ครูเพื่อศิษย์วันละคน _ ๑๐๑ : ครูจิตลัดดา ภวภูตานนท์ "การสอนที่เน้นผู้เรียนรายบุคคลเป็นศูนย์กลาง"


ดิฉันจะไปโรงเรียนตั้งแต่ตีห้า ตีสี่ ไม่เคยกลัวผี มีแต่ท้าสู้ มีชีวิตอยู่สองที่คือบ้านและโรงเรียน วันหนึ่งเขาจะมาประเมินที่โรงเรียน ดิฉันรีบมาโรงเรียนเกิดอุบัติเหตุ ขาหัก เลือดออกที่หัว นอนสอน เอาสิ่งของที่จำเป็นสำหรับคนขาหักมาในห้องเรียนเลย ... มือตรวจได้ ปากสอนได้ ปวดหัว เป็นไข้ ไม่สบาย ไม่เคยลาโรงเรียน ไม่กินยา ปล่อยให้หายเอง

ครูจิตลัดดา ภวภูตานนท์ เป็นครูชำนาญการพิเศษ ประจำอยู่ที่โรงเรียนบ้านเก่าน้อยหนองเส็งหินลาด ต.แวงน่าง อ.เมือง จ.มหาสารคาม (เว็บโรงเรียน Host สพฐ.) เป็นโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก เปิดสอนตั้งแต่เด็ก ๓ ขวบ จนถึง ป.๖ มีนักเรียนทั้งหมดประมาณ ๑๓๐ คน เป็นนักเรียนชั้น ป.๑ ที่ครูจิตลัดดาประจำชั้นอยู่ ๑๕ คน (คลิกดูข้อมูลนักเรียนที่นี่)

BP ของคุณครูจิตลัดดาคือ การสอนให้นักเรียน "เผชิญกับปัญหาด้วยตนเอง" (ผมหยิบเอาคำของท่าน ศน.สริมภา ศึกษานิเทศก์ สพป.มค.๑) ก่อนจะสอนแบบที่เรียกว่า "เน้นผู้เรียนรายบุคคลเป็นศูนย์กลาง" อย่างที่เราพูดกันในเชิงทฤษฎีว่า "เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง" และ "ดูแลนักเรียนรายบุคคล" ครูจิตลัดดาสามารถทำภาคปฏิบัติของสองคำนี้ให้เห็นเชิงประจักษ์แล้ว ผลคือ นักเรียนที่นี่ อ่านออกเขียนได้ทุกคน ยิ่งไปกว่านี้ เด็ก ๆ ถูกปลูกฝังความดีอย่างเข้มงวด ... จนลูกศิษย์มีชีวิตที่ดีได้ตามอัตภาพของตน ๆ

ครูจิตลัดดา เป็นครูที่ไม่เคยขาด ไม่ลา ไม่ป่วย ถึงป่วยก็มาสอน ครั้งหนึ่ง ท่านประสบอุบัติเหตขาหัก ต้องเข้าเฝือกแข็ง และต้องตะแคงไม่ให้หย่อนขานาน แทนที่จะพักแต่ท่านกลับใช้วิธี "นอนสอน" และอีกครั้งหนึ่งที่ป่วยเป็นไข้ ไม่ยอมลา เรียกว่าใช้การสอนเป็นยารักษา เรียกได้ว่า "กรรมะโอสถ" ไปเลย บ่อยครั้งที่เด็ก ๆ จะถามคุณครูจิตลัดดาว่า "...ครูครับ ครูไม่หยุดเหรอครับ... หยุดเถอะครับ พวกผมจะได้เล่น ...." สะท้อนว่า ครูจิตลัดดาเข้มงวดกับการเรียนของเด็กจริง ๆ ท่านบอกว่า การสอนเด็กจะต้องต่อเนื่อง จริงจัง หากขาดไปจะทำให้ไม่ต่อเนื่อง จะมีผลต่อการเรียนของเด็ก

ผมคิดถึงพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับเศษเหล็กและดาบที่ทรงตรัสกับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ขณะที่กำลังท้องแท้กับการทำงาน ว่า ดาบนั้นมีคุณค่าและมูลค่าสูงต่างจากเศษเหล็กลิบลับ แต่กว่าเศษเหล็กจะกลายมาเป็นดาบสักเล่ม ก็ต้องผ่านการหลอมร้อนและถูกตี ผ่านความเจ็บปวดร้อนอยู่นานหลายรอบ (อ่านได้ที่นี่ครับ) ... การเข้มงวดของครูจิตลัดดา คือ สิ่งที่จะนำพาเศษเหล็กเด็กด้อยราคา ให้กลายเป็นดาบใหญ่ใจดีและมีคุณค่าต่อสังคมต่อไป


"...ดิฉันจะไปโรงเรียนตั้งแต่ตีห้า ตีสี่ ไม่เคยกลัวผี มีแต่ท้าสู้ มีชีวิตอยู่สองที่คือบ้านและโรงเรียน วันหนึ่งเขาจะมาประเมินที่โรงเรียน ดิฉันรีบมาโรงเรียนเกิดอุบัติเหตุ ขาหัก เลือดออกที่หัว นอนสอน เอาสิ่งของที่จำเป็นสำหรับคนขาหักมาในห้องเรียนเลย ... มือตรวจได้ ปากสอนได้ ปวดหัว เป็นไข้ ไม่สบาย ไม่เคยลาโรงเรียน ไม่กินยา ปล่อยให้หายเอง..."


วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ก่อนเวทีพูนพลังครูเพื่อศิษย์อีสานหนึ่งสัปดาห์ ผมกับคุณมานะ (คุณเสือ สายยันต์ ภูพันนา) ไปถอดบทเรียนคุณครูเครือข่ายของท่าน ศน.สุริมภา เพ็ชรกองกุล ๘ ท่าน ที่โรงเรียนบ้านเก่าน้อยหนองเส็งหินลาด ... ด้วยเวลาจำกัด PLC วงเล็กๆ วันนั้น จึงมุ่งไปที่การสาธิตให้ท่านดูว่า CADL ถอดบทเรียนครูอย่างไร และอะไรคือสิ่งที่เราเรียกว่า BP ... นั่นเองที่เป็นที่มาของ BP ของท่านในบันทึกนี้ และ BP ของคุณครูจันทร์เพ็ญ ในบันทึกต่อไป


"จับความ เรื่องเล่า ของครูจิตลัดดา"

  • เป็นครูสอนครั้งแรกเลยอยู่ที่โรงเรียน อ.แกดำ บ้านหัวควาย (บ้านหนองเจริญ) เขาให้สอน ป.๑ และ ป.๔ เคยพลั้งตีหัวเด็ก ป.๔ คนหนึ่ง โดนแผลเก่าเลือดไหล ... แม้จะไม่ได้ตั้งใจตี แต่ก็เป็นครั้งหนึ่งที่เสียใจที่สุดในชีวิต ... ตอนนั้นทั้งตกใจด้วยความเป็นครูใหม่ ทำอะไรไม่ถูก เลยขอโทษขอโพยเด็กเป็นการใหญ่ ชาวบ้านก็ไม่ได้โทษกล่าวว่าครูจิตรลัดดา เพราะเด็กคนนั้นขึ้นชื่อว่าดื้อมึนสุดกวนที่สุดคนหนึ่ง
  • เด็กชายคนนั้นบอกว่า "ครูครับ ผมอยากอ่านหนังสือออก" ครูจิตลัดดา จึงได้ให้คำสัญญาว่า "ครูจะชดเชยให้เธอด้วยการสอนให้เธออ่านหนังสือออกให้ได้" ...
  • ตังแต่นั้นมา ก็ช่วยอบรม สั่งสอนทุกวัน เขาเป็นเด็กกล้า แม้จะอยู่ ป.๔ มาเรียนกับ ป.๑ ต่อมาไม่นานก็อ่านได้
  • วันหนึ่งครูจิตลัดดามีเรื่องจะชกต่อยกับครูคนหนึ่งที่ อ.แกดำ ... "...ดิฉันเป็นคนสู้คนนะคะ เรื่องอะไรถูกก็คือถูก ถ้าไม่ถูก ไม่เป็นธรรม ดิฉันก็ไม่ยอมใคร..." เรื่องนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่มีการสั่งให้ดิฉันย้ายโรงเรียนในเวลาต่อมา
  • ตั้งแต่นั้นก็ไม่ค่อยได้เจอเด็กชายคนนั้นนัก ... จนวันหนึ่ง เด็กคนนั้นกลับมาหาครูจิตลัดดา ...บอกว่า "...คุณครูครับ ขอของดีหน่อยครับ.." ครูจิตรลัดดาเอาเส้นผมสองสามเส้นใส่ตลับยื่นให้แล้วบอกว่า "...ครูไม่มีหรอกของดี แต่ให้ใช้เส้นผมนี้เตื่อนตนเองให้เป็นคน ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน ...รับรอง ได้ดี.." จากนั้นเขาก็มักจะแวะเวียนไปหาครูจิตรลัดดาเสมอ ค่อย ๆ พัฒนาฐานะและอาชีพของตนเองขึ้นเรื่อย ๆ จากแรกๆ มาหาด้วยมอเตอร์ไซด์ไอศครีม มาเป็นรถยนต์ขนสินค้า ฯลฯ และวันแม่ ๑๒ สิงหาคม ปีหนึ่ง เขามาหาอีก พร้อมพวงดอกมะลิ (ช้ำ ๆ ) มาหาครูจิตลัดดาอีก บอกว่า "ครูครับ... แม่ผมตายแล้ว คุณครูเป็นแม่ผมได้ไหมครับ..." เด็กคนนั้นกลายเป็นผู้ใหญ่ที่รักดีในวันนี้ และมีชีวิตที่มีความสุขมีครอบครัวที่สมบูรณ์ ...
  • ไม่เฉพาะเด็กชายคนนี้เท่านั้น น้องสาวของเด็กชายคนนี้ ก็ให้ความเคารพ เชื่อฟัง และปฏิบัติตามคำสั่งสอนของคุณครูจิตลัดดาเหมือนกัน จนปัจจุบันได้ดีมีฐานะที่มั่นคง มีความสุขในชีวิต

จับความเกี่ยวกับ "วิธีคิดและวิธีการสอน"

  • เด็กคือผู้บริสุทธิ์
  • การสอนของดิฉันจะมุ่งไปที่เด็กมีปัญหา เด็กดื้อ เขาไม่ได้รับความสนใจ
  • เป็นทั้งครู ทั้งที่ปรึกษา ทั้งเป็นพ่อ เป็นแม่ พี่น้อง
  • แต่ละปี ดิฉันจะหมดเงินไปกับค่าขนม มาให้เด็กไม่น้อยเลย
  • ในการสอนของดิฉัน จะเน้นให้เด็กได้เล่นเอง ได้ทำเอง แบบเดี่ยวบ้าง แบบกลุ่มบ้าง สำคัญว่าต้องได้ทำเอง
  • ในการสอนภาษาไทย ดิฉันไม่เคยยึดตามใคร ไม่เคยยึดของดอกเตอร์เก่ง ๆ จากกรุงเทพฯ ที่ไหนก็ตาม ดิฉันจะยึดหลักภาษาไทยง่าย ๆ
  • เริ่มให้รู้จักพยัญชนะ สระ รูปแบบสระ ต้องให้เด็กจำให้ได้ และเน้นย้ำซ้ำทวนบ่อย ๆ ให้เด็ก ๆ รู้จักที่อยู่ (ตำแหน่ง) ของพยัญชนะ
  • วิธีทำให้เด็ก ๆ จำรูปสระให้ได้ ดิฉันใช้หลากหลายวิธี มีทั้งใช้เพลง แต่ละสระจะมีเพลงประจำให้ร้อง ช่วยจำ ใช้ทั้งวิธีเชื่อมโยงกับสิ่งใกล้ตัวของเด็ก เช่น สระอึ จะบอกว่า มี "ก้อนอึ" บนสระอิ เป็นต้น
  • ต่อมาก็มาเน้นเรื่องตัวสะกด -> ตัวควบกล้ำ ->
  • ให้เด็กรู้หลักภาษาไทยเสร็จก่อน แล้วให้เด็กไปอ่านเอง ไปค้นเอง ไปหาเอง เช่น ให้ไปหาคำที่มีตัวสะกดในหนังสือตั้งแต่หน้าแรกตั้งแต่หน้าสุดท้าย เป็นต้น
  • และให้ผู้ปกครองพาอ่าน จะเป็นพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือใครก็ได้ ให้พาอ่าน "...คุณรักลูกไหม? ... ถ้าคุณรักลูก คุณต้องช่วย พาลูกอ่าน..."
  • "...ครูต้องดูทุกตัว เน้นทุกตัว ให้เด็กชี้ทุกตัว อ่านให้ฟังรายบุคคล"
  • ตลอดระยะเวลา ๓๐ ปีในการสอน เด็กจะมีการบ้านทุกวัน
  • ชั่วโมงสุดท้ายไม่มีการเล่น ผู้ปกครองจะมานักฟังเราสอน
  • "... ร้องเหนื่อยหรือยัง ถ้าเหนื่อยแล้วให้มาเรียน..." วันหนึ่งดิฉันให้สร้อยพระอันหนึ่ง
  • "...มันไม่มีปัญหาหรอกคะ มันอยู่ที่ตัวเรา เรารักเด็ก เข้าใจเด็ก เอาสิ่งที่ดีให้เขา..."

ถอดบทเรียน

หลักคิดที่สำคัญที่ผม "จับได้" ๓ ข้อ ของครูจิตลัดดา ในการสอนนักเรียน ได้แก่ ๑) เชื่อมั่นในวิธีของของตนเอง ๒) ไม่ติดกรอบหลักสูตร และ ๓) เด็กต้องมีการบ้านและที่บ้านผู้ปกครองต้องมาช่วยสอน

เชื่อมั่นในวิธีของตนเอง สะท้อนถึงความมั่นใจละภูมิใจในวิธีการสอน วิธีการบ่มเพาะเด็กๆ ของท่านเอง จะไม่ใช้วิธีใดที่ไม่เหมาะกับเด็กแต่ละคน ... ผมเห็นด้วยกับวิธีคิดนี้อย่างที่สุด เพราะเป้าหมายของหลักสูตรก็กำหนดไว้ชัดให้อ่านออก เขียนได้ ในเมื่อวิธีของท่าน ได้ผลดีอยู่แล้ว ทำไมต้องไปใช้วิธีอื่น ๆ

ไม่ติดกรอบหลักสูตร หมายถึง ท่านจะไม่ยึดว่า เด็กระดับชั้นนี้ต้องสอนให้ได้ตามหลักสูตรเท่านี้ แต่จะใช้วิธีเอาตัวเด็กแต่ละคน (รายบุคคล) เป็นสำคัญ เด็กที่เรียนได้เร็ว ท่านจะเอาเนื้อหาของระดับชั้นที่สูงกว่ามาสอนเลย... ในประเด็นนี้ หากไม่ใช่ครูเพื่อศิษย์ที่ทำงานหนักจริงๆ คงไม่สามารถทำได้ เพราะการสอนแบบเอาเด็กรายบุคคลเป็นสำคัญแบบนี้ ครูต้องทำงานหนักและมีอิทธิบาท ๔ และพรหมวิหาร ๔ ประจำใจจริงๆ

ท่านบอกว่า ทุกวันเด็กต้องมีการบ้าน จะได้ฝึกฝน จะได้รู้ว่าตนเองทำได้หรือไม่ และผู้ปกครองจะต้องเป็นผู้ช่วยสอนการบ้านนั้น ... ผมตีความว่า การทำให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการสอนของครูจิตลัดดา คือปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญของท่านประการหนึ่ง

"การสอนที่เน้นนักเรียนรายบุคคลเป็นศูนย์กลาง"

กระบวนการสอนของครูจิตลัดดา ไม่สามารถที่จะเขียนบอกได้ว่า มีกี่ขั้นตอน เริ่มจากตรงไหนก่อนหลัง เพราะเท่าที่ฟัง ท่านจะช่วยสอนเด็กเป็นคนคน แต่ละคนใช้คนละแบบคนละวิธี อย่างไรก็ดี ผมจะสะท้อนถึงกระบวนการตาม BP ของท่าน ด้วย "ตาข่าย ๖ เหลี่ยม" ดังภาพด้านล่าง



ขั้นที่ ๑ เปิดใจเด็กให้ได

ผมตีความว่า เคล็ดลับคือการกอด เคล็ดไม่ลับคือความห่วงใยและหวังดีด้วยใจจริงต่อลูกศิษย์ ทำให้นักเรียนเปิดใจให้ครูจิตลัดดา เข้าไปช่วยแก้ปัญหาและฝึกปัญญาให้ได้ทุกคน ...

ครูิจิตลัดดาจะใช้เงินส่วนตัวซื้อสิ่งของมากมาย มาทำสื่อการสอน หรือสิ่งเสริมแรงใจให้เด็ก ๆ ในการเรียน ... เหมือนกับครูตุ๋ม... ไม่ซิ...ผมคิดว่าครูเพื่อศิษย์คงเหมือนกันทุกคน ในประเด็นนี้

ขั้นที่ ๒ สอนความรู้และทักษะที่จำเป็น

<p “=”“>ผมคิดว่าครูภาษาไทยทุกคนรู้ดี และไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ตรงนี้อีก แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้ครูภาษาไทยต่างกันคือ ลำดับขั้นตอนและเทคนิคเฉพาะของการสอน ซึ่งเป็นความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ที่ผู้อ่านคงต้องฝึกโดยให้ท่านเป็นพี่เลี้ยง(หรือครูฝึก) … ผมคิดถึงครูตุ๋ม ศิริลักษณ์ ชมภูคำ ที่มีเทคนิคในการสอนที่ทำให้เด็กเข้าใจและตั้งใจได้โดยพิสดาร </p>

ขั้นที่ ๓ ให้นักเรียนเผชิญกับปัญหาเอง

ท่านจะให้เด็กอ่านเอง ลงมือทำแบบฝึกหรือใบงานเอง เพื่อให้ได้รู้ว่า ปัญหาของเด็กคน ๆ คืออะไร และท่านจะแก้ไขที่จุดนั้นๆ เป็นคน ๆ โดยให้ทำงานทั้งที่เป็นการบ้านและการโรงเรียน... เด็กทุกคนต้องมีการบ้าน ทุกวันต้องมีการบ้าน

ขั้นที่ ๔ ให้ผู้ปกครองช่วยสอนการบ้าน

ให้ผู้ปกครองสอนการบ้าน จะเป็นพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือใครก็ได้ ที่มีเวลา (... พูดง่าย แต่ท่านทำได้จริงๆ ...) ทุกวันหลังเลิกเรียน หากเด็กคนใดมีปัญหา หรือผู้ปกครองไม่ให้ความร่วมมือ ท่านจะแนะนำให้เข้าไปร่วมนักเรียนด้วย ให้ได้รู้ว่าลูกหลานตนเองอ่านไม่ได้ ในขณะที่ลูกคนอื่นๆ อ่านได้ และท่านก็จะสอนผู้ปกครองด้วยเลย จนผู้ปกครองเกิดความมั่นใจ และให้ความร่วมมือช่วยสอนในที่สุด (แน่นอนครับ ผู้ใหญ่ย่อมเรียนรู้ได้ไวกว่าเด็กในเรื่องการอ่านออกเขียนได้) ... ทั้งหมดนี้ ผมตีความว่าที่ท่านทำสำเร็จเพราะ ศรัทธาของผู้ปกครองต่อครูจิตลัดดา ซึ่งย่อมต้องมาจากความหวังดีต่อศิษย์เป็นเหตุในเบื้องต้น

ขั้นที่ ๕ ประเมินสด ทดสอบตัวต่อตัว

ทุกๆ เช้า ครูจิตลัดดา จะให้เด็กทุกคนมาอ่านการบ้านให้ฟัง โดยท่านเน้นย้ำว่า ต้องอ่านไปชี้คำไป ชี้เป็นคำ ๆ ไป ผิดคำไหนแก้ไขคำนั้น วิธีนี้ทำให้ท่านรู้ปัญหาของเด็กแต่ละคน และออกแบบการสอนและการฝึกฝนสำหรับเด็กคนนั้นทันที

ขั้นที่ ๖ ดูแลแก้ปัญหาและพัฒนาเด็กรายบุคคล

เด็กแต่ละคนจะได้รับการดูแลแตกต่างกันไป บางคนท่านต้องไปเยี่ยมบ้านหลายรอบ บางคนต้องเข้าไปช่วยแก้ปัญหาครอบครัว ปัญหาส่วนตัว คือบางทีต้องเป็นแม่ บางทีเป็นพ่อ บางทีเป็นครู สำคัญคือต้องรู้ปัญหาจริงๆ ... น่าจะเรียกว่า ท่านเข้าใจ เข้าถึง แล้วจึงพัฒนา ตามพระบรมราโชวาท ที่เราทราบกันดี

ขอบูชาคุณครูเพื่อศิษย์ครับ หวังว่าบันทึกนี้น่าจะมีประโยชน์บ้าง ไม่มากก็คงไม่น้อยครับ ...



หมายเลขบันทึก: 612966เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2016 00:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 สิงหาคม 2016 21:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ประสบการณ์ครูตัวเองที่ผ่านมา เชื่อว่า ถ้าผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาทั้งหลาย มีความเอาจริงเอาจัง ทุกฝ่ายต่างทำเพื่อให้เด็กๆเราพัฒนาขึ้น ไม่ใช่แค่ทำๆตามนโยบาย ทำแค่ให้คนอิ่นๆเห็นว่าทำแล้ว ทำเพื่อไม่ให้เขาว่าหรือตำหนิเอาได้ ทำเพื่อให้ผ่านๆการประเมินมากมายเหล่านั้นไปเสีย ฯลฯ ปัญหาการจัดการศึกษาบ้านเราก็คงจะดีกว่าที่เป็นอยู่มากมายแล้ว
  • จึงขอร่วมชื่นชมวิธีปฏิบัติ โดยเฉพาะความเอาจริงเอาจังของคุณครูจิตลัดดา ภวภูตานนท์ด้วยครับ..


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท