ครูเพื่อศิษย์ BP ประจำปี ๒๕๕๙ : ครูคเณศ-ครูภาวนา ดวงเพียราช "ปฐมวัยคือหัวใจของการพัฒนาคน"


เด็กคนไหนจะดีหรือจะไม่ดี จะเก่งหรือไม่เก่ง ... เรารู้ได้ เราดูได้ ตั้งแต่ตอนปฐมวัย .... ครูคเณศ ดวงเพียราช

<p “=”“>ครูเพื่อศิษย์อีสาน BP ท่านที่ ๓ และ ๔ ประจำปี ๒๕๕๙ นี้ เป็นแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการเรียนการสอนระดับปฐมวัย จากคุณครูคเณศ ดวงเพียราช และครูภาวนา ดวงเพียราช สามีภรรยาครอบครัวครู ผู้เป็นแกนนำหลักของการศึกษาปฐมวัยในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองมหาสารคาม เราเคยแลกเปลี่ยนและถอดบทเรียนท่านทั้งสองท่านตั้งแต่ตอนเราขับเคลื่อน PLC (ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์) ของเทศบาลเมืองมหาสารคาม (สืบอ่านกระบวนการขับเคลื่อน PLC ได้ที่นี่) </p>

ครูคเณศ ดวงเพียราช

ครูคเณศแลกเปลี่ยนบนเวทีพูนพลังครูเพื่อศิษย์อีสาน (ในวันที่ ๒๒-๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๙) ที่ผ่านมาว่า
"... เด็กคนไหนจะดีหรือจะไม่ดี จะเก่งหรือไม่เก่ง ... เรารู้ได้ เราดูได้ ตั้งแต่ตอนปฐมวัย ..." เป็นคำยืนยันอย่างหนักแน่นจาก "ปัญญาปฏิบัติ" ที่ระบุชัดในแนวทางการพัฒนา และสะท้อนว่าประเทศเราควรจะเอาจริงเอาจังกับการจัดการเรียนการสอนทั้งระดับปฐมวัยก่อนวัยเรียนอย่างทั่วถึง ซึ่งก็เป็นนิมิตหมายที่ดีที่รัฐธรรมนูญใหม่ระบุเรื่องนี้ไว้แล้ว

ส่วนที่วิธีจัดการเรียนการสอนเด็กปฐมวัย ครูคเณศบอกว่า สิ่งที่ระบุไว้หลักสูตรการเรียนการสอนปฐมวัยนั้นชัดเจนและดียิ่งแล้ว ปัญหาคือเราจะนำปฏิบัติอย่างถูกต้องได้อย่างไรภายใต้กระแสสังคมของการแข่งขัน (ความคาดหวังของผู้ปกครองในสังคมปัจจุบัน หนักไปถึงขั้นแข่งขันให้เด็กอนุบาลเขียนอ่านให้ได้ เอาเป้าหมายความต้องการของผู้ปกครองเป็นศูนย์กลาง) ครูคเณศบอกว่า เด็กๆ ต้องสดใส ร่าเริง สนุกสนาน ต้องได้เล่น ต้องมีพัฒนาการทุกๆ ด้าน ได้ทำกิจกรรมที่กำหนดไว้ในหลักสูตรอย่างครบถ้วน ต้องไม่บังคับให้ท่องจำ คัด เขียน เรียนหนักเกินจนเครียด

ท่านจะเน้นเรื่อง "ความกล้าแสดงออก" ของนักเรียนมากๆ จึงขอนำแนวปฏิบัติที่ดีนี้มาสรุปที่นี่อีกครั้ง เป็นกระบวนการฝึกเด็กปฐมวัยให้มั่นใจในตนเองด้วยกระบวนการ ๔ ขั้น แสดงดังแผนภาพด้านล่าง

ขั้นที่ ๑) เตรียมความพร้อมทั้งร่างกาย สมอง และสร้างแรงบันดาลใจให้อยากเรียนก่อนจะเริ่มเรียนในแต่ละหน่วยการเรียนเสมอ วิธีการที่นำมาใช้นั้นหลากหลาย โดยใช้หลักทฤษฎีการเรียนรู้บนฐานสมอง (ฺBrain-based Learning: BBL) ทำ Brain Gym และการเรียนรู้ฐานกาย เช่น Body Gym เป็นต้น

ขั้นที่ ๒) ใช้เกมฝึกคิด สร้างบรรยากาศที่เด็กได้คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ อย่างสนุกสนาน เช่น เกมภาพปริศนา ครูคเณศจะเตรียมภาพใกล้ตัวที่ไม่ยากเกินไป เช่น ภาพโรงเรียนแห่งหนึ่ง แสดงภาพให้เด็กๆ ดู แล้วถามว่า รู้ไหมนี่ภาพอะไร?... -> ทำไมภาพนี้จึงเป็นภาพโรงเรียน สังเกตตรงไหน ค่อยๆ ฝึกให้พูดให้ตอบคำถาม

ขั้นที่ ๓) ให้ฝึกทำ (จำลอง) คือ ให้เด็กๆ ได้ลงมือปฏิบัติจริงๆ ตามสมควรในแต่ละหน่วยการเรียนรู้นั้นๆ อาจใช้การสมมติหรือจำลองของจริงก็ได้ เช่น หากเป็นหน่วยการเรียนรู้ชุมชน ครูคเณศจะให้เด็กๆ ใช้กล่องไม้หรือเลโก้วางจำลองเป็นบ้านเรือน เป็นต้น ก่อนจะให้ทำแบบฝึกหัดหรือใบงาน

ขั้นที่ ๔) ให้ฝึกนำเสนอ เป็นขั้นตอนตอนสำคัญที่จะสามารถปลูกฝังความมั่นใจในตนเอง ท่านจะให้เด็กๆ เอาผลงานของตนเอง(หรือสิ่งที่ครูเตรียมไว้) ออกมานำเสนอหน้าชั้นเรียนในลักษณะให้เล่าเรื่อง เช่น ครูจะเตรียมภาพที่สอดคล้องกับเนื้อหาหน่วยการเรียนนั้น ๆ ให้เด็กได้ฝึกเล่าเรื่องหน้าชั้นเรียน แรกๆ ท่านจะให้ออกมาทีละหลายๆ คน โดยครูจะยืนอยู่ด้วย คอยช่วยคอยชมคอยเชียร์อยู่อย่างชื่นชม

นอกจาก BP การสอนให้เด็กกล้าแสดงออก ซึ่งคุณอริสา (คุณก้อย) (หนึ่งในทีม CADL ตอนนั้นถอดบทเรียนแบ่งปันไว้) ครูคเณศยังมีแนวปฏิบัติที่ดีอีกหลายๆ กรณี เช่น การสอนโครงงานการทดลองของครูคเณศ (อ่านที่นี่) ขอเชิญท่านทักทายท่านไปหน้าเฟสได้ที่นี่

ผมเห็นด้วยกับครูคเณศอย่างยิ่ง ทั้งวิธีคิดและวิธีการของท่าน ที่เน้นพัฒนาการทุกๆ ด้านของเด็ก โดยให้ความสำคัญกับความสุข สนุกสนาน เด็กที่มีความมั่นใจในตนเอง กล้าแสดงออก จะกล้าถาม กล้าเรียน กล้าทำ ส่งต่อพัฒนาการทุกด้านของเด็ก ในหนังสือเรื่อง "เลี้ยงให้รุ่ง" เล่าถึงข้อมูลวิจัยที่น่าสนใจในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่ผู้อำนวยการและครูในโรงเรียนจัดการเรียนการสอนอย่างเข้มงวด จนเด็กมีผลการเรียนดีเกือบทั้งโรงเรียนและสามารถเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยได้จำนวนมาก แต่ต่อมาปรากฎว่า นักเรียนเหล่านั้นสามารถเรียนจนสำเร็จปริญญาได้เพียง ๒๑ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นักวิจัยสรุปว่า ทักษะและพัฒนาการด้านสังคม การแก้ปัญหา วิธีคิดหรือจัดการกับปัญหาเชิงบวก ความอดทน มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าความขยัน มุ่งมั่นทางวิชาการ และพบว่าเด็กส่วนน้อยเหล่านั้น ไม่ใช่เด็กที่มีผลการเรียนดีเลิศ แต่เด็กเหล่านั้นล้วนมีพรสวรรค์และความภูมิใจในตนเอง ... ขอสนับสนุนแนวทางของครูคเณศอย่างเต็มที่ครับ

ครูภาวนา ดวงเพียราช

ครูภาวนาเป็นคนมหาสารคามโดยกำเนิด พ่อท่านเป็นเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตอนเด็ก ๆ จึงต้องติดตามไปหลายจังหวัด ทั้งกาฬสินธุ์ ขอนแก่น อุดรธานี ตอนจบชั้น ม.๖ ยังไม่มีความฝันว่าวันหนึ่งจะได้มาเป็นครู แต่พอได้เข้าไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยครูมหาสารคาม (มรภ.มหาสารคามในตอนนี้) จึงได้ระลึกถึงคุณครูสารภี ต้นแบบครูเพื่อศิษย์ในดวงใจของท่าน

"...เมื่อเริ่มเข้าเรียนปีที่ 1 ของวิทยาลัยครูมหาสารคาม จึ่งเริ่มมีความชอบในวิชาชีพครูขึ้นบ้าง และเมื่อย้อนคิดถึงตอนที่ตนเองเป็นเด็กอนุบาล ซึ่งคุณพ่อ คุณแม่ ส่งเข้าเรียนอนุบาลที่ ร.ร.อนุบาลขอนแก่น และอนุบาลมหาสารคาม ซึ่งคุณครูอนุบาลที่มหาสารคามห้องที่ข้าพเจ้าเข้าเรียนคุณครูสวย และพูดจาไพเราะเรียบร้อย ชื่อคุณครูสารภี (จำนามสกุลไม่ได้) ท่านทำให้ข้าพเจ้าประทับใจหลาย ๆ อย่าง เช่น คุณครูจะดูแลตรวจเล็บตรวจรองเท้าต้องขัดให้มันวาว ชั่งน้ำหนักนักเรียน วัดส่วนสูง ตรวจเหา ตรวจสุขภาพ ให้ดื่มนม ให้แปลงฟัน นำสวดมนต์ และทำกิจกรรมต่างๆ ที่ท่านจัดให้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ข้าพเจ้านึกย้อนได้เสมอ ในการเรียนครูวิชาเอกการศึกษาปฐมวัย เลยทำให้ข้าพเจ้าชอบวิชาชีพครูอย่างจริงจัง และคิดว่าเราจะพัฒนาเด็กนักเรียนของเราให้มีศักยภาพที่ดี และมีทักษะชีวิต เป็นพลเมืองที่ดีของชาติต่อไป..."

เมื่อมาเป็นครู ท่านก็ได้ปฏิบัติดูแลเด็กพัฒนาศัยกภาพของเด็ก ๆ ปฐมวัยอย่างเต็มกำลัง และปรับปรุงการเรียนการสอนด้วยตนเองอย่างละเอียดเป็นขั้นตอน จนประสบสำเร็จอย่างดี ทำให้โรงเรียนอนุบาลโพธิ์ศรีเป็น BP แห่งหนึ่งในการสอนเด็กอนุบาลด้วยโครงงาน การสอนแบบ "เพลิน" ซึ่งเราเคยถอดบทเรียนท่านไว้แล้ว เชิญผู้อ่านติดตามอ่านได้ที่นี่และที่นี่ วิธีการการสอนที่ผมประทับใจที่สุด คือ ตอนที่ท่านพาเด็ก ๆ ไปช้อนเอาลูกน้ำยุง มาเลี้ยงไว้ในห้องเรียน แล้วให้เด็ก ๆ สังเกตและช่วยกันบันทึกทุก ๆ วัน จนได้เรียนรู้ครบวัฏจักรชีวิตของยุง แม้ว่าผมจะไม่ได้ไปเยี่ยมห้องเรียนในตอนนั้นด้วยตนเอง แต่ก็นำเรื่องที่ฟังจากคุณอาริษา มาเล่าเกือบจะทุกเวทีที่มีโอกาส

ฟังเรื่อง "ครู ๒ ประเภท" ที่อาจารย์ไชยยา ศึกษานิเทศก์จาก สพป.มค. เขต ๓ ที่ให้เกียรติมาร่วมเวทีปีนี้กับเราเล่าให้ฟัง ผมนึกถึงคำพูดของรองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองมหาสารคาม ท่านวัลลภ วรรณปะเถาว์ ท่านจะเน้นทุกครั้งที่มาเปิดงาน PLC ของเราว่า มีความแตกต่างระหว่าง "ครูอาชีพ" กับ "อาชีพครู" คำแรกท่านหมายถึง ครูที่มาสอน "กินเงินเดือน" คือยึดการเป็นครูเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเอง ส่วนคำหลัง ท่านให้ความหมายตรงกับครูเพื่อศิษย์ที่คิดและทำเพื่อศิษย์ ส่วนใครจะมี "อาชีพครู" ส่วนจะรู้ได้อย่างไร คงจะอธิบายเป็นหลักปฏิบัติในการสังเกตได้ยากและต้องดูหลายอย่างหลายมุมพร้อมกัน ที่สำคัญต้องดูกันนาน ผมสังเกตว่า เวลาครูเพื่อศิษย์พูด ความสุขเหมือนผุดขึ้นให้เห็นชัดบนใบหน้า แววตา โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงความสำเร็จของลูกศิษย์ และในถ้อยคำที่พูดก็จะเน้นเห็นเป็นเหตุการณ์และการปฏิบัติของตนเองต่อลูกศิษย์อย่างละเอียด พลั่งพลูออกมา เมื่อฟังแล้วเราจะรู้ว่าท่านเป็นผู้ปฏิบัติ ... ตอนที่ผมฟังและสังเกตครูภาวนา ก็รู้สึกเหมือนดังที่กล่าวมานี้

สองสามีภรรยากับการพัฒนาสอน

ประเด็นที่ผมเองในฐานะเป็นกระบวนกรของเวทีพูนพลังครูเพื่อศิษย์(อีสาน) ครั้งนี้สนใจมากๆ คือ เหตุใด? ทำไมท่านทั้งสองถึงมี BP การสอนที่หลากหลาย และได้รับการยอมรับจากเพื่อนครูเทศบาลฯ ฟังท่านพูด "จับ" ได้ว่า ท่านทั้งสองจะนำเรื่องการเรียนการสอนเด็กไปโต้เถียง(อภิปราย) กันบ่อยๆ ทั้งที่ทำงานที่บ้าน (แบบไม่ค่อยเลือกกาลเวลาด้วย) ท่านมักมีความเห็นที่ไม่ลงรอยกัน ครูภาวนาเรียนจบศึกษาปฐมวัยมาโดยตรง จะมีความมั่นใจในทฤษฎีหลักการที่ตนร่ำเรียนมา ส่วนครูคเณศซึ่งไม่ได้เรียนจบมาทางนี้ ก็มักจะนำเอา "ปัญญาปฏิบัติ" ที่ตนทำสำเร็จมายืนยันว่า ทฤษฎีบางอันก็ใช้ไม่ได้ โต้กันไป เถียงกันมา ... ผมตีความว่า นี่คือ BP หรือปัญญาปฏิบัติในการพัฒนาครู คือ หาเวลาให้ครูไปอยู่ร่วมกัน และคุยเรื่องการเรียนการสอนอย่างจริงจัง เปิดโอกาสให้มีการ โต้เถียง สะท้อน ป้อนกลับ (feedback) กันไปมา ... แบบนี้การศึกษาจะพัฒนาอย่างรวดเร็วแน่นอน ....เราเรียก "วง" หรือ "เวที" แบบนี้ว่า "PLC"

สุดท้ายนี้ ขอบูชาคุณครูเพื่อศิษย์ทั้งสองท่านครับ....ขอคุณพระรัตนตรัยและปัจจัยแห่งความดีที่ท่านทำมา หนุนส่งให้ท่านมีสุขภาพพลานมัยที่แข็งแรง อยู่เป็นรากโพธิ์รากไทรให้ครูรุ่นใหม่ต่อไปตราบนานเท่านานครับ ...





หมายเลขบันทึก: 612328เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2016 15:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2016 09:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท