ชีวิตที่พอเพียง ๒๗๐๘ เถียง ศ. กีรติ บุญเจือ เรื่องปัญญา


ผมเป็นแฟน ศ. กีรติ บุญเจือ ในคอลัมน์ ปรัชญาภิรมย์ ที่ตีพิมพ์ต่อเนื่องในนิตยสารต่วย’ตูน เป็นแฟนมานานหลายปี อ่านคำอธิบายเรื่องยาก คือเรื่องปรัชญา ให้กลายเป็นเรื่องง่ายและขำขันด้วยความสามารถในการเขียนของท่าน ที่ไม่มีคนเทียบเทียม หรืออาจจะกล่าวว่า ไร้เทียมทาน

ศ. กีรติ ท่านให้ความหมายของปรัชญาว่า หมายถึงปัญญา ซึ่งในทางภาษาเรารู้ว่าสองคำนี้มาจากรากศัพท์เดียวกันแต่ไทยเรานำมาใช้ในความหมายที่แตกต่างกันและเรามักหมายถึงศาสตร์ที่เข้าใจยาก และลอยอยู่ในความคิดหรือการให้ความหมาย แต่ผมอ่าน ศ. กีรติ และตรวจสอบกับความรู้ในอินเทอร์เน็ตแล้ว คิดว่าไม่ใช่ ปรัชญาเป็นการตีความจากสิ่งที่เห็นอยู่ในสังคม ในเรื่องการประพฤติปฏิบัติ สิ่งก่อสร้าง หรือสถาปัตยกรรม วรรณกรรม ศิลปะ ละคร ดนตรี และนฤมิตกรรม อื่นๆ

ในต่วย’ตูน ฉบับเดือนมิถุนายน ๒๕๕๙ ท่านเขียนเรื่องปรัชญา postmodernism ท่านบอกว่าปรัชญาแนวนี้ นำโดย Sir Karl Popper ที่แตกกิ่งมาจากปรัชญา modernism ของกลุ่มนักปรัชญาเวียนนา แต่แปลกที่ในวิกิพีเดียในหัวข้อดังกล่าวไม่เอ่ยถึง Karl Popper เลย

ผมชอบที่ในวิกิพีเดียเขาใช้คำว่า philosophical movement ที่แสดงความเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งของปรัชญา หรือปัญญา ในนิยามของ ศ. กีรติ ซึ่งก็เป็นไปตามยุคของปรัชญา ที่ท่าน ศ. กีรติ สรุปตอนท้ายข้อเขียนว่า ปรัชญามี ๕ ยุคหรือ ๕ กระบวนทรรศน์คือ กระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์, กระบวนทรรศน์โบราณ, กระบวนทรรศน์ยุคกลาง, กระบวนทรรศน์นวยุค และ กระบวนทรรศน์หลังนวยุค

ศ. กีรติ บอกว่า ปรัชญาเป็นศาสตร์ที่อยู่เหนือศาสตร์อื่น แต่ผมมองว่าปรัชญาเป็นศาสตร์ที่ขึ้นกับศาสตร์อื่นๆ ที่มีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมหลากหลายด้านของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาศาสตร์ ที่ทำให้เราเข้าใจ จักรวาล โลก ชีวิต และเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษย์อย่างไม่หยุดยั้ง

ผมมองว่า ปรัชญาเกิดจากการตีความปรากฏการณ์ในสังคมมนุษย์ และเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของสังคม มนุษย์ไปด้วย โดยเราไม่รู้ตัว

อ่านเรื่อง modernism และ postmodernism ในวิกิพีเดียแล้วจะเห็นว่าภาพ “ยุคของปรัชญา” ยังขึ้นกับมองจากมุมไหน ส่วนมากมักมองจากมุมของศิลปะ และมุมของสถาปัตยกรรม และเมื่ออ่านจากหัวข้อ modernism ในวิกิพีเดีย ยังพบว่า ปรัชญานวยุค (modernism) พัฒนาต่อจากปรัชญาโรแมนติก (romanticism) ที่พัฒนาขึ้นต่อต้านสังคมยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่กดขี่แรงงานอย่างไร้มนุษยธรรม

การศึกษาปรัชญาฝรั่งและถือตามก้นเขาจึงไร้สาระอย่างยิ่งในสายตาของผม เพราะอ่านจากข้อเขียนของ ศ. กีรติ และอ่านจากความรู้ที่ปลายนิ้ว (หมายถึงค้นจากอินเทอร์เน็ต) แล้วผมตีความว่าปรัชญาเป็นเรื่องของแต่ละสังคมมนุษย์ เชื่อมโยงกับความเป็นอยู่ในยุคนั้นๆ ของมนุษย์ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละสังคมเราจึงควรศึกษาทำความเข้าใจปรัชญาไทย ในยุคต่างๆ เอามาเป็นบทเรียนให้เยาวชนไทยเข้าใจรากเหง้าของตนเอง

สังคมไทยเราอ่อนแอ เพราะเราขาดการศึกษาตีความปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคมไทยนำเสนอเป็นปรัชญายุคต่างๆ ของสังคมเราเอง และอธิบายว่าความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงนั้นมาจากเหตุปัจจัยอะไรบ้างมามีปฏิสัมพันธ์กัน และเหตุปัจจัยหลักคืออะไร ความอ่อนแอขาดแคลนนี้ ทำให้คนไทยไม่เข้าใจรากเหง้าของตนเอง

โดยที่ในยุคปัจจุบัน ในกระแสโลกาภิวัตน์ ปรัชญาต่างกระแสในต่างวัฒนธรรมเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กัน เกิดการผสมหรือขัดแย้งกัน ความขัดแย้งใหญ่ของปรัชญา ISIS กับปรัชญาทุนนิยมสุดโต่ง กำลังสู้รบกันอยู่ในปัจจุบัน โดยที่โลกตะวันตกช่วยกันโหมข่าวว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นพวกหัวรุนแรงเป็นลัทธิสุดโต่ง คล้ายกับที่อเมริกาป้ายสีลัทธิคอมมิวนิสต์เมื่อห้าสิบปีก่อน

การที่ฝรั่งจัดยุคปรัชญาตามยุคสมัยของเขาและโมเม (โดยเราก็ยอมให้เขาโมเม) ว่าเป็นยุคของโลก จึงเป็นพฤติกรรมเจ้าโลก (hegemony) ในรูปแบบหนึ่ง และความขัดแย้งระหว่างปรัชญาเจ้าโลกกับปรัชญากระแสอื่น อาจเป็นตัวการสร้างสงครามโลกครั้งที่สามก็ได้

แต่การเรียนรู้ยุคของปรัชญาฝรั่งไม่ใช่จะไร้ประโยชน์นะครับ มันจะช่วยให้เราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ในสังคมมนุษย์ ว่ามีผลต่อความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์มาะเป็นระยะๆ อย่างไร และช่วยให้มีปัญญาเข้าใจว่าโลกในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปในทางไหน

สำหรับคนชอบเข้าชมพิพิธภัณฑ์อย่างผมจะช่วยให้ทำความเข้าใจความหมายของชิ้นงานศิลปะ หรือวัตถุต่างๆ ทั้งในสมัยโบราณและร่วมสมัย ได้ลึกยิ่งขึ้น

ด้วยความเคารพนักปรัชญา คนรู้น้อยอย่างผม มีความเห็นว่า ประเทศไทยเราต้องยกเครื่องศาสตร์ด้านปรัชญาของวงวิชาการไทยโดยสิ้นเชิง เพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนอ่อนแอด้านความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของ “ปัญญา” ไทย สำหรับใช้ ความรู้เกี่ยวกับ “ปัญญาไทย” สร้างรากเหง้าทางปัญญาของคนไทย

วิจารณ์ พานิช

๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๙

ปั๊มน้ำมัน ปตท. อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ


หมายเลขบันทึก: 610893เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2016 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กรกฎาคม 2016 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียน อาจารย์

เมื่อได้อ่านบันทึกนี้ ทำให้ฉุกคิดเรื่อง "ปัญญาญาณ" ทบทวนย้อนไปเกิน ๑๐ ปี คนที่มีจิตสมาธิ สามารถรับรู้ความจริงอันบริสุทธิ์ (ไม่ใช่การพยากรณ์)... มาถึงวันนี้ เวลาเป็นสิ่งพิสูจน์ ให้เราเชื่อ เชื่อมั่น และศรัทธา ใน พุทธ อย่างแท้จริง แม้ไม่มีโอกาสได้สัมผัสพระอริยสงฆ์ที่เป็นมนุษย์

ในเวลานั้น ไม่สนใจปรัชญาเลย เมื่อได้อ่านบันทึกคำสอนที่เป็นความจริงจำนวนมากพอควร กอรป กับการฝึกสวดมนต์ นั่งกรรมฐาน ทำให้ปรับวิธีรับรู้ใหม่จากแบบเก่าที่ฝึกในโรงเรียน มหาวิทยาลัย และตำราตะวันตก เข้าใจว่า สามารถกรองหัวกะทิได้ง่ายขึ้นมาก เบาขึ้นอีกเยอะ ความเครียดจะหายไปเลย อาจจะเป็นเพราะเราเป็นคนไทย เกิดมาลืมตาดูโลกในผืนแผ่นดินไทย เชื้อชาติไทย คำไทย และภาษาไทย มีความละเอียดอ่อนลึกซึ้ง สามารถอธิบายความได้ไพเราะ สอดคล้องกับศาสนาพุทธเป็นอย่างดี แม้ว่า ศาสนาพุทธ ต่างภาษา ต่างเชื้อชาติ ก็สามารถเข้าใจร่วมกันได้

สุดท้ายแล้วแก่นของพุทธ เป็นความว่างเปล่า จึงต้องถูกฝึกปล่อยวาง จะต้องเจอสถานการณ์ที่ไม่คาดหวังอยู่บ่อย "แก่นกับกะพี้ไม้" เงินทอง ทรัพย์สิน เกียรติยศใดๆ แลกกับความเข้าใจ โดยคนผู้นั้นเองไม่ได้ ดังนั้น ถ้ามองเครื่องชี้บ่งว่า ห่มจีวร แล้วเป็นพระสงฆ์ ก็หาใช่ไม่ ถ้าเห็น ชื่อนำหน้า ดร. ก็หาแน่ไม่ว่าเขาผู้นั้นมีภูมิปัญญาจริง ฯลฯ แล้วรุ่นหลังของชาติไทย จะแสวงหาผู้รู้เป็นหรือไม่ หาที่ไหน หาอย่างไร เพราะหายากขึ้นทุกทีๆ ก็ไม่ต้องกล่าวถึงการรักษาชาติบ้านเมืองไทย


ขอแสดงความนับถือ

คุณลิขิต

ขออภัยด้วยที่มีการอ้างถึงบุคคลที่เข้าร่วม ผมจำผิดไปครับ นึกว่า Prof. Vicharn Panich คือ ดร.จิระ เพราะผู้ที่ผมอ้างถึงนั้น ท่านรู้จักกับ ดร.จิระ หนะครับ กราบขออภัยอย่างยิ่งนะครับท่านศาสตราจารย์


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท