ใช้การประเมินอธิการบดีเป็นเครื่องมือพัฒนามหาวิทยาลัย


ใช้การประเมินอธิการบดีเป็นเครื่องมือพัฒนามหาวิทยาลัย
ผมขอเอาวิธีปฏิบัติของมหาวิทยาลัยมหิดลมา ลปรร. ดังต่อไปนี้

 

ประกาศสภามหาวิทยาลัยมหิดล
เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของอธิการบดี
พ.ศ. ๒๕๕๓
.............................................


เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยการประเมินผลการ
ปฏิบัติหน้าที่ของอธิการบดี พ.ศ.๒๕๕๒ และเพื่อให้การปฏิบัติงานของอธิการบดี ได้มีการพิจารณา
อย่างเป็นระบบมากขึ้นโดยมีความมุ่งหวังที่จะเป็นการเสริมความเข้มแข็งให้แก่การทำงานของอธิการบดี
ในปีต่อ ๆ ไป
อาศัยอำนาจตามมาตรา ๒๔ (๒) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.๒๕๕๐ และ
ข้อ ๘ (๒) ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของอธิการบดี
พ.ศ.๒๕๕๒ สภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ ๔๓๖ เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๓
จึงออกประกาศไว้ดังนี้
๑. แนวคิดและขั้นตอนการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของอธิการบดี
๑.๑ แนวคิด
การประเมินในครั้งนี้เป็นการประเมินเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้การปฏิบัติงาน
ของอธิการบดีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด โดยมีหลักของการประเมิน ดังนี้
๑.๑.๑. ประเมินความสามารถในการบริหารงานให้บรรลุวัตถุประสงค์
๑.๑.๒ ประเมินความสอดคล้องของการบริหารงานกับแผนยุทธศาสตร์
มหาวิทยาลัย (พ.ศ.๒๕๕๒ – ๒๕๕๕) และความต้องการของสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
๑.๒ ขั้นตอนการประเมิน
๑.๒.๑ สอบถามข้อมูลการประเมินผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยใน
ต่างประเทศ หน่วยงานของรัฐ และเอกชน เพื่อเป็นตัวอย่าง
๑.๒.๒ เลขานุการจัดเตรียมเอกสารประกอบการประเมิน
๑.๒.๓ กำหนดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่จะให้ความคิดเห็นและจัดทำแบบสอบถามที่
เหมาะสม สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละประเภท
๑.๒.๔ แจ้งหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินอธิการบดีต่อสภามหาวิทยาลัย
๑.๒.๕ ดำเนินการรับฟังความเห็นโดยการตอบแบบสอบถามและสัมภาษณ์
๑.๒.๖ การประเมินตนเองของอธิการบดี (Self Assessment) โดยวิธีสัมภาษณ์กับ
คณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของอธิการบดี
๑.๒.๗ สรุปผลการประเมินอธิการบดีเสนอสภามหาวิทยาลัย พร้อมข้อเสนอแนะ
เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการบริหารงานของอธิการบดี
๑.๒.๘ สรุปความคิดเห็นของสภามหาวิทยาลัยเพื่อจัดทำข้อตกลงระหว่าง
อธิการบดีกับสภามหาวิทยาลัยใน ๒ ปี ต่อไป
๒. วิธีประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของอธิการบดี
๒.๑ การเลือกผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
พิจารณาเลือกผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ ๑ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภายในมหาวิทยาลัยที่เห็นผลการดำเนินงานของ
อธิการบดี ได้แก่ ผู้บริหารระดับคณบดีหรือเทียบเท่า (รวมส่วนงานทั้งที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและ
ส่วนงานภายใน) คณาจารย์ บุคลากร นักวิจัยและนักศึกษา
กลุ่มที่ ๒ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากภายนอกมหาวิทยาลัย ได้แก่ ศิษย์เก่า นักวิจัยและ
ผู้บริหารหน่วยงาน องค์กร มูลนิธิ และ NGO
๒.๒ วิธีการรวบรวมข้อมูล แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ
๒.๒.๑ การสำรวจโดยออกแบบสอบถาม สำหรับบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย
ประกอบด้วย
(๑) แบบสอบถามสำหรับผู้บริหาร
(๒) แบบสอบถามสำหรับบุคลากรภายในที่มิใช่ผู้บริหาร
๒.๒.๒ สัมภาษณ์เชิงลึกผู้เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย
(๑) สัมภาษณ์อธิการบดี
(๒) สัมภาษณ์นักศึกษา
(๓) สัมภาษณ์ศิษย์เก่า
(๔) สัมภาษณ์ผู้บริหารหน่วยงานองค์กร มูลนิธิ NGO
(๕) สัมภาษณ์นักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น
(๖) สุ่มสัมภาษณ์บุคลากรภายในเพิ่มเติมตามความเหมาะสม
๓. ประเด็นหลักในการประเมิน
๓.๑ การนำนโยบายและข้อเสนอแนะจากสภามหาวิทยาลัย ไปสู่การปฏิบัติ
๓.๒ การกำหนดทิศทางและการนำมหาวิทยาลัย
๓.๓ การบริหารงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย

๓.๔ วิธีการหรือกลไกในการติดตามผลการดำเนินงาน
๓.๕ การสนับสนุนการทำงานของส่วนงานต่าง ๆ และการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่ง
ผู้บริหารทุกระดับอย่างมีคุณภาพ
๓.๖ บทบาทในการดำเนินงานที่เชื่อมโยงกับสังคม
๓.๗ ความสัมพันธ์กับสภามหาวิทยาลัย
๓.๘ ความคาดหวังจากมหาวิทยาลัยของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
๔. ให้เริ่มกระบวนการประเมินครั้งแรก ๒ ปี หลังจากวันเริ่มปฏิบัติงานในตำแหน่ง
อธิการบดี
ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๓
(ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช)
นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล

         นี่คือการสร้างวัฒนธรรมการประเมินอย่างสร้างสรรค์   ใช้การประเมินอธิการบดีเป็นเครื่องมือสร้างสรรค์หลากหลายด้าน   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเชื่อมโยงกับหลากหลายภาคส่วนในสังคม

         และขอหมายเหตุว่า    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นำรายงานผลการประเมินอธิการบดีทั้งหมดเผยแพร่บนเว็บไซต์ ที่นี่ 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๖ มี.ค. ๕๓
   

หมายเลขบันทึก: 352719เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2010 08:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 20:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท