แด่ครูด้วยดวงใจ โดย ชาตรี สำราญ ตอนที่ 5 บนเส้นทางครู


ครูที่ไม่รู้จักหลักสูตร

มักจะสอน หนังสือ เป็นตัวตั้ง

เพราะลืมไปว่า หนังสือเล่มใหม่และทันสมัย คือ เรื่องราวในชีวิตจริงของเด็ก

สอนเด็กๆ ให้รู้จัก ตัวตน

เขาจะได้เป็น มนุษย์ ที่สมบูรณ์

นี่คือ...... ห้องเรียนที่ไม่ตาย


องค์ความรู้จะสมบูรณ์ได้

ต่อเมื่อผู้เรียน เข้าถึง วิธีการเรียนรู้อย่างแท้จริง

แล้วนำวิธีการเรียนรู้ที่ตน เป็น มา

สร้าง ความรู้เพิ่ม เป็นประจำ

ผู้เรียนก็จะ รู้เพิ่ม เป็นความรู้ที่ไม่ตาย


เปิดโอกาสให้ผู้เรียน คิด เรื่องที่จะเรียน

จาก เรื่องที่อยากรู้

แล้วไป หา คำตอบ มาจนรู้เรื่องนั้น

นำมาเล่าสู่กันฟัง

ผลัดกันซักถามตอบ

จนทุกคนยอมรับว่า ใช่แล้ว

นำความรู้นั้นมา บันทึกร่องรอยรู้ ไว้เป็น ตำราเรียนเล่มน้อย

ซึ่งจะเป็นประวัติศาสตร์การเรียนรู้ของตนต่อไป

นี่คือ การจัดการความรู้ ของผู้เรียน


ความรู้ ที่ผู้เรียน รู้จาก การ สร้าง ขึ้นมาได้นั้น

ถ้าผู้เรียน นำมา เขียน เป็น ตำราเรียน ของตน

ถ่ายทอด ตัวรู้ ที่ตนรู้ ลงไปใน ตัวหนังสือ หรือ เรื่องราว เหล่านั้นอย่างชัดเจน

ใน รูปแบบตำราเรียน

ก็จะเป็น ร่องรอยการเรียนรู้ที่แท้จริง ของผู้เรียนคนนั้น


ความรู้ และ วิธีการเรียนรู้ ที่ผู้เรียน รู้จริง รู้ลึกซึ้ง (Deep Knowledge) นั้น

ผู้เรียนจะสามารถ นำไปเรียนรู้ เรื่องต่อๆ ไปได้

นี่คือ..... การเรียนรู้แบบรู้แจ้งจริง


ผู้เรียนส่วนหนึ่ง รู้ ด้วยความจำ

ไม่ใช่ รู้ ด้วยความจริง

รู้ ด้วยความจำ คือ รู้ จากการฟังคำบอกเล่า จากการอ่าน จากการท่องจำ

พวกนี้ รู้ ไม่แตก

รู้ ด้วยความจริง คือ รู้ จากการปฎิบัติ

รู้ จากการได้ลงมือทดลองศึกษาค้นคว้า จนพบเรื่องที่ รู้ ด้วยตนเอง

สามารถ อธิบาย สิ่งที่รู้ ได้ยาวๆ ได้นานๆ

สามารถ สรุป สิ่งที่อธิบายได้เป็น บทสรุปสั้นๆได้ใจความกระชับ

เพราะ รู้ เรื่องที่ รู้ ลึกซึ้ง เป็น ความรู้ฝังแน่น


การสอนให้ผู้เรียนใช้กระบวนการเดิม (วิธีการเดิม)

มาเรียนรู้ในเรื่องใหม่ๆ

บ่อยครั้ง ผู้เรียนจะเข้าใจในเรื่องนั้น (ทั้งวิธีการและเนื้อหาสาระ)

ดังเช่น หมอผ่าตัดโรคไส้ติ่ง คนป่วยหลายคน

หมอผ่าตัดไส้ติ่งด้วยวิธีการเดิม แต่เปลี่ยนคนป่วย

หมอเกิดการเรียนรู้ จากหมอฝึกหัดสู่หมอชำนาญการ

หมอผู้เชี่ยวชาญและเป็นหมอมืออาชีพ

เพราะหมอ เกิด ทักษะ ในการปฎิบัติเรื่องนั้นๆ

หมอ เกิด การเรียนรู้ที่แท้จริง


การนำ วิธีการเรียนรู้ ไปใช้ซ้ำจน เกิด เป็น ตัวเอง

หรือ กลืน ป็นตนเอง ขึ้นมาได้

นั่นคือ การเรียนรู้ที่แท้จริง ได้เกิดขึ้นแก่คนๆ นั้นแล้ว


การสอนที่ดี

ผู้สอนต้องให้จบกระบวนการเรียนรู้

ต้องฝึกฝนวิธีการเรียนรู้ จนผู้เรียนเกิดทักษะ

สามารถนำไป หา ความรู้เองได้ ด้วย วิธีการเรียนรู้ ที่ตนเองชำนาญ

ความรู้ที่ผู้เรียนได้มา เรียกว่า ผู้เรียนสามารถ สร้าง ความรู้ ได้ด้วยตนเอง

นี่คือ การสอนจบหลักสูตร ไม่ใช่สอนให้จบหนังสือแต่ละเล่ม


การ สร้าง ความรู้ ได้ด้วยตนเองนั้น

ผู้เรียนจะต้องนำทักษะหรือวิธีการเรียนรู้ที่ตน เป็น มาเรียนรู้ที่ละนิดๆ

จากกิจกรรมที่กำหนดขึ้น

ความรู้ที่เกิดนั้นจะ เกิดจากภายใน (In Education) ที่ละนิดๆ ค่อยๆ สั่งสมไว้

ทำไปเรื่อยๆ เรียนแล้วรู้ไปเรื่อยๆ

ความรู้จะเกิดเพิ่มขึ้นในบึ้งลึกของจิตทีละนิดๆ

แล้วค่อย พอกเพิ่ม สั่งสมเป็นก้อนความรู้ โตขึ้นๆ เรื่อยๆ จนเต็มรู้

เรียกว่า องค์ความรู้

พอรู้เต็มที่จนเป็นองค์ความรู้ที่ เปี่ยมเต็ม ในเรื่องนั้นก็จบกัน

คือ จิตจะรับรู้เต็มเปี่ยมเพียงนั้น จิตจะพอ

ซึ่งผู้เรียนจะเกิดอาการจิตพอด้วยตัวของผู้เรียนเอง

ใครบอกแทนไม่ได้

อาการจิตพอนี้ จะเกิดเป็นของใครของคนนั้นเพราะ รู้จากภายใน


การสอนแบบให้ ผู้เรียนเติมเต็มความรู้ นั้น

ผู้สอนต้อง ไม่บอกความรู้ ที่ตนรู้สู่ผู้เรียน

ผู้สอนเปลี่ยนมา เตรียม ประเด็นความรู้ แล้ว ตั้งคำถามนำ

ถามกระตุ้น ให้ผู้เรียน ตั้งคำถามย่อย เพื่อไปค้นหาคำตอบ

และคอย สอดแทรก เสริมเติม วิธีการเรียนรู้แก่ผู้เรียน

เพื่อจะค้นหาความรู้ได้เต็มตามที่เติม

พร้อมกับเตรียมสื่อ แหล่งเรียนรู้ให้ผู้เรียน เสาะหา ความรู้ได้ด้วยตนเอง

ผู้สอนทำหน้าที่เป็น ผู้บริการ ผู้อำนวยการ ผู้วิจัยวิธีการสอนและการเรียนรู้

การเรียนแบบนี้ คือ

การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนทบทวนบทเรียนด้วยตนเอง

เปิดโอกาสให้ทบทวนบทเรียนกันเอง

ผู้เรียนจะค่อยๆ รู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนรู้ได้เต็มตามศักยภาพของตน


ความรู้ ไม่ได้เกิดจากการฟัง การดู หรือ การพูด

และ การกระทำเพียงครั้งเดียวแล้วผ่านไป

แต่ความรู้ เกิดจากการเรียนรู้ที่ ผ่าน การปฎิบัติซ้ำๆ

นำ ผลที่ รู้ มา พิจารณาไตร่ตรองแบบ “โยนิโสมนสิการ”

จนสิ่งที่เรียนนั้น ปรากฎภาพ ในจิตใจ จาก ลางเลือน ค่อยๆ ชัดเจนขึ้นๆ

ในที่สุดภาพนั้นจะ เด่นชัดในใจ ของผู้เรียน

เรียกว่า ผู้เรียนเข้าใจ คือความรู้นั้น เข้าไปอยู่ในใจ ของผู้เรียน

ผู้เรียนจะต้องฝึกขยายหรือหรือสรุปความรู้ที่รู้นั้นให้กว้างขวาง

แบบอธิบาย ขยายความ หรือ สรุปให้สั้น กะทัดรัด

เกิดเป็นมโนทัศน์ของตนเองได้

สามารถยกตัวอย่างประกอบคำอธิบายได้ หลายๆ ตัวอย่าง

นี่คือ ผู้เรียน รู้จริง


บทเรียน ที่ผู้เรียน เขียน สรุป เป็นความรู้ที่ตน ค้นพบ จากการปฎิบัติกิจกรรม นั้น

ผู้เรียน จะต้อง สรุป ให้เห็นว่า

  • รู้อะไรเพิ่มขึ้นมาจากเดิม (ได้ความรู้ใหม่)
  • รู้ได้ด้วยวิธีการใด (ได้วิธีการใหม่)
  • รู้สึกอย่างไร (เกิดทัศนคติใหม่)
  • จะนำใช้ประโยชน์ต่อไปอย่างไร
  • จะตรวจสอบความถูกต้องย้อนหลังด้วยวิธีการใด แล้วจะต่อยอดอย่างไร

ถ้าครู เข้าใจ หลักสูตร มองเห็น แก่นแท้ ของหลักสูตรว่า แก่นแกนของหลักสูตรนั้น

สอนให้ผู้เรียนเกิด

  • กระบวนการ คือเกิดกระบวนการเรียนรู้ หรือ วิธีการเรียนรู้ Learning how to learn
  • การจัดการ คือการจัดการเรื่องราวที่เรียนรู้ให้เป็นหมวดหมู่ เป็นเรื่องราวโยงใยจากทุกเรื่องมาเป็นเรื่องเดียวกัน สาระทุกสาระ ถ้าจัดการเป็นก็จะเห็นว่าเรียนเรื่องเดียวกัน คือเรื่อง “ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
  • ค่านิยม ถ้าผู้เรียน รู้ วิธีการเรียนรู้ มีกระบวนการจัดการเรียนรู้ สู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ผู้เรียนก็จะ เห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่น จึงเกิดค่านิยมต่อตนเองและต่อสรรพสิ่งทั้งหลาย นี่คือการเรียนรู้ที่แท้จริง

อ่านเป็นเล่มได่ที่นี่ครับ https://sites.google.com/site/chatreesamran/-2559

หมายเลขบันทึก: 609997เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2016 11:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กรกฎาคม 2016 08:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท