วิธีการถอดบทเรียนให้เห็น "คุณค่า" และ "ปัญญาปฏิบัติ"


<p “=”“>ในการทำเวที PLC กับ คุณครูเพื่อศิษย์อีสานคราวนี้ (๒๒-๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๙) ผมผุดไอเดียกับตนเองว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำงานหนุนเสริมครูฯ คือ ทำอย่างไรให้ครูเพื่อศิษย์สามารถถอดบทเรียนตนเองได้ ในระดับที่ทั้งตนและคนอื่นเห็น “คุณค่า” และ “ปัญญาปฏิบัติ” …. ผมขอเสนอหลักคิดและวิธีปฏิบัติในการถอดบทเรียนตนเอง ดังนี้ครับ </p>

ถอดบทเรียนกระบวนการ วิธีการ (ปัญญาปฏิบัติ)

๑) ให้ครูเพื่อศิษย์ เขียนประสบการณ์ที่ตนเองภาคภูมิใจในการเป็นครู ลงบนกระดาษให้มากที่สุด เขียนเป็นชื่อเรื่องสั้นๆ เช่น การแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออก การแก้ปัญหาเด็กเกเร การสอนวิชาคณิตคิดสร้างสรรค์ หรือเขียนอย่างไรก็ได้ (ไม่ตายตัว ไม่มีผิดถูก) เช่น ครูอาจเขียนว่า ประสบการณ์เกี่ยวกับเด็กชายแดง กิจกรรมค่ายลูกเสือ ... อย่างนี้ก็ได้

๒) ให้ครูเพื่อศิษย์ เลือกความสำเร็จที่ภูมิใจที่สุดในชีวิตความเป็นครู ความภูมิใจที่สุดอาจมีหลายสิ่งหลายอย่าง ให้เลือกเอาสิ่ง ให้เลือกเอาสิ่งที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนที่มีองค์ประกอบเหล่านี้ชัดเจน

  • เมื่อนึกถึงเรื่องนั้นแล้ว ทำให้ครูมีความสุข
  • เป็นเรื่องที่อยากจะบอกเล่าขยายต่อไป ให้ใครๆ รู้ และนำไปทำบ้าง
  • ลูกศิษย์ได้รับประโยชน์จากสิ่งนั้นจริง มีผลลัพธ์เชิงประจักษ์เกิดขึ้นจริง
  • ครูได้ลงมือปฏิบัติสิ่งนั้นๆ ด้วยตนเอง อาจเป็นสิ่งที่ครูคิดขึ้นเองหรือต่อยอดมาจากสิ่งที่ได้เรียนรู้จากผู้อื่นก็ได้
  • ครูสามารถเล่าให้คนอื่นฟังได้ว่า เริ่มอย่างไร ทำอย่างไร และรู้ได้อย่างไรว่าได้ผล

๓) ให้ครูเพื่อศิษย์ เล่าเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ (ตามใจของผู้เล่า ไม่คาดคั้นหรือตั้งคำถาม ไม่ถามแทรก ให้ได้รายละเอียดในรอบแรก เว้นแต่ผู้เล่าเล่าเรื่องเองไม่ได้) ผู้ถอดบทเรียนหรือผู้ฟัง คอยจับประเด็นวิธีการ (How to) ว่า ครูเพื่อศิษย์ทำอะไรก่อนหลัง ตั้งแต่ต้นจน อาจจะใช้เครื่องมือ ไทม์ไลน์ หรือใช้ลูกสอน ก็ได้

๔) ผู้ถอดบทเรียน เล่าเรื่องที่จับใจความได้ ให้ครูเพื่อศิษย์เจ้าของ BP (ฺBest Practice หรือ ปัญญาปฏิบัติ) ฟังอย่างเป็นลำดับขั้นตอน และคอยถามเป็นระยะว่า "....ผมเข้าใจถูกไหมครับ?..." จากนั้น ตั้งคำถามเพื่อให้ครูเพื่อศิษย์เล่าซ้ำหรือละเอียดขึ้นในส่วนที่สำคัญ ๆ

๕) นำเอาขั้นตอนเหล่านั้นมาวาดเป็นแผนภาพ ก่อนจะตั้งชื่อโมเดล และเขียนคำอธิบายอีกครั้ง

หากทำได้ดี ผู้อื่นที่ได้อ่านผลการถอดบทเรียนจะสามารถนำปฏิบัติได้ไม่มากก็ไม่น้อย สิ่งที่ตกผลึกจากการปฏิบัติ ที่มักเรียกว่า "แนวปฏิบัติที่ดี" หรือ BP นี้ คนทำงานเรื่องจัดการความรู้ เราเรียกว่า "ปัญญาปฏิบัติ" นั่นเองครับ

ถอดบทเรียนปัจจัยแห่งความสำเร็จ

หลักจากถอดบทเรียนกระบวนการเสร็จเรียบร้อยแล้ว คำถามบังคับ ที่ต้องถามครูเพื่อศิษย์คือ "... ท่านคิดว่าอะไรคือปัจจัยแห่งความสำเร็จของท่าน ... " แนะนำให้จับประเด็นเป็นข้อ ๆ ออกมาก่อน แล้วเรียงลำดับความสำคัญจากมากไปหาน้อย

หลังจากได้ปัจจัยของความสำเร็จแล้ว ให้ตั้งคำถาม "ทวน" กับครูผู้เล่าเรื่องว่า "... หากไม่มีปัจจัยข้อใด จะทำไม่สำเร็จเลย... " คำตอบของครู คือปัจจัยแห่งความสำเร็จที่แท้จริง

ส่วนใหญ่ ปัจจัยแห่งความสำเร็จอาจแบ่งออก ๒ ส่วน คือ ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายในน่าจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า "คุณลักษณะ" ของครูเพื่อศิษย์ เช่น เป็นคนขยัน มีเมตตากรุณา มีจิตวิญญาณความเป็นครู เป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ ฯลฯ

ถอดบทเรียนให้เห็น "คุณค่า"

คำถามคือ "... อะไรคือคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งที่ครูทำ?..." คำตอบที่พบส่วนหนึ่ง เป็น "คุณลักษณะ" ไม่ใช่ "คุณค่า" เพื่อความเข้าใจตรงกัน และให้ง่ายต่อการถอดบทเรียนให้เห็น "คุณค่า" ของงาน ผมขอเสนอแผนภาพพิจารณาด้านล่าง



ขอเสนอวิธีการถอดบทเรียน "คุณค่า" ดังนี้

๑) ให้ถามครูว่า "คุณประโยชน์" อะไรบ้าง ที่เกิดจาก BP นั้น ให้เขียนออกมาให้มากที่สุด

๒) ให้พิจารณาจัดหมวดหมู่ "คุณประโยชน์" เหล่านั้นว่า เป็นประโยชน์สำหรับใคร ต่อนักเรียน ต่อผู้ปกครอง ต่อเพื่อนครู และต่อสังคม หรือไม่ อย่างไร และตั้งคำถามให้ได้ขยายกรอบหรือรายละเอียดได้อีก เช่น "...ไมีประโยชน์กับใครอีกไหม นอกจากนี้?..." "...นอกจากข้อเหล่านี้แล้ว ประโยชน์สำหรับ...... มีอีกไหม?..." เป็นต้น

๓) ให้พิจารณาว่า "คุณประโยชน์" ในแต่ละข้อนั้น ข้อใดเป็น "ผลลัพธ์" ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมที่ดีขึ้น ซึ่งอาจแบ่งพิจารณาจัดเป็น ๓ หมวด ได้แก่

  • ทำให้ "เก่งขึ้น" คือ ทำให้มีความสามารถหรือมีทักษะมากขึ้น เช่น อ่านออก เขียนได้ แต่งกลอนได้ดีเยี่ยม เป็นต้น
  • ทำให้ "ดีขึ้น" คือ ทำให้เป็น "คนดี" มากขึ้น มีคุณลักษณะนิสัย มีพฤติกรรมดีขึ้น เช่น ทำให้นักเรียน เป็นผู้มีมารยาทเรียบร้อย ขยัน ประหยัด มีวัย ฯลฯ
  • ทำให้ "มีความสุข" คือ งานของครูทำให้ผู้ได้รับประโยชน์ มีความสุขมากขึ้น โดยเฉพาะ การเปลี่ยนทัศนคติ (เจตคติ) จากอย่างหนึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่ง จากไม่ถูกต้องเป็นทัศนคติที่ถูกต้อง จากทัศนคติด้านลบเป็นด้านบวก เช่น ทำให้เป็นคนรักเรียน เห็นคุณค่าของตนเอง ฯลฯ

๔) ให้คิดหาคำสำคัญที่รวมความหมาย (ประเด็น) ของคุณประโยชน์เหล่านั้น .... จะสามารถสื่อสารได้ว่า อะไรคือ "คุณค่า" ของงานครูเพื่อศิษย์

บันทึกต่อ ๆ ไป ผมจะลองแสดงตัวอย่าง การถอดบทเรียน "คุณค่า" เพื่อเป็นการบูชาคุณครูเพื่อศิษย์ครับ

หมายเลขบันทึก: 611464เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2016 06:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2016 06:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท