ตัวอย่างการบริหารงานวิจัยที่ได้ผลดีในมหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี มข.


ผมบันทึกการประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ ปี ๒๕๕๘ ไว้ ที่นี่ และมีรายงานประจำปี ๒๕๕๘ อ่านได้ ที่นี่ เข้าดูกิจการของศูนย์ในเว็บไซต์ ที่นี่

ปีนี้มีการประชุมวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๙ และมีพัฒนาการเพิ่มเติมมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการริเริ่มเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาในพื้นที่

การทำงานวิจัยเป็นทีม หลายสาขาวิชาโดยมีอาจารย์จากหลายคณะมาร่วม เชื่อมโยงกับบัณฑิตศึกษาและทำเป็นงานระยะยาว เป็นเรื่องยากสำหรับแต่ทีมศูนย์วิจัยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี มข. ทำมาแล้ว ๑๔ ปีและกิจการอยู่ในช่วงขาขึ้นโดยมีการวางรากฐานให้แก่การทำงานวิจัยพื้นฐานด้านมนุษยศาสตร์ และ สังคมศาสตร์ เพิ่มขึ้นจากงานป้องกันและแก้ปัญหาในพื้นที่

ปีนี้ผู้อำนวยการศูนย์เปลี่ยนเป็นศัลยแพทย์ไฟแรง คือ รศ. นพ. ณรงค์ ขันตีแก้วที่เป็นทั้งผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยฯ และผู้อำนวยการโครงการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เรียกย่อๆ ว่า CASCAP (Cholangiocarcinoma Screening and Care Program)ที่อายุแค่ ๓ ปี แต่กิจการขยายตัว รวดเร็ว และได้รับการสนับสนุนจากหลายทางทั้งสนับสนุนทางการเงิน และสนับสนุนด้วยนโยบายหรือท่าที

ผมได้รับเชิญให้ร่วมเป็นกรรมการอำนวยการของศูนย์มาตั้งแต่ต้นมีการประชุมปีละครั้งเป็นการประเทืองปัญญาและให้ความสุขแก่ผมอย่างยิ่งให้ได้เรียนรู้วิธีการจัดการหน่วยวิจัยแบบที่โฟกัส issue หลัก และต้องมีทีมมาจากหลายสาขาวิชา และหลายหน่วยงานและยิ่งในช่วง ๓ ปีหลัง เกิดมีกิจกรรมพัฒนาและ วิจัยเพื่อเอาความรู้พื้นฐานไปแก้ปัญหาใชชุมชน ยิ่งสนุก (และยาก)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานแบบ networking พนมมือสิบทิศ ที่อาจารย์หมอณรงค์มีความสามารถ หาตัวจับยาก

ภาคีร่วมมือสำคัญคือภาคประชาชนมีการตั้งมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี สำหรับระดมทุน และความร่วมมือจากภาคประชาชน

นวัตกรรมที่ผมได้เรียนรู้จากการนำเสนอคือเรื่องระบบข้อมูลที่เรียกว่า CASCAP Tools ที่พัฒนาโดย รศ. ดร. บัณฑิต ถิ่นคำรพ แห่งศูนย์จัดการข้อมูลและวิเคราะห์ทางสถิติ (DAMASAC) คณะสาธารณสุขศาสตร์ที่ทำให้การลงข้อมูลของคนในพื้นที่ทำครั้งเดียว และเชื่อมข้อมูลจากสถานบริการทุกระดับได้เลยอำนวยความสะดวกได้มากโดยเวลานี้ร่วมมือกับสำนักงานควบคุมโรคเขต ๖ และสำนักงานหลักประกัน สุขภาพเขต ๗ ขอนแก่นจัดทำ Thai Care Cloud ขึ้นมาให้บริการแล้วและมีการเข้ามาใช้บริการมากพอสมควร ผมฟังระหว่างคำแล้ว เข้าใจว่าความยากอยู่ที่การหวงข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ในระบบต้องการความชัดเจนในระดับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีการลงนามความร่วมมือ และถ่ายรูปโฆษณากันไปหลายครั้งแล้ว แต่นโยบายเชื่อมข้อมูลยังไม่มี

ระบบข้อมูลนี้มี ๖ ส่วน ดู ๓ ส่วนแรก ที่นี่

เมื่อ CASCAP เดินไปได้ดี จะสร้างฐานข้อมูล และสร้างคลังเนื้อเยื่อ และคลังมหาสมบัติด้านการวิจัย พื้นฐานมากมาย เอื้อต่อการวิจัยทำความเข้าใจกลไกทางชีววิทยา มากมายหลากหลายด้านดังจะเห็นว่า เริ่มมีนักวิจัยจากต่างประเทศ เช่นจาก Imperial College, George Washington University เป็นต้น

ที่ประชุมได้มีมติให้ดำเนินการยกระดับศูนย์ขึ้นเป็นสถาบันวิจัยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีแห่งชาติ เพื่อการทำงานระยะยาว และเชื่อมโยงกว้างขวาง

วิจารณ์ พานิช

๑๑ มิ.ย. ๕๙

หมายเลขบันทึก: 610892เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2016 12:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กรกฎาคม 2016 12:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท