KM R2P&R2R EMS : AAR


บันทึกการประชุม

มหกรรม Research to Policy & Routine to Research (EMS) พัฒนางาน ต่อยอดงานวิจัย ปี 2560”

วันที่ 26 สิงหาคม พ .. 2559 ณ โรงแรมแกรนราชพฤกษ์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

กระบวนการประชุม “มหกรรม Research to Policy & Routine to Research (EMS) พัฒนางาน ต่อยอดงานวิจัย ปี 2560” นี้ จัดขึ้นโดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ดำเนินการโดยใช้กระบวนการ การจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) เป็นเครื่องมือในการเดินเรื่อง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนางานและต่อยอดงานวิจัย รวมทั้งสกัดเป็นองค์ความรู้ที่ได้จากการจัดประชุม รูปแบบการนำเสนอผลงานวิจัยแบ่งเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ การเล่าเรื่อง (story telling) การพูดเพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจอย่างสั้น (TED talk) และ การแบ่งกลุ่มย่อยนำเสนอโปสเตอร์ (poster round) ตามลำดับ ซึ่งแต่ละช่วงการนำเสนอผลงานวิจัยมีองค์ประกอบอย่างง่าย 2 องค์ประกอบ คือ 1) การดำเนินการประชุมโดยเน้นเป้าหมายให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ (knowledge sharing) และ 2) การสะท้อน (reflection) อย่างสร้างสรรค์จากมุมมองภายนอกของผู้วิจัย ผู้เข้าร่วมประชุม และ ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อกระตุ้น ส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมประชุมเกิดแรงบันดาลใจ (inspiration) อยากทำงานวิจัย คิดต่อ อยากรู้ต่อในการนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนางาน

ก่อนเริ่มการประชุมในวันที่ 26 สิงหาคม 2559 นั้น ทีมวิทยากร นำโดย อ.ดร.นิภาพร ลครวงศ์ และ

พ.ท.ดร.นพ. ทนงสรรค์ เทียนถาวร ทำการเตรียมความพร้อมให้กับผู้นำเสนอผลงานวิจัย บรรยากาศเต็มไปด้วยความเป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน มีการเปิดใจ เล่าเรื่องเกี่ยวกับบริบทการทำงานในโลกความเป็นจริง ซักถาม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในงานวิจัย รวมทั้งที่เกี่ยวกับรูปแบบการนำเสนอทั้ง 3 รูปแบบ (story telling, TED talk, poster round) ซึ่งท่านวิทยากรได้ไขข้อสงสัย และคลายความกังวลใจให้กับผู้นำเสนออย่างราบรื่น เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบการนำเสนอ และเสริมพลังให้เกิดความมั่นใจ รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างสัมพันธภาพอันดีให้กับนักวิจัยกลุ่ม R2P และ R2R ซึ่งประกอบด้วยสหสาขาวิชาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล นักสาธารณสุข วิศวกร ที่มาจากสถาบันแตกต่างหลากหลาย เช่น มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลจังหวัด ในภูมิภาคต่างๆของประเทศไทย ได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเบื้องต้นก่อนนำเสนอผลงานในวันรุ่งขึ้น

การนำเสนอผลงานวิจัยแบบเล่าเรื่อง

การประชุมเริ่มต้นด้วย การนำเสนอผลงานวิจัยแบบการเล่าเรื่อง จำนวน 4 เรื่อง ประกอบด้วย ผลงานวิจัย R2P จำนวน 2 เรื่อง คือ การประเมินภาระงบประมาณด้านสาธารณสุขในสภาวะภัยธรรมชาติของประเทศไทย ผศ.ทิพย์วิมล แตะกระโทก และการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับผู้สูงอายุ ดร.ณิชชาภัทร ขันสาคร ผลงานวิจัย R2R จำนวน 2 เรื่อง คือ การพัฒนาอาสาฉุกเฉินชุมชนกลุ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น กัญญา วังศรี และ ความสัมพันธ์ระหว่างการสร้างอาสาฉุกเฉินชุมชนกับการเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินโดยอาสาฉุกเฉินชุมชนในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น รุจีวรรณ ยมศรีเคน แสงลุน ซึ่งผู้นำเสนอทั้ง 4 ท่าน ต้องขึ้นไปบนเวทีพร้อมกัน และเล่าเรื่องทีละคน ใช้เวลาประมาณคนละ 8 นาที โดยภาพรวมแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดงานวิจัยขึ้น ส่วนมากมาจากการที่ผู้วิจัยมีความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในโลกของความเป็นจริง (practice) กับความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้รับบริการ (best interest) นอกจากนี้ผู้วิจัยได้เรียนรู้ข้อค้นพบจากการวิจัยและมีข้อเสนอแนะต่อยอด เชื่อมโยงระหว่าง R2P กับ R2R เช่น ประเด็นของงาน R2P ที่มีข้อค้นพบว่า กลุ่มผู้สูงอายุช่วง 60-69 ปี มีการรับรู้เกี่ยวกับการบริการการแพทย์ฉุกเฉินค่อนข้างน้อย จึงมีข้อเสนอแนะให้ดึงประเด็นนี้ไปศึกษาต่อเพื่อพัฒนาการรับรู้ในผู้สูงอายุกลุ่มนี้เพิ่มเติมใน R2R หรือ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการขยายผลของการสร้างอาสาฉุกเฉินชุมชนโดยการทำ EMS Rally ที่ใช้การฝึกจริง ทำจริง ต่อยอดให้เป็น R2P หรือ ข้อเสนอแนะต่อยอดจาก R2P สู่ R2R ในการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยการซ้อมแผนทางการเงิน เป็นต้น

ผลของการ reflection จากผู้เข้าร่วมประชุม โดยรวมพบว่า มีความชื่นชมในผลการดำเนินงานวิจัยทุกเรื่อง และมีข้อสังเกตในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นต่างๆ เช่น การมองต่อยอดเชื่อมโยงการพัฒนางานด้านการแพทย์ฉุกเฉินกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) ทุกภาคส่วนอย่างครอบคลุม และควรคำนึงถึงการสนับสนุนด้านงบประมาณร่วมด้วย ส่วนการ reflection จากผู้เชี่ยวชาญนั้น เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับผู้เข้าร่วมประชุมที่ชื่นชมผลงานวิจัยทุกเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการพัฒนางานโดยการมองทะลุถึง key person อย่างตรงจุด “คนที่อยู่ใกล้” กับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้น ให้เป็นอาสาฉุกเฉินชุมชนในพื้นที่

การนำเสนอผลงานวิจัยแบบ TED Talk

การนำเสนอผลงานวิจัยแบบ TED Talk จำนวน 4 เรื่อง ประกอบด้วย ผลงานวิจัย R2P จำนวน 2 เรื่อง คือ การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการลดลงของระดับแลคเตทในเลือดและความสัมพันธ์ของระดับแลคเตทกับการเสียชีวิตในผู้ป่วยบาดเจ็บรุนแรง นพ.อุดมศักดิ์ ตั้งชัยสุริยา และ การวิเคราะห์ประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานการบริการการแพทย์ฉุกเฉินระดับจังหวัด เพื่อพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย: กรณีศึกษาจังหวัดนครราชสีมา ผศ.ดร.พงชัย จิตตะมัย

ผลงานวิจัย R2R จำนวน 2 เรื่อง คือ ความแม่นยำ การคัดกรองความรุนแรงของศูนย์สื่อสารและสั่งการ Incident Dispatch Code และรหัสความรุนแรงที่จุดเกิดเหตุ Response code จังหวัดขอนแก่น สุภลักษณ์ ชารีพัด และ การพัฒนาแนวทางการดูแลผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดชนิด STEMI ที่ได้รับยา Streptokinase ขณะส่งต่อโรงพยาบาลเครือข่ายจังหวัดหนองคาย ไคลศรี บาดาล

การนำเสนอผลงานวิจัยแบบ TED Talk นี้ ผู้นำเสนอขึ้นเวทีเพื่อ TED Talk สั้นๆ ทีละคน ใช้เวลาคนละประมาณ 8 นาที เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมเกิดแรงบันดาลใจอยากรู้ต่อ และสามารถเลือกไปติดตามฟังต่อในช่วงของ poster round ในเรื่องที่สนใจ โดยภาพรวมผู้นำเสนอผลงานวิจัย TED Talk ได้อย่างลื่นไหล เรียกความสนใจ และเสียงหัวเราะให้กับผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างดีและมีลีลาแตกต่างกันไป เช่น สุภลักษณ์ ชารีพัด ใช้การพูดจำลองสถานการณ์จริงเป็นบทสนทนาขณะรับโทรศัพท์แจ้งเหตุ ณ ศุนย์สื่อสารและสั่งการ หรือ นพ.อุดมศักดิ์ ตั้งชัยสุริยา และ ผศ.ดร.พงชัย จิตตะมัย ใช้การ TED Talk อย่างที่เรียกว่า Smart สุดๆ

ผลของการ reflection จากผู้เข้าร่วมประชุมและผู้เชี่ยวชาญ โดยรวมพบว่า มีการชื่นชมผลงานวิจัยทุกเรื่อง “R2R สุดยอด...ท่านได้ทำบุญ” ผู้เข้าร่วมประชุมบอกว่าได้แรงบันดาลใจไปทำในพื้นที่ของตนเอง และปีหน้าอาจได้มาเวทีนี้ อย่างไรก็ตามพบข้อสังเกตในการพัฒนางานและต่อยอดงานวิจัยหลายประเด็น เช่น การสนับสนุนให้มีการต่อยอดงานวิจัยการประเมินระดับแลคเตทในเลือด เป็น Tool monitor เพื่อลดการเสียชีวิตในผู้ป่วยบาดเจ็บรุนแรง เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ใช้ต้นทุนไม่สูง การพัฒนาต่อยอดการวิเคราะห์ flow กับการจัดการห่วงโซ่อุปทาน EMS แบบ real time รวมทั้งการสร้างเครือข่าย การพัฒนาบทสนทนาขณะรับแจ้งเหตุให้มีความกระชับ รวดเร็วเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดกับคนไข้โดยอาจใช้การ AAR ภายในทีมเชิงสร้างสรรค์ นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในการนำผลงานวิจัยไปสู่นโยบายที่ควรคำนึงถึงบริบท กระบวนการ และการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียประกอบกัน

High light ของช่วง TED Talk เป็นการ TED Talk อย่างน่าประทับใจ โดยท่าน นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมให้ความสนใจและตั้งใจฟังเป็นอย่างยิ่ง ท่านบอกว่า เวทีนี้เป็นเวทีแห่ง “สังคหวัตถุ 4” ได้แก่ 1) ทาน เป็นการแบ่งปันความรู้จากผลงานวิจัย จากประสบการณ์ทำงานให้กันและกัน 2) ปิยะวาจา การนำเสนอผลงานวิจัยและ reflection ด้วยคำพูดที่สร้างสรรค์ 3) อัตถจริยา เป็นการช่วยเหลือกัน เครือข่าย และ ข้อที่ 4) สมานัตตา คือ การขยายผลการนำผลงานไปใช้ต่อให้เกิดประโยชน์ ซึ่งมีความสำคัญมาก และ “งานวิจัย” เป็นหนึ่งในการสนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดความรู้ที่จะนำมาแบ่งปันกัน เพื่อพัฒนาการบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้บรรลุเป้าประสงค์

การนำเสนอผลงานวิจัยแบบ Poster Round

การนำเสนอผลงานวิจัยแบบ Poster Round มีทั้งหมด 16 เรื่อง แบ่งเป็นกลุ่มย่อย 4 กลุ่ม กลุ่มละ 4 เรื่อง โดยผู้เข้าร่วมประชุมที่สนใจฟังเรื่องใด สามารถที่จะยกเก้าอี้ติดตัวไปนั่งฟังได้ตามอัธยาศัย และในแต่ละกลุ่มย่อยมี Facilitator ประจำกลุ่ม เพื่อกระตุ้น สนับสนุน เสริมสร้างให้ผู้เข้าร่วมประชุมเกิดบรรยากาศในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างอิสระ

รูปแบบการนำเสนอในกลุ่มย่อย ผู้วิจัยเจ้าของผลงานวิจัยจะลุกขึ้นมาเล่าเรื่องราวของงานวิจัยที่เป็น poster ติดไว้ข้างๆ ให้คนในกลุ่มฟัง ขณะที่กำลังเล่าเรื่อง ผู้ฟังสามารถซักถาม แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ทำความเข้าใจ ให้ข้อเสนอแนะกันได้อย่างอิสระ หมุนวนไปจนครบกลุ่มละ 4 รอบ เกิดเป็นเกลียวความรู้ที่หมุนในกระบวนการ sharing


โดยภาพรวมผู้เข้าร่วมประชุมทุกกลุ่ม ให้ความสนใจ ตั้งใจฟัง ผู้นำเสนอผลงานวิจัยทุกเรื่อง ขณะที่ฟังมีการจดบันทึกไว้ในสมุดของตนเอง มีการซักถามเพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติม มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงาน ผู้นำเสนอผลงานวิจัย เมื่อนำเสนอเสร็จก็มานั่งฟังแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในกลุ่ม ไม่หนีหายไปไหน


ผลการ Reflection จาก Facilitator ประจำกลุ่ม พบว่า ทุกคนภายในกลุ่มย่อยมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างดี บรรยากาศภายในกลุ่มเป็นกันเอง มีการยกมือซักถามเป็นระยะๆ มีการต่อยอดความคิดจากสิ่งที่ได้รับฟังผลงานวิจัย ส่วนผู้เข้าร่วมประชุม reflection ว่ารู้สึกดีใจ ได้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการทำ R2R และขอบคุณสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติผู้จัดประชุม จะนำความรู้ที่ได้กลับไปทำในพื้นที่ที่กำลังทำงานอยู่ “ที่สงขลา...เราน่าจะทำวิจัยในภาพจังหวัดเหมือนกัน” นอกจากนี้มีการนำเสนอมุมมองที่แตกต่างออกไป เช่น การพัฒนาระบบการบริการการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อให้คนไข้มาถึงโรงพยาบาลเร็วขึ้นในแบบที่คนไข้มาเอง การมองเห็นคุณค่าของงานวิจัยเกี่ยวกับด้านวิศวกรรมที่บูรณาการกับศึกษาด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่อาจารย์ของตนเองทำ “งานวิจัยที่อาจารย์ทำเป็นประโยชน์จริงๆ”


อย่างไรก็ตาม มีผู้วิจัยในกลุ่ม R2P ได้ reflection เกี่ยวกับความรู้สึกของนักวิจัย R2P ที่มีต่อบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างการ progress ผลงานวิจัย ในประเด็นของ “ความสุข” ที่สามารถรับรู้และมองเห็นได้จากกลุ่มของนักวิจัย R2R อันเป็นประเด็นที่น่าสนใจเพื่อการพัฒนาต่อไป


26 สิงหาคม 2559

อ.ภญ.จำปี วงศ์นาค




หมายเลขบันทึก: 613022เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2016 05:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2016 05:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท