คุณค่าที่ยั่งยืน


คุณค่าที่ยั่งยืน

คุณค่าใดๆในโลกนี้มีมากมายและหลากหลายคุณสมบัติ แล้วแต่ว่าจะใช้ "กรอบ" อะไรมาเทียบ มาเปรียบเปรย และทำให้คุณค่านั้นๆเด่นชัดขึ้นเพื่อจะทำไปใช้ประโยชน์ บางเรื่องราวก็มีค่าเพราะ "ความหายาก" ครั้นมีมากขึ้น คุณค่านั้นก็ลดลง บางเรื่องราวมีค่าเพราะ "ความมีน้อย" ครั้นไปเจอแหล่งที่มาสะสมจำนวนมากคุณค่านั้นก็ลดลง บางเรื่องราวมีค่าเพราะมีพลังอำนาจ "เหนือธรรมชาติ" หรือ "ความไม่เข้าใจ" ครั้นมีการอธิบายชัดเจนขึ้น จับต้องได้ ทราบว่าอะไรเป็นอะไร จากเหนือธรรมชาติก็กลายเป็นธรรมดา คุณค่านั้นๆก็ลดลง

ดูเหมือนทุกๆอย่างจะมี "การเสื่อมสภาพ" กันหมด มีอะไรไหมที่จะยั่งยืนได้? ก็เลยนึกถึงปริศนาระหว่างตัวละครในหนังสือ (และภาพยนต์) เรื่อง Hobbit ที่ทายกันระหว่างพระเอกคือ Bilbo และตัวละครสำคัญอีกตัวนึงคือ Gollum โดยที่ Gollum เป็นผู้ทาย
"This thing all things devours:
Birds, beasts, trees, flowers;
Gnaws iron, bites steel;
Grinds hard stones to meal;
Slays king, ruins town,
And beats high mountain down."
"สิ่งนี้นั้นบริโภททุกสรรพสิ่ง จตุรบททวิบาท พฤกษชาติบุปผาชาติ กระทั่งโลหะธาตแกร่งใดๆ บดสลายแม้อิฐกระทั่งหิน พิฆาตราชัน ทำลายนครา ปราบภูผาลงสิ้น"
เล่นเอา Bilbo เกือบจะจนปัญญา แต่ในที่สุดก็นึกคำวิสัชนาได้ว่าคือ "เวลา (Time)" นั่นเอง ที่จะทำลายทุกสรรพสิ่งลงได้ ตามหลักแห่งอนิจจา

ดังนั้น "ความยั่งยืน" หรือคงอยู่ของคุณค่าใดๆน่าจะเป็นอีก parameter หนึ่งที่มีความท้าทายมากที่สุดของคุณค่าทุกประการ มีอะไรไหมที่จะท้าทายกาลเวลา ท้าทายสัจจธรรมแห่งอนิจจัง ความไม่เที่ยงแท้ได้?

ในอีกมุมมองหนึ่ง คุณค่าเป็น "การรับรู้" ซึ่งแปลว่าต้องมีประธาน หรือมีคนรับรู้เสียก่อน (ประเด็นนี้คงจะเถียงกันเชิงปรัชญาได้เยอะ ทำนองเดียวกับกิ่งไม้หักหลานในป่าลึกที่ไม่มีชีวิตอื่นๆอยู่ จะมีเสียงดังหรือไม่) แต่ถ้าเรา "สมมติ" ว่าคุณค่าใดๆต้องมีผู้รับรู้ จากโจทย์เดิม "คุณค่าที่ยั่งยืน" ก็จะเปลี่ยนเป็น "คุณค่าที่คนไม่ว่ายุคสมัยใดก็ยังคงรับรู้" จะเกิดแนวทางในการศึกษาและมองในเรื่องนี้อีกแบบหนึ่ง

อะไรที่เป็นคุณค่าในความรับรู้ของมนุษย์?

ที่ดูเหมือนจะสากล ได้แก่ ความสุขความสบาย ความปลอดภัย ความรัก ความรู้สึกสงบปิติสันติ ความเข้าอกเข้าใจในเรื่องราว ความเพลิดเพลิน ความมีอิสรภาพ ความประณีตละเอียดละออในการรับรู้ ความเพียรพยายามไม่ย่อท้อ การมีความหวัง (สิ่งดีจะเกิดขึ้น)

ที่ดูเหมือนจะเริ่มอิง "บริบท" มากขึ้นอีกหน่อย ได้แก่ ความกล้าหาญ ความเสียสละ การให้ การดูแลใส่ใจ ความสำเร็จ ความมั่งคั่งร่ำรวย ฐานะ ศักดิ์ศรี เกียรติยศ ศักดินายศถาบรรดาศักดิ์ ชนชั้น

และสุดท้ายคือ คุณค่าที่เป็นการ "สร้างแต่ง" ขึ้นจากความไม่รู้ เช่น ปาฎิหาริย์ อำนาจเหนือธรรมชาติ เหนือมนุษย์ ในทุกๆสังคมที่จะเผชิญหน้ากับความ "ไม่รู้" จะใช้อุบายต่างๆนานาเพื่อทำให้ "พออยู่ได้" เช่นการสร้างเทพเจ้า หรือ superstition เข้ามาเป็นตัวแทน "อธิบาย" สิ่งที่ยังไม่เข้าใจ เทพเจ้าไฟ เทพเจ้าน้ำ เทพเจ้าดวงอาทิตย์ เทพเจ้าพระจันทร์ เทพเจ้าลม ฝน พายุ ฯลฯ

ศิลปะเป็นอีกกุศโลบายที่มนุษย์แสดงถึงศักยภาพในการคิด จินตนาการ และให้ความหมาย เหนือไปกว่าสถานภาพที่ทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง สัมผัส รสชาติ หรือการผสมกลมกลืนของผัสสะร่วมกับการให้ความหมาย แต่ถ้าเมื่อไรเราเอาความ "ยั่งยืน" มาจับแล้ว ก็จะพบว่าศิลปะที่จะยั่งยืนนั้น ถ้า "อิง" กับคุณค่าที่สากลมากเท่าไหร่ก็ยิ่งจะทนต่อกาลเวลาได้เท่านั้น ศิลปะที่อิงกับ "บริบท" ต่างๆ ก็จะต้องเผชิญหน้ากับความอนิจจังของบริบทที่แปรเปลี่ยนไปตามสังคม ไปตามกาลเวลา

วิจิตรศิลป์ที่ยั่งยืนจะอิงกับธรรมชาติที่แท้ของมนุษย์ ความรัก ความคิดสร้างสรรค์ ความละเอียด ความเพียรพยายาม สัจจธรรมและความจริงแท้ต่างๆ อาทิ เกิด แก่ เจ็บ และความตาย มนุษย์ทุกยุคทุกสมัยต่อยอดและอาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นเชื้อ เป็นวัตถุดิบ ส่วนศิลปะที่อาศัยคุณค่าใดๆที่ไม่อาจจะทนต่อการ "วิวัฒน์" ของเวลา ซึ่งกัดกินได้ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ก็จะเสื่อมไปเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดา ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบ ต้องการหรือไม่ต้องการ ที่จะคงอยู่ได้นั้นคงจะเป็นศิลปแห่งธรรมชาติของมนุษยชาติเท่านั้น

น.พ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันอังคารที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๙ เวลา ๑๐ นาฬิกา ๒๗ นาที
วันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีวอก

หมายเลขบันทึก: 616115เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2016 10:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กันยายน 2016 10:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท