ชีวิตที่พอเพียง: ๑๖๐๕. ชดใช้กรรมจากความเหลื่อมล้ำ


 

          บทความหน้าสุดท้ายของนิตยสาร ไทม์ ฉบับวันที่ ๑๑ มิ.ย. ๕๕ ในคอลัมน์ 10 Questions เรื่อง Nobel Prize-winning economist Joseph Stiglitz on inventing the 1% and why they’re bad for the economy  เป็นการคุยกันเบาๆ ในเรื่องที่หนักหนาสาหัสสำหรับอารยธรรมมนุษย์ คือความเหลื่อมล้ำ

 

          ทำให้ผมได้อ่านหนังสือดีชื่อ The Price of Inequality : How Today’s Divided Society Endangers Our Future ที่ชี้ให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันในสหรัฐอเมริกามีจุดอ่อน    นำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยว คือความล้มเหลวของระบบตลาด    ที่แทนที่จะทำเพื่อคนส่วนใหญ่ กลับสนองผลประโยชน์ของคนส่วนน้อย   คือแทนที่จะ “of the people, for the people, by the people”    กลายเป็น “of the 1%, for the 1%, by the 1%”    1% ในที่นี้คือคนที่รวยที่สุดในสังคม 1%  

 

          ความเหลื่อมล้ำในสังคมที่สะสมรุนแรงขึ้น    จะนำไปสู่ความรุนแรงในสังคม ก่อการเปลี่ยนแปลงใหญ่ตามมา    เกิดยุคใหม่ เหมือนอย่างที่เคยเกิดในปี ค.ศ. 1848 และ 1968 Joseph Stiglitz เสนอว่า ปี 2011 น่าจะถือได้ว่าเป็นปีเปิดฉากศักราชใหม่ ที่มหาชนทั่วโลกลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงระบอบสังคมที่มีความเป็นธรรมกว่า 

 

          ระบบตลาดใน สรอ. ได้รับความร่วมมือจากระบบการเมืองที่ซับซ้อน   ทำให้รัฐบาลใช้อำนาจ (ที่คนมองไม่เห็น ไม่รู้สึก) ส่งเสริมความได้เปรียบ หรือเอื้อประโยชน์ แก่คน 1% บน   หนังสือเล่มนี้บอกว่า ระบบเศรษฐกิจและการเมืองของ สรอ. กำลังเดินเข้ามุมอับ   คือเข้าสู่สภาพที่คนรวยก็รวยล้น   คนชั้นกลางลดลง   คนจนจนลง    ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศไม่เป็นเช่นนั้น   ความเหลื่อมล้ำในสังคมของอีกหลายประเทศที่พัฒนาแล้วลดลง หรือไม่ถ่างกว้างขึ้น

 

          ผมเคยอ่านจากที่ไหนสักแห่ง เมื่อนานมาแล้ว คงจะเกือบ ๒๐ ปี ว่าเมื่อไรและที่ไหนก็ตามมีการรวมศูนย์ความมั่งคั่ง (concentration of wealth)    จะเกิดกลียุค  หรือการเปลี่ยนแปลงใหญ่จะตามมา    เพราะสังคมจะทนไม่ได้   หนังสือเล่มนั้นอ้างเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์โลกมากมาย  

 

          จะเห็นว่าระบอบประชาธิปไตย หรือการใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะนำไปสู่ความสงบสุขในสังคม   เรายังต้องมีกลไกกระจายความมั่งคั่งอยู่ในระบบย่อยๆ ของสังคม  

 

          หนังสือบอกว่า ถ้าไม่มีกลไกควบคุมกำกับตรวจสอบ นักการเมืองกับนักธุรกิจจำนวนหนึ่งจะร่วมมือกันแสวงหาความได้เปรียบ (rent seeking) จากธุรกิจ   ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างแยบยล ผู้คนทั่วไปไม่รู้สึก   โปรดสังเกตสภาพในประเทศไทย    โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่นักธุรกิจครองเมือง    รวมทั้งในยุคปัจจุบัน

 

          ผมคิดว่า น่าจะเรียกว่า คอรัปชั่นที่ถูกกฎหมาย

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๙ มิ.ย. ๕๕

 

หมายเลขบันทึก: 495285เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2012 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กรกฎาคม 2012 11:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ระบบประชาธิปไตย....ยังมีจุดอ่อน  อีกนะคะ....ส่งผลระบบEcoบิดเบี้ยว...ผลคือ ความล้มเหลวทางการตลาด (ร้ายแรงจริงๆนะคะ) นำไปสู่ความเลื่อมทางสังคม...นำไปสู่ความรุ่นแรงของสังคม (ไทยเราก็ไม่แตกต่างนะคะ...ความคิดของหนูนะคะ)

 

ขอบคุณมากค่ะ  ท่าน อจ.หมอที่เคารพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท