ชีวิตที่พอเพียง : 2732. เรียนให้ลืม


บทความเรื่อง Can We Learn How to Forget? ในนิตยสาร Scientific American ฉบับเดือน สิงหาคม ๒๕๕๙บอกเราว่า สมองมีความซับซ้อนกว่าที่คิด

เรามีสมองส่วนปฏิบัติการอัตโนมัติ ว่องไว เน้นความทันการณ์และสมองส่วนรอบคอบ มีเหตุผล มองการณ์ไกล อยู่ด้วยกันสมองส่วนรอบคอบอยู่หลังหน้าผาก ที่เรียกว่า frontal areas หรือ neocortex แปลตรงตัวว่าเปลือกสมองใหม่ที่มีเฉพาะในมนุษย์

หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของสมองคือความจำสมองส่วนความจำคือ hippocampus แต่จริงๆ แล้ว ความจำอยู่ในการเชื่อมต่อใยประสาทที่ซับซ้อนเมื่อมีการกระตุ้นส่วนหนึ่งก็จะมีการส่งต่อแรงกระตุ้นต่อเนื่อง ไปตามเครือข่ายการเชื่อมต่อใยประสาท อย่างอัตโนมัติ เราไม่รู้ตัว

ความจำหนึ่ง จะเชื่อมต่อไปกระตุ้นอีกความจำหนึ่ง เป็นลูกโซ่ ไปเรื่อยๆที่เรียกว่า ความจำเป็น web of interconnected information เมื่อมีการกระตุ้นที่จุดหนึ่ง มันจะก่อปฏิกิริยาลูกโซ่โดยอัตโนมัติ โดยเราไม่ต้องคิด ไม่ต้องใช้ความพยายามเลยนี่คือความวิเศษของสมองและคนเราจะมี “ความจำฝังใจ” อยู่ในบางเรื่อง อันเกิด จากประสบการณ์ที่ประทับใจไม่มีวันลืมเมื่อมีเหตุการณ์มากระตุ้นความจำส่วนนี้ ก็จะเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ไปสู่ พฤติกรรมอัตโนมัติบางอย่างโดยเราไม่รู้ตัว

ยิ่งวิเศษขึ้นไปอีก ตรงที่สมองมีกลไกยับยั้งปฏิกิริยาลูกโซ่นี้ได้โดยการควบคุมของสมองส่วนหน้าส่งสัญญาณไปควบคุม hippocampus หรือควบคุมการดึงข้อมูลมาจากความจำใน hippocampus เพื่อลืมความจำอันขมขื่นบางเรื่องไปเสีย นี่คือความรู้ใหม่ที่ได้จากการวิจัย

เขาทดลองในนักศึกษา ๓๘๑ คน ให้เรียนรู้คำคู่ที่เกี่ยวข้องกันเล็กน้อยหลังจากนั้นให้ นศ. ดูคำๆ หนึ่ง และบอกให้นึกถึงคำคู่ของมันหรือให้พยายามไม่คิดถึงคำคู่นั้นและบางครั้งฉายภาพแปลกๆ ให้ดู เช่นภาพนกยูงยืนในที่จอดรถยนต์

พบว่า หลังจากบอกให้นักศึกษาพยายามลืมคำคู่ แล้วฉายภาพแปลกให้ดูนักศึกษาลืมภาพแปลก มากขึ้นร้อยละ ๔๐กว่าคนที่ได้ฝึกให้จำคำคู่มาก่อน สรุปว่าเราฝึกสมองให้จำหรือลืมได้ในระดับหนึ่งซึ่งแปลว่า ในสมองมีกลไกควบคุมความจำและความพยายามลืมบางเรื่อง มีผลต่อความสามารถในการจำ เรื่องทั่วไปของสมอง

สรุปใหม่คนที่มีความหลังอันเจ็บปวด และตนเองพยายามลืมจะกลายเป็นคนขี้ลืมเรื่องอื่นๆ ไปด้วยเขาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า amnestic shadow หรือเงาแห่งความขี้ลืมมันแผ่ไปคลุมความจำส่วนอื่นๆ ด้วย

นักวิจัยไม่หยุดแค่นั้นเขากำลังหาวิธีฝึกสมอง ให้ลืมเฉพาะเรื่องที่ต้องการลืมให้ไม่มีผลลามไปลืมเรื่องอื่นๆ ที่ต้องการจดจำ

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ก.ค. ๕๙

หมายเลขบันทึก: 612731เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2016 08:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 สิงหาคม 2016 08:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท