ถูกนิเทศโรงเรียนประชารัฐ?


ระหว่างนั่งรอจะเริ่มประชุมอีกครั้ง เพื่อรับฟังสรุปและข้อเสนอแนะ ศึกษานิเทศก์บางท่านในคณะพูดคุยสัพยอกกันในกลุ่ม พร้อมหัวร่อต่อกระซิก ดูท่านมีความสุข แต่ตัวเองแล้วกิริยาและประโยคพูดคุยเหล่านั้น บาดลึกเข้าไปในหัวใจ เชื่อว่าไม่ว่าผู้เป็นเจ้าของสถานที่หรือเจ้าของบ้านคนใดได้ยินเช่นนี้ อาการคงไม่ต่างกัน..


วานก่อนโรงเรียนต้อนรับคณะศึกษานิเทศก์ จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 6 ท่าน ที่ลงทุนลงแรง เสียสละ เดินทางไกลมานิเทศ แรกสุดได้ข่าวเป็นเรื่องโรงเรียนประชารัฐ นโยบายใหม่เอี่ยมอ่องของรัฐบาล คสช.

แต่ใกล้วันมาจริง ศึกษานิเทศก์เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 39 (สพม. เขต 39) เข้ามานัดแนะโรงเรียนประเด็นที่จะได้รับการประเมิน ปรากฏว่ามิใช่ติดตามโรงเรียนประชารัฐอย่างเดียวเสียแล้ว แต่เป็นเรื่องโรงเรียนดีศรีตำบลในอดีต และนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ด้วย ท่านบอกว่าในฐานะโรงเรียนเราอยู่ในทุกโครงการเลย ตามที่กล่าวมา

จึงเป็นที่น่ายินดีที่ สพม.เขต 39 ซึ่งประกอบด้วยสองจังหวัด คือพิษณุโลกกับอุตรดิตถ์ มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการประชารัฐทั้งหมด 8 โรง ที่บอกน่ายินดี เพราะโรงเรียนเราได้รับเกียรติ ให้เป็นตัวแทนหนึ่งเดียวของ สพม. ที่จะได้รับการนิเทศในครั้งนี้


จึงเข้าใจไว้ล่วงหน้าแล้วว่า เรื่องสำคัญคงเป็นโรงเรียนประชารัฐ เด็กๆที่โรงเรียนถามครั้งใด ก็จะอธิบายอย่างนี้ เขาคงมาดูความพร้อมของโรงเรียน ว่าพร้อมอยู่เท่าใด พร้อมเรื่องอะไร และขาดในเรื่องใด รวมถึงควรสนับสนุนส่งเสริมในเรื่องไหนจึงจะถูกต้อง ตรงเป้า อะไรพวกนี้ แต่เอาเข้าจริงแทบตรงกันข้าม..

จากที่โรงเรียนไม่เคยต้อนรับแขกใดๆ ด้วยวิธีการเช่นนี้มาก่อน นับตั้งแต่ตัวเองมาเป็นครูอยู่ที่นี่ แต่ครั้งนี้จัดเต็ม ขบวนกลองยาวของชุมชนส่งเสียงอึกทึกครึกโครมอยู่ที่หน้าอาคาร "โมงๆๆ โมงเท่งโมง เท่งโมงๆๆ" พลันที่คณะก้าวย่างลงจากรถตู้ของ สพม. ขณะในห้องประชุม ครูดนตรีขมีขมันอยู่กับกับการเตรียมนักเรียน 6-7 คน ครั้งสุดท้าย เพื่อบรรเลงเพลงต้อนรับ

“มาแล้วๆ” ใครคนหนึ่งบอกต่อ ประตูห้องประชุมถูกเปิดออก คณะแขกผู้มาเยือน 7-8 ท่าน ก้าวเท้าเข้ามาด้วยท่าทีองอาจ พร้อมๆกับเสียงเพลงลูกทุ่งพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพฯ “เพลงส้มตำ” อันคุ้นเคยจากวงเครื่องเป่า B.K.band ค่อยกระหึ่มขึ้น ท่ามกลางความเงียบในห้องประชุม สายตาทุกคู่จับจ้องไปยังแขกผู้มาเยือน แทบทุกแววตาบ่งบอก ถึงความเชื่อถือศรัทธา


ในฐานะครูผู้เป็นเจ้าของบ้าน สะดุดทันทีในคำกล่าวต้อนรับ “อย่างไรเสียขอให้เมตตา” ก็แค่มานิเทศ มาทำงานของเขา เขาทำหน้าที่ตรงไปตรงมาเท่าไหร่ ยิ่งจะเกิดประโยชน์ ของเรางานสอน ก็ทำหน้าที่ของเรา แค่นั้นไม่ใช่หรือ ใยถึงกับต้องขอความเมตตา ราวว่าเราต้องโทษ กำลังถูกพิจารณาหรือตัดสินคดีอะไรสักอย่าง ประโยคนี้ยังส่ออีกว่า เราตกอยู่ในสถานะเพลี่ยงพล้ำ คุณผิดแน่ คุณถูกลงโทษแน่ อะไรทำนองนั้น

หัวหน้าคณะบอกจะใช้เวลานิเทศประมาณ 3 ชั่วโมง จากนั้นแนะนำผู้ร่วมคณะทั้งหมด ซึ่งจะแยกย้ายพูดคุยกับเจ้าของงานเป็นงานๆไป งานแผน งานวิชาการ งานอาคารสถานที่ ฯลฯ ช่วงแรกจะใช้เวลาสำรวจสภาพทั่วไปของโรงเรียนก่อน ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการต่างๆ รวมทั้ง สัมภาษณ์ครู นักเรียน เรียบร้อยแล้ว ให้มารวมกันที่ประชุมอีกครั้ง เพื่อรับฟังข้อสรุปและข้อเสนอแนะ ซึ่งเป็นผลการนิเทศครั้งนี้


ระหว่างคณะออกสำรวจ ตัวเองกลับมาตรวจการบ้านที่โต๊ะทำงานในห้อง ไม่นานนักกรรมการนักเรียน ซึ่งได้รับมอบหมายให้พาผู้มาเยือนไปในที่ต่างๆ ก็พาท่านมาถึง พร้อมคำทักทาย “นี่ห้องเรียนชีววิทยาหรือ โรงเรียนมีห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์กี่ห้อง ไม่แยกเป็นฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา? ลักษณะวิชาและปฏิบัติการแตกต่างกัน บรรยากาศไม่ได้เลย..” พร้อมกับหันไปถามกรรมการนักเรียน “เคยเห็นห้องปฏิบัติการของโรงเรียนอื่นบ้างหรือเปล่า” เด็กๆได้แต่ส่ายหน้าเจื่อนๆของตัวเอง


“โรงเรียนขอเรื่อยและขอมานานแล้ว แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้รับการจัดสรร หรือมีห้องปฏิบัติการตามแบบของกรมสามัญ(เดิม)สักห้องเดียว ชื่อห้องฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เด็กๆก็เรียกตามที่ครูวิชาใดสอนห้องนั้นๆประจำ” ตัวเองตอบคำถามไปได้บ้างแค่นั้น ดูท่านรีบ อาจเพราะเวลาน้อย การรับฟังสภาพปัญหาจากเรา เหมือนไม่จำเป็นเอาเสียเลย สักครู่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของโรงเรียน ประกาศเชิญครูวิทยาศาสตร์ทุกคนให้ไปรวมกันที่ห้องประชุม


ระหว่างนั่งรอจะเริ่มประชุมอีกครั้ง เพื่อรับฟังสรุปและข้อเสนอแนะ ศึกษานิเทศก์บางท่านในคณะพูดคุยสัพยอกกันในกลุ่ม พร้อมหัวร่อต่อกระซิก ดูท่านมีความสุข แต่ตัวเองแล้วกิริยาและประโยคพูดคุยเหล่านั้น บาดลึกเข้าไปในหัวใจ เชื่อว่าไม่ว่าผู้เป็นเจ้าของสถานที่หรือเจ้าของบ้านคนใดได้ยินเช่นนี้ อาการคงไม่ต่างกัน “ห้องเรียน อาคารเรียนสะอาดดี เพราะทำกันทัน(ฮา)”

ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่จริง โรงเรียนเราไม่ได้วิเศษกว่าที่อื่นอยู่แล้ว น่าจะเป็นความธรรมดาหรือความปกติต่างหาก ที่ยามมีแขกมาเยี่ยมเยือน บ้านไหนๆก็น่าจะเก็บกวาดทำความสะอาดให้ดูดีกว่าวันอื่นๆ จะดีกว่าหรือจะไม่รู้สึกอะไรในใจเลย ถ้าการวิพากษ์นี้เป็นทางการ เป็นข้อสรุป เป็นเรื่องเป็นราว ด้วยสีหน้าท่าทางปกติ ปรารถนามุ่งแก้ปัญหาร่วมกัน ไม่เจือไปด้วยถ้อยคำถากถาง ทิ่มแทง..

ความจริงที่โรงเรียนเป็นอย่างไร ปัจจัยต่างๆที่ทำให้เกิดขึ้น เรารู้ดี นี่คือบ้านเรา กิริยาท่าทาง รอยยิ้ม น้ำเสียงที่ประชดประชัน แดกดัน เสียดเย้ย ของท่านผู้ทรงทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิวันนั้น ยังไม่ต้องรวมไปถึงประโยคหรือวลีต่างๆ ที่เป็นข้อสรุปอย่างเป็นทางการจากท่านนั้นด้วยดอก เท่านี้ก็ติดตาตรึงใจตัวเองมากมายแล้ว


“ดูจากผลโอเน็ตที่ดีขึ้นทุกกลุ่มสาระ ยกเว้นวิทยาศาสตร์ สอดคล้องกับห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนไม่มีความพร้อม ครูเคมีก็ขาด” ศึกษานิเทศก์อีกท่านหนึ่งสรุป อันที่จริงการนิเทศครั้งนี้ ตัวเองหวังลึกๆไว้ก่อนว่า คงออกมาในลักษณะนี้ จึงใจจดใจจ่อรอ วันที่จะมีโอกาสฟังมุมมองและวิธีปฏิบัติดีๆหรือสร้างสรรค์ของทุกท่าน เหตุที่หวังเพราะเป็นคณะศึกษานิเทศก์จากสพฐ.โดยตรง ร้อยวันพันปี ตั้งแต่เป็นครูมา 30 ปี เพิ่งมีหนนี้เป็นหนแรก คงมารับฟังสภาพปัญหาที่แท้จริงจากผู้ปฏิบัติตัวจริงเสียงจริง เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการสนับสนุน ปรับปรุง แก้ไข พัฒนาการจัดการศึกษาของโรงเรียนในโอกาสต่อๆไป

ปรากฏว่า ข้อเสนอแนะมีแต่ลักษณะ ทำไมไม่เอาโต๊ะ เก้าอี้ หรือทำไมไม่วางตรงนั้นตรงนี้ ยังดีที่จัดมุมนี้ , ห้องเรียนไม่ควรจัดด้วยแผนเดียวกัน ควรแยกเรียนเฉพาะวิชาเลือก จำนวนนักเรียนแต่ละห้องจะได้เหมาะสม , การติวต้องแบ่งกลุ่มนักเรียน , ทำไมดินถุงไม่ทำให้ถุงหิ้วได้ด้วย , ทำไมไม่ขายดินในเว็บไซต์ คุยกันในอินบ็อกซ์ เรามีความรู้ แบกไปขายตลาดนัดเหมือนชาวบ้านเขาทำไม , ดินถุงมีแต่ใบจามจุรี ต้นมันอยู่ที่ไหน , นักเรียนบอกไม่ได้ แล้วครูรู้มั้ย ใบกล้วยใบใดเหมาะจะนำมาใช้ ฯลฯ

ประเด็นหรือข้อแนะนำต่างๆเหล่านี้อาจจะไม่เกิดก็ได้ ถ้าตั้งใจมารับฟังสภาพปัญหา ที่มาที่ไปที่ผ่านมา ครูที่โรงเรียนทุกคน ซึ่งทำจริงพบอุปสรรคปัญหาจริง เรื่องราวมากมาย น่าจะอธิบายได้ด้วยตัวของมันเองแทบทุกประเด็น ที่สำคัญ วิธีรวมทั้งข้อชี้แนะอย่างนี้เจอจากศึกษานิเทศก์มาตลอดชีวิตครูแล้ว

โดยสรุปการนิเทศครั้งนี้ จากที่เข้าใจเองในเบื้องต้นว่า เรื่องสำคัญคงเป็นโรงเรียนประชารัฐ นโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่จะจับมือกับประชาชนและอีกหลายภาคเอกชน สนับสนุนงบประมาณจำนวนมหาศาล เพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาบ้านเรา ซึ่งล้มลุกคลุกคลานมาตลอด เขาก็คงมาดูความพร้อมของโรงเรียน ว่าพร้อมอะไร ขาดอะไร ควรสนับสนุนส่งเสริมในเรื่องใด จึงจะถูกต้อง ตรงเป้า เกิดสัมฤทธิผล อะไรพวกนี้ แต่เอาเข้าจริงแทบตรงกันข้าม

หัวหน้าคณะนิเทศกล่าวสรุปสุดท้าย ภายในห้องประชุมที่เงียบกริบ เพราะต่างเงี่ยหูฟัง ตัวเองงงๆ พร้อมคำถามผุดพราย..

“มาไกลจาก สพฐ. ด้วยเหตุอันใดแน่ฤา” เบลอมากจนถึงมากที่สุดครับ!

หมายเลขบันทึก: 611731เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2016 10:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2016 09:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

ระบบการนิเทศก์เราสิ้นหวังไปแล้วครับ

บางคนนิเทศก์ไม่เป็น

ไม่มีความเป็นกัลยณมิตร

ผมเพิ่งไปติดตามโรงเรียนคูปองการศึกษา

เราไม่นิเทศก์แบบนี้เลย

ที่น่าเป็นห่วงคือคนที่นิเทศก์ไม่เคยเป็นครูที่ดีมาก่อน

โดยเฉพาะที่อยู่ในกรุงเทพฯ

สู้ๆครับพี่ครู

ว่างๆมาเที่ยวทางใต้ แวะ ม ทักษิณ สงขลา(มศว สงขลาเดิมบ้งนะครับ

กรณีนี้เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจคุณครูและทางโรงเรียนอย่างยิ่งครับ การศึกษาของไทยยังต้องพัฒนาอีกมากและต้องอาศัยคุณครูและโรงเรียนเป็นหลักครับ เป็นกำลังใจให้ด้วยคนครับ

  • คิดว่าเค้าจะมาฟังครับ เพราะอุตส่าห์มาไกล จนถึงที่โรงเรียนเราแล้ว หวังมากไปนิดครับอาจารย์..
  • ขอบคุณอาจารย์ขจิตมากๆครับ
  • หลายครั้งที่ตัวเองรู้สึกว่า งานจัดการศึกษาบ้านเรา ยังขาดความเอาจริงเอาจังครับ..
  • ขอบคุณกำลังใจจากท่านศน.ศิลป์ชัย เทศนาครับ

รีบล็อกอินเข้ามา ให้กำลังใจ

อ่านแล้วพูดไม่ออก เกิดอาการแบบ...จะร่ำไห้ก็มิได้ จะหัวร่อก็ไม่เชิง

วัฒนธรรมแบบนี้มีมาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ (เกรงใจผู้มาตรวจ)



เอาเป็นว่าให้กำลังใจก่อนนะคะ คิดอะไรออกมากกว่านี้ค่อยแวะมาใหม่ค่ะ

ผมถูกใจกับคำว่า "เอาจริงเอาจัง" มากครับ เพราะเติบโต ร่ำเรียนมากับคุณครู อาจารย์ที่เอาจริงเอาจัง และเห็นประโยชน์ของการเอาจริงเอาจังมาตลอดครับอาจารย์

ขอบคุณความเห็นดีๆและภาพสวยงามค่ะ

-สวัสดีครับ

-ตามมาอ่านให้กำลังใจบทความนี้ครับ

-เห็นภาพชัดเจนจากตัวอักษร..เรียงร้อย ดังเช่นเห็นด้วยตา..

-อ่านบันทึกนี้ตั้งแต่เมื่อวาน....

-ขอบคุณครับ....

  • คงเพราะตัวเองหวังไว้ อีกอย่างวิธีการเช่นนั้น ถ้าจะทำให้อะไรๆดีขึ้น เราคงต้องเข้าใจ แม้จะเจ็บปวดก็ตาม แต่ลองพิจารณาแล้ว ไม่น่าใช่ครับ..
  • ขอบคุณอ.หมอภูสุภาครับ สบายดีนะครับ?
  • อายุยิ่งมาก ยิ่งถวิลหาอดีตหรือที่มาของตัวเอง อีกไม่นานแล้วครับ ที่จะไปใช้ชีวิตอยู่กับต้นไม้ใบหญ้าในสวนอย่างเต็มตัว..น่าจะคล้ายที่หนองรางเหมือนกันครับ
  • ขอบคุณเพชรน้ำหนึ่งมากครับ

มีความสุข สนุกกับงาน ก็สุดยอดแล้ว. เข็มทิศการศึกษา..ถูกรบกวนด้วยสนามแม่เหล็ก ที่สลับขั้วไปมาตลอดเวลา...พวกเรารู้ว่าจะต้องฝ่าฟันไปอย่างไร..จึงจะถึงฝั่ง

  • ตัวเองก็เชื่ออย่างนั้นครับ..
  • ขอบคุณมากๆครับ
  • พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท