เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่ ๒. เคล็ดลับในการเลี้ยงเด็กฉลาด


Growth mind-set (กระบวนทัศน์พัฒนา) หรือความเชื่อในพรแสวง ทำให้คนเรามีความอดทน มานะพยายาม หมั่นฝึกฝนตนเอง และเรียนรู้กลยุทธที่ดีในการทำหรือดำเนินการสิ่งต่างๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับ fixed mind-set (กระบวนทัศน์หยุดนิ่ง) หรือความเชื่อในพรสวรรค์ ทำให้คนเรา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก ที่ได้รับคำชมว่าฉลาด) หวังใช้ความฉลาดของตนในกิจการต่างๆ โดยเฉพาะในการเรียน ทำให้ไม่พัฒนา ความมานะอดทน และศึกษาหากลยุทธที่ดีในการเรียน และการทำกิจการต่างๆ ทำให้มองความยากลำบาก หรือความล้มเหลวในด้านลบ คือนำไปสู่ความท้อถอย และความล้มเหลวในชีวิต


บันทึกชุดเลี้ยงลูกยิ่งใหญ่นี้ ตีความมาจากหนังสือ Raise Great Kids : How to Help Them Thrive in School and Life ซึ่งเป็นหนังสือชุดรวบรวมบทความเด่นจากนิตยสาร Scientific American Mind หนังสือเล่มนี้เพิ่งออกจำหน่ายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙

บันทึกที่สอง เคล็ดลับในการเลี้ยงเด็กฉลาด ตีความจากบทความชื่อ The Secret to Raising Smart Kids (http://www.scientificamerican.com/article/the-secret-to-raising-smart-kids1/) โดยศาสตราจารย์ Carol S. Dweck ผู้ทรงชื่อเสียงแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ให้คำแนะนำว่าอย่าบอกเด็ก ว่าเขาเป็นเด็กฉลาดอย่าชมความฉลาดหรือความสามารถพิเศษของเด็ก ให้ชมความอดทนมานะพยายาม ซึ่งก็ตรงกับคำแนะนำ ในหนังสือเลี้ยงให้รุ่ง (https://www.gotoknow.org/posts/576122)

Carol Dweck เป็นผู้ทำวิจัยเรื่องจิตวิทยาเกี่ยวกับการเรียนรู้ และเป็นผู้เสนอคำว่า growth mind-set และ fixed mind-set อันลือลั่น

Growth mind-set (กระบวนทัศน์พัฒนา) หรือความเชื่อในพรแสวง ทำให้คนเรามีความอดทน มานะพยายาม หมั่นฝึกฝนตนเอง และเรียนรู้กลยุทธที่ดีในการทำหรือดำเนินการสิ่งต่างๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับ fixed mind-set (กระบวนทัศน์หยุดนิ่ง) หรือความเชื่อในพรสวรรค์ ทำให้คนเรา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก ที่ได้รับคำชมว่าฉลาด) หวังใช้ความฉลาดของตนในกิจการต่างๆ โดยเฉพาะในการเรียน ทำให้ไม่พัฒนา ความมานะอดทน และศึกษาหากลยุทธที่ดีในการเรียน และการทำกิจการต่างๆ ทำให้มองความยากลำบาก หรือความล้มเหลวในด้านลบ คือนำไปสู่ความท้อถอย และความล้มเหลวในชีวิต


ตัวอย่างเด็กฉลาดที่ชีวิตล้มเหลว

เขายกตัวอย่างเด็ก สมมติว่าชื่อ เด็กชายปัญญา ที่เป็นเด็กฉลาด เรียนรู้ได้เร็ว เรียนผ่านชั้น ประถมได้ฉลุย สอบได้ A ทุกวิชา และสงสัยมาตลอดว่าทำไมเพื่อนบางคนจึงไม่เข้าใจบางวิชาที่เรียน พ่อแม่คอยบอกปัญญาอยู่เสมอว่าเขาเป็นเด็กปัญญาเลิศ แต่เมื่อขึ้นเรียน ม. ๑ สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป เขาหมดความสนใจโรงเรียน ไม่ทำการบ้าน และไม่ยอมไปเข้าสอบ คะแนนสอบตกต่ำ พ่อแม่พยายาม แก้ปัญหา เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ปัญญา โดยย้ำแก่ปัญญาว่าเขาเป็นเด็กฉลาด แต่ไม่ได้ผล ปัญญายังคงเบื่อเรียน และไม่อยากทำแบบฝึกหัด

นักเรียนที่มีปัญหาแบบปัญญาไม่ได้มีคนเดียว แต่มีจำนวนมาก ผลการวิจัยต่อเนื่อง ๓๕ ปี บอกว่าเด็กเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อของความเข้าใจผิดในการดูแลเด็กเก่งในอดีต ที่หลงชมความเก่ง หรือความฉลาดของเด็ก ทำให้เด็กเข้าใจว่าความฉลาดเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของความสำเร็จ และเข้าใจผิดว่า คนเก่งคือคนที่เรียนเข้าใจ และทำโจทย์ได้โดยง่ายดาย ไม่ต้องใช้ความพยายาม คนที่ต้องใช้ความพยายาม คือคนไม่เก่ง เมื่อถึงตอนที่ตนไม่เข้าใจ และจะต้องใช้ความพยายามในการเรียนก็ไม่อยากทำเช่นนั้น เพราะจะทำให้ตนเองไม่เป็นคนเก่ง ความเชื่อเช่นนี้ ทำให้เด็กหลบหลีกสิ่งท้าทาย การทำผิดพลาด และการต้องใช้ความพยายาม เพราะเป็นสิ่งที่ทำลายอีโก้ของตน (ว่าตนเป็นคนเก่ง) แทนที่จะมองว่า เป็นโอกาสที่จะพัฒนาตนเอง

ความผิดพลาดของพ่อแม่ของปัญญาในการเลี้ยงลูกสมองดีก็คือ หลงสร้าง “กระบวนทัศน์หยุดนิ่ง” ให้แก่ลูก


วิธีสร้างกระบวนทัศน์พัฒนา (Growth Mind-set)

คนที่มีกระบวนทัศน์พัฒนา จะมุ่งเน้นที่กระบวนการ (process) ได้แก่ ความมานะพยายาม และการมีกลยุทธที่ถูกต้อง ในการเรียนและการทำงาน ไม่มัวหลงติดอยู่ที่การมีสมองดี

กระบวนทัศน์พัฒนา เป็นเรื่องจิตวิทยาเกี่ยวกับความล้มเหลว หรือความยากลำบาก ซึ่งในเด็กมักเป็นเรื่องการเรียน เด็กกลุ่มหนึ่งจะมองความยากลำบากหรือความล้มเหลวเชิงบวก เอามาเป็นข้อเรียนรู้ อาจเรียกว่าเป็นเด็กกลุ่มใจสู้ (ความยากลำบาก) กลุ่มนี้มีกระบวนทัศน์พัฒนา ในขณะที่เด็กอีกกลุ่มหนึ่งคอยหลีกเลี่ยง และถ้าเผชิญก็ไม่สู้ เป็นกลุ่มมีกระบวนทัศน์หยุดนิ่ง

ผลการวิจัยบอกว่า กระบวนทัศน์ทั้งสองแบบเป็นสิ่งที่ไม่ได้ติดตัวมาแต่กำเนิด เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้ โดยวิธีการชมหรือยกย่องเด็กให้ถูกวิธีก็จะพัฒนากระบวนทัศน์ที่ดี คือกระบวนทัศน์พัฒนา ถ้าชมผิดที่ หรือใช้คำพูดไม่ถูกต้อง ก็จะสร้างกระบวนทัศน์ที่ผิด คือกระบวนทัศน์หยุดนิ่ง ซึ่งจะทำลายชีวิตของเด็ก ไปทั้งชีวิต

คำชมหรือยกย่องที่ถูกต้องคือ ต้องไม่ชมความฉลาดหรือปัญญา เพราะะทำให้เด็กอ่อนแอและมีข้ออ้าง ต้องไม่ชมผลงานแบบลอยๆ ว่าดีหรือเด่น เช่น “ลูกมีพรสวรรค์ด้านศิลปะ” คำชมที่มีคุณค่า ต้องเลือกใช้คำ อย่างระมัดระวัง โดยเลือกชมที่กระบวนการที่เด็กใช้ในการบรรลุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะสร้าง แรงบันดาลใจ และพุ่งเป้าไปที่พฤติกรรมหรือการกระทำที่จำเพาะ ที่นำไปสู่ความสำเร็จ ที่เรียกว่า “ชมกระบวนการ” (process praise)

การชมกระบวนการ เป็นการชมที่ความพยายาม (effort), กลยุทธ (strategy), ความไม่ท้อถอย (persistence) ในสภาพยากลำบาก, และกล้าสู้ความท้าทาย (challenge) ดังตัวอย่าง


ตัวอย่างคำพูดที่เป็นการยกย่องกระบวนการ (process praise)

  • เธอวาดภาพได้ดี ครูชอบรายละเอียดที่เธอใส่ในใบหน้าคน
  • เธอทบทวนสาระในวิชาสังคมศึกษาอย่างดีมาก เธออ่านทบทวนหลายรอบ และสรุปโครงสร้างของสาระ และทดสอบความรู้ของตนเอง วิธีเรียนแบบนี้ได้ผลดี
  • ครูดีใจที่เธอตกลงใจทำโครงงานนี้ในวิชาวิทยาศาสตร์ จะเป็นงานที่ยากและท้าทาย จะต้องมีการออกแบบเครื่องมือ สร้างชิ้นสวน และประกอบเป็นเครื่องมือ เธอจะได้เรียนรู้ความรู้ที่มีคุณค่าต่อชีวิตในภายหน้า
  • ครูชอบที่เธอลองวิธีแก้โจทย์คณิตศาสตร์นี้หลายวิธี จนพบวิธีที่ถูกต้องในที่สุด
  • การบ้านภาษาอังกฤษชิ้นนี้ยาก แต่เธอก็มุ่งมั่นอยู่กับงาน เธอนั่งอยู่กับโต็ะเรียนอย่างมีสมาธิ สุดยอด!


ตัวอย่างคำพูดที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้

  • โอ! งานชิ้นนี้ยาก สนุกแน่
  • ขอโทษ งานชิ้นนี้ง่ายเกินไป ไม่สนุก เรามาทำงานที่ยากและท้าทายกว่านี้ดีกว่า เธอจะได้เรียนรู้มากกว่า
  • เรามาทบทวนสิ่งที่ทำในวันนี้ และหาทางเรียนรู้จากสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว ดีกว่า
  • การทำผิดเป็นเรื่องน่าสนใจ และเป็นบทเรียนที่ดี ความผิดพลาดชิ้นนี้น่าสนใจมาก เรามาเรียนจากความผิดพลาด ที่ทำไปแล้วกันดีกว่า

ชมให้หลงตัวเอง หรือชมให้มุ่งมั่นพัฒนาตนเอง

ผมคิดว่า กระบวนทัศน์พัฒนา ฝังแฝงอยู่ในเพลงหนึ่ง ที่เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ ความฝันอันสูงสุด (https://www.youtube.com/watch?v=rDUZ_HNv6rQ)

ขอฝันใฝ่ ในฝัน อันเหลือเชื่อ

ขอสู้ศึก ทุกเมื่อ ไม่หวั่นไหว

ขอทนทุกข์ รุกโรม โหมกายใจ

ขอฝ่าฟัน ผองภัย ด้วยใจทะนง

ฯลฯ


ส่งเสริมให้มุ่งแก้ไขจุดอ่อนของตนเอง

เด็กฉลาดที่คิดว่าตนเองเลอเลิศ ไม่มีจุดอ่อน เป็นคนที่มีกระบวนทัศน์หยุดนิ่ง พ่อแม่และครู ต้องช่วยเหลือให้เด็กค้นพบจุดอ่อนจากการเรียนหรือจากชีวิตประจำวัน และหาวิธีชักชวนให้เรียนรู้ และแก้ไขจุดอ่อนให้สำเร็จ โดยในระหว่างกระบวนการแก้ไข ต้องชมความอดทน ความมานะพยายาม ชมวิธีการที่เด็กใช้ และในที่สุด ชมวิธีการหรือกลยุทธที่เด็กใช้บรรลุความสำเร็จ เมื่อทำซ้ำๆ เด็กจะสร้าง กระบวนทัศน์พัฒนาขึ้นในตน

พ่อแม่และครู ต้องชี้ให้เด็กเห็นว่า คนทุกคนมีจุดอ่อน หรือสมรรถนะที่จะต้องพัฒนา ต้องชี้ให้เห็นว่า ความเก่งหรือความฉลาดที่มีมาแต่กำเนิดนั้น มีข้อจำกัด หากไม่พัฒนาต่อเนื่อง ก็สู้คนที่เกิดมามีสมองด้อยกว่า แต่มีความมุมานะหมั่นเรียนรู้พัฒนาตนเองไม่ได้ และควรยกตัวอย่าง คนที่ตอนเป็นเด็กเรียนหนังสือไม่เก่ง แต่ในที่สุดประสบความสำเร็จในชีวิต และชี้ให้เห็นว่า ความมานะพยายามหมั่นปรับปรุงพัฒนาตนเองมีคุณค่าอย่างไร


ชมลูกเพื่อสนองอีโก้ของตนเอง หรือเพื่อพัฒนาลูก

คนจำนวนมาก ต้องการอวดว่าลูกของตนเก่ง หรืออวดความฉลาดของลูก เท่ากับชมลูกเพื่อสนอง อีโก้ของตนเอง โดยไม่รู้ตัวว่า การทำเช่นนั้น เป็นการบ่มเพาะกระบวนทัศน์หยุดนิ่งให้แก่ลูก


ชมคนอื่นให้เด็กฟัง

เพื่อสร้างกระบวนทัศน์พัฒนาให้แก่เด็ก พ่อแม่และครู ควรเล่าเรื่องราวชีวิตของคนที่ประสบ ความสำเร็จยิ่งใหญ่ ที่ความสำเร็จมาจากการมุ่งมั่นทำงานหนัก ในหนังสือเอ่ยถึงมาดามคูรี, โธมัส แอลวา เอดิสัน, และผู้ค้นพบหรือประดิษฐ์สิ่งยิ่งใหญ่แก่โลกท่านอื่นๆ เล่าแล้วชี้ให้เห็นว่า ความสำเร็จทั้งชีวิต ของผู้ยิ่งใหญ่นั้น มาจากความมานะพยายาม สู้งานหนัก ไม่ท้อถอยเมื่อเผชิญความยากลำบากหรือความล้มเหลว รวมทั้งการมี วิธีทำงาน หรือยุทธศาสตร์ที่ดี และได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่น แต่จุดเริ่มต้นต้องมาจาก เป้าหมายที่ทรงคุณค่า


ให้เข้าใจกลไกการทำงานของสมอง

ผู้เขียนและคณะ ได้พัฒนา interactive computer program ชื่อ Brainology (https://www.mindsetworks.com/webnav/program.aspx) เพื่อให้เด็กเข้าใจกลไกการทำงานของสมอง และเข้าใจว่า เมื่อตนใช้ความพยายามพัฒนาตนเอง จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมอง การหมั่นฝึกฝน จึงช่วยเพิ่มความสามารถ รวมทั้งเพิ่มความฉลาดเป็นการช่วยให้เกิดกระบวนทัศน์พัฒนา โดยไม่รู้ตัว


คุณภาพของคนชม

คำชมมีทั้งคำชมลวง หรือไม่จริงใจ ทำตามสูตรสำเร็จ กับคำชมแท้ที่ออกมาจากใจ ผมเชื่อว่าเด็ก (แม้กระทั่งทารก) จับความแตกต่างได้ และมีปฏิกิริยาต่างกัน

แม้คำชมที่จริงใจ ก็มีคุณภาพต่างกัน หากมาจากคนที่มีความลุ่มลึก คำชมจะมีพลังสร้างสรรค์สูงกว่า คำชมที่มาจากคนที่ตื้น นี่คือเหตุผลที่พ่อแม่และครูต้องเรียนรู้เรื่องจิตวิทยาเด็ก และพัฒนาการเด็กอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาใช้สร้างพลังเรียนรู้และพัฒนาเด็ก

คนชมที่มีคุณภาพคือคนชมที่มีกระบวนทัศน์พัฒนา และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง


กระบวนทัศน์พัฒนาในที่ทำงาน

กระบวนทัศน์พัฒนาใช้ได้ในทุกคน ทุกที่ และทุกกรณี รวมทั้งใช้เพื่อสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) โดยผู้บริหารสื่อสารชื่นชมกระบวนการที่นำไปสู่ความสำเร็จ มากกว่าชื่นชม ตัวความสำเร็จ เน้นการนำกระบวนการนั้นไปใช้ซ้ำในงานอื่นหรือบริบทอื่น เน้นการนำกระบวนการนั้น ไปปรับปรุงให้มีประสิทธิผล/ประสิทธิภาพ ยิ่งขึ้น

เท่ากับส่งเสริมคุณค่าของเครื่องมือ หรือวิธีการ ที่นำไปสู่ปรับปรุงต่อเนื่อง หรือที่การบรรลุ เป้าหมายที่สูงส่งกว่าเดิม เท่ากับไม่มีเป้าหมายสุดท้าย มีแต่ CQI – Continuous Quality Improvement


สร้างค่านิยมในการทำงานหนัก เพื่อการสร้างสรรค์

จะเห็นว่า กระบวนทัศน์พัฒนา เชื่อมโยงกับค่านิยมในการทำงานหนัก เพื่อการสร้างสรรค์ แต่การทำงานหนัก (work hard) อย่างเดียว ไม่เพียงพอ ต้องเรียนรู้วิธีทำงานที่ดี มีกลยุทธที่เหมาะสม (work smart) ด้วย


สรุป

ความฉลาด ความสามารถพิเศษ อัจฉริยะ เป็นสิ่งสร้างได้ และต้องสร้าง จึงจะได้มา พ่อแม่และครูต้องเรียนรู้วิธีการส่งเสริมให้เด็กที่เกิดมาพร้อมกับสมองชั้นเลิศ มีการเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่อง โดยใช้ความยากลำบาก ความล้มเหลว เป็นเครื่องมือในการพัฒนา สิ่งสำคัญที่สุดคือคำชม ที่ชมกระบวนการเรียนรู้และมานะพยายาม มากกว่าชมผลลัพธ์สุดท้าย หากจะชมผลงาน ให้ชมว่า ผลงานนั้นดีอย่างไร และจะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร เพื่อส่งเสริมให้เด็กฉลาดสร้างกระบวนทัศน์พัฒนา ขึ้นในตน และสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพตามธรรมชาติของตน



วิจารณ์ พานิช

๕ พ.ค. ๒๕๕๙ วันฉัตรมงคล


หมายเลขบันทึก: 608522เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2016 10:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2016 10:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท