การบริหารจัดการเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมด้วยกิจกรรมบูรณาการ


การบริหารจัดการเพื่อเสริมสร้างคุณธรรม

โรงเรียนสิชลคุณาธารวิทยาได้เปิดทำการสอนมาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๑๗ ปัจจุบันมีนักเรียน ๑,๕๕๙คน ผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรและรับจ้างทั่วไปและโยกย้ายไปทำงานต่างจังหวัดนักเรียนส่วนใหญ่จึงถูกทิ้งให้อยู่กับปู่ย่าตายายหรือญาติพี่น้อง ผู้ปกครองไม่มีเวลาที่จะอบรมสั่งสอนบุตรหลานและมิได้ใส่ใจในเรื่องของการศึกษาเท่าที่ควรเพราะมีปัญหาในด้านของเศรษฐกิจ การแข่งขันในการประกอบอาชีพแนวโน้มด้านคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ของนักเรียนอยู่ในระดับต่ำลง จากการสำรวจวิเคราะห์พบว่า มีสื่อและเทคโนโลยีเข้ามาเผยแพร่และมีอิทธิพลในชีวิตประจำวันของนักเรียนและมีครูบางส่วนเท่านั้น ที่ปลูกฝังคุณธรรมให้กับนักเรียน รวมทั้งขาดความร่วมมือกันระหว่างบ้าน โรงเรียน และชุมชน ในการปลูกฝังคุณธรรมอย่างต่อเนื่อง ถ้าไม่รีบแก้ไขนักเรียนอาจสร้างปัญหาให้ครอบครัว โรงเรียน ชุมชนและสังคม ปัญหาวิกฤติเหล่านี้คือความเสื่อมถอยทางด้านศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามระบบวิถีชีวิตที่ดีงามของคนไทยส่งผลให้นักเรียนบางส่วนมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมประพฤติตนไม่ถูกต้องตามระเบียบของโรงเรียนจึงมีความสนใจและได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและปลูกฝังการมีคุณธรรมจริยธรรมให้เกิดขึ้นกับนักเรียน

๑.๒ แนวทางแก้ปัญหาและพัฒนา

๑.๒.๑การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อกำหนดทิศทางและแนวทางการพัฒนาคุณธรรมของผู้เรียนได้อย่างสอดคล้องและเท่าทันสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และตรงตามความต้องการของชุมชน และสังคมไทย โดยมีแนวทางคือ กำหนดเป้าหมายพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียนตามนโยบาย ทิศทางและการวางแนวทางที่สอดคล้องและเท่าทันการเปลี่ยนแปลง โดยออกแบบและเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสมที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง กำหนดแผนดำเนินงาน และกำหนดแผนควบคุมติดตามผลการปฏิบัติงาน และประเมินผลสำเร็จตามเป้าหมาย

๑.๒.๒การปรับกระบวนทัศน์การพัฒนารูปแบบการสอนคุณธรรมจริยธรรมเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีคิดค่านิยม และกระบวนการในขั้นตอนการพัฒนารูปแบบการสอนคุณธรรมจริยธรรมอย่างเป็นระบบ มีแนวคือ ดำเนินการวิเคราะห์ผู้เรียน คัดกรองผู้เรียนพฤติกรรมสภาพครอบครัว จัดทำโครงการเยี่ยมบ้านเพื่อให้ครูผู้สอนได้รู้สภาพที่แท้จริงของนักเรียน จัดประชุมผู้ปกครอง กลุ่มย่อยตามห้องเรียนสอบถามความต้องการที่จะพัฒนาผู้เรียนในภาพรวมความประสงค์ที่จะพัฒนาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคุณธรรมจริยธรรมด้านใดของบุตรหลาน เพื่อจะได้จัดกระบวนการส่งเสริมหรือปรับแก้ไขให้ถูกทาง และในด้านการจัดการเรียนการสอน เน้นให้ครูสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมในการสอน และคอยสอดส่องดูแลความประพฤติของนักเรียนอย่างใกล้ชิด

๑.๒.๓ การปรับกระบวนทัศน์การปฏิบัติงานการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลปรับเปลี่ยนกระบวนการปฏิบัติงานของสถานศึกษาให้เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรมจริยธรรมควบคู่กับการบริหารวิชาการ มีแนวทางคือ ผู้บริหารกำหนดนโยบายการพัฒนาความรู้คู่คุณธรรม พัฒนาระบบปฏิบัติงานที่มุ่งวัตถุประสงค์ ปรับโครงสร้างการบริหาร และกระบวนการทำงานให้มีความซับซ้อนน้อยและยืดหยุ่น โดยการมีส่วนร่วมตัดสินใจและรับผิดชอบร่วมกันด้วยระบบการทำงานร่วมกันเป็นทีม พัฒนาระบบปฏิบัติงานที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพ มีการปรึกษาและกระจายความรับผิดชอบระหว่างผู้สอน เฝ้าระวังและประเมินผล ทั้งในเชิงนโยบาย การบริหารและการจัดการสอน เพื่อรวบรวม วิเคราะห์ดำเนินการและจัดทำเป็นรายงาน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้บริหารและครู

๑.๒.๔ การพัฒนาระบบสนับสนุนข้อมูลและองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนด้านข้อมูลและองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนารูปแบบการสอนคุณธรรมจริยธรรมที่มีประสิทธิภาพ มีแนวทางคือ จัดทำฐานข้อมูลองค์ความรู้ งานวิจัย งานวิชาการ วิเคราะห์ผู้เรียนรายบุคคลวิเคราะห์ประเด็นคุณธรรมจริยธรรม เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการสอนและการจัดกิจกรรมเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม

๑.๒.๕ การพัฒนาความสัมพันธ์กับสถาบันภาคีอื่น เพื่อระดมทรัพยากรและความร่วมมือเข้ามาจัดการเรียนการสอนคุณธรรมจริยธรรมของสถานศึกษา เช่น วัด ชุมชน องค์กรเครือข่ายผู้ปกครอง สถานศึกษาอื่น มหาวิทยาลัย เขตพื้นที่การศึกษา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ศิษย์เก่าฯลฯ มีแนวทางคือ ติดต่อสื่อสาร เพื่อแพร่กระจายความรู้ รณรงค์สร้างความตระหนักในการเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม จัดระบบการเรียนรู้และกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบของการฝึกอบรม การปฏิบัติงานแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน พัฒนาครูและผู้บริหารสถานศึกษาให้มีความรู้ มีภาวะผู้นำ มีทักษะการบริหารจัดการสมัยใหม่ การเป็นแบบอย่างที่ดี ที่เอื้อต่อการจัดการสอนคุณธรรมจริยธรรมที่มีประสิทธิภาพ

๒. จุดประสงค์และเป้าหมาย

๒.๑ เพื่อเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ให้นักเรียน ครู และบุคลากร มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตามหลักสูตร และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข

๒.๒ เพื่อจัดกิจกรรมแบบบูรณาการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ให้นักเรียน ครู บุคลากร และผู้ปกครอง ตามคุณลักษณะ ๕ ประการ “โรงเรียนสุจริต” การดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและค่านิยมหลัก ๑๒ ประการ ให้ปฏิบัติตนอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข

๒.๓ เพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาของโรงเรียนให้เกิดคุณภาพอย่างยั่งยืน

เป้าหมาย

เชิงปริมาณ บุคคลผู้มีส่วนร่วม ได้แก่ นักเรียน ผู้บริหาร ครู บุคลากรในโรงเรียนทุกคน

เชิงคุณภาพ นักเรียน ผู้บริหาร ครู บุคลากร ผู้ปกครองนักเรียน และชุมชน นำหลักคุณลักษณะ ๕ ประการของโรงเรียนสุจริต การดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและค่านิยมหลัก ๑๒ ประการ ไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันอยู่ร่วมกับสังคมเกิดสังคมแห่งความสงบสุข โรงเรียนเกิดคุณภาพอย่างยั่งยืน

หมายเลขบันทึก: 613239เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2016 13:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กันยายน 2016 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท