​KM วันละคำ 679. KM 3.0 เพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ



ในวันจันทร์ที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๙ สคส. ไปรับงานจัดเวที KM ให้แก่ สช. ในงาน KM Day “Brain Celebration” โครงการการสร้างและจัดการความรู้ งานวิชาการจากการปฏิบัติ ของบุคลากร สช. ปี ๒๕๕๙


สช. บอกว่าเป้าหมายของงาน ๑ วัน นี้คือ เพื่อ

  • เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความรู้จากการปฏิบัติการของบุคลากร สช.
  • เพื่อนําข้อเสนอแนะของวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาพัฒนาคุณภาพการทํางานทางวิชาการของ สช.
  • เพื่อสร้างพื้นที่กลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทํางานของบุคลากร สช.
  • เพื่อกระตุ้นให้เกิดวัฒนธรรมวิชาการ และการจัดการความรู้ในการพัฒนาการทํางานของบุคลากร ที่นําไปสู่เป้าหมายหรือคุณค่าในการทํางานของ สช.


ในเวลาเพียง ๑ วัน เป้าหมายหลายข้อ และ สคส. มารับงานเฉพาะการดำเนินการกิจกรรม ๑ วัน โดยที่ สช. วางแผนกิจกรรม และแจ้งให้คนเตรียมผลงานมาแลกเปลี่ยนไว้ก่อนแล้ว จึงเป็นข้อจำกัดของ สคส. ในการทำให้บรรลุผล ตามเป้าหมาย ๔ ข้อข้างบน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่สามารถทำให้ KM “อยู่ในวิถี” การทำงานประจำวันขององค์กรได้


ส่วนที่ สคส. พยายามทำอย่างยิ่งคือ ทำให้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พุ่งเป้าไปที่ “เป้าหมาย” ของ สช. คือ การพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ ซึ่งในทางปฏิบัติตีความได้หลากหลายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีความตามบริบทของการ พัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ ซึ่งมีทั้งนโยบายสาธารณะเชิงพื้นที่ นโยบายสาธารณะเชิงประเด็น และนโยบายสาธารณะ ระดับชาติ


ตีความว่า มองเชิงคุณค่า การพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพจะไร้ผล หากไม่มีการนำไปใช้ หรือปฏิบัติ แล้วเกิดผลดี ต่อสุขภาพของผู้คนที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นคุณค่าของ policy development จึงอยู่ที่ policy application และเกิด policy impact งาน KM ก็ตาม งานวิจัยก็ตาม ในเรื่องการพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพจะต้องมีการวัด policy impact นี่คือโจทย์เชิงคุณค่า


ผมตีความว่า พนักงานของ สช. ไม่ควรมุ่งทำหน้าที่พัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพด้วยตนเอง แต่มุ่งทำหน้าที่ ทำงานร่วมกับภาคี เข้าไปหนุนให้ภาคีที่หลากหลาย ร่วมกันพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ คือต้องให้ภาคีหลายฝ่ายร่วมกัน เป็นเจ้าของนโยบายนั้น ไม่ใช่ สช. เป็นเจ้าของ


ดังนั้น “ความรู้” ที่เป็น Critical Knowledge ในที่นี้ จึงเป็น “ความรู้สองชั้น” คือความรู้เรื่องการพัฒนานโยบายสาธารณะ และ ความรู้เรื่องการทำงานกับภาคี โดยต้องไม่ลืมว่า เราเน้นที่ ความรู้ปฏิบัติ มากกว่าความรู้ทฤษฎี


ในเป้าหมาย ๔ ข้อข้างบน มีคำว่า “วิชาการ” อยู่ใน ๒ ข้อ คำนี้มีมนตร์ขลังเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำให้เกร็ง ขาดบรรยากาศที่ผ่อนคลายไร้ข้อจำกัดของถูก-ผิด ซึ่งเป็นบรรยากาศที่จำเป็นสำหรับวง KM


ในอีกมิติหนึ่ง “ความรู้” ที่เป็น Critical Knowledge เรื่องการพัฒนานโยบายสาธารณะ เป็น “ความรู้สามชั้นคือชั้น พัฒนานโยบาย ชั้นประยุกต์นโยบาย และชั้นการวัดผลกระทบของนโยบาย ที่จริงพนักงานของ สช. ควรรู้วิธีทำงานกับภาคีใน ๓ ชั้นนี้ด้วยเช่นกัน


ในการเกริ่นนำเรื่อง KM 3.0สู่เป้าหมายการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม
ผมจึงชี้ให้เห็นว่า เวทีนี้เป็นเวทีลูกครึ่ง คือครึ่งเวทีวิชาการ และครึ่งเวที KM หากจะเน้นที่ผลทางวิชาการก็ต้องหย่อนด้าน KM หากเน้นผลด้าน KM ก็ต้องหย่อนด้านวิชาการ หรืออาจต้องอนุโลมใช้วิธีจัดการประชุมเพื่อเป้าหมายเดียว ซึ่งผมย่อมเสนอ ให้เลือกเป้าหมาย KM แต่เป็น KM ที่ปูทางสู่วิชาการ หรือหนุนวิชาการ (วิจัย)


ในชีวิตจริง เราทำให้ KM กับวิจัยเกื้อหนุนเสริมแรงซึ่งกันและกันได้ ยิ่งวิจัยแบบ R2R ยิ่งเป็นสองหน้าของเหรียญ เดียวกันกับ KM เพราะมันเป็นเครื่องมือพัฒนางาน พัฒนาคน และพัฒนาองค์กรด้วยกัน (พัฒนาสามชั้น) แต่จะใช้เครื่องมือเหล่านี้เป็นต้องมีการฝึกหรือพัฒนาวิธีทำงานและวิธีบริหารงาน ผมมีความเชื่อว่า องค์กรที่ซับซ้อน และทำงานยากๆ สามารถยกระดับผลิตภาพ ขององค์กรได้ร้อยละ ๑๐ภายในเวลา ๑ - ๒ ปี โดยลงทุนเพียงร้อยละ ๑ ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพื่อฝึกใช้ KM + R2R พัฒนาสามชั้นดังกล่าวการลงทุนที่ให้กำไร ๑๐ เท่าหายากนะครับ สคส. กำลังเล็งหาหน่วยงานที่ต้องการลงทุน แบบนี้ โดย สคส. เข้าไปรับทำหน้าที่ที่ปรึกษา (consultant) ในลักษณะที่ปรึกษาธุรกิจ


วันที่ ๑๙ กันยายน เรานัด BAR กันที่โรงแรมที่ประชุม เวลา ๗.๓๐ น. เพื่อ BAR เตรียมเรื่องการออกแบบเวทีประชุม เพื่อให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบเปิดใจ และผ่อนคลาย ไม่ใช่เวทีเสนอผลงานวิชาการแบบเคร่งเครียด ซึ่งเมื่อถึงเวลาจริง พบว่าสมาชิกในที่ประชุมเกือบ ๘๐ คนชอบมาก


ขอนำ narrated ppt ของการนำเสนอของผม มา ลปรร. ที่นี่


จากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดวัน ผมเห็นโอกาสที่ สช. จะพัฒนาพนักงานของตนด้วย KM และ R2R เพื่อยกระดับความสามารถในการเรียนรู้จากการทำงานงานของพนักงาน และยกระดับความน่าเชื่อถือขององค์กร ในหมู่ภาคีร่วมงานนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย Health in All ของท่านเลขาธิการ สช. ท่านใหม่ นพ. พลเดช ปิ่นประทีป



วิจารณ์ พานิช

๑๙ กันยายน ๒๕๕๙



download ppt click here


หมายเลขบันทึก: 616105เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2016 08:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กันยายน 2016 08:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท