การวิจัยอนาคต (Future Research)


การวิจัยอนาคต (Future Research)

คณะผู้จัดทำ

ดร.ภาสกร เรืองรอง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร

วัชรพงศ์ แสงอ่อน, สุธีร์ ฟูเต็มวงค์, วิเชียร วงค์วัน
นิสิตดุษฏีบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร

ความหมายของการวิจัยเชิงอนาคต

เทียนฉาย กีระนันท์ (2537)ได้ให้ความหมายว่า การวิจัยเชิงอนาคต เป็นงานวิจัยที่จำเป็นอย่างยิ่งในการวางแผนและกำหนดนโยบายตลอดจนแนวทางการ ดำเนินงานในอนาคต โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำการทำนาย เหตุการณ์ คาดคะเนหรือพยากรณ์เหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้จะต้องอิงพื้นฐานข้อมูลและข้อค้นพบที่จะได้จากการวิจัย เพื่อค้นหาและอาจจะต้องอิงกับข้อมูลในระยะเวลาหนึ่งที่ผ่านมาในอดีตด้วย เพื่อที่จะสามารถวาดภาพพิจารณาถึงแนวโน้มที่จะเกิดเหตุการณ์หนึ่งๆในอนาคต

จุมพล พูลภัทรชีวิน (2559) ได้กล่าวว่า การวิจัยอนาคต มาจากคำภาษาอังกฤษว่า “Futures Research” เป็นศัพท์เฉพาะ (Technical Term) ที่สื่อถึงแนวคิด วิธีการ กระบวนการ และระเบียบวิธีที่ใช้ในการสำรวจ ศึกษาแนวโน้มที่มีความเป็นไปได้ในอนาคต เกี่ยวกับเรื่องที่ทำการศึกษา ทั้งแนวโน้มที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ จึงมีตัว “S” ต่อท้ายคำว่า Future เพื่อสะท้อนแนวคิดว่าเรื่องของอนาคตนั้น มีความ เป็นไปได้ในหลายทิศทาง จึงต้องสำรวจ และศึกษาแนวโน้มที่มีความเป็นไปได้เหล่านั้น ให้มาก ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ผู้ที่ทำการศึกษาอนาคตอย่างเป็นระบบโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยอนาคต แบบต่างๆ เรียกว่านักวิจัยอนาคตส่วนนักคิดและนักทฤษฎีเกี่ยวกับอนาคตเรียกว่า นักอนาคตนิยม ค่ารวมที่ใช้เรียกกลุ่มบุคคลเหล่านี้ คือ นักอนาคต

ดวงนภา มกรานุรักษ์ (2554)ได้กล่าวไว้ว่า การวิจัยอนาคตอยู่ที่การสำรวจและศึกษาแนวโน้ม ที่เป็นไปได้ หรือนำจะเป็นของเรื่องที่ศึกษาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทั้งที่พึงประสงค์ และไม่พึงประสงค์ เพื่อหาทางทำให้แนวโน้มที่พึงประสงค์เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันหาทางป้องกันหรือขจัด แนวโน้มที่ไม่พึงประสงค์ให้หมดไปด้วยการเริ่มลงมือทำตั้งแต่ปัจจุบัน

จากความหมายของนักการศึกษาที่ได้กล่าวมาสามารถสรุปได้ว่า การวิจัยเชิงอนาคต เป็นงานวิจัยที่สื่อถึงแนวคิด การวางแผน การสำรวจและกำหนดนโยบาย แนวทางการดำเนินงาน วิธีการต่างๆที่ใช้สำรวจ เป็นการศึกษาในแนวโน้มเหตุการณ์อนาคตที่มีความเป็นไปได้ เป็นคาดการณ์หรือย่างใดอย่างหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยอิงพื้นฐานข้อมูลและข้อค้นพบจากอดีตถึงปัจจุบัน สร้างกระบวนการศึกษา สรุปผลข้อมูลและสามารถวาดภาพพิจารณาถึงแนวโน้มที่จะเกิดเหตุการณ์ในภายหน้าที่สามารถหาวิธีทางการเพื่อรองรับหรือป้องกัน

ความเป็นมาและพัฒนาการของการวิจัยอนาคต

กฤษดา กรุดทอง (2530 : 13 – 14) ได้กล่าวถึงพัฒนาการของการวิจัยอนาคตไว้ว่าเริ่มมีมาตั้งแต่ในปี ค.ศ. 1907 โดย ดี ซี กิลฟิลแลม (D.C. Gilfillam) ได้เสนอวิธีการศึกษาอนาคตขึ้นเป็นบุคคลแรก และต่อมาในปี ค.ศ. 1930 รัฐบาลอเมริกาได้สนับสนุนการวิจัยด้านนี้ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1944 โอ เค เฟรชเทียม (O.K. Flechtheim) ได้เริ่มใช้คำว่า “ฟิวเจอโรโลยี (Futurology)” ในราวทศวรรษ 1960 การวิจัยอนาคตเริ่มมีรูปแบบวิธีการที่ชัดเจนมากขึ้น วิธีการวิจัยอนาคตได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อกำหนดนโยบายและวางแผน ถือได้ว่าเป็นเทคนิคหนึ่งของการวางแผน ผนวกเข้ากับการวิจัยนโยบาย (Policy Research) ซึ่งได้รับการพัฒนาพร้อมกันในระยะเวลาดังกล่าว ในสหรัฐอเมริกาบริษัท แรนด์ โคออร์ปเปอเรชั่น (Rand Cooperation) ได้วางพื้นฐานการวิจัยด้านนี้อย่างมั่นคงร่วมกับ เอสซีดี (SCD: System Development Cooperation) และสถาบันฮัดสัน (Hudson Institute) เพื่อดำเนินการวิจัยอนาคตแก่กองทัพอากาศสหรัฐ ในปี ค.ศ. 1960 นิโคลัส เรสเชอร์ (Nicholas Rescher) และโอลาฟ เฮลเมอร์ (Olaf Helmer) ได้พัฒนาเทคนิคเดลฟาย (Delphi Technique) มาใช้ศึกษาอนาคต

ต่อมาในปี ค.ศ. 1964 โอลาฟ เฮลเมอร์ (Olaf Helmer) และเจมส์ กอร์ดอน (Jame Gordon) ในนามบริษัทแรนด์ ได้ทำการวิจัย Long – Range Forecasting Study เพื่อทำนายเหตุการณ์ทางวิทยาศาสตร์ 103 โครงการ เช่น การลงดวงจันทร์ การเปลี่ยนหัวใจมนุษย์ การติดต่อทางจิต การวิศวกรรมพันธุ์ เป็นต้น ในทศวรรษนี้ถือว่า การวิจัยอนาคตได้รับการยอมรับเป็นที่เชื่อถือกันทั่วไป

หลังจากปี ค.ศ. 1967 เป็นต้นมา การวิจัยอนาคตได้แพร่หลายเข้าไปในยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และอิตาลี ในปารีส เบอร์ตรัง เดอ ยองเวเนล (Bertrand de jonvenel) ได้จัดตั้ง สโมสรแห่งโรมขึ้น (Club of Rome) ผลงานสำคัญของคณะนักวิจัยอนาคตกลุ่มนี้ คือในปี ค.ศ. 1972 ได้เสนอ “ขีดจำกัดความเจริญ” (The Limit of Growth) ซึ่งสร้างภาพอนาคตในปี ค.ศ. 2000 ด้วยการฉายภาพการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากร ทรัพยากร การผลิตอาหารและมลภาวะ และในปี ค.ศ. 1974 ได้เสนอ “มนุษยชาติ ณ จุดหันเห” (Mankind at The Turning Point) กล่าวถึงทางเลือกและการแก้ไขปัญหาจากความเจริญของมนุษยชาติ

ในช่วงระยะเวลา ค.ศ. 1960 – 1969 การวิจัยอนาคตได้พัฒนาก้าวหน้ามาก มีระเบียบวิธีการ (Methodology) เฉพาะของตนเอง นับตั้งแต่นั้นมาการวิจัยอนาคตได้เข้าไปมีบทบาทอย่างสำคัญต่อการตัดสินใจ กำหนดนโยบาย และวางแผนขององค์การธุรกิจต่าง ๆ การวิจัยด้านนี้เป็นที่สนใจกันอย่างแพร่หลายทั้งกับหน่วยงานราชการ บริษัท และบุคคล

ลักษณะสำคัญของการวิจัยอนาคต

เป็นวิธีวิจัยที่ใช้ในการศึกษาอนาคต( future studies) เพื่อเป็นเครื่องมือทำนาย คาดการ บ่งชี้แนวโน้มสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ได้รับการพัฒนาขึ้นโดย Olaf Helmer และ Norman Dalkey แห่งบริษัทแรนด์(Rand Corporation) เมื่อ พ.ศ. 2505 ลักษณะสำคัญของอนาคตศึกษาประกอบด้วย

      • เวลา มีการระบุช่วงเวลา เช่น 5 ปี 10 ปี 25 ปี เป็นต้น
      • ปัญหา ไม่ใช่ปัญหาในความรับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่ง
      • ทฤษฎี เป็นความพยายามที่จะใช้และสร้างทฤษฎีในการศึกษา
      • เทคนิคการวิเคราะห์ ผสมผสานระหว่างวิธีการทางวิทยาศาสตร์และเชิงพรรณนา
      • การนำผลที่ได้ไปใช้ เพื่อประกอบการวางแผนและการตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคต

วิธีวิทยาการวิจัยอนาคต

1. การวิเคราะห์แนวโน้ม (trend analysis) หรือการสำรวจแนวโน้ม (trend extrapolation) การวิเคราะห์แนวโน้มเป็นวิธีการที่นิยมนำมาใช้ในการวิจัยอนาคต วิธีการนี้ประกอบด้วยเทคนิคย่อยหลายเทคนิค ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องอาศัยข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ (historical data) เทคนิคหนึ่งที่มักจะมีการนำมาใช้คือการกำหนดจุดของแนวโน้ม (spotting trend) ในเรื่องต่างๆ และเริ่มสืบสอบข้อมูลย้อนกลับไปในอดีต ทั้งนี้การวิเคราะห์แนวโน้มตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตย่อมเคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต อดีตจึงเป็นเครื่องทำนายอนาคตที่มีประสิทธิภาพ

2. การวิเคราะห์รูปแบบวัฎจักร (cyclical pattern analysis) การวิเคราะห์รูปแบบวัฏจักรมีความคล้ายคลึงกับการวิเคราะห์แนวโน้ม สมมติฐานของการวิเคราะห์ประเภทนี้คือ ปรากฏการณ์ต่างๆ มักจะเกิดขึ้นอย่างเป็นวงจรหรือวัฎจักร กล่าวคือ มีแนวโน้มที่จะเวียนกลับมาเกิดขึ้นอีก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่น วัฎจักรของธุรกิจ (business cycle) ที่การถดถอยจะเกิดขึ้นหลังจากที่ธุรกิจฟืนตัวมาได้สักระยะหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปของวัฏจักรธุรกิจจะมีลักษณะประกอบด้วยระยะการถดถอย (recession) ระยะการตกต่ำ (depression) ระยะการฟื้นคือ (revival) และระยะรุ่งเรือง (prosperity) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องวัฏจักรของชีวิต (life cycles) วัฎจักประวัติศาสตร์ (historical cycles) และวัฏจักรของรุ่น (generational cycles) เป็นต้น

3. การสำรวจสิ่งแวดล้อม (environmental scanning) การสำรวจสิ่งแวดล้อม หมายถึงการวิเคราะห์และการประเมินเงื่อนไขต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกขององค์กร ตลอดจนปัจจัยต่างๆ ที่จะมีผลกระทบต่อองค์กรนั้น การวิเคราะห์ปัจจัยภายในและภายนอกดังกล่าว มักมีการประเมินใน 4 ด้าน ประกอบด้วย การประเมิน

4. ความจุดแข็งขององค์กร (strengths) การประเมินข้อควรปรับปรุงหรือสิ่งที่เป็นจุดอ่อนขององค์กร (weaknesses) การประเมินโอกาสขององค์กร (opportunities) และการประเมินสิ่งที่จะเป็นภัยหรือสร้างความเสียหายให้องค์กร (threats) การวิเคราะห์ทั้ง 4 ด้านเรียกว่า “SWOT analysis” ซึ่งเป็นที่ต้องการสำหรับหน่วยงานหรือองค์กร เช่น ความรู้ ทักษะ หรือพฤติกรรมที่พึงประสงค์ โดยส่วนใหญ่การทำ “SWOT analysis”

จุดมุ่งหมายของการวิจัยเชิงอนาคต

นักวิชาการด้านอนาคตศึกษา หรืออนาคตวิทยาได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของการวิจัยเชิงอนาคตไว้ดังนี้(Textor, 1980 ; นาตยา ปิลันธานันท์, 2526 ; จุมพล พูลภัทรชีวิน, 2529 )

    • เพื่อบรรยายทางเลือกในอนาคต (Alternative Futures) ที่เป็นไปได้หรือน่าจะเป็นของกลุ่มประชากรที่ศึกษา
    • เพื่อประเมินสถานภาพในปัจจุบัน เกี่ยวกับความรู้ต่างๆที่ผู้ให้สัมภาษณ์มีอยู่ เกี่ยวกับอนาคตที่เป็นไปได้แต่ละทาง
    • เพื่อบ่งชี้ผลกระทบและผลต่อเนื่องที่อาจจะเกิดขึ้นจากอนาคตที่เป็นไปได้ ในแต่ละอนาคต
    • เพื่อเตือนให้ทราบล่วงหน้าเกี่ยวกับอนาคตที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
    • เพื่อเข้าใจเบื้องหลังของกระบวนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

เทคนิคการวิจัยเชิงอนาคต

การวิจัยอนาคตมีหลายวิธี ที่นิยมกัน มี

    • เทคนิคเดลฟาย (Delphi Technique)
    • Ethnographic Delphi Future Research, EDFR ชาติพันธุ์วรรณาแบบเดลไฟ
    • Focus Group Technique เทคนิคโฟกัสกรุ๊ป

เทคนิคเดลฟาย (Delphi Technique) ลักษณะสำคัญ

  • เป็นกระบวนการและวิธีการแสวงหาข้อมูลของนักวิจัย โดยการรับฟังความคิดเห็น การคาดการณ์การพยากรณ์ สถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง จากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิในศาสตร์สาขานั้น โดยให้ผู้เชี่ยวชาญตามคำถามจากแบบสอบถามที่ผู้ศึกษาวิจัยกำหนดขึ้น
  • ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิที่ผู้ศึกษาวิจัยเลือกให้เป็นผู้ตอบแบบสอบถาม หรือให้แสดงความคิดเห็น ไม่มีโอกาสได้รู้ว่า ในงานวิจัยนี้มีผู้เชี่ยวชาญคนใดบ้างเป็นผู้ตอบแบบสอบถามหรือแสดงความคิดเห็น ซึ่งลักษณะนี้สามารถลดความขัดแย้งในทางวิชาการระหว่างผู้เชี่ยวชาญ

ขั้นตอนของกระบวนการเทคนิคเดลฟาย (Delphi Technique)

  • กำหนดกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ผู้วิจัยต้องทำการคัดเลือกกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถ ในเรื่องที่จะศึกษาวิจัย ควรมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการศึกษาวิจัย และตรงตามตัวแปรที่ทำการศึกษา ความซับซ้อนของเรื่องที่ศึกษา เวลาและงบประมาณในการวิจัย
  • สร้างเครื่องมือการวิจัย โดยทั่วไปเป็นแบบสอบถามหรือการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างซึ่ง แบบสอบถามที่นำไปใช้ ผู้ศึกษาวิจัยต้องทำการตรวจสอบความตรง (Validity) ก่อนนำไปใช้
  • ทำการสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้วยแบบสอบถามหรือสัมภาษณ์ 3-4 รอบ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะของแบบสอบถาม ถ้าแบบสอบถามฉบับแรกเริ่มด้วยการให้ผู้เชี่ยวชาญลงมติหรือจัดลำดับความสำคัญ เมื่อถึงแบบสอบถามฉบับที่ 2 หรือ 3 อาจพบว่าคำตอบของกลุ่มไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนแปลง น้อยมาก ก็สามารถยุติการวิจัยได้โดยทั่วไปมักจะถาม 4 รอบ ดังนี้

รอบแรก ผู้วิจัยจะส่งแบบสอบถามไปให้ผู้เชี่ยวชาญแสดงคิดเห็นในเรื่องที่ผู้วิจัยต้องการศึกษา โดยทั่วไปจะเป็นคำถามปลายเปิดให้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างๆ เพื่อรวบรวมจัดประเด็นสร้างเป็นคำถามในรอบที่ 2 ต่อไป

รอบสอง ผู้วิจัยจะนำข้อความที่ได้รับจากคำตอบรอบแรกของงผู้เชี่ยวชาญทุกคนมารวบรวม ตัดทอนสิ่งที่ซ้ำๆ กันหรือสิ่งที่ เกินต้องการ จากนั้นก็จัดทำเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประเมินค่าของ Likert ให้ผู้เชี่ยวชาญลำดับความสำคัญ

รอบสาม ผู้วิจัยนำคำตอบที่ได้รับหาค่าเฉลี่ย โดยปกติกระทำในรูปของมัธยมฐานหรือฐานนิยม แล้วจัดส่งแบบสอบถามชุดเดิมไปให้ผู้เชี่ยวชาญ ได้พิจารณาการแสดงความคิดเห็นของตน ด้วยคำตอบของผู้เชี่ยวชาญบางคนอาจจะไม่ตรงกับคำตอบของกลุ่มได้ กรณีเช่นนี้ ผู้เชี่ยวชาญอาจจะเปลี่ยนแปลงคำตอบของตนหรือจะคงเดิมก็ได้ แต่จะได้รับการขอร้องให้แสดงเหตุผลประกอบ ถ้าไม่มี 3 เหตุผลประกอบ แสดงว่าเห็นด้วยกับคำตอบของกลุ่ม ในแบบสอบถามนี้จะแสดงให้เห็นคำตอบในรอบที่ 2 ของผู้เชี่ยวชาญแต่ละ ท่านนั้นเป็นอย่างไร มีความแตกต่างไปจากค่ามัธยมฐาน อินเตอร์ควอไทล์ของคำตอบทั้งหมดอย่างไร

รอบสี่ ดำเนินการเช่นเดียวกับรอบ 3 ส่วนจะมีการสอบถามในรอบ 4 หรือไม่ขึ้นอยู่กับคำตอบในรอบ 3 กล่าวคือ ถ้าคำตอบในรอบที่ 3 มีความสอดคล้องกันก็ไม่ต้องสอบถามในรอบ 4 จากคำตอบที่ได้รับ ผู้วิจัยจะได้ข้อมูลที่มีคุณค่าต่อการนำไปวินิจฉัยในเรื่องที่ต้องการ โดยข้อมูลที่ได้จะแสดงถึงลำดับความสำคัญ อัตราร้อยละของความสอดคล้องและความไม่สอดคล้องของความคิดเห็น

เทคนิคการวิจัยแบบอีดีเอฟอาร์ (Ethnographic Delphi Future Research: EDFR)

เทคนิคการวิจัยแบบ EDFR เป็นเทคนิคการวิจัยอนาคตที่ตอบสนองจุดมุ่งหมายและความเชื่อพื้นฐานของการวิจัยอนาคตมากที่สุดวิธีหนึ่งในปัจจุบัน (จุมพล พูลภัทรชีวิน, 2530, หน้า34-35) โดยหลักการแล้วเทคนิค EDFR เป็นการผสมผสานระหว่างเทคนิค EFR กับเดลฟายเข้าด้วยกัน ขั้นตอนต่าง ๆ ของ EDFR จะมีความคล้ายคลึงกับวิธีของ เดลฟาย เพียงแต่มีการปรับปรุงวิธีให้มีความยืดหยุ่นและมีความเหมาะสมมากขึ้น โดยในรอบแรกของการวิจัยจะใช้การสัมภาษณ์แบบ EFR ที่ปรับปรุงแล้ว หลังจากสัมภาษณ์ในรอบแรก ผู้เขียนจะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ และสร้างเป็นเครื่องมือ ซึ่งจะมีลักษณะเป็นแบบสอบถามแล้วส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญตอบตามรูปแบบของเดลฟาย เพื่อเป็นการกรองความคิดของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาฉันทามติ ซึ่งมักจะทำ 2-3 รอบ หลังจากนั้นจะนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวโน้มที่มีความเป็นไปได้มาก และมีความสอดคล้องทางความคิดเห็นระหว่างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเขียนสรุปเป็น ภาพอนาคต (Scenario)

การสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion)

การสนทนากลุ่ม หมายถึง การรวบรวมข้อมูลจากการสนทนากับกลุ่มผู้ให้ข้อมูลในประเด็นที่เฉพาะเจาะจง โดยมีผู้ดำเนินการสนทนา (Moderator) เป็นผู้คอยจุดประเด็นในการสนทนาเพื่อชักจูงให้กลุ่มเกิดแนวคิดและแสดงประเด็นหรือแนวทางการสนทนาอย่างกว้างขวางละเอียดลึกซึ้ง โดยมีผู้เข้าร่วมการสนทนาในแต่ละกลุ่มประมาณ 6-10 คน ซึ่งมาจากประชากรเป้าหมายที่กำหนดไว้ มีวิธีการเดียวกันแต่มีวัตถุประสงค์ต่างกันอีก เช่น การระดมสมอง (Brian Stoning) การทำ Delphi Technique การสัมภาษณ์ กลุ่ม (Group interview) การประชุมกลุ่ม (Group Meeting) ฯลฯ


ตัวอย่างงานวิจัยเชิงอนาคต

ดวงนภา มกรานุรักษ์. 2554. อนาคตภาพของการอาชีวศึกษาไทยในทศวรรษหน้า (พ.ศ.2554-2564). วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

งานวิจัยได้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาอนาคตภาพการอาชีวศึกษาไทยในทศวรรษหน้า (พ.ศ. 2554- พ.ศ. 2564) ด้วยกระบวนการวิจัยแบบ EDFR (Ethnographic Delphi Futures Research) ผลการวิจัยสรุปได้ว่า การอาชีวศึกษาไทยภายในอีก 10 ปีข้างหน้าจะต้องเผชิญกับแนวโน้มสำคัญ มากมายไม่ว่าจะเป็นกระแสโลกาภิวัตน์ การแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ และเขตการค้าเสรี (Free Trade Area) ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ที่จะเกิดขึ้น ในปี ค.ศ.2015 นี้ โดยจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีในประเทศสมาชิก ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องมีการเตรียมคนให้พร้อมด้วยการอาชีวศึกษา

แนวโน้ม สำคัญของการอาชีวศึกษาไทยในทศวรรษหน้า (พ.ศ. 2554-พ.ศ. 2564) จากผลการวิจัยแนวโน้ม ทั้ง 8 ด้าน จากนั้นผู้วิจัยจึงหาความสัมพันธ์ของแนวโน้ม 8 ด้านของอนาคตภาพการอาชีวศึกษาไทย ในทศวรรษหน้า (พ.ศ.2554-พ.ศ.2564) คือ ด้านที่ 1 คุณลักษณะผู้สำเร็จการอาชีวศึกษา ด้านที่ 2 การจัดการเรียนการสอน ด้านที่ 3 ครูผู้สอน ด้านที่ 4 ความร่วมมือ ด้านที่ 5 มาตรฐานการ อาชีวศึกษา ด้านที่ 6 การสนับสนุนของรัฐบาล ด้านที่ 7 ค่านิยมการเรียนอาชีวศึกษา และ ด้านที่ 8 การบริหารการอาชีวศึกษา มาเรียบเรียง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างยาก ต้องมีทักษะในการเขียน ภาษาที่สละสลวย มีจิตนาการ และสามารถร้อยเรียงความสัมพันธ์ความสอดคล้องกันของแต่ละ แนวโน้มมาเป็นภาพอนาคตการอาชีวศึกษาไทยในทศวรรษหน้า (พ.ศ. 2554-พ.ศ. 2564) ที่สวยงาม เป็นไปได้และพึงประสงค์

อ้างอิง

จุมพล พูลภัทรชีวิน. (2559). การวิจัยเชิงอนาคต(Futures Research). เอกสารประกอบการอบรมสัมมนาวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

กรุงเทพฯ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์, 2525 การวิจัยเพื่ออนาคต เทียนฉาย กีระนันทน์.

พนารัตน์ วิศวเทพนิมิต.(2539). สมรรถนะที่พึงประสงค์ ของบัณฑิตพยาบาลศาสตร์ ในปีพ.ศ. 2544 ถึง 2549. วิทยานิพนธ์ปริญญาพยาบาลศาสตรมหา บัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลศึกษา บัณฑิต วิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

https://sudawadeeblog.com/2014/12/30/future-resear...

http://www.kroobannok.com/blog/article-51899-%E0%B...

หมายเลขบันทึก: 614257เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2016 01:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2016 10:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ ดิฉันเป็นนักศึกษา กำลังศึกษาปริญญาโทอยู่ที่คณะบริหารธุรกิจ MBA ขอนแก่น กำลังศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการวิจัยอนาคตธุรกิจเฟอร์นิเจอร์อยู่ อยากรบกวนขอไฟล์เนื้อหาวิจัยฉบับนี้หน่อยได้มั๊ยคะ เรื่อง การวิจัยอนาคต (Future Research) สามารถติดต่อกลับทาง Email ดิฉันได้เลยค่ะ

[email protected]ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท