การปฏิรูประบบงานวิจัยของประเทศไทย (ตอนที่ ๑๓)


ผมจึงเสนอให้นำเงินงบประมาณส่วนหนึ่งที่รัฐบาลจะใส่เพิ่ม เช่น 25% หรือ 50% มาตั้งเป็น "กองทุนวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (National Research and Innovation Fund; NRIF)" เพื่อเป็นกองทุนหมุนเวียนที่จะสนับสนุนส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมได้อย่างต่อเนื่องระยะยาว

การเพิ่มงบประมาณวิจัยของประเทศไทย

ผมสนับสนุนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 มหาวิทยาลัยไทยแลนด์ 4.0 และการเพิ่มงบประมาณวิจัยของประเทศไทยเป็น 1% ของ GDP คือเป็นประมาณ 1 แสนล้านบาทที่รัฐบาลจะกระทำตามที่เป็นข่าว

แต่อยากจะขอเสนอต่อรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ว่า การจะทำให้งานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทยเข้มแข็งจริงๆ จะต้องทำให้งบประมาณและทุนวิจัยลงไปถึงกลุ่มนักวิจัยผู้ซึ่งมุ่งมั่นทำงานวิจัยจริงๆ ช่วยทำให้นักวิจัยมีงบประมาณและทุนวิจัยในการทำงาน ขยายงาน จ้างคนทำงาน จ้างนักวิจัย/ผู้ช่วยวิจัย/นักวิจัยหลังปริญญาเอก ซื้อวัสดุอุปกรณ์ มีครุภัณฑ์และเครื่องมือใช้ในการทำงานวิจัย สามารถจะสร้างนวัตกรรม ความเข้มแข็งและเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่างๆ จนถึงการใช้ประโยชน์และมูลค่าทางเศรษฐกิจได้

แต่หากงบประมาณที่รัฐบาลใส่ลงไป กลับไม่ไปถึงกลุ่มนักวิจัย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในมหาวิทยาลัย ไปอยู่ผิดที่ผิดทางหรือติดค้างตามกระทรวงหรือหน่วยงานต่างๆ ซึ่งไม่ได้มีบทบาทหน้าที่ทำงานวิจัย หรือมีชื่อว่าทำงานวิจัยแต่ไม่เคยทำจริง รวมทั้งนักวิจัยที่เป็นแต่ชื่อ แต่ไม่ได้ทำงานวิจัยจริงด้วย (ในวงการวิจัยเขาพอจะรู้กันว่าใครทำงานจริงหรือไม่ได้ทำงานจริง) สุดท้ายแล้วนักวิจัยที่ทำงานจริงก็ยังลำบากเหมือนเดิม เงินที่รัฐบาลใส่ลงไปก็คงไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ต่อการสร้างเข้มแข็งให้แก่งานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทยได้จริง หรืออาจจะได้บ้างแต่ก็ไม่เต็มที่ ทางที่ดีรัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรจะลงไปถามและรับฟังคนที่ทำงานวิจัยจริงๆ ด้วยว่าเขาต้องการอะไร หรือเขามีข้อเสนอแนะอย่างไร โดยให้เขาพูดได้อย่างตรงไปตรงมาและอย่างไม่ต้องเกรงใจ จะได้ทราบข้อเท็จจริงและความต้องการของเขา

ผมคิดว่าน่าจะต้องสร้างระบบและกลไกให้เส้นทางใช้จ่ายงบประมาณและทุนวิจัยไปสู่กลุ่มนักวิจัยที่จะใช้ทำงานวิจัยจริงๆ สั้นที่สุดเท่าที่จะสั้นได้ ระบบและกลไกควรจะเป็นอย่างไร อาจจะดูตัวอย่างได้จากต่างประเทศ หรือของประเทศไทยที่มีอยู่แล้วก็ได้

งบประมาณสร้างตึกไม่ควรจะถือเป็นงบประมาณวิจัย งบประมาณสำหรับบริหารจัดการ ซื้อครุภัณฑ์ และจ้างคน หากรวมอยู่ในงบประมาณวิจัย ควรจะกำหนดสัดส่วนอย่างเหมาะสม แยกจากงบประมาณและทุนสำหรับใช้ทำงานวิจัยจริงๆ ซึ่งจะต้องมีอย่างเหมาะสมและพอเพียง

ความต่อเนื่องของงบประมาณวิจัยในระยะยาวเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น การใช้ระบบงบประมาณประจำปีสำหรับงานวิจัยอย่างที่ทำกันมาแล้ว ซึ่งมีระเบียบหยุมหยิมยิบย่อย เอาไว้ป้องกันคนทุจริตคอร์รับชั่น แต่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่กลับให้คนทำงานจริงเดือดร้อน จึงเป็นอุปสรรคและปัญหา ทำให้ไม่สามารถพัฒนางานวิจัยของประเทศไทยให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพได้

ดังนั้น ผมจึงเสนอให้นำเงินงบประมาณส่วนหนึ่งที่รัฐบาลจะใส่เพิ่ม เช่น 25% หรือ 50% มาตั้งเป็น "กองทุนวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (National Research and Innovation Fund; NRIF)" เพื่อเป็นกองทุนหมุนเวียนที่จะสนับสนุนส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมได้อย่างต่อเนื่องระยะยาว (โดยมีการใส่งบประมาณประจำปีทดแทนส่วนที่ใช้จ่ายไป) หรือหากไม่ต้องการจะตั้งกองทุนใหม่ก็ขยายเพิ่ม "กองทุนสนับสนุนการวิจัย" ที่มีอยู่แล้ว โดยกำหนดวัตถุประสงค์และเงื่อนไขเพิ่ม เพื่อให้สนองตอบต่อนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาล และเพื่อให้มีการใช้จ่ายเงินงบประมาณวิจัยที่จะใส่เพิ่มนี้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ

หมายเลขบันทึก: 612727เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2016 00:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 สิงหาคม 2016 08:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท