ตัวอย่าง Best Practice ของการบริหารงานวิจัยในมหาวิทยาลัยขอนแก่น : ศูนย์วิจัยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี



รายงานประจำปี ๒๕๕๗

จากรายงานประจำปีของศูนย์ฯ จะเห็นความสำเร็จที่น่าชื่นชมในด้านผลลัพธ์ หรือผลกระทบ ที่มีนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาถึง ๕๓ คน และเป็นนักศึกษาปริญญาเอกมากกว่า มีนักศึกษาสำเร็จปริญญาเอกถึง ๑๒ คน มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีคุณภาพสูงถึง ๕๑ เรื่อง และมีทุนอุดหนุนจากภายนอกคิดเป็น ๕ เท่าของทุนที่ได้รับจากมหาวิทยาลัย

เป็นตัวอย่างวิธีการที่มหาวิทยาลัยส่งเสริมให้นักวิจัยจากต่างคณะ ต่างสาขาวิชา มุ่งเป้าทำงานวิจัย ร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาที่มีความสำคัญสูงในระดับท้องถิ่น คือพยาธิใบไม้ตับ และมะเร็งท่อน้ำดี โดยมหาวิทยาลัย สนับสนุน "เงินล่อเป้า" ให้นักวิจัยร่วมกันหาทุนและการสนับสนุนอื่นๆ จากภายนอกได้มากกว่า ซึ่งจะเห็นว่า ทีมวิจัยทำได้อย่างดี

นี่คือความสำเร็จของรูปแบบการบริหารงานวิจัยแบบส่งเสริมให้เกิด "ศูนย์วิจัย" ที่มีคณะกรรมการ อำนวยการของศูนย์ ที่มีคณบดีคณะแพทยศาสตร์เป็นประธาน ช่วยชี้ทิศทางและยุทธศาสตร์การทำงาน ประชุมเพียงปีละครั้ง และผมมีบุญได้รับเชิญเป็นกรรมการในฐานะคนนอก เรื่อยมาตั้งแต่ต้น ได้เห็นพัฒนาการ ของการทำงานเป็นศูนย์วิจัยที่เป็นปึกแผ่นขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง

โดยมีการวิจัยสหวิทยาการ ทั้งด้านคลินิก, ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ทั้งที่เกี่ยวข้องกับตัวพยาธิ เกี่ยวข้องกับพยาธิสภาพที่เกิดจากพยาธิ และที่เป็นตัวการให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดี, การวิจัยชุมชน

และที่สำคัญยิ่ง ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา ได้เกิดโครงการแก้ไขโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เรียกกันง่ายๆ ว่า โครงการ CASCAP (Cholangiocarcinoma Screening and Care Program) นำโดย รศ. นพ. ณรงค์ ขันตีแก้ว แห่งภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ที่มีเป้าหมายดำเนิน การสู่การกวาดล้างโรคมะเร็งท่อน้ำดี ให้หมดไปจากภาคอีสาน โดยทำงานหลักๆ ๔ ด้าน ได้แก่ (๑) เครือข่าย การคัดกรองโรคมะเร็งท่อน้ำดี (๒) ทำฐานข้อมูลและติดตาม (๓) การเฝ้าระวังโรค และ (๔) อบรมแพทย์ และบุคลากรสุขภาพเพื่อทำหน้าที่ทั้ง ๓ ข้างต้น

ที่จริงการกวาดล้างโรคนี้ให้หมดไปจริงๆ ต้องทำโดยคนอีสานเอง โดยขบวนการชุมชน และโดยความ ร่วมมือของระบบสุขภาพในพื้นที่ โครงการ CASCAP เพียงแต่สร้างความพร้อมให้เกิดขึ้น โดยใช้หลักการทางวิชาการ

นอกจากนั้น รศ. นพ. ณรงค์ยังตั้งมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี และเชิญ รศ. พญ. เนตรเฉลียว สัณห์พิทักษ์ เป็นประธานมูลนิธิ ทำหน้าที่ระดมทุนจากแหล่งต่างๆ สำหรับหนุนอีกทางหนึ่ง

เป็นการทำงานวิชาการที่ครบวงจร สร้างความรู้จากปัญหาที่มีอยู่ จัดระบบเอาความรู้ที่สร้างขึ้น ไปแก้ปัญหา โดยที่จริงๆ แล้ว เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ ที่ชอบกินปลาดิบๆ ที่มีเชื้อพยาธิใบไม้ตับอยู่ จึงต้องมีการป้องกันทั้งในระดับ primary prevention, secondary prevention, และการดำเนินการเพื่อตัดวงจร การแพร่เชื้อพยาธิ ด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งจริงๆ แล้ว ก็คือ primary prevention

ผลงานเหล่านี้ เป็นตัวอย่างการบริหารงานวิจัยในระดับสถาบัน คือ มข. และคณะแพทยศาสตร์ ที่มีวิธีสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวกันของนักวิจัย ทำงานให้เกิดการเสริมพลังซึ่งกันและกัน เกิดผลงานที่ยอดเยี่ยมทั้งด้านผลงานวิจัย และด้านการแก้ปัญหาสุขภาพของคนในพื้นที่

ผมเขียนบันทึกของปีก่อนๆ ที่ , ,




บรรยากาศในห้องประชุม


อีกมุมหนึ่ง


ถ่ายรูปหมู่หลังประชุมศูนย์


ถ่ายรูปหมู่หลังประชุม CASCAP


วิจารณ์ พานิช

๑๖ มี.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 589576เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2015 18:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2015 18:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท