Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

รัฐใดบ้างที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับเดือนซึ่งเกิดในประเทศไทยจากบุพการีเชื้อสายไทยใหญ่ ซึ่งเกิดในประเทศเมียนมา แต่อพยพหนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทย ?


คนไร้สัญชาติเชืื้อสายไทยใหญ่ที่เกิดในประเทศไทย

กรณีนางสาวเดือน คนไร้สัญชาติแห่งอำเภอเวียงแหง

: การกำหนดจุดเกาะเกี่ยวระหว่างรัฐและมนุษย์ที่เกิดในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๑ จากบุพการีไร้รัฐไร้สัญชาติเชื้อสายไทยใหญ่ที่เกิดในประเทศเมียนมา และอพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๕

https://www.gotoknow.org/posts/612237

-------------

ข้อเท็จจริง

-------------

เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๕ นางสาวเดือนได้อีเมลล์มาหารือโครงการบางกอกคลินิกเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังนี้

“หนูมีใบเกิด หนูมีทะเบียนบ้าน หนูมีบัตรประจำตัวบุคคลพื้นที่สูงที่เป็นสีชมพู หนูขอสัญชาติไทยมาหลายปีแล้ว แต่หนูยังไม่ได้เลยแล้วหนูก็จะจบปวช.แล้ว แล้วหนูควรจะทำอย่างไรต่อดีคะ หนูยื่นใบคำร้องขอสัญชาติไทยที่ อำเภอเวียงแหงเมื่อประมาณปี ๔๘ แล้วไปยื่นอีกทีตอนปี ๕๐ หนูคุยกับทนายท่านหนึ่งท่านแนะนำให้หนูไปยื่นคำรองใหม่ ทนายบอกว่าให้ไปยื่นคำรองในมาตรา ๒๓ โดยไม่ต้องผ่านทางกระทรวง นายอำเภอสามารถตรวจสอบได้เลย หนูได้โทรไปสอบถามทางอำเภอเวียงแหงฝ่ายทะเบียนขอสัญชาติ หนูให้แม่เอาเอกสารไปให้ นายทะเบียนดูเขาบอกว่าในส่วนเรื่องเอกสารไม่มีปัญหาแต่ตอนนี้ยังต้องรอกรอบกฎหมายจากทางกระทรวง ถึงจะขอได้ พอหนูโทรเขาไปสอบถามทางกระทรวงทางกระทรวงบอกว่า สามารถขอมาตรา ๒๓ ได้ แต่ทางอำเภอบอกว่ายังไม่ได้ในส่วนของหนูนอกจากนั้น คือตอนนี้หนูเรียนอยู่แล้วหนูจะจบ ปวช.แล้วทางโรงเรียนเขาไม่สามารถออกเกรดให้หนู เพราะทางโรงเรียนส่งเข้าที่กระทรวง ทางกระทรวงก็ขอใบอนุญาตที่ลงมาเรียนค่ะ แล้วหนูไม่ได้ทำตั้งแต่แรก หนูไม่รู้ว่าต้องมีใบขออนุญาติลงมาเรียน

อีกประการหนึ่ง เห็นอาจารย์ที่โรงเรียนบอกหนูว่าในใบ รบ.จะเขียนว่าสัญชาติไทยใหญ่ แล้วจะมีปัญหาตามมาทีหลังรึเปล่าค่ะ อย่างนี้หนูควรทำอย่างไรดีคะ”

โดยการรวบรวมพยานหลักฐานโดยนางสาวพวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ นักกฎหมายผู้รับผิดชอบคำร้อง พบว่า นางสาวเดือนเป็นบุตรที่เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๑ จากนางยอดและนายทุน ซึ่งเป็นคนในชาติพันธุ์ไทยใหญ่ที่เป็นชนกลุ่มน้อยที่เกิดและอาศัยอยู่ในประเทศเมียนมา ได้อพยพหนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทยทางด้านกิ่งอำเภอเวียงแหงตั้งแต่ก่อนการเกิดของนางสาวเดือน

นางยอดและนางสาวเดือนได้รับการบันทึกในแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงโดยกิ่งอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๔

นางยอดคลอดนางสาวเดือนที่บ้านและไม่รู้ความรู้กฎหมายที่จะไปแจ้งการเกิดให้แก่นางสาวเดือน อีกทั้งในขณะที่นางสาวเดือนเกิด นางยอดก็ยังมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายและยังไม่ได้รับการผ่อนผันให้สิทธิอาศัยในประเทศ จึงไม่มีความคิดที่จะทำการสิ่งใดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐไทย นายยอดเพิ่งมาร้องขอทำสูติบัตรให้แก่นางสาวเดือนในวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๗ ต่ออำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ และในโอกาสนี้ อำเภอนี้ก็ได้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านคนอยู่ชั่วคราวตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร (ท.ร.๑๓) ณ เลขที่ ๓๔ หมู่ที่ ๑ ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นทะเบียนบ้านเดียวกันกับนางยอด นางสาวเดือนได้รับเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๗ เอกสารทางทะเบียนราษฎรทั้งหมดระบุว่า นางสาวเดือนเป็นคนสัญชาติไทยใหญ่

ในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๐ อำเภอเวียงแหงได้ออกถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ประเภทบุคคลบนพื้นที่สูง ให้แก่นางสาวเดือน ซึ่งบัตรนี้ออกโดยกรมการปกครองซึ่งทำหน้าที่สำนักทะเบียนกลางโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

นางสาวพวงรัตน์พบอีกว่า นางสาวเดือนมีน้องอีก ๒ คน กล่าวคือ (๑) นางสาวดาวซึ่งเกิดเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๓ และ (๒) นายสาม ซึ่งเกิดวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๗ น้องทั้งสองของนางสาวเดือนเกิด ณ ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ และได้รับการบันทึกรายการสถานะบุคคลในทะเบียนบ้านคนอยู่ชั่วคราวตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร (ท.ร.๑๓) แล้ว โดยมีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๗ และได้รับการออกบัตรบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ประเภทบุคคลบนพื้นที่สูงแล้วเช่นกัน เอกสารทางทะเบียนราษฎรทั้งหมดระบุว่า นางสาวดาวและนายสามเป็นคนสัญชาติไทยใหญ่

--------

คำถาม

--------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า นางสาวเดือนมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศใดบ้าง เพราะเหตุใด ? [1]

-------------

แนวคำตอบ

-------------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและประชากร ดังนั้น บุคคลธรรมดาจึงอาจมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐได้ โดยผ่านข้อเท็จจริง ๕ ประการ กล่าวคือ (๑) ถิ่นที่เกิดของบุคคลธรรมดา (๒) ถิ่นที่บุคคลปรากฏตัว (๓) สัญชาติของบุคคลธรรมดา (๔) ภูมิลำเนาของบุคคล และ (๕) ถิ่นที่ทรัพย์สินอันเป็นสิทธิของบุคคลตั้งอยู่

จะเห็นว่า เดือนมีจุดเกาะเกี่ยวกับ ๒ ประเทศ กล่าวคือ

ประเทศแรกที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับบุคคลตามข้อเท็จจริงนี้ ก็คือ ประเทศไทย ทั้งนี้ เพราะประเทศนี้อาจมีจุดเกาะเกี่ยว ๓ ประการกับเดือน กล่าวคือ (๑) หากรับฟังว่า เดือนเกิดในประเทศไทย ประเทศนี้จึงมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของถิ่นที่เกิดของเดือน (๒) เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า เดือนอาศัยอยู่ในประเทศไทย ประเทศนี้จึงมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของถิ่นอันเป็นภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนของของเดือน และ (๓) เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงเดือนได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของประเทศไทย อันได้แก่ ท.ร.๑๓ ประเทศนี้จึงมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของถิ่นอันเป็นภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของเดือนอีกด้วย โดยสรุป ความสัมพันธ์ระหว่างเดือนกับรัฐไทยจึงเป็นความสัมพันธ์ทั้งโดยการเกิดและภายหลังการเกิด เป็นจุดเกาะเกี่ยวโดยหลักดินแดน

ประเทศที่สองที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับบุคคลตามข้อเท็จจริงนี้ ก็คือ ประเทศเมียนมา ทั้งนี้ เพราะประเทศนี้มีจุดเกาะเกี่ยวกับเดือนโดยผ่านบุพการี เป็นจุดเกาะเกี่ยวโดยหลักบุคคล กล่าวคือ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า บุพการีของเดือนเป็นคนที่เกิดในประเทศเมียนมา ดังนั้น จึงเกิดความสัมพันธ์โดยหลักบุคคลระหว่างประเทศเมียนมาและเดือนผ่านบุพการีอีกด้วย โดยสรุป ความสัมพันธ์ระหว่างเดือนกับรัฐเมียนมาจึงเป็นความสัมพันธ์โดยการเกิด แม้ประเทศเมียนมาจะยังไม่รับรองความสัมพันธ์ทางสัญชาติให้แก่นางยอด มารดาของเดือน ในวันนี้ก็ตาม แต่เมื่อใดก็ตามที่รัฐเมียนมารับรองยอดในสถานะคนสัญชาติเมียนมา รัฐเมียนมาก็ย่อมจะรับรองเดือนในสถานะคนสัญชาติเช่นกัน

โดยสรุป จึงมีเพียง ๒ ประเทศ กล่าวคือ ประเทศไทยและประเทศเมียนมาที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับเดือน อันทำให้สถานะบุคคลของบุคคลธรรมดาดังเดือนมีลักษณะระหว่างประเทศ และตกอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

ข้อสังเกตที่เราอาจมีในข้อเท็จจริงของเดือน ก็คือ เธอคือผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ โดยผลของมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติในช่วงเวลานั้นปรารถนาที่จะขจัดผลร้ายให้แก่บุคคลที่ได้รับผลร้ายจากประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ ทั้งที่เป็นราษฎรไทยซึ่งเกิดในประเทศไทยและอาศัยอยู่ในประเทศไทย



[1] เป็นข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต ภาคบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา ๒๕๕๔ ภาคแก้ตัว ออกโดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร




หมายเลขบันทึก: 612237เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2016 19:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 สิงหาคม 2016 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท