง มหาวิทยาลัย

ธรรมศาสตร์, 2531.

หมายเลขบันทึก: 616245เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2016 11:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2016 11:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาทักทายอาจารย์

หายไปนานมากๆครับ

สบายดีไหมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท