การวิจัยกับนโยบายการพัฒนา



หนังสือ ยาดแย่งการพัฒนาและความทันสมัยในลาว สะกิดให้ผมคิดว่า ประเทศที่วิชาการไม่แก่กล้าเป็นวิชาการเลียนแบบ หรือวิชาการตอนกิ่ง ไร้รากแก้วมักคิดว่าสิ่งที่เรียกว่า นโยบาย”เป็นสิ่งที่เมื่อ ปฏิบัติตามแล้วจะได้ผลตามที่คาดหวังเสมอไป นี่คือกระบวนทัศน์ที่ผิดพลาดในเรื่องนโยบาย เพราะใช้ กระบวนทัศน์แบบเส้นตรง หรือ simple – linear mindset ในขณะที่เรื่องต่างๆ ในสังคมมันมีความซับซ้อนต้องการทำความเข้าใจหรือดำเนินการบนฐานของ complex – adaptive mindset

หัวใจคือกระบวนทัศน์แห่งความสงสัยไม่ใช่กระบวนทัศน์แห่งความเชื่อคนในวงการนโยบาย ต้องมีคำถามว่า นโยบายที่กำหนดไว้เพื่อเป้าหมายหนึ่งนั้นเมื่อเอาไปปฏิบัติแล้ว ได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมาย ที่ตั้งไว้หรือไม่ ไม่ใช่เชื่อแบบหัวชนฝาว่า เพราะตนวางแนวทางไว้อย่างดี ต้องได้ผลซีน่า

หากคิดแบบนี้ การวิจัยนโยบายก็มี ๒ แนวคือวิจัยเพื่อกำหนดนโยบายกับวิจัยเพื่อดำเนินการ ให้เกิดผลตามเป้าหมายของนโยบายอาจเรียกแบบแรกว่า การวิจัยนโยบายขาขึ้นและเรียกแบบหลังว่า การวิจัยนโยบายขาลง

ในหนังสือเล่มนี้ มีบทความ จากไร่ข้าวสู่สวนยาง การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเกษตรของชุมชน บนที่สูงในแขวงหลวงน้ำทา สปป. ลาว บอกผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบายส่งเสริมการทำสวนยาง ของประเทศลาว ทำให้เกิดการแย่งกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยชาวบ้านไม่รู้ตัวผมจึงมองบทความวิจัยนี้เป็น งานวิจัยนโยบาย (ขาลง)ไม่ใช่แค่วิจัยด้านสังคมศาสตร์โดยทั่วไป และผู้ได้รับประโยชน์จากงานวิจัยนี้ คือรัฐบาลลาวที่จะนำความรู้นี้ ไปปรับปรุงมาตรการเพื่อบรรลุผลของนโยบายส่งเสริมการทำสวนยางโดยหลีกเลี่ยงผลแทรกซ้อน หรือผลกระทบทางลบให้ได้

ทำให้ย้อนกลับมาคิดถึงนโยบาย Thailand 4.0ที่มีเป้าหมายขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจแบบ value-based economyซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นทิศทางที่ถูกต้องที่จะต้องมีการวิจัยหนุนการสร้างสินค้า บริการ และผลิตภัณฑ์ ที่มีนวัตกรรมการวิจัยส่วนของการผลิตจึงน่าจะคึกคักมีคนบอกว่า การวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีจะเข้าสู่ยุคเฟื่องฟูเพื่อหนุน ๕ กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย ของไทยแลนด์ ๔.๐และมีคำถามว่า แล้วการวิจัย ด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ล่ะ อยู่ตรงไหน

คำตอบของผมคือ การวิจัยเพื่อพัฒนาต้องทำเป็นชุด (package)มีเป้าหมายที่นวัตกรรมของสินค้า และบริการโดยต้องรู้ความต้องการของตลาด หรือทิศทางที่ลูกค้าต้องการส่วนนี้นักวิจัยสายสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์จะมีบทบาทมาก แต่ต้องมีการจัดการโจทย์วิจัยให้ดีให้ได้โจทย์ที่คม และหานักวิจัยที่เสนอ วิธีการตอบโจทย์ที่น่าเชื่อถือ

หลังจากสินค้า/บริการออกตลาดก็ต้องการการวิจัยเพื่อทราบปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน (ผู้บริโภค) กับสินค้า/บริการสำหรับนำมาปรับปรุงพัฒนาสินค้า/บริการอย่างต่อเนื่องจะเห็นว่านโยบายการพัฒนา ประเทศในภาพใหญ่ต้องการระบบวิจัย และการบริหารงานวิจัยที่ถูกต้องเข้าไปหนุนผมหวังว่าจะมีคน ในวงการจัดการระบบวิจัยเห็นประเด็นนี้และหาทางจัดการระบบวิจัยให้เข้าไปหนุนขบวนการไทยแลนด์ ๔.๐

วิจารณ์ พานิช

๒๔ ก.ค. ๕๙

<p “=””>
</p>

หมายเลขบันทึก: 612730เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2016 08:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 สิงหาคม 2016 08:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท