​ชีวิตที่พอเพียง : 2740. ปั่นความมั่งคั่งขึ้นข้างบน



บทความเรื่อง Saving Capitalism เขียนโดย Rana Foroohar ในนิตยสาร Time ฉบับวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๙ บอกว่าระบบทุนนิยมในปัจจุบันกำลัง ปั่นความมั่งคั่งขึ้นข้างบน คือทำให้คนรวยรวยขึ้น คนจนแทบ ไม่ได้รับส่วนแบ่งของความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้น

บทความนี้ สรุปมาจากหนังสือ Makers and Takers : The Rise of Finance and the Fall of American Business เขียนโดย Foroohar ผู้โด่งดัง

เขาเขียนเรื่องของสหรัฐอเมริกา แต่ผมคิดว่าระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของไทย ก็ปั่นความมั่งคั่งขึ้นข้างบนเช่นเดียวกัน ไม่แตกต่างกันในรัฐบาลต่างพรรคต่างอุดมการณ์ของไทย อาจแตกต่างกันที่โกงมากโกงน้อย โกงหน้าด้านๆ หรือไม่ เท่านั้นเอง

กลุ่มคนหนุ่มสาวของสหรัฐอเมริกาเสื่อมศรัทธาต่อลัทธิทุนนิยมลงอย่างน่าใจหาย ดูได้จากผลโพลของ Harvard Institute of Politics ที่คนกลุ่มอายุ ๑๘ - ๒๙ ปี ของสหรัฐอเมริกา ที่ตอบว่าตนศรัทธาลัทธิทุนนิยม มีเพียงร้อยละ ๑๙

เขาบอกว่า ความเสื่อมศรัทธาต่อระบบทุนนิยมนี้ มีผลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีนี้อย่างแน่นอน รายละเอียดเป็นอย่างไรอ่านเองในบทความนะครับ

เขาบอกว่า ระบบตลาดทุนนิยมของอเมริกาได้แตกสลายไปแล้ว ข้อสรุปนี้ ได้จากงานวิจัยที่ทำมา เป็นเวลา ๓ ปี วิจัยความสัมพันธ์ระหว่างตลาดทุนกับธุรกิจ

ตลาดทุนของสหรัฐอเมริกา ที่ออกแบบไว้ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1790s มีเป้าหมายให้ทุนจากบุคคลและ องค์กรไหลไปหนุนธุรกรรมที่สร้างความมั่งคั่ง และสร้างงานในรูปแบบใหม่ๆ นำไปสู่การเติบโตทาง เศรษฐกิจในที่สุด ระบบดังกล่าวทำงานได้ผลดีพอสมควร แม้จะมีช่วงลุ่มๆ ดอนๆ บ้าง เช่นในช่วง เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ช่วงทศวรรษที่ 1930s

แต่ในช่วง ๒๐ - ๓๐ ปีที่ผ่านมา ระบบการเงินไม่ได้ทำหน้าที่ดังกล่าว ผลการวิจัยบอกว่าเพียงร้อยละ ๑๕ ของเงินในระบบการเงิน ไหลไปสู่ธุรกรรมที่สร้างความมั่งคั่งอย่างแท้จริง ในขณะที่ในศตวรรษที่ ๒๐ เงินทุนเกือบทั้งหมดไหลไปทำหน้าที่ดังกล่าว

เงินทุนในปัจจุบันส่วนใหญ่ไหลไปสู่การกู้ยืมเพื่อซื้อสินทรัพย์ที่มีอยู่แล้ว ได้แก่บ้าน หุ้น และหุ้นกู้ สัดส่วนของธุรกิจการเงินเป็นร้อยละ ๗ ของเศรษฐกิจอเมริกัน และกำไรของธุรกิจการเงินเท่ากับร้อยละ ๒๕ ของกำไรของธุรกิจทั้งหมด แต่สร้างงานเพียงร้อยละ ๔ ของจำนวนงานทั้งหมดเท่านั้น สภาพเช่นนี้เป็นไป ทั่วโลกทุนนิยม

เขาบอกว่าโรคร้ายทางเศรษฐกิจของอเมริกาได้รับขนานนามทางวิชาการว่า โรค financilization ที่ระบบการเงินเข้าครอบงำธุรกิจต่างๆ ของประเทศ และมีนักวิชาการให้ชื่อปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า Copernican Revolution ที่ธุรกิจทุกอย่างหมุนรอบระบบการเงิน แบบเดียวกันกับดาวเคราะห์หมุนรอบดวงอาทิตย์

ยุคดังกล่าวเริ่มจากนโยบาย deregulation ของประธานาธิบดีเรแกน ตามมาด้วยนโยบาย deregulation ของอีกหลายประธานาธิบดี สร้างผลร้ายทางสังคมที่เห็นในปัจจุบัน เช่นระบบเกษียณอายุงานที่คนสูงอายุ จำนวนมากไม่มีความมั่นคง ระบบภาษีที่ให้ผลประโยชน์แก่คนเป็นหนี้มากกว่าคนมีเงินออม เป็นต้น จึงนับได้ว่าระบบเศรษฐกิจของอเมริกาป่วย

ป่วยเพราะทุนไม่ได้ทำหน้าที่ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้เมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน ให้เข้าไปสนับสนุน real economy แต่เวลานี้ทุนกลับหันไปสร้างกำไรจากการลงทุนหลอกๆ ไม่ก่อความมั่งคั่งอย่างแท้จริงและไม่สร้างงาน

อาการป่วยที่น่าตกใจอีกอย่างคือ ทุนที่ไปหนุน SME ลดลง และการลงทุนด้าน R&D ก็ลดลงอย่างน่าตกใจ

ที่น่าตกใจกว่าคือ บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ เล่นเล่ห์เพทุบายปั่นหุ้นของตนเองอย่างแยบยล ต้องอ่านบทความเองแล้วจะขนลุก

ผมที่เกิดขึ้นคือ คนรวยรวยขึ้นมาก คนส่วนใหญ่รายได้ขึ้นนิดหน่อย คนชั้นกลางตกต่ำลง

หนังสือที่บอกข้อมูลคล้ายคลึงกันคือ The Price of Inequality โดย Joseph Stiglitz

ผมเคยเขียนบันทึกเรื่องความเหลื่อมล้ำ ที่นี่


วิจารณ์ พานิช

๓ ส.ค. ๕๙

หมายเลขบันทึก: 613378เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2016 22:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กันยายน 2016 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท