ไปประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์วิจัยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี มข. ๒๕๕๓


          บันทึกการไปประชุมปีที่แล้วอ่านได้ที่นี่    ปีนี้ไปวันที่ ๑๘ มี.ค. ๕๓   โดยที่ท่านผู้สนใจจะอ่านรายละเอียดกิจกรรมและรายงานประจำปี ๒๕๕๒ ได้ที่นี่    จะเห็นว่าศูนย์วิจัยนี้ได้ดำเนินการก้าวหน้า มีผลงานเพิ่มขึ้นไปอีก   โดยที่ทางผู้บริหาร มข. ได้ให้ความยืดหยุ่นในการสร้างผลงานแก่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัยมากขึ้น   น่าชื่นชมความก้าวหน้าด้านการบริหารงานวิจัยของ มข. เป็นอย่างยิ่ง

          ผมตั้งคำถามกับตัวเองตลอดเวลาว่า แท้จริงแล้วผมมีคุณประโยชน์อะไรต่อการเป็นกรรมการอำนวยการศูนย์ฯ    เพราะผมเป็นคนที่วิชาการไม่ทันสมัย หรือล้าหลัง   เพราะไม่ได้ทำงานวิจัยหรือจัดการงานวิจัยมานานมากแล้ว   ผมไม่อยากแค่ไปเป็นกรรมการเพื่อเป็นเกียรติ (แก่ใครก็ไม่รู้)  

          จำได้ว่า ในการประชุมปีที่แล้ว ทีมคณะนักวิจัยบอกว่า ชักรู้สึกว่าโจทย์วิจัยจะเป็นแนวเดิมๆ ไม่ค่อยมีอะไรใหม่   ผมจึงแนะนำให้ทำกระบวนการเพื่อตั้งโจทย์วิจัย   และในรายงานประจำปี ๒๕๕๒ ของศูนย์ ก็ได้รายงานกระบวนการตั้งโจทย์วิจัยหลายกระบวนการ

          พอดีเมื่อวาน (๑๗ มี.ค.) ผมฟัง ศ. นพ. วิศิษฏ์ ทองบุญเกิด ไปเล่าการทำงานวิจัยให้สภามหาวิทยาลัยมหิดลฟัง    ประทับใจว่าท่านคิดโจทย์วิจัยอย่างเป้นระบบ มีโครงสร้างความคิด (systems thinking) ที่ดีมาก    แถมยังทำงานด้าน Proteomics ที่ทีมศูนย์วิจัยพยาธิใบไม้ตับฯ น่าจะใช้เพื่อเป็น research methodology ใหม่ช่วยไขความเข้าใจกลไกการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีจากมิติของ proteomics    ผมจึงแนะนำให้ทีมนี้หาทางร่วมมือกับ ศ. นพ. วิศิษฏ์   ก็จะเกิดแนวทางวิจัยใหม่ๆ   

          ที่จริงปัญหาพยาธิใบไม้ตับที่เป็นสาเหตุของมะเร็งท่อน้ำดี เป็นปัญหาท้าทายการวิจัยเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของคน   เป็นโจทย์วิจัยด้านสังคม-มนุษยศาสตร์ ที่ มข. น่าจะถือเป็น assets สำหรับผลิตผลงานในฐานะมหาวิทยาลัยวิจัย    โดยจะต้องมีการทำ research questions mapping และดำเนินการวิจัยและพัฒนาด้าน behavior modification อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง 

          ข้างบนนั้นผมเขียนก่อนไปประชุม ในคืนวันที่ ๑๗  และบนเครื่องบินตอนเช้าวันที่ ๑๘ เพื่อเดินทางไปประชุม   ต่อจากนี้ไป เขียนหลังการประชุม  

          การประชุมปีนี้มีการเปลี่ยนประธานคือคณบดีเป็น ศ. นพ. ภิเษก ลุมพิกานนท์   ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักวิจัยทางระบาดวิทยาที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของประเทศ   และเป็นเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ด้วย    และท่านก็รู้ว่าผมมองได้เพียงภาพใหญ่ๆ เท่านั้น    ท่านจึงถามความเห็นผมเป็นระยะๆ    ผมจึงได้โอกาสให้ความเห็น (แบบที่ไม่ทราบว่าถูกต้องหรือไม่)   ในเรื่องการมีโครงการ behavior modification เพื่อป้องกันการติดพยาธิใบไม้ตับแยกออกไปต่างหาก แต่ร่วมมือกันกับศูนย์นี้   โดยที่ศูนย์ทำ behavior modification ควรเป็นศูนย์ที่นำโดยนักวิจัยด้านสังคม-มนุษยศาสตร์    โดยผมให้ความเห็นว่า ต้องศึกษาความล้มเหลวในช่วง ๕๐ ปี ที่วิธีการเดิมๆ ใช้ไม่ได้ผลในการเปลี่ยนพฤติกรรมของชาวบ้านเพื่อลดอุบติการของการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ และลดอัตราโรคมะเร็งท่อน้ำดี    และนำวิธีการที่ใช้กระบวนทัศน์ใหม่มาใช้

          กระบวนทัศน์ใหม่อย่างหนึ่งคือให้ชาวบ้าน/ชุมชน เป็นเจ้าของโครงการเอง นักวิชาการสนับสนุน โดยเข้าไป empower ชาวบ้านด้วย ว&ท ที่สร้างความรู้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอัตราการติดเชื้อ ที่ทำนายได้ว่าในอนาคตอัตราการเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีในชุมชนของตนจะลดลงกี่เท่าของในปัจจุบัน   คือนักวิชาการต้องทำวิจัย สังเคราะห์ตัวเลขที่สื่อสารแม่นยำ ชัดเจน และแรง พอที่จะให้กำลังใจให้ชาวบ้านเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน  

         รวมทั้งได้แนะนำเรื่องการหาลู่ทางตั้งโจทย์วิจัยในกระบวนทัศน์ใหม่ๆ ที่ไม่ซ้ำแนวทางเดิมๆ   รวมทั้งเรื่อง proteomics ด้วย  

          ข้อมูลใหม่ที่ได้จากโครงการแก่งละว้า ของ รศ. ดร. บรรจบ ศรีภา    ที่เป็นการศึกษาชุมชนติดต่อกัน ๓ ปี   มีการตรวจพยาธิและให้ยาถ่ายพยาธิ    แล้วตรวจซ้ำทุกๆ ๖ เดือน   มีรายชื่อคนที่ติดพยาธิ และหลังให้ยาถ่ายพยาธิแล้วไม้ติดเชื้อใหม่อีกเลย    และคนที่ตรวจทีไร (หลังถ่ายพยาธิ) ติดเชื้อใหม่ทุกที   เป็นประชากรขั้วตรงกันข้าม ๒ กลุ่มที่น่าสนใจเข้าไปศึกษารายละเอียดของพฤติกรรมการกิน  

          โครงการแก่งละว้า นี้ เป็น community-based intervention ที่ครบถ้วนน่าสนใจมาก   ได้รับทุนสนับสนุนจาก US NIH   ซึ่งผมมองว่า ข้อมูลและกลุ่มประชากรที่ได้ จะใช้หาข้อมูลเชิงสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์เพิ่มเติมได้อีกมากมาย   สำหรับใช้ตีความต่อเพื่อหามาตรการในการทำ behavior modification ที่น่าจะได้ผลกว่าวิธีการที่มีอยู่ในปัจจุบัน   โดยผมฝันว่า นักวิชาการสาขาสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ จะได้ผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติได้มากมาย

 

วิจารณ์ พานิช
๑๘ มี.ค. ๕๓
                                 
               

 

ถ่ายรูปร่วมกันหลังการประชุม

หมายเลขบันทึก: 352723เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2010 09:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท