ธรรมรัฐคือรัฐที่ปกครองโดยธรรมแบบมีส่วนร่วม โดย...คนอง วังฝายแก้ว สาขาวิชารัฐศาสตร์ มจร.วข.พะเยา


ธรรมรัฐคือรัฐที่ปกครองโดยธรรมแบบมีส่วนร่วม

โดย...คนอง วังฝายแก้ว

สาขาวิชารัฐศาสตร์ มจร.วข.พะเยา

บทคัดย่อ

หลักธรรมรัฐ หรือหลักธรรมาภิบาล เป็นหลักการปกครองครองที่มุ่งเน้นหลักธรรมในการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี มีที่มาจากเจตนารมณ์ที่ดีของนักคิด นักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ ประกอบกับการห่วงใยของสถาบันทางการเงินระดับโลกอย่าง ธนาคารโลก และ IMF เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ยังได้มีปัญญาชน นักคิด นักการเมืองที่ได้นำแนวคิดนี้กลับสู่ประเทศของตนโดยมีเป้าหมายที่การอยู่ร่วมกันในบ้านเมืองอย่างสันติสุข โดยผู้ปกครองจะต้องตั้งอยู่ในธรรม มีหลักการ และหลักวิชาการที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ซึ่งมีการถ่ายทอดแนวคิดมาในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย แท้จริงแล้ว หัวใจอยู่ที่การมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นเอง เพื่อตรวจสอบ ถ่วงดุลกับผู้นำ ทั้งนี้ผู้นำเองก็ต้องมีการบริหารจัดการอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา และเป็นธรรม พร้อมกับรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองด้วยหลักการปกครองตามแนวทางของธรรมรัฐ จะวางกรอบแนวคิดตลอดถึงแนวข้อปฏิบัติเอาไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้นักปกครองทั้งหลายที่มีอำนาจในการบริหารบ้านเมืองมีแนวคิดที่จะพัฒนาตนเองเพื่อนำไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือ การครองตน ครองคน และครองงาน อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง ที่จะยึดถือเอาเป็นแนวปฏิบัติ เพื่อนำพาไปสู่เป้าหมายในการพัฒนาสังคมและประเทศสืบต่อไป

Abstract

The main principles or good governance. The rule holds that focuses on the principles of good management house. A reference to the spirit of good thinkers. Scholars of political science With the concern of the global financial institutions like the World Bank and I are met. They have thinkers, intellectuals, politicians have brought this concept back to their country by the MF, etc. The goal is to live together in a house in peace. Parents will be located in the wrong therePrinciples and theories to be sanctioned. Which is broadcast in concept form at the heart of many real participation of the people themselves to determine the balance of power with the leaders. Leaders also need to be managed transparently, honestly and fairly with responsibility for their actions in accordance with the governing principles of good governance. The conceptual framework as well as a line of conduct clearly. The judges

Who has the power to govern The idea is to develop their own, to lead to the ultimate goal is to dominate possession and dominate their jobs effectively. To be role models for future generations. To take for the practice. To lead to the goal of social development and national assets

บทนำ

หลักการปกครองที่ดีนั้น อันที่จริงหัวใจอยู่ที่การมีส่วนร่วมของประชาชน ที่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทางการบริหารจัดการต่อผู้นำได้ในทุกระดับ ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบการบริหารงานของผู้นำได้ เนื่องจากอำนาจที่แท้จริงอยู่ที่ประชาชนและผู้นำเองต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองด้วย

คำว่า ธรรมรัฐ คือ (พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม), ทฤษฎีรัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก.หน้า๑๑๙)การใช้หลักธรรมในการปกครองประเทศนั้นเป็นการถ่ายทอดคุณธรรมที่มีอยู่ในตัวผู้นำสู่วิธีการบริหารจัดการประเทศนั้นทางพระพุทธศาสนาเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บารมี และคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเรื่องของบารมี (Charisma) มีความเกี่ยงข้องสัมพันธ์กันอยู่ไม่น้อยกับการเมืองซึ่งเป็นเรื่องของอำนาจ นักการเมืองบางคนไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญด้วยเหตุผลว่าบารมียังไม่ถึง (สัญญา สัญญาวิวัฒน์. สังคมวิทยาการเมือง.หน้า ๑๓๒) แม้แต่นักวิชาการอย่าง แมกซ์ เวเบอร์ ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องของบารมี บารมีเป็นแหล่งที่มาของลัทธิอำนาจ หรือ อาณา (Authority) อย่างหนึ่งและบารมีทำให้เกิดผู้นำขึ้นประเภทหนึ่งคือ ผู้นำเชิงบารมี (Charismatic Leader) พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญเรื่องบารมีโดยถือธรรมสำหรับผู้ที่จะบรรลุจุดหมายสูงสุด คือบำเพ็ญทศบารมี หรือ บารมี ๓๐ ทัศ

๑.ประวัติและความเป็นมา

หลักการปกครองตามแนวทางของพุทธธรรม จะวางกรอบแนวคิดตลอดถึงแนวข้อปฏิบัติเอาไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้นักปกครองทั้งหลายที่มีอำนาจในการบริหารบ้านเมืองมีแนวคิดที่จะพัฒนาตนเองเพื่อนำไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือ การครองตน ครองคน และครองงาน อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง ที่จะยึดถือเอาเป็นแนวปฏิบัติ เพื่อนำพาไปสู่เป้าหมายในการพัฒนาสังคมและประเทศสืบต่อไป

สุรชาติ บำรุงสุข ได้แสดงความคิดเห็นต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้ว่า หากพิจารณาจากเอกสารขององค์กรดังกล่าว จะพบว่าแนวคิดเรื่องธรรมรัฐก็คือความพยายามที่จะนำไปสู่การสร้างรัฐให้เป็นประชาธิปไตย (Democratization) ซึ่งความเป็นจริงแล้วแนวคิดหลักก็ไม่แตกต่างจากเรื่องของระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในทศวรรษก่อนแต่อย่างใด ดังนั้นแนวคิดเรื่องธรรมรัฐ จึงมีองค์ประกอบหลัก ๒ ส่วนคือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนา (Participatory Development)และหน้าที่ในการบริหารและการบริการของภาครัฐ (Administrative Functions/Services) ซึ่งในส่วนหลังได้แยกย่อยเป็นองค์ประกอบอื่นสำหรับรัฐบาลอีก ๕ ประเด็นคือ (๑) ความชอบธรรมของรัฐบาล (๒) การตรวจสอบได้ (๓) การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (๔) การกระจายอำนาจ และ (๕) การควบคุมทหารโดยพลเรือน (สุรชาติ บำรุงสุข. กองทัพกับธรรมรัฐ : ข้อคิดเพื่อการบริหารของประชาสังคม. บทความ ในหนังสือ ธรรมาภิบาลกับคอรัปชั่นในสังคมไทย,หน้า ๑๐๔)

สมชาย ปรีชาศีลปกุล ได้เสนอว่า ธรรมรัฐปรากฏขึ้นในช่วงเวลาต้นปี ๒๕๔๑ ต้องให้ความสำคัญต่อประชาชน ทั้งนี้คำอธิบายต่อแนวคิดเรื่องธรรมรัฐนั้น เป็นความพยายามที่จะสานต่อภารกิจจากกระแสปฏิรูปการเมืองที่แปรออกมาเป็นรูปธรรมในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ อันเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในฐานะที่เชื่อกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ “ประชาชน” แต่เนื่องจากลำพังเพียงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ทั้งหมด ยังมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีกหลายฉบับที่จะต้องบัญญัติขึ้น เพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายของการปฏิรูปการเมือง ฉะนั้นในแง่หนึ่ง “ธรรมรัฐ” จึงเป็นความพยายายามที่จะกระตุ้นให้การปฏิรูปการเมืองที่ยังไม่เสร็จสิ้นในเชิงของระบบกฎหมายได้ดำเนินต่อไป หรืออาจกล่าวได้ว่าธรรมรัฐก็คือการปฏิรูปการเมืองขั้นที่สอง ด้านเนื้อหาสาระแนวคิดว่าด้วยธรรมรัฐได้เสนอรูปแบบหรือกระบวนการบริหารจัดการในการปกครองที่ดีในทุกๆ ด้าน ซึ่งเริ่มต้นจากการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกๆ ระดับ ตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล ชุมชน สังคม และระดับชาติ พร้อมกับการบัญญัติกฎหมายรับรองสิทธิของประชาชนในด้านความโปร่งใส และสามารถถูกตรวจสอบจากสังคมในหลายๆ ระดับ น้ำเสียงของกระแสความคิดธรรมรัฐจึงเปี่ยมไปด้วยสภาวะแห่งความเป็นอุดมคติของระบบการเมืองการปกครอง ด้วยการเสนอภาพซึ่งเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับมาตรฐานในกระแสของสังคมปัจจุบันที่มีต่อการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมของประชาชน ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ เป็นต้น(สมชาย ปรีชาศิลปกุล. อธรรมรัฐ. บทความ ในหนังสือ ธรรมาภิบาลกับคอรัปชั่นในสังคมไทย. หน้า ๑๓๓-๑๓๔)

และสมชาย ปรีชาศิลปะกุล ยังได้เสนออีกว่า ถ้าพิจารณาแนวคิดธรรมรัฐในฐานะที่เป็นการปฏิรูปการเมืองภาคสอง กระแสธรรมรัฐดูจะประสบผลสำเร็จไม่น้อย ในแง่ของการสร้างความตื่นตัวให้กับภาคประชาคมอีกครั้ง ตัว “ธรรมรัฐ” จึงเป็นเสมือนเครื่องมือที่กระตุ้นสังคมให้อยู่ในความกระตือรือร้นอย่างต่อเนื่องเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปฏิรูปการเมือง ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจรัฐ กฎหมายหลาย ๆ ฉบับจึงถูกดึงกลับเข้ามาอยู่ในสายตาของสังคมอีกครั้ง ในฐานะเครื่องมือ ธรรมรัฐเองก็มิได้ถูกหยิบมาใช้จากแง่มุมเดียว นอกจากกลุ่มของนักวิชาการซึ่งสนใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมแล้ว แนวความคิดว่าด้วยธรรมรัฐก็ถูกหยิบไปใช้ในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย ดังปรากฏจากคำอธิบายถึงธรรมรัฐ ที่ให้น้ำหนัก จุดเน้นที่แตกต่างกันไปจากกลุ่มผู้นำการปลุกกระแสธรรมรัฐให้เกิดขึ้น ธรรมรัฐแบบเสรีนิยมตามแบบฉบับของนายอานันท์ ปันยารชุน มุ่งเสนอภาพของรัฐที่มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ มีความรับผิดชอบ ความคิดแนวนี้จึงตอบสนองต่อความต้องการของภาคธุรกิจเอกชน ขณะที่ธรรมรัฐของประเวศ วะสี ดำเนินไปในทิศทางที่เน้นความสำคัญของท้องถิ่น บทบาทของชุมชนในการจัดการทรัพยากร การใช้แนวความคิดธรรมรัฐในการกำหนดว่า สิ่งใดที่เป็นปัญหาและอะไรบ้างที่ควรได้รับการแก้ไข ในตัวของคำอธิบายเองก็อาจถูกตั้งคำถามได้เช่นกันว่า คำอธิบายชุดหนึ่งนั้นได้ถูกใช้ประโยชน์ในทางการเมืองอย่างไรบ้าง การอธิบายถึงความอ่อนแอของภาคประชาสังคมอย่างโดด ๆ ว่าเป็นต้นเหตุของความล้มเหลวทางการเมือง ในแง่หนึ่งมันได้ละเลยเงื่อนปัจจัยอื่นๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างอำนาจทางการเมืองที่บิดเบี้ยว แนวทางการพัฒนาที่ลำเอียงต่อบางส่วนของสังคม อย่างน่าเสียดาย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เสนอว่า หลักธรรมรัฐ หรือหลักธรรมาภิบาล ซึ่งจะเรียกว่าการบริหารจัดการที่ดีก็ได้นั้น โดยหลักสากลจะประกอบด้วยคุณสมบัติ คือ ความรับผิดชอบต่อสาธารณะ (accountability) ความโปร่งใส(transparency) ซึ่งรวมถึงการที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้ การมีหลักการที่แน่นอนเป็นธรรมที่ทำให้สาธารณชนเกิดความมั่นใจ (predictability) ซึ่งในที่นี้หมายความว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ จะไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหรือมีการเลือกปฏิบัติ และคุณสมบัติที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การมีส่วนร่วมของประชาชน (participation) ซึ่งนอกจากจะเป็นคุณลักษณะของธรรมรัฐ(ธรรมาภิบาล)เองแล้วยังเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดธรรมรัฐ(ธรรมาภิบาล)ผ่านกระบวนการสร้างความเข้มแข็งของประชาสังคมที่เป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิดกระบวนการตัดสินใจที่เหมาะสม ทั้งในระดับนโยบาย และการปฏิบัติที่ดีในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ในที่สุด (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.). ธรรมาภิบาลการมีส่วนร่วมของประชาชนและกระบวนการทางด้านสิ่งแวดล้อม.หน้า๑๒๔)ธรรมรัฐ(ธรรมาภิบาล)แบบไทยแท้ ได้ในหลักคำสอนของพุทธศาสนา เช่น ทศพิธราชธรรม ส่วนการมีส่วนร่วมของประชาชนแบบไทยแท้ นั้นเราอาจพบได้ในวัฒนธรรมไทยในหลายเรื่อง เช่น ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว แต่ธรรมรัฐ(ธรรมาภิบาล)แบบตะวันตก และการมีส่วนร่วมของประชาชนแบบตะวันตกนั้น ค่อย ๆ เข้ามาอยู่ในสังคมไทยแบบค่อยเป็นค่อยไปในเส้นทางเดียวกับวิวัฒนาการของการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและทิศทางของการบริหารจัดการรัฐไทย (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.). ธรรมาภิบาลการมีส่วนร่วมของประชาชนและกระบวนการทางด้านสิ่งแวดล้อม.หน้า ๑๒)

ดังนั้น บวรศักดิ์ อุวรรณโณ จึงได้เสนอธรรมรัฐ(ธรรมาภิบาล)ว่า เป็นแนวคิดที่เป็นแบบสากลนี้ ก็ยังเป็นแนวความคิดที่ใหม่มาก กล่าวคือ เพิ่งมีการใช้ในรายงานธนาคารโลก เมื่อ ปี ๑๙๘๙ ต่อมาองค์การพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program, UNDP) ได้นำแนวคิดดังกล่าวไปวิเคราะห์และอธิบายรายละเอียดไว้ในเอกสารนโยบายเรื่อง Governance for Sustainable Human Development หากพิเคราะห์จากความหมายข้างต้น อาจสรุปลักษณะสำคัญของ ธรรมรัฐ(ธรรมาภิบาล)แบบสากลได้ว่ามีลักษณะดังนี้ (บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. การสร้างธรรมาภิบาลในสังคมไทย. หน้า ๒๙-๓๔)

๑) เป้าหมายของธรรมาภิบาล (objective) ก็คือ การพัฒนาและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของทุกภาคในสังคม กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือธรรมรัฐหรือธรรมาภิบาลมีจุดมุ่งหมายในการสร้างความเป็นธรรมในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับทุกภาคในสังคม ไม่ใช่ภาคใดภาคหนึ่ง

๒) โครงสร้างและกระบวนการของธรรมรัฐหรือธรรมาภิบาล (structure and process) ที่จะนำไปสู่เป้าหมายได้ จะต้องเป็นโครงสร้างและกระบวนการที่วางกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ ระหว่างเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศที่ทุกภาคไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน หรือภาคประชาสังคม ภาคปัจเจกชนและครอบครัว มีส่วนร่วมกันผนึกพลังขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า

๓) สาระของธรรมรัฐหรือธรรมาภิบาล (substance) ก็คือ การบริหารจัดการทางเศรษฐกิจสังคม และการเมือง ต้องสร้างความสมดุลระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ของสังคมให้ดำรงคงอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และสังคมมีเสถียรภาพ

๒.หลักธรรมรัฐที่ใช้ในการวางกรอบบริหารบ้านเมือง

หลักธรรมหมวดนี้เป็นหมวดธรรมที่ใช้เป็นกรอบในการบริหารบ้านเมือง ที่สามารถทำให้ผู้บริหารจะมีแนวคิดอย่างไรเกี่ยวกับการบริหารบ้านเมืองจะมีรูปแบบการบริหารจัดการอย่างไร หรือหลักคิดอย่างไรและที่สำคัญควรจะบริหารจัดการไปในทิศทางไหน ประกอบด้วย

) หลักอธิปไตย ๓ เป็นหลักธรรมกว้าง ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสเอาไว้เพื่อให้เป็นกรอบในการพิจารณาถึงแนวความคิดที่เน้นทิฎฐิหรือความคิดของตัวบุคคลเป็นหลัก ว่าเมื่อบุคคลเข้ามาบริหารงานแล้วมีทัศนะเกี่ยวกับอำนาจที่ดำรงอยู่อย่างไรบ้าง โดยใช้คำว่าอธิปไตย ซึ่งหมายความว่าความเป็นใหญ่ซึ่งมีอยู่ ๓ ระดับด้วยกัน คือ

(๑) อัตตาธิปไตย (Autocracy) การถือตนเป็นใหญ่ เป็นแนวคิดของบุคคลที่ใช้อำนาจโดยยึดความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ โดยไม่คำนึงถึงเสียงส่วนมาก มีแนวความคิดออกจะเผด็จการ

แนวคิดนี้คือการถือตนเองเป็นศูนย์กลางการตัดสินใจ และมีความเชื่อมั่นตนเองสูงมาก คิดว่าตัวเองฉลาดกว่าใครจึงไม่รับฟังความคิดเห็นของใคร ไม่อดทนต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ เป็นการบริหารแบบมุ่งงานแต่เสียเรื่องการครองใจคน (ปฐมพงศ์ ทินบรรเจิดฤทธิ์. “พุทธจริยศาสตร์กับรัฐศาสตร์.หน้า ๔๒-๔๓)

(๒) โลกาธิปไตย การถือโลกเป็นใหญ่ เป็นแนวความคิดของบุคคลที่ใช้อำนาจโดยยึดความคิดของคนหมู่มากเป็นใหญ่ โดยใช้ที่ประชุมในการออกเสียงประชามติ มีแนวความคิดเป็นเหมือนประชาธิปไตย

นักบริหารแบบนี้ไม่มีจุดยืนเป็นของตัวเอง ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่สามารถตัดสินใจ

(๓) ธรรมาธิปไตย การถือธรรมเป็นใหญ่ เป็นแนวความคิดของบุคคลที่ใช้อำนาจโดยยึดหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นหลัก กล่าวคือใช้ธรรมะนำการเมือง มีแนวคิดเป็นแบบธรรมาธิปไตย

แนวคิดนี้เป็นการถือธรรมหรือหลักการเป็นสำคัญ นักบริหารประเภทนี้ถือหลักการ ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เหตุผลเป็นใหญ่ กระทำการด้วยปรารภสิ่งที่ได้ศึกษาตรวจสอบตามข้อเท็จจริง และความคิดเป็นที่รับฟังอย่างกว้างขวาง แจ้งชัด และพิจารณาอย่างดีที่สุด เต็มขีดแห่งสติปัญญาจะมองเห็นได้ด้วยความบริสุทธิ์ใจว่าเป็นไปโดยชอบธรรม และเพื่อความดีงาม เป็นปริมาณอย่างสามัญ ได้แก่ ทำการด้วยความเคารพหลักการ กฎ ระเบียบ กติกา

การสร้างการปกครองแบบธรรมาธิปไตย คือการนำกฎธรรมชาติ ดำรงอยู่ในลักษณะ “พระธรรมจักร” บนความสัมพันธ์ในหลายๆ มิติ เช่น

(๑) สัมพันธภาพระหว่างด้านเอกภาพกับด้านความแตกต่างระหว่างบุคคล

(๒) สัมพันธภาพระหว่างแผ่กระจายกับรวมศูนย์ เป็นปัจจัยให้เกิดดุลยภาพ

(๔) สัมพันธภาพระหว่างจุดมุ่งหลาย และมรรควิธี

(๕) สัมพันธภาพระหว่างหลักการ และวิธีการ เป็นต้น

เมื่อนำไปพิจารณาระบอบการเมือง ระบอบต้องมีธรรมและแผ่กระจายสู่ปวงชน ส่วนการปกครองรวมศูนย์ และระบอบการเมืองต้องแผ่ ส่วนเศรษฐกิจต้องรวมศูนย์ หรือ รัฐวิสาหกิจกับวิสาหกิจเอกชน ฯลฯ ดังกล่าวนี้ต้องทำให้เกิดความสมดุล หรือดุลยภาพกัน ไม่ใช่พยายามทำให้สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง “มนุษยชาติเกิดจากธรรม การถือธรรมเป็นใหญ่ สู่ธรรมาธิปไตย เป็นความถูกต้องโดยธรรม และเป็นความภาคภูมิใจของปวงชนในชาติตลอดไป” (ปริญญาโณภิกขุ (ป. เพชรอริยะ) และสมบัติ วิอังศุธร, รศ.ดร. ธรรมาธิปไตย ๙ อารยธรรมใหม่ของแผ่นดิน ขจัดสิ้นเหตุวิกฤติชาติ. หน้า ๙๔)

) สุจริต ๓ สุจริต เป็นหมวดธรรมที่สำคัญมากในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านเมืองในยุคของรัฐบาล พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ที่ได้พยายามเน้นในเรื่องของการโปร่งใสในการบริหารบ้านเมือง เพื่อให้บ้านเมืองสะอาด นั้นก็หมายความว่าบ้านเมืองจะต้องปราศจากการทุจริตคดโกง มีสินบน โดยการพยายามออกกฎหมายในรูปแบบต่าง ๆ ออกมาใช้ หลักธรรมข้อนี้ประกอบด้วย

(๑) กายสุจริต เมื่อผู้นำมีการกระทำที่มีความสุจริตไม่โกงกิน บ้านเมืองก็มีความเจริญก้าวหน้า มีการพัฒนาตามศักยภาพ เงินงบประมาณก็ถูกใช้ให้เกิดความคุ้มค่ามีการพัฒนาอย่างทั่วถึงเต็มเม็ดเต็มหน่วย เมื่อผู้นำไม่ทุจริตคดโกง ลูกน้องก็ไม่กล้า ถ้าผู้นำทุจริตลูกน้องก็ทำตาม ซึ่งธรรมะข้อนี้มีความสำคัญต่อบ้านเมืองเป็นอย่างมาก

(๒) วาจาสุจริต แม้วาจาจะดูแล้วไม่น่าจะมีความสำคัญต่อการบริหารปกครอง แต่โดยความเป็นจริงแล้วมีความสำคัญเป็นอย่างมากในเรื่องของการใช้คำพูด เช่น การพูดโน้มน้าวจิตใจคน การพูดประสานคน การเจรจาต่อรอง งานด้านการทูต เป็นต้น

(๓) มโนสุจริต มีคนกล่าวว่าจิตคิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น คนพูดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น แม้บางครั้งการกระทำ-การพูด-การคิด อาจจะไม่ตรงกันเพราะความปิดบังของคน แต่โดยมากแล้วย่อมเป็นไปตามนัยดังกล่าว ดังนั้นในข้อนี้เป็นการแสดงออกมาทางความคิดเห็น ที่ผู้นำสูงสุดจะต้องแสดงให้ผู้ใต้ปกครองได้เห็น หรือที่เรียกว่าการแสดงวิสัยทัศน์ นั้นเอง

) สัปปุริสธรรม ๗ หมวดธรรมข้อนี้เป็นการแสดงถึงความยืดหยุ่นของผู้บริหาร การใช้เหตุผล การรู้จักประมาณทั้งตน การรอจังหวะเวลา ตลอดไปจนถึงการรู้จักภูมิหลังของสังคมชุมชนเป็นต้น

(๑) ธัมมัญญุตา รู้จักเหตุ ผู้บริหารจำต้องเป็นคนที่รู้จักเหตุว่าปัญหา หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้นในขณะนี้นั้นมีมาจากเหตุอะไร และเหตุที่เกิดขึ้นนั้นจะสามารถไปสู่ผลอะไรบ้าง

(๒) อัตถัญญุตา รู้จักผล ในข้อนี้ผู้บริหารจำเป็นที่จะต้องรู้จักผลของการกระทำทุกอย่างที่ได้กระทำลงไปว่าสิ่งที่ได้กระทำลงไปนั้นย่อมมีผลอะไรเกิดขึ้น โดยเฉพาะการทำงานเชิงนโยบาย ย่อมจะมีการวางแผนงานที่เล็งถึงผลของการกระทำในสิ่งเหล่านี้

(๓) อัตตัญญุตา รู้จักตน ผู้บริหารต้องสามารถประเมินตนเองออกว่ามีความรู้ความสามารถมากน้อยแค่ไหน พร้อมที่จะพัฒนาศักยภาพของตัวเอง

(๔) มัตตัญญุตา รู้จักประมาณ ผู้บริหารจะต้องรู้จักประมาณในทุกด้าน ไม่ปล่อยให้ทำอะไรตามใจตัวเองจนก่อให้เกิดผลเสียหายทั้งส่วนตัวและส่วนรวม

(๕) กาลัญญุตา รู้จักเวลา บางครั้ง บางเวลา บางโอกาสผู้นำต้องปล่อยให้งานช้าลง บางเวลาต้องรีบทำงานให้ทันสถานการณ์ คือรีบในเวลาที่ควรรีบ เร่งในเวลาที่ควรเร่ง ให้จัดลำดับความสำคัญอะไรก่อนอะไรหลัง แล้วลงมือทำงาน

(๖) ปริสัญญุตา รู้จักชุมชน ผู้บริหารก่อนที่จะเข้ามาทำงานจำเป็นต้องมองดูภูมิหลังของชุมชนที่ตัวเองบริหารงานอยู่ว่าวัฒนธรรมองค์เป็นอย่างไร ระเบียบวิธีปฏิบัติมีอะไรบ้าง

(๗) ปุคคลปโรปรัญญุตา รู้จักบุคคล การใช้คนเป็นสิ่งสำคัญผู้บริหารจำต้องใช้คนให้ถูกกับงาน หรือที่พูดกันว่า “Put the right man in the right job เป็นต้น

๓.หลักธรรมรัฐที่ใช้ในการเป็นภาวะผู้นำ

หลักธรรมข้อนี้มีจุดเน้นที่ตัวผู้นำ หรือตัวผู้บริหารที่จะต้องมีและเป็นเพื่อใช้ในการปกครองหรือที่เรียกว่าราชาปราชญ์ (Philosopher-King) โดยเริ่มจากการที่ผู้นำจะต้องมีปกติหรือมาตรฐานของความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักธรรมที่เรียกว่าเบญจศีล-เบญจธรรม…เป็นบ่อเกิดแห่งสันติภาพของมนุษย์โลก ซึ่งคำว่าสันติภาพ หรือ สันติ หมายรวมถึงความสงบทั้งด้านภายในและภายนอก ความสงบภายใน (อัชฌัตตสันติ) นั้น (พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม), ทฤษฎีรัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก. หน้า ๑๑๙-๑๒๒)ที่รู้จักกันทั่วไปว่า ความสงบใจเป็นสภาวะจิตใจที่เป็นอิสระ ความสงบภายในก่อให้เกิดความสงบภายนอก ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ผู้ที่ได้ชื่อว่ามีความสงบภายนอกจะสามารถอยู่ร่วมอย่างกลมกลืนร่วมกันกับเพื่อนร่วมโลกอื่น ๆ ได้ (สมจริยา) ความสงบภายนอกนั้น จึงรวมถึงความสงบในชุมชนในชาติและในโลกเข้าด้วยกัน นอกจากนั้นแล้วยังต้องมีเพื่อร่วมงานที่ดีและเครื่องมือในการบริหารจัดการบ้านเมืองอีกมากมาย หลักธรรมเหล่านี้ประกอบด้วย (พระเทพโสภณ (ประยูร มีฤกษ์), โลกทัศน์ของชาวพุทธ, หน้า ๕๙)

๑) ศีล ๕ หลักธรรมข้อนี้ ต้องการให้ผู้นำมีมาตรฐานแห่งความเป็นคน หรือมนุษย์สมบูรณ์แบบ เพราะผู้ที่จะเป็นผู้บริหารประเทศต้องมีความพร้อมทางด้านจิตใจ เป็นเบื้องต้นก่อน ศีลทั้ง ๕ ข้อประกอบไปด้วย

(๑) การไม่ฆ่าสัตว์ เพื่อให้ผู้นำมีจิตใจที่อ่อนโยน มองเห็นความสำคัญของชีวิตผู้อื่นกับของตนเองเสมอกัน หลักธรรมข้อนี้ยังสื่อถึงการเคารพในสิทธิของผู้อื่นด้วย

(๒) ไม่ลักทรัพย์ เมื่อผู้นำไม่คดโกง การพัฒนาประเทศก็ย่อมเจริญ ก้าวหน้า และที่สำคัญการประพฤติตัวดังกล่าวยังเป็นตัวอย่างให้กับผู้คนทั้งหลายด้วย

(๓) ไม่ประพฤติผิดในกาม ธรรมข้อนี้เป็นการป้องกันปัญหาทางด้านสังคมในหลาย ๆ ด้านที่จะตามมาผู้นำจึงควรประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดี

(๔) ไม่พูดเท็จ ซึ่งรวมถึงการไม่พูดคำไม่จริง-คำหยาบ-คำส่อเสียด-คำเพ้อเจ้อ ซึ่งจะทำให้ผู้นำ เป็นคนมีสัจจะในคำพูด

(๕) ไม่เสพของมึนเมา ที่จะเป็นต้นเหตุไม่ให้หลงลืมสติได้ ผู้นำทำอย่างไร จะเป็นเหตุผลที่ผู้ตามก็ทำอย่างนั้น เช่น ผู้นำยุคมาลานำไทย ก็จะมีการนิยมส่งเสริมให้คนไทยสวมหมวกตามอย่างตะวันตก เป็นต้น

) ธรรม ๕ หลักธรรมข้อนี้ มีความประสงค์ให้ผู้นำ เป็นสัตบุรุษ ที่ไม่เพียงแต่มีอำนาจในหน้าที่การงานเท่านั้น แต่ยังมีอำนาจบารมีในตัวเองด้วยคุณธรรมจริยธรรมที่ผู้ตามเห็นแล้วเกิดความภาคภูมิใจ อุ่นใจ และนับถืออย่างสุจริตใจได้ ซึ่งประกอบไปด้วย

(๑) มีเมตตา คือความกรุณาต่อผู้อื่น ไม่คิดเบียดเบียนหรือพยาบาท มีความเกื้อกูลหรือมุทิตาต่อเพื่อนร่วมโลกหรือผู้อยู่ภายใต้การปกครอง

(๒) มีสัมมาอาชีวะ คือมีอาชีพสุจริต หมายถึงการให้ผู้นำได้ยึดหลักการทำงานที่โปร่งใส ไม่ทุจริตหรือคดโกงเอาเปรียบผู้อื่นและหน่วยงานของตน

(๓) มีกามสังวร คือการสำรวมระวังในกาม หมายถึงผู้นำต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ไม่เป็นไปตามความอยาก ไม่มีปัญหาทางด้านครอบครัว

(๔) มีสัจจะ ซื่อตรงต่อผู้อื่น หมายถึงเมื่อมีการทำงานร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชา หรือผู้บริหารจำต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตใจ มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

(๕) มีสติสัมปชัญญะความรู้ตัว หมายถึงไม่ลุ่มหลงมัวเมาในอบายมุขต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตัวเอง สถาบันและครอบครัว

) กัลยาณมิตรธรรม ๗ หลักธรรมข้อนี้แสดงถึงบุคลิกภาพของผู้นำที่สามารถประทับใจผู้ใต้ปกครองได้เป็นอย่างดี ประกอบไปด้วย

(๑) ปิโย เป็นผู้นำที่ประชาชนรักใคร่

(๒) ครุ เป็นผู้นำที่ประชาชนเคารพรัก

(๓) ภาวนีโย เป็นผู้นำที่ประชาชนดูแล้วน่าเจริญใจ

(๔) วัตตา เป็นผู้นำที่รู้จักพูดให้ได้ผล

(๕) วจนักขโม เป็นผู้นำที่มีความอดทนต่อถ้อยคำ

(๖) คัมภีรัญจ กถัง กัตตา เป็นผู้นำที่สามารถแถลงเรื่องล้ำลึกได้

(๗) โน จัฏฐาเน นิโยชเย เป็นผู้นำที่ไม่ชักชวนผู้ตามไปในทางที่ผิด

) ราชธรรม ๑๐ หลักธรรมสำหรับผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่ ได้แก่(ปริญญาโณภิกขุ (ป. เพชรอริยะ) และสมบัติ วิอังศุธร, รศ.ดร. ธรรมาธิปไตย ๙ อารยธรรมใหม่ของแผ่นดิน ขจัดสิ้นเหตุวิกฤติชาติ. หน้า ๑๑๕)

(๑) ทาน คือการให้ทั้งวัตถุทาน ธรรมทาน อภัยทาน แก่พสกนิกรหรือผู้ใต้การปกครอง

(๒) ศีล การละเว้นจากความประพฤติที่ผิดทั้งปวง

(๓) ปริจจาคะ การบริจาค คือ เสียสละความสุขสำราญ เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนหรือผู้ใต้บังคับบัญชา

(๔) อาชชวะ ความซื่อตรงและเข้มแข็ง ที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง มีความจริงใจ

(๕) มัททวะ ความอ่อนโยน คือมีอัธยาศัยสุภาพต่อคนทั้งปวง

(๖) ตปะ ความเพียรพยายาม ที่จะเผาผลาญกิเลสที่อาจเกิดขึ้น

(๗) อักโกธะ ความไม่โกรธ คือ ไม่กริ้วกราด ไม่กระทำสิ่งใดด้วยอำนาจของความโกรธ

(๘) อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียนผู้อื่นทั้งทางตรงและทางอ้อม

(๙) ขันติ มีความอดทน อดกลั้น ต่อสิ่งยั่วโลภะ โทสะ โมหะทั้งปวง

(๑๐) อวิโรธนะ ประพฤติไม่ให้ขาดจากธรรมนองคลองธรรม

) จักรวรรดิวัตร ๑๒ พระพุทธเจ้าทรงเล่าเรื่องให้ภิกษุทั้งหลายฟังเกี่ยวกับการปกครองบ้านเมืองให้เป็นธรรม หรือวัตรปฏิบัติของพระเจ้าจักรพรรดิอันประเสริฐ หรือหน้าที่ของนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่ โดยให้ถือธรรมเป็นใหญ่เป็นอันดับแรก ดังนี้

(๑) ธรรมธิปไตย ประกอบด้วย จงอาศัยธรรมเท่านั้น สักการะธรรม ทำความเคารพธรรม นับถือธรรม บูชาธรรม ยำเกรงธรรม มีธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นยอด และมีธรรมเป็นใหญ่

(๒) อธรรมการ ห้ามและกั้นมิให้มีการอันเป็น “อธรรม” เกิดขึ้นในราชอาณาเขต คือ จัดการป้องกันมิให้มีการกระทำความผิด ความชั่วร้ายเดือดร้อนเกิดขึ้นในบ้านเมือง

(๓) ธนานุประทานปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ชนผู้ไร้ทรัพย์ มิให้มีประชาชนขัดสนยากไร้ในประเทศ

(๔) สมณพราหมณปริปุจฉา ปรึกษาปัญหากับพระสงฆ์ พราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ไม่ประสาทมัวเมา สงเคราะห์นักปราชญ์ นักวิชาการผู้ทรงคุณธรรมอยู่เสมอกาลอันควร

กล่าวโดยสรุป หลักธรรมรัฐ หรือหลักธรรมาภิบาล เป็นหลักการปกครองครองที่มุ่งเน้นหลักธรรมในการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี มีที่มาจากเจตนารมณ์ที่ดีของนักคิด นักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ ประกอบกับการห่วงใยของสถาบันทางการเงินระดับโลกอย่าง ธนาคารโลก และ IMF เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ยังได้มีปัญญาชน นักคิด นักการเมืองที่ได้นำแนวคิดนี้กลับสู่ประเทศของตนโดยมีเป้าหมายที่การอยู่ร่วมกันในบ้านเมืองอย่างสันติสุข โดยผู้ปกครองจะต้องตั้งอยู่ในธรรม มีหลักการ และหลักวิชาการที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ซึ่งมีการถ่ายทอดแนวคิดมาในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย แท้จริงแล้ว หัวใจอยู่ที่การมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นเอง เพื่อตรวจสอบ ถ่วงดุลกับผู้นำ ทั้งนี้ผู้นำเองก็ต้องมีการบริหารจัดการอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา และเป็นธรรม พร้อมกับรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองด้วย หลักการปกครองตามแนวทางของธรรมรัฐ จะวางกรอบแนวคิดตลอดถึงแนวข้อปฏิบัติเอาไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้นักปกครองทั้งหลายที่มีอำนาจในการบริหารบ้านเมืองมีแนวคิดที่จะพัฒนาตนเองเพื่อนำไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือ การครองตน ครองคน และครองงาน อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง ที่จะยึดถือเอาเป็นแนวปฏิบัติ เพื่อนำพาไปสู่เป้าหมายในการพัฒนาสังคมและประเทศสืบต่อไป

บรรณานุกรม

สัญญา สัญญาวิวัฒน์. สังคมวิทยาการเมือง. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, ๒๕๔๓), หน้า ๑๓๒.

สุรชาติ บำรุงสุข. กองทัพกับธรรมรัฐ : ข้อคิดเพื่อการบริหารของประชาสังคม. บทความ ในหนังสือ ธรรมาภิบาลกับคอรัปชั่นในสังคมไทย. (กรุงเทพฯ : สถาบันวิถีทรรศน์, ๒๕๔๖), หน้า ๑๐๔.

สมชาย ปรีชาศิลปกุล. อธรรมรัฐ. บทความ ในหนังสือ ธรรมาภิบาลกับคอรัปชั่นในสังคมไทย. (กรุงเทพฯ : สถาบันวิถีทรรศน์, ๒๕๔๖), หน้า ๑๓๓-๑๓๔.

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.). ธรรมาภิบาลการมีส่วนร่วมของประชาชนและกระบวนการทางด้านสิ่งแวดล้อม. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สาธาร, ๒๕๔๔), หน้า ๑๒.

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.). ธรรมาภิบาลการมีส่วนร่วมของประชาชนและกระบวนการทางด้านสิ่งแวดล้อม. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สาธาร, ๒๕๔๔), หน้า ๑๒๔.

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. การสร้างธรรมาภิบาลในสังคมไทย. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เดือนตุลา จำกัด, ๒๕๔๒), หน้า ๒๙-๓๔.

ปฐมพงศ์ ทินบรรเจิดฤทธิ์. “พุทธจริยศาสตร์กับรัฐศาสตร์” พุทธจักร. ปีที่ ๖๓ ฉบับที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒. หน้า ๔๒-๔๓.

ปริญญาโณภิกขุ (ป. เพชรอริยะ) และสมบัติ วิอังศุธร, รศ.ดร. ธรรมาธิปไตย ๙ อารยธรรมใหม่ของแผ่นดิน ขจัดสิ้นเหตุวิกฤติชาติ. (กรุงเทพฯ: เอ. พี. พริ้นติ้ง กรุ๊ป. ๒๕๔๙), หน้า ๙๔.

พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม), ทฤษฎีรัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก. พิมพ์ครั้งที่ ๒. หน้า ๕๒-๕๓.

พระเทพโสภณ (ประยูร มีฤกษ์), โลกทัศน์ของชาวพุทธ, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๓), หน้า ๕๙.

ปริญญาโณภิกขุ (ป. เพชรอริยะ) และสมบัติ วิอังศุธร, รศ.ดร. ธรรมาธิปไตย ๙ อารยธรรมใหม่ของแผ่นดิน ขจัดสิ้นเหตุวิกฤติชาติ. หน้า ๑๑๕.

หมายเลขบันทึก: 616244เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2016 11:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2016 11:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท