"สัตบุรุษ" คนจริงในองค์กร


ในฐานะผู้ใหญ่ ก็ควรที่จะมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาต่อผู้น้อย ในฐานะผู้น้อย ก็ควรที่จะมีความกตัญญูกตเวทิตา และอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่

สำหรับข้าราชการ บุคลากรที่ทำงานในหน่วยงานของรัฐ ช่วงนี้เป็นฤดูเลื่อนตำแหน่ง เลื่อนขั้น ขึ้นเงินเดือน โยกย้าย ปรับเปลี่ยนเก้าอี้นั่ง และก็ใกล้จะถึงวันเกษียณอายุราชการ เพื่อเริ่มปีงบประมาณใหม่ในเดือนตุลาคม ในความเป็นจริง การเปลี่ยนแปลงโยกย้ายเป็นเรื่องปกติของหน่วยงานหรือองค์กรทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน แต่ในที่นี้ เจาะจงภาครัฐเป็นพิเศษเพราะอยู่ในช่วงฤดูกาลนี้พอดี การแบ่งปันประสบการณ์ครั้งนี้ก็เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติให้กับหนุ่มสาวที่กำลังก้าวสู่โลกแห่งการทำงาน ให้คนทำงานที่เหนื่อยท้อหมดกำลังใจ หมดไฟ ให้คนทำงานที่ไม่สนใจอะไรนอกจากชีวิตส่วนตัว ได้รู้สึกถึงจุดร่วมบางอย่างของคนที่อาจมีประสบการณ์คล้ายคลึงกัน แต่นำมาเป็นบทเรียนไม่เหมือนกัน


ทุกครั้งที่เปลี่ยนผู้บริหารสูงสุดในองค์กร ขอให้เข้าใจธรรมชาติการทำงานแบบคลาสสิคอย่างหนึ่งที่เป็นเช่นนี้เองทุกยุคทุกสมัย นั่นก็คือ หัวเปลี่ยน ลำตัวก็ต้องเปลี่ยน หางก็ต้องกระดิกหรือกวัดแกว่งตาม เพื่อการอยู่รอดหรือการดำรงอยู่ สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกแต่อย่างใด ขอจงเข้าใจธรรมชาตินี้ไว้ ผลกระทบที่เกิดขึ้น กระเพื่อมมากน้อย ขึ้นอยู่กับว่าเราตำแหน่งสูงและไม่ใช่พวกเดียวกันกับนายใหม่หรือเปล่า แบบนี้ก็เตรียมตัวถูกสับเปลี่ยน แต่หากเราตำแหน่งน้อย หรือไม่ได้หวังเจริญก้าวหน้าแบบทะเยอทะยานจนเกินไป ใครจะมาใครจะไป ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร ทำงานของเราไปอย่างเสมอต้นเสมอปลายก็พอ

วงจรชีวิตการทำงานก็เหมือนวงจรชีวิตมนุษย์ มีช่วงวัยเด็ก วัยหนุ่มสาว วัยผู้ใหญ่ และวัยชรา

ตอนเด็ก ๆ เราขอพรเรื่องอะไร ตอนเป็นผู้ใหญ่หนีไม่พ้นเรื่องการงานและความรัก

ณ ตอนนี้ ผู้เขียนก็อยู่ในวัยผู้ใหญ่แล้ว ตำแหน่งไม่สูงไป ไม่น้อยไป แต่มีสิ่งเตือนใจจากท่านผู้ใหญ่ที่เคยเป็นนายเก่าและเสียชีวิตไปแล้ว ท่านว่า"ทำงานอย่าเอาใจนาย ใครจะมาใครจะไปเป็นวัฎจักร ให้ทำงานเพื่องาน" ผู้เขียนจำใส่ใจเพราะตรงกับนิสัยส่วนตัวอยู่แล้วที่ทำงานเพื่องานโดยนึกถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง คำพูดอาจจะดูเหมือนคนยึดอุดมการณ์ แต่หลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้น บอกได้เลยว่าถ้าใครทำงานเอาใจนาย ใจจะไม่เป็นสุขเลย บางคนอาจจะชอบ เพราะนิสัยรักการบริการผู้หลักผู้ใหญ่ แต่ผลที่ตามมาก็คือเมื่อเราทำตามใจนายคนนี้แบบไม่สมเหตุสมผล ไม่มีหลักการที่ถูกต้อง อาจมีผลกระทบที่ตามมาต่อคนอื่น และคนอื่นนั่นแหล่ะ วันหนึ่งเขาจะมาเป็นนายเรา

สิ่งที่ผู้เขียนเห็นในฐานะผู้สังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วมก็คือการทำงานแบบไม่เอาใจนาย ไม่ได้หมายถึงการไม่เชื่อฟัง หรือมีจุดยืนในตัวเองมากจนเกินไป

ในฐานะผู้น้อย -- เราควรเป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งโดยชอบนั้นอย่างเคร่งครัดมีวินัยไม่นอกลู่นอกทาง ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าทำตามโดยไม่คำนึงถึงว่าสิ่งที่ทำตามนั้นจะก่อให้เกิดผลกระทบอะไร ไม่ใช่ว่านายทุกคนจะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่สร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับลูกน้องและ/หรือองค์กรได้ องค์กรของรัฐไม่ใช่ธุรกิจส่วนตัวของเขา เขามาแล้วก็ไป อาจจะฝากอะไรที่ทั้งดีหรือไม่ดีไว้แก่องค์กรก็ได้ "การเป็นผู้น้อยที่เข้าใจนายแต่ไม่ตามใจนาย" ไม่มีตำราที่ไหนเขียนไว้ เป็นศิลปะที่ต้องค่อย ๆ สร้างสมเรียนรู้กันไป

ในฐานะผู้ใหญ่ -- เราก็ควรเป็นผู้ฟังมากกว่าผู้พูด ยิ่งเราห่างไกลจากการทำงานในฐานะผู้ปฏิบัติ การมองเห็นปัญหาหน้างานก็ยิ่งไกลมากขึ้นทุกที การเปิดใจรับฟังลูกน้องรายงานข้อเท็จจริง ฟังสิ่งที่เขาอยากบอก อยากเล่า เราจะได้อะไรมากกว่าที่คิดไว้ แทนที่จะเป็นฝ่ายสั่งการและเทศนาผิดถูกแต่อย่างเดียว มาถึงตรงนี้ ผู้เขียนเข้าใจคำว่า "ซื้อใจ" มากยิ่งขึ้นแล้ว ยิ่งเราเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น การมีพระคุณยิ่งกว่าพระเดช การเป็นผู้ฟังมากกว่าผู้พูด จะยิ่งซื้อใจลูกน้องได้มากกว่าทำให้เขารู้สึกว่า "เมื่อไร จะย้ายหรือเกษียณไปเสียที"

ในฐานะผู้ใหญ่ ก็ควรที่จะมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาต่อผู้น้อย

ในฐานะผู้น้อย ก็ควรที่จะมีความกตัญญูกตเวทิตา และอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่


ผู้เขียนมีน้อง ๆ ที่อยู่ในความดูแลไม่ได้มากมายอะไร แต่แต่ละคนมี "องค์" เป็นของตนเอง ที่เราควรจะใส่ใจและแก้ไขปัญหาเพื่อเข้าไปอยู่ในใจของพวกเขาให้ได้ เราไม่อาจบังคับให้ผู้ที่อาวุโสน้อยกว่ามาเคารพ ยอมรับ นับถือเราด้วยใจได้ แต่เราสร้างสิ่งดี ๆ ให้เขารู้สึกว่าเราปกป้องเขาได้ด้วยความเป็นธรรม ขณะเดียวกันเจ้านายที่เหนือกว่า ผู้เขียนคงไม่สามารถที่จะทำให้เขารักใคร่เอ็นดูเป็นพิเศษได้ ขอแค่ทำตามหน้าที่และปกป้องไม่ให้เขาเดือดร้อนเพราะเราก็พอ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือสิ่งที่ผู้เขียนใช้เวลานานมากกว่าจะพิสูจน์ตรงนี้ออกมาให้คนที่ทำงานร่วมกันได้เห็น

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีน้องคนหนึ่งบอกว่า "พี่มีทำอะไรผิดพลาดบ้างไหม" ผู้เขียนค่อนข้างงุนงงกับคำถามนี้ตรงที่น้องเขาคิดได้อย่างไรว่าผู้เขียนไม่เคยทำอะไรผิดพลาด ทุกคน...ทุกๆ คนที่ทำงานล้วนผ่านการทำงานที่ผิดพลาด จึงสามารถทำงานได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ...การอธิบายเชิงปรัชญามากเกินไปจะแลดูเราดราม่ามาสอนข้อคิดชีวิตให้น้องในที่ทำงาน ผู้เขียนจึงเลี่ยงที่จะตอบไปว่า "ทุกวันนี้ การทำงานที่ผิดพลาดไม่ใช่ปัญหาสำหรับพี่ มันเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือบางเรื่องพูดไป ทำให้เขาเชื่อเรายาก" วงการทำงานสายอาชีพอื่นเป็นอย่างไรไม่ทราบ แต่ถ้าเป็นเรื่องกฎหมายแล้วล่ะก็ ความน่าเชื่อถือของการตอบปัญหาข้อพิพาทถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราแนะนำ แล้วเขาไม่เชื่อ ไม่ฟัง เพราะไม่ตรงกับสิ่งที่เขาคิดไว้ แบบนี้ เราได้แต่เห็นใจ... เราเป็นแค่ผู้ให้คำปรึกษา เขาคือผู้นำไปปฏิบัติ ถ้าผลกระทบตามมา มันตกอยู่ที่เขา ไม่ใช่ที่เรา ... เราจึงได้แต่เห็นใจ...และหลายครั้งไม่อยากพูดคำว่า "บอกแล้วไง"

จากประสบการณ์การทำงานกว่ายี่สิบปี แม้อีกสิบกว่าปีนิด ๆ จะเกษียณอายุ ผู้เขียนได้เรียนรู้จากการทุ่มเทลงไปมากมายแล้วสิ่งที่ได้ก็เป็นแค่บทเรียนที่อยากจะเฉลยให้คนทำงานที่อยู่ในวัฎจักรชีวิตหนุ่มสาวได้นำทบทวนตนเองดู

--- "เก่งงาน เก่งคน" การทำงานเก่งอย่างเดียวไม่ได้ช่วยให้เราเจริญก้าวหน้าในสายงาน เราต้องเป็นผู้ที่รู้จักเข้าใจผู้อื่น เข้าใจบริบทขององค์กรและงานที่ทำอยู่

--- "ทำงานเพื่องาน" ไม่ใช่เพื่อใคร สังคมทำงาน มักจะมีการแบ่งพรรค แบ่งพวกเป็นเรื่องปกติ เพื่อที่จะได้รับการสนับสนุนขึ้นสู่อำนาจ แต่เมื่อถึงเวลาอำนาจเปลี่ยนมือ คนที่เล่นพรรคเล่นพวก ก็ต้องยอมรับความจริง "กงกรรม กงเกวียน" ที่ไปต่อสู้แย่งชิงเขามาด้วยเช่นกัน

--- "เหตุผลแบบใช้ปัญญา" การใช้เหตุผลเป็นหลัก ใช่ว่าจะเหมาะสมกับทุกเรื่อง บางเรื่องก็ละเอียดอ่อนเกี่ยวกับเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย ลูกน้อง ที่เราจะต้องลดเหตุผลนั้นลงบ้าง การรู้จักวาง ไม่ยึดมั่นในเหตุผลจนเกินไป เป็นการรู้จักใช้ปัญญาอย่างแยบคาย

--- "การพูดในสิ่งที่สมควรพูด" เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะคนส่วนใหญ่อยากพูดในสิ่งที่รู้ ให้คนอื่นยอมรับ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ "พูดถูกจังหวะ" ในเวลาและสถานการณ์ที่เหมาะสม

--- "อย่าจับผิด จับถูกในที่ทำงาน" บางเรื่องไม่สามารถนำไม้บรรทัดมาวัดผิดถูกได้ ใครมีหน้าที่ตรวจสอบก็ทำไป ไม่มีหน้าที่ก็วางใจให้เป็นกลางเสีย

--- "การใช้อำนาจแบบไม่ใช้อำนาจ" เราทุกคนมีดีอยู่ในตัว การใช้อำนาจไม่จำเป็นต้องเสียงดัง หลักการมากเสียจนหักไม่ยอมงอ อำนาจที่แท้จริงคือการสร้างความรู้สึกให้ผู้ที่อยู่ใกล้รู้สึกว่าเราปกป้องเขาได้ น่าเกรงขามและรู้สึกอยากทำตาม เราอยากให้คนทำตามเพราะกลัวเรา หรือเพราะเชื่อถือเรา ฟังไปฟังมาก็คืออำนาจที่ไม่มีกฎหมาย กฎ ประกาศรองรับ แต่คนรู้สึกว่าสมควรเชื่อฟัง จึงออกไปในทาง "บารมี" มากกว่า การจะเป็นผู้มีบารมีจะต้องมีความเสียสละ

--- "มองคนไม่จำเป็น อย่างเข้าใจ" อาจเป็นนายที่อยู่ระหว่างกลางของนายที่มีอำนาจเหนือกว่าและเก่งกว่ากับลูกน้องที่เก่งงานและขยัน "คนไม่จำเป็น" เป็นชื่อเรียกที่ผู้เขียนได้ยินน้อง ๆ เรียกกัน เพราะเป็นนายที่อยู่ตรงกลางแบบหุ่นเชิด ไม่เก่งงาน เป็นแค่รับคำสั่งเบื้องบนมาจัดการคนเบื้องล่าง จริง ๆ ไม่มีก็ได้ แต่เขาให้มี เราก็ต้องเข้าใจคนประเภทนี้ แม้ลึก ๆ อาจไม่รู้สึกนับถือในฝีมือ แต่ก็ถือว่าเขาอาวุโสกว่าในงาน ทำตามคำสั่งไร้สาระบ้างก็ไม่เป็นไร

--- "ความไม่ยุติธรรมในสำนักงาน เป็นเรื่องปกติ" อย่าไปทุกข์ร้อนกันมาก เพราะเป็นเรื่องดุลพินิจส่วนบุคคล เวลาเราได้รับผลตอบแทนจากสิ่งที่ทำน้อย ก็มองว่าไม่ยุติธรรม เราเห็นคนทำงานน้อยกว่าได้ดี ก็ไม่ยุติธรรม พอมองว่ามันก็เป็นแบบนี้ มีทุกที่ เราก็จะเบาใจ ทำงานของเราไป เราทำดีได้ดีเพราะรู้สึกดี

--- "คุณค่ากับการยอมรับอยู่ที่ตัวเราเอง" คนทำงานทุกคนก็หวังว่าเราทำงานไป นายจะเห็นคุณค่า คนรอบข้างจะยอมรับ ต่างคนต่างคิดแบบนี้ ก็ไม่มีใครเป็นตัวของตัวเองสักคน ต่างคนก็ทำให้คนอื่นดู จริง ๆ ดูใจของเราไป ทำงานของเราไป แบบนี้แหล่ะ "ปฏิบัติธรรม" ใครจะเห็นคุณค่าหรือไม่ จะสำคัญไปกว่าเราทำตัวเองให้มีคุณค่าหรือยัง คิดดี ทำดีแล้ว คุณค่าก็มาเอง การยอมรับก็ไม่ยาก

-- "รู้จักชื่นชมและให้โอกาสผู้อื่น" การทำงานทุกที่ One Man Show อาจเกิดขึ้นได้ มีนายคนหนึ่งบอกผู้เขียนว่าผู้เขียนทำงานคนเดียวออกมาดีมากไม่มีที่ติ ดีมากกว่ามีคนช่วยทำงานเสียอีก คล้าย ๆ จะบอกว่ามากคน มากความ งานเลยออกมาไม่ดี แต่ผู้เขียนก็ตอบไปว่าเวลาทำงานร่วมกับคนอื่น เราต้องยอมให้เขาใส่ความคิดเห็นลงไปในงาน แม้จะรู้ว่าผลออกมาดีน้อยลงกว่าที่เราคิดเองทั้งหมด แต่ก็ยอม เพื่อให้ทุกคนในทีมมีส่วนร่วม วันนี้ เรื่องนี้ เขาอาจจะคิดทำออกมาไม่ดี วันหน้าเขาอาจมีส่วนทำให้งานออกมาดี แค่เรารู้จักชื่นชมและให้โอกาสเขา ถ้าเราทำเองทุกเรื่อง งานออกมาดีหมด แต่ไม่มีทายาท

มีอีกหลายเคล็ดลับวิชากระบวนท่าที่เราจะเข้าใจผู้คนที่ทำงานร่วมกัน เข้าใจสังคมที่หล่อเลี้ยงปากท้องเราและครอบครัว แต่ไม่ว่าจะมีกี่เคล็ดลับ ผู้เขียนก็มองเห็นว่าหลักธรรมของคนดี คนเก่งในสังคมทำงานก็หนีไม่พ้น 7 ประการนี้ "หลักสัปปุริสธรรม 7" ธรรมของผู้เป็นสัตบุรุษ คนดี คนเก่ง อันได้แก่

1. ธัมมัญญ เป็นผู้รู้จักเหตุ

2. อัตถัญญู เป็นผู้รู้จักผล

3. อัตตัญญู เป็นผู้รู้จักตน

4. มัตตัญญู เป็นผู้รู้จักประมาณ

5. กาลัญญู เป็นผู้รู้จักกาล

6. ปริสัญญู เป็นผู้รู้จักชุมชน

7. ปุคคลัญญู หรือ ปุคคลปโรปรัญญู เป็นผู้รู้จักบุคคล


รามาเริ่มต้นจากจุดที่ยากที่สุดก่อน คือ "รู้จักตนเอง"

รู้จักตนเองอย่างเป็นกลางเมื่อไร จะเข้าใจผู้อื่น สังคม ชุมชน เหตุ ผล กาละเทศะด้วยความสำรวมระวัง ประมาณตน...

เมตตา จาคะ สาธุ


หมายเลขบันทึก: 612332เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2016 17:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 สิงหาคม 2016 17:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ต้องค่อย ๆ อ่าน และคงกลับมาอ่านได้อีกหลายรอบค่ะ

กลั่นความจริงจากประสบการณ์เลยนะคะ อ.ศิลา

ยังไม่ได้แสดงความยินดีกับคำนำหน้า ดร. เลยนะคะ

ขอถือโอกาสแสดงความยินดีในวันนี้ด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะพี่ศิลา มาด้วยความคิดถึงค่ะ อ่านบันทึกนี้แล้วนึกย้อนไปว่าเคยผ่านมามากมายเช่นกัน..เป็นจริงดั่งที่บอกไว้เลยค่ะจะใคร่ครวญการเป็นผู้น้อยและผู้ใหญ่ไปด้วยกันนะคะ...ขอบคุณค่ะสาระดีมากๆเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท