ชุมชนหนองผือ ร้อยเอ็ด เลิกใช้ยาฆ่าหญ้าในนาข้าวทั้งหมู่บ้าน จากการตั้งกติกาชุมชน


พบชุมชนเลิกใช้ยาฆ่าหญ้าทั้งหมู่บ้าน

ชุมชนหนองผือ ร้อยเอ็ด เลิกใช้ยาฆ่าหญ้าในนาข้าวทั้งหมู่บ้าน จากการตั้งกติกาชุมชน

นายสยาม สุตนนท์ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านหนองผือ ตำบลสะอาดสมบูรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่าบ้านหนองผือ เป็นหมู่บ้านกึ่งเมือง ขนาดเล็ก จำนวน 66 หลังคาเรือน ชาวบ้านมีอาชีพหลักคือการทำนา ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนจากนาดำเป็นนาหว่าน ประกอบกับสภาพดินฟ้าอากาศตามธรรมชาติ ทำให้ประสบปัญหาภัยธรรมชาติและวัชพืชในนาข้าว ชาวบ้านจึงหันมาใช้สารเคมีในนาข้าวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะยาฆ่าหญ้า พบว่ามีการทำนาอินทรีย์เพียง 5 ครัวเรือน อีก 60 ครัวเรือนใช้ยาฆ่าหญ้า ด้วยความเชื่อว่าจะช่วยลดความเสี่ยง และเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นได้ ทำให้ผลกระทบต่างๆเกิดขึ้น เช่น ปี 2558 มีวัวควายล้มตาย 2 ตัว คนรับจ้างฉีดยาฆ่าหญ้าในหมู่บ้านข้างเคียงเสียชีวิตลงโดยไม่ทราบสาเหตุ และยาฆ่าหญ้าส่งกลิ่นเหม็นรบกวน เนื่องจากแปลงนาอยู่รอบๆหมู่บ้าน

เดือนกรกฎาคม 2558 ชุมชนบ้านหนองผือ จึงขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสสส. โครงการร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ มาทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ โดยเฉพาะแนวคิดการตั้งสภาผู้นำชุมชนมาทำงานร่วมกัน จะทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมรับรู้และแก้ไขปัญหา

การทำงานมีการจัดเวทีประชาคมปัญหา ค้นหาสาเหตุของปัญหา พบว่าชาวบ้านใช้ยาฆ่าหญ้าจากหลายปัจจัยเช่น การเปลี่ยนจากนาดำ มาเป็นนาหว่าน ทำให้หญ้าเกิดมากขึ้น สภาพดินที่เสื่อมโทรม ทำให้ชาวบ้านเชื่อว่าปุ๋ยเคมีและยาฆ่าหญ้าจะช่วยเพิ่มผลผลิต ประกอบกับการประชาสัมพันธ์ของบริษัทปุ๋ยและยาฆ่าหญ้าเข้าถึงชุมชน พร้อมโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม สร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านลองใช้มากขึ้น จากนั้นได้ตั้งคณะกรรมการสภาผู้นำชุมชนที่มีตัวแทนจากหลายภาคส่วน เช่น ผู้นำ ส.อบต. อสม. รวม 20 คน มาทำงานเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยกำหนดให้มีการประชุมสภาผู้นำอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อวางแผนการกิจกรรมตลอดทั้งปี เช่น อบรมให้ความรู้ การตรวจเลือดเพื่อหาสารเคมีตกค้างในเลือด การศึกษาดูงานหมู่บ้านที่ทำเกษตรอินทรีย์ การทำปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพใช้เอง

"และที่สำคัญ มีการประชาคมเพื่อตั้งกติกาชุมชนเพื่อถือปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งชุมชนบ้านหนองผือได้กำหนดกติกาคือ ทุกครัวเรือนพร้อมใจเลิกใช้ยาฆ่าหญ้าในนาข้าว หากใครไม่ปฏิบัติตาม จะมีบทลงโทษหลายระดับ เช่นการตักเตือนเบื้องต้นจากคณะกรรมการสภาชุมชน การตัดสิทธิ์ไม่ให้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ ไม่ให้สิทธิ์กู้เงินกองทุนของหมู่บ้าน” นายสยามกล่าว

นอกจากทุกครัวเรือนเลิกใช้ยาฆ่าหญ้าแล้ว ยังมีชาวบ้านอีก 45 ครัวเรือนกันพื้นที่แปลงนาคนละ 2 ไร่ ปลูกข้าวข้าวอินทรีย์ ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าหญ้าไว้บริโภคในครัวเรือน ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นให้ชุมชนเรียนรู้การทำเกษตรที่ยั่งยืนซึ่งเป็นการผลิตที่เน้นการพึ่งพาตนเอง และยังปลอดภัยต่อสุขภาพทั้งเกษตรกรผู้ผลิต และผู้บริโภคอีกด้วย


หมายเลขบันทึก: 616116เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2016 11:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กันยายน 2016 11:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยอย่างยิ่ง มีโอกาสจะขอเข้าไปศึกษาเรียนรู้ครับ เยี่ยม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท