ธรรมชาติของการเขียนไปทำไป ๑


กาลครั้งเเรกจนถึงปัจจุบัน ผมเคยเขียน Gotoknow มาประมาณ ๓ ปีเเล้ว ตั้งเเต่อยู่ชั้น ม.๕ ในครั้งนั้นครูเพ็ญศรี พยายามให้ผมเขียนในสิ่งที่ทำงานมา งานนั้น คือ การลงพื้นที่ทำโครงการกับชุมชน เเละการจัดการความรู้ของตนเอง พอเขียนครั้งเเรกๆ ผมรู้สึกเขียนออกมายากมาก เพราะเป็นคนไม่ชอบการเขียนเรียงความ เมื่อครูสั่งให้เขียนเรียงความ ผมมักจะวนไปรอบโลกเเล้วมีแก่นสารนิดเดียว บางครั้งเขียนไปงงตัวเองไปด้วยซ้ำ

บันทึกแรกๆของผม เป็นบันทึกที่เขียนแบบไม่ค่อยได้คิดอะไรมากนักเเต่อยากบอกกับภายนอกว่า "ผมคิดแบบนี้" ซึ่งที่เขียนเเละสนใจ คือ พูดถึงเรื่องการศึกษาในแบบมุมองเล็กๆที่ผมอยู่ เเละบันทึกการทำงานในพื้นที่ชุมชน ต่อมาเริ่มอยากเขียนในสิ่งที่อยู่ภายในมากขึ้น คือ เรื่องของพลังใจ เขียนมาเรื่อยๆจากวันนั้นถึงวันนี้เริ่มกลายเป็นคนที่ชอบการเขียน เริ่มสนุกกับการได้เขียน มีความสุขจากการได้เล่า จึงเริ่มหันมามองการเขียนของตนเอง บันทึกนี้ จึงขอเล่าเรื่องการขีดๆเขียนๆ ของนายธีระวุฒิ หรือ แสน ซึ่งขออนุญาตใช้ภาษาตนเองครับ
ปล.ผมไม่ได้เก่งเขียนเเต่ผมอยากเล่าให้ฟัง ครับ

"จุดหมายในการเขียน Gotoknow"

  • เพื่อจัดการความรู้ของตนเอง พัฒนาตนเองด้านความคิด ความรู้สึก ความเป็นกลาง เเละการร้อยเรียงเรื่องราว
  • เพื่อส่งต่อความรู้จากประสบการณ์ที่ได้ทำสู่สังคมการเรียนรู้
  • เพื่อประชาสัมพันธ์เชิงมหภาค ให้เป็นฐานข้อมูลการปฏิบัติงานที่ลงมือทำจริง เห็นผลจริง

"ธรรมชาติของการเขียนไปทำไป"

๑) เมื่อเขียนใหม่ๆเราจะเขียนแบบเรื่องเล่าจากการลงมือทำหรือลงมือสอน "เมื่อ Input ก็ Output ออกทันที"
๒) เมื่อเขียนไปได้สักพักหนึ่งเราจะเริ่มมี คำนำ มีเนื้อเรื่อง เเละมีสรุป
๓) เมื่อทำไปเเละเขียนไปจนตกตะกอน เราจะสามารถขมวดเป็นความรู้จากประสบการณ์ตรงในลักษณะ "บทวิเคราะห์เเละบทสังเคราะห์" ได้
๔) เมื่อทำไปเเละเขียนไปเรื่อยๆ พร้อมจะเรียนรู้เรื่อยๆ เราจะพบแนวทางการปฏิบัติของตนเองที่เป็นรูปธรรม ชัดเจน "หลักการ"
๕) เมื่อทำไปเเละเขียนไปเเละตกตะกอนไปเรื่อยๆ เราจะเริ่มจับกระบวนการภายใน เเละเข้าใจโลกเเละชีวิต
๖) เมื่อเขียนไปเรื่อยๆ เราจะเริ่มร้อยเรียงเชื่อมโยง เป็นหนังสือได้ เเละไม่ยึดในรูปแบบเเต่จะมีรูปแบบของตนเอง

"เมื่อเขียนไปเเล้วเจอ"

๑) ทิศเบื้องหน้า

  • ความคิดแบบอัตโนมัติหรือความคิดเเบบสำเร็จรูป ที่มันเกิดขึ้นเมื่อเราฝึกสังเคราะห์ซ้ำๆ ในรูปแบบเดิมๆ ซึ่งมันสามารถนำไปใช้วิจักษ์กับเรื่องใหม่ๆที่เกิดขึ้นในสังคมได้ คล้ายกับเราฝนมีด เมื่อเราฝึกไปเรื่อยๆก็จะคมเรื่อยๆ
  • กระบวนการภายในก่อนการเขียน หรือกระบวนการของกระบวนการ ว่าเหตุผลนั้นๆมันออกมาได้อย่างไร เพราะอะไร มีเหตุปัจจัยอะไรมาส่งเสริม
  • ธรรมชาติของการใช้ตรรกะของตนเอง บางอย่างเรามององค์รวม บางอย่างเราเเยกเเยะ บางอย่างเราคิดสวนทางกัน หรือบางอย่างเรามองว่ามันไปด้วยกัน
  • เราจะเข้าใจสิ่งต่างๆได้โดยการทบทวนซ้ำๆเป็นวงรอบ เมื่อวงรอบนี้หมุเวียนครบ ก็จะสามารถยกระดับทางความรู้เเละจิตวิญญาณที่สูงขึ้นสู่วงรอบใหม่เเละจะขึ้นสู่วงรอบที่สูงขึ้นไปเป็นธรรมชาติ
  • การเขียนมีเทคนิคของการเขียนของตนเอง มีสไตล์เป็นของตนเอง ซึ่งเราต้องพยายามเเสวงหามันด้วยตนเอง มีรูปแบบหรือไม่ขึ้นอยู่กับเทคนิควิธีการสื่อสาร
  • เข้าใจภายในตนเอง ได้แก่ ความฝัน ความคิด ความรู้สึก ตัวทุกข์ ตัวสุข ตัวไม่ทุกข์เเละตัวไม่สุข เป็นต้น

๒) ทิศเบื้องหลัง

  • ความไม่เป็นกลางในใจตนเอง ชอบตัดสิน เพ่งโทษคนอื่นเป็นที่ตั้ง เมื่อเขียนออกไปเเล้วรอบเเรก จะเห็นความคิดเหล่านี้ชัดเจน ซึ่งต้องเกลาทั้งคำ เเละความคิดตนเองให้ใคร่ครวญมากยิ่งขึ้น
  • ความไม่รู้จริงของตนเอง เพราะรู้เพียงมุมมองตนเอง เเต่ขาดการมองเเละฟังในมิติอื่นๆอย่างเท่าทัน
  • ความไม่มีเหตุผลเพียงพอต่อการตัดสิน หรือ พิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพียงเเค่อารมณ์ชั่ววูบ
  • โลภ โกรธ หลง ที่เกิดขึ้นเมื่อเราเกิดการกระทบจิตอย่างรุนเเรงจากภายนอก ซึ่งทั้ง ๓ ตัวนี้เองทำให้เราหลงว่าเราถูกต้องเเละชอบธรรม โดยปราศจากการใคร่ครวญที่เเท้

"การเขียนต้องมีอะไรมาเขียน"

  • ข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่เราทำเเล้วเกิดความรู้จากประสบการณ์ หรือ จากการอ่านเเล้วสามารถเชื่อมโยงกับประเด็นอื่นๆ เป็นประเด็นร่วมกันได้
  • ญาณทัศนะของตน ในการใคร่ครวญเรื่องนั้นๆ เพื่อเกิดประโยชน์ต่อตนเองเเละผู้อื่น อาจเป็นการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมิน วิจารณ์ วิจักษณ์ เป็นต้น

บันทึกนี้ "ไม่สำเร็จรูป" ขอนำมาเล่าไว้เท่านี้ก่อนครับ ..


หมายเลขบันทึก: 611719เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2016 23:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 สิงหาคม 2016 23:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท