พัฒนาการในการต่อสู้เรียกร้อง และผลักดันพระราชบัญญัติเพื่อให้ยกสถานภาพมหาวิทยาลัยที่ไม่มีกฎหมายรองรับให้มีกฎหมายรองรับเสมือนมหาวิทยาลัยอื่นโดยทั่วไป


พัฒนาการในการต่อสู้เรียกร้อง และผลักดันพระราชบัญญัติเพื่อให้ยกสถานภาพมหาวิทยาลัยที่ไม่มีกฎหมายรองรับให้มีกฎหมายรองรับเสมือนมหาวิทยาลัยอื่นโดยทั่วไป

                เป็นตำนานมหากาพย์ที่ยาวนานในการผลัดดันเรียกร้องให้รัฐบาลแต่ละยุค แต่ละสมัยให้เสนอพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่สมัยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีในปีพุทธศักราช 2518 เป็นต้นมา แต่ว่าเมื่อร่างพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยเข้าสู่การพิจารณาวาระหนึ่งและวาระสองในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อไหร่ สภาก็มีอันเป็นไป คือ นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาทุกครั้งอันเนื่องมาจากปัญหาอุปสรรคและการทำงานของสภาไม่ราบรื่น จึงก่อเกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นของสมาชิกรัฐสภา จึงเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ร่างพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยตกไปทุกครั้ง จึงถูกขนานนามว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีอาถรรพ์ แต่ว่าในสมัยที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรีในนำเสนอร่างพระราชบัญญัติเข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาเป็นลำดับจึงผ่านการพิจารณาทั้งสามวาระของทั้งสองสภา จึงประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติที่ถูกต้อง จึงประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๕๑๑ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นอันว่ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้รับการรับรองสภานภาพเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่บัญญัติไว้ในหมวดที่ ๑ คือ การจัดตั้ง วัตถุประสงค์ และอำนาจหน้าที่ ในมาตรา ๗ บัญญัติไว้ว่าให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ตัวอย่างพระราชบัญญัติมีดังนี้

 

พระราชบัญญัติ

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

พ.ศ. ๒๕๔๐

                  

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐

เป็นปีที่ ๕๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๐”

 

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา ๓ บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

 

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

“สภามหาวิทยาลัย” หมายความว่า สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

“สภาวิชาการ” หมายความว่า สภาวิชาการมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

“วิทยาเขต” หมายความว่า เขตการศึกษาของมหาวิทยาลัยที่มีคณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ วิทยาลัย หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือวิทยาลัย ตั้งแต่สองส่วนงานขึ้นไปตั้งอยู่ในเขตนั้น ตามที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

หมวด ๑

การจัดตั้ง วัตถุประสงค์ และอำนาจหน้าที่

                  

 

มาตรา ๖ ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมหาวิทยาลัยหนึ่งเรียกว่า “มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” และเป็นนิติบุคคล

ให้มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาและวิจัย มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา วิจัย ส่งเสริม และให้บริการทางวิชาการพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ รวมทั้งการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

 

มาตรา ๗ ให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ

 

มาตรา ๘ มหาวิทยาลัยอาจแบ่งส่วนงานดังนี้

(๑) สำนักงานอธิการบดี

(๒) สำนักงานวิทยาเขต

(๓) บัณฑิตวิทยาลัย

(๔) คณะ

(๕) สถาบัน

(๖) สำนัก

(๗) ศูนย์

(๘) วิทยาลัย

มหาวิทยาลัยอาจให้มีหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือวิทยาลัย เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในมาตรา ๖ เป็นส่วนงานในมหาวิทยาลัยอีกได้

สำนักงานอธิการบดีและสำนักงานวิทยาเขต อาจแบ่งส่วนงานเป็นกองหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากอง

บัณฑิตวิทยาลัย อาจแบ่งส่วนงานเป็นสำนักงานคณบดี กอง หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากอง

คณะ หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ อาจแบ่งส่วนงานเป็นสำนักงานคณบดี ภาควิชา กอง หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชาหรือกอง

สถาบัน สำนัก ศูนย์ วิทยาลัย หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือวิทยาลัย อาจแบ่งส่วนงานเป็นสำนักงานบริหาร กอง หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากอง

 

มาตรา ๙ การจัดตั้ง การรวม และการยุบเลิกสำนักงานวิทยาเขต บัณฑิตวิทยาลัย คณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ วิทยาลัย หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือวิทยาลัย ให้ทำเป็นข้อกำหนดของมหาวิทยาลัยโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

การแบ่งส่วนงานเป็นกอง สำนักงานคณบดี ภาควิชา สำนักงานบริหาร หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าส่วนงานดังกล่าว ให้ทำเป็นประกาศของมหาวิทยาลัยโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

มาตรา ๑๐ ภายใต้วัตถุประสงค์ตามมาตรา ๖ มหาวิทยาลัยจะรับสถาบันการศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันวิจัยด้านพระพุทธศาสนาเข้าสมทบในมหาวิทยาลัยก็ได้ และมีอำนาจให้ปริญญา อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรชั้นใดชั้นหนึ่ง แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันวิจัยด้านพระพุทธศาสนานั้นได้

การรับเข้าสมทบหรือยกเลิกการสมทบตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย และให้ทำเป็นประกาศของมหาวิทยาลัยโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

การควบคุมสถาบันการศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันวิจัยด้านพระพุทธศาสนาที่รับเข้าสมทบตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

 

มาตรา ๑๑ กิจการของมหาวิทยาลัยไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน แต่ผู้ปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัยต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน

ให้กระทรวงการคลังมีอำนาจค้ำประกันหนี้เงินกู้ หรือหนี้ใดๆ ของมหาวิทยาลัยได้เสมือนมหาวิทยาลัยเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจกระทรวงการคลังในการค้ำประกัน

 

มาตรา ๑๒ มหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่กระทำการต่างๆ ภายในวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖ และอำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง

(๑) ซื้อ สร้าง จัดหา โอน รับโอน เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง หรือมีทรัพยสิทธิต่างๆ ในทรัพย์สิน และจำหน่ายสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร ตลอดจนรับทรัพย์สินที่มีผู้อุดหนุนหรืออุทิศให้

การจำหน่ายหรือแลกเปลี่ยนอสังหาริมทรัพย์ของมหาวิทยาลัย ให้กระทำได้เฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาตามมาตรา ๑๓ วรรคสาม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้จำหน่ายหรือแลกเปลี่ยนได้

(๒) รับค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน เบี้ยปรับ และค่าบริการในการให้บริการภายในอำนาจและหน้าที่ของมหาวิทยาลัย รวมทั้งทำความตกลงและกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับค่าตอบแทนและค่าบริการนั้น

(๓) ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือของเอกชนในกิจการที่เกี่ยวกับการสอน การวิจัย การให้บริการทางวิชาการพระพุทธศาสนาแก่สังคม และการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

(๔) กู้ยืมเงิน ให้กู้ยืมเงิน โดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์สินหรือลงทุน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยที่กำหนดในมาตรา ๖

(๕) ร่วมมือกับองค์การหรือหน่วยงานต่างประเทศหรือระหว่างประเทศในกิจการที่เกี่ยวกับการสอน การวิจัย การให้บริการทางวิชาการพระพุทธศาสนาแก่สังคม และการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

(๖) จัดให้มีทุนการศึกษาและทุนการวิจัยในสาขาวิชาต่างๆ

 

มาตรา ๑๓ รายได้ของมหาวิทยาลัยมีดังนี้

(๑) เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี

(๒) เงินอุดหนุนและทรัพย์สินซึ่งมีผู้อุทิศให้แก่มหาวิทยาลัย

(๓) เงินอุดหนุนจากศาสนสมบัติกลาง เงินผลประโยชน์ ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน เบี้ยปรับ และค่าบริการต่างๆ ของมหาวิทยาลัย

(๔) รายได้หรือผลประโยชน์ที่ได้มาจากการลงทุนและจากทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย

(๕) รายได้หรือผลประโยชน์อย่างอื่น

เงินอุดหนุนทั่วไปตาม (๑) นั้น รัฐบาลพึงจัดสรรให้แก่มหาวิทยาลัยโดยตรง โดยการเสนอแนะของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยที่กำหนดในมาตรา ๖

ให้อสังหาริมทรัพย์ซึ่งมหาวิทยาลัยได้มาโดยมีผู้อุทิศให้ หรือซื้อด้วยเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย หรือแลกเปลี่ยนกับทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยเป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัย

ให้มหาวิทยาลัยมีอำนาจในการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย

รายได้ของมหาวิทยาลัยไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

ในกรณีรายได้มีจำนวนไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยและค่าภาระต่างๆ ที่เหมาะสม และมหาวิทยาลัยไม่สามารถหาเงินจากแหล่งอื่นได้ รัฐบาลพึงจัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินให้แก่มหาวิทยาลัยเท่าจำนวนที่จำเป็น

 

มาตรา ๑๔ ทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี และบุคคลใดจะยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับมหาวิทยาลัยในเรื่องทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยมิได้

 

มาตรา ๑๕ บรรดารายได้และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยจะต้องจัดการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยตามที่กำหนดในมาตรา ๖ หรือตามวัตถุประสงค์ซึ่งผู้อุทิศทรัพย์สินให้แก่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้

 

มาตรา ๑๖ ภายใต้บังคับของมาตรา ๑๒ (๑) กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ของมหาวิทยาลัยจะจำหน่ายหรือโอนได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ

 

หมายเลขบันทึก: 495284เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2012 11:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กรกฎาคม 2012 11:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การพัฒนาการ + การเปลี่ยนแปลง ควรปรับไปตาม  กาล สมัย นะคะ

 

ขอบคุณนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท