เรียนรู้จากนิรันดร์


ผมขอตีความเหตุการณ์ย้อนหลัง ๓๖ ปี ที่เล่ามานี้ เพื่อใช้ชีวิตการทำงานของคุณนิรันดร์เป็นอุทาหรณ์ แก่คนรุ่นหลัง ว่าเหตุผลสำคัญที่สุดของความสำเร็จในชีวิตการงานของคุณนิรันดร์ ที่ผมถือว่าเป็นความสำเร็จ ระดับวิเศษ คือ “การเรียนรู้จากการทำงาน” เรียนรู้ปรับปรุงตนเองไปพร้อมๆ กันกับการทำงาน ซึ่งเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยผมเชื่อว่าในช่วงเวลา ๓๕ ปี หลังจากไม่ได้ทำงานกับผม คุณนิรันดร์ได้เรียนรู้ต่อเนื่อง ไม่หยุดยั้งโดยมีแรงบันดาลใจในการทำงานให้เกิดผลงานชั้นเยี่ยม และมีการพัฒนาต่อเนื่องเป็นพลังขับเคลื่อน ซึ่งมองจากมุมของหลักการเรียนรู้ในยุคนี้ว่า “มีกระบวนทัศน์พัฒนา” (Growth Mindset) เป็นประทีปนำทางชีวิตการทำงาน

เรียนรู้จากนิรันดร์

วิจารณ์ พานิช

อดีตบรรณาธิการวารสารสงขลานครินทร์

.............


ในสายตาของผม คุณนิรันดร์ สุมาลี เป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตการงานอย่างมากคนหนึ่ง คือได้พัฒนาตนเองในด้านการจัดทำหนังสือและวารสาร จนถือได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นที่ยอมรับนับถือ กันทั่วไป ว่าเป็น “มือหนึ่ง” ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ชีวิตคนที่ประสบความสำเร็จ ควรได้เป็นประทีปส่องปัญญาให้แก่คนรุ่นหลัง การทำหนังสือ เล่มนี้จึงมีคุณค่าอย่างยิ่ง เมื่อได้รับข่าวเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ตอนที่ผมประชุมอยู่ที่ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ ผมจึงรับปากร่วมเขียนบทความที่ระลึกชิ้นนี้ เพื่อร่วมทำหน้าที่ “กระจก” สะท้อนสิ่ง ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ สำหรับเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างตัวของคนรุ่นหลัง

ผมเริ่มรู้จักคุณนิรันดร์ สุมาลี ประมาณปี ๒๕๒๓ จากการที่ท่านรองอธิการบดีวิทยาเขตหาดใหญ่ ในขณะนั้น คือ ศ. ดร. นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย ต้องการทำวารสารวิชาการของมหาวิทยาลัย และมีการทำออกมาแล้ว แต่ผมปากไม่ดี ไปแสดงความเห็นกับท่านว่า ที่ทำออกมาแล้วไม่ใช่วารสารวิชาการ เป็นนิตยสารเผยแพร่ความรู้ แก่คนทั่วไปมากกว่า เพราะไม่มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่มีการตรวจสอบต้นฉบับแบบที่เรียกว่า peer review แบบเข้มข้น บทความที่แยงตาผมมากที่สุดและจำได้จนปัจจุบันนี้คือเรื่อง วิธีแปรงฟัน ซึ่งผมไม่ถือว่าเป็น บทความวิชาการ

ดร. นักสิทธ์ท้าทายผมว่า ถ้าอยากเห็นวารสารวิชาการที่ดี ผมต้องเข้าไปทำหน้าที่บรรณาธิการเอง เพราะท่านหาคนไม่ได้ ผมตอบรับท่านด้วยเงื่อนไข ๒ ข้อ

  • มีเจ้าหน้าที่ ที่มีความสามารถ ทำงานจัดทำวารสารเต็มเวลา มานั่งทำงานกับผม ๑ คน และห้ามหัวหน้าหน่วยงานที่สำนักงานอธิการบดีเข้ามาใช้งาน หรือสั่งการใดๆ
  • ต้องตีพิมพ์ด้วยระบบ คอมพิวกราฟิก ที่เป็นระบบพิมพ์แบบใหม่ในขณะนั้น วารสารต้องออกสม่ำเสมอตรงเวลา ทุกๆ ๓ เดือน โดยไม่มีโฆษณา ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อการนี้อย่างเพียงพอ โดยผมประมาณว่าปีละ ๑๒๐,๐๐๐ บาท จัดพิมพ์ไตรมาสละ ๑ พันฉบับ

โชคดีสำหรับมหาวิทยาลัยและผมที่ท่านรองอธิการบดีตกลงรับเงื่อนไข ๒ ข้อนั้น “แต่เรื่องคน ไม่มีคนที่มีคุณสมบัติที่คุณหมอระบุ” ผมตอบท่านเรื่องคนว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ทำวารสารเป็น แต่ต้องได้คนที่ละเอียด และพร้อมที่จะเรียนรู้ ท่านตอบผมว่า “ที่กองวิชาการ มีผู้ชายอยู่คนหนึ่ง เข้ามาทำงานระยะหนึ่งแล้ว ยังไม่มีหน้าที่ประจำ ไม่ทราบว่าจะมีคุณภาพที่คุณหมอต้องการไหม” ผมขอคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้ชายคนนั้น ชื่อนิรันดร์ สุมาลี

ผมอธิบายให้คุณนิรันดร์ทราบว่างานใหม่นี้เป็นการทำวารสารวิชาการคุณภาพสูง ที่ต้องการคนที่ ละเอียดมาทำงาน จะปล่อยให้วารสารมีการเว้นวรรคตอน สะกดการันต์ผิดไม่ได้ และต้องมีทั้งความประณีต ในรูปแบบ และความแม่นยำด้านวิชาการ หากคุณนิรันดร์ตกลงใจก็เป็นโอกาสที่จะสร้างตัวเองเป็นผู้ชำนาญการ ในการทำวารสารและหนังสือวิชาการ เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือในภาคใต้ แต่ต้องตระหนักว่าเป็นงานหนัก และต้องเรียนรู้หรือฝึกตัวเองมาก และผมจะช่วยฝึกให้ หรือจริงๆ แล้วเรียนรู้ไปด้วยกันจากการทำงานจริง เพราะผมก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ

ผมถามคุณนิรันดร์ว่า พร้อมจะรับงานที่ท้าทายนี้ไหม คุณนิรัดร์หัวเราะหึๆ แบบคนอารมณ์เย็น และตอบว่า “ลองดูก็ได้ครับ”

คุณนิรันดร์จึงย้ายที่ทำงานจากชั้นล่างของสำนักงานอธิการบดีในขณะนั้น (ซึ่งเวลานี้เป็นอาคารคณะวิทยาศาสตร์ ติดกับตึกฟักทอง) ไปนั่งกับผมที่สำนักงานชั่วคราวของภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ซึ่งอาศัยอยู่ที่อาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ชั้นล่าง เพื่อฝึกงานทำวารสารวิชาการแบบทำงาน จริง

จริงๆ แล้วคนที่มีความชำนาญในการทำวารสารวิชาการ และเข้ามาเป็นกำลังสำคัญ คือ ศ. ดร. ไพศาล เหล่าสุวรรณ ที่ย้ายจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มาอยู่ที่คณะทรัพยากรธรรมชาติ ยินดีมาทำหน้าที่ บรรณาธิการรองของ “วารสารสงขลานครินทร์” อยู่หนึ่งปี และรับหน้าที่บรรณาธิการต่อมาอีกหลายปี และทำให้คุณนิรันดร์ได้ฝึกฝนวิทยายุทธด้านการทำวารสารวิชาการ จากคนที่เยี่ยมยุทธจริงๆ

นั่นคือส่วนหนึ่งของที่มาที่ไปของชีวิตการทำงานของคุณนิรันดร์ สุมาลี ที่ในช่วงเวลารับราชการ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเวลาเกือบสี่สิบปี ได้สร้างผลงานเป็นที่ยกย่องอย่างสูง ในช่วงที่ ศ. พญ. อมรา พานิช ต้องการทำหนังสือวิชาการด้านวิสัญญีวิทยา ผมก็ได้แนะนำให้ขอให้คุณนิรันดร์ช่วยจัดทำรูปเล่มให้ ผลออกมาเป็นที่ชื่นชมมาก

ผมขอตีความเหตุการณ์ย้อนหลัง ๓๖ ปี ที่เล่ามานี้ เพื่อใช้ชีวิตการทำงานของคุณนิรันดร์เป็นอุทาหรณ์ แก่คนรุ่นหลัง ว่าเหตุผลสำคัญที่สุดของความสำเร็จในชีวิตการงานของคุณนิรันดร์ ที่ผมถือว่าเป็นความสำเร็จ ระดับวิเศษ คือ การเรียนรู้จากการทำงานเรียนรู้ปรับปรุงตนเองไปพร้อมๆ กันกับการทำงาน ซึ่งเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยผมเชื่อว่าในช่วงเวลา ๓๕ ปี หลังจากไม่ได้ทำงานกับผม คุณนิรันดร์ได้เรียนรู้ต่อเนื่อง ไม่หยุดยั้งโดยมีแรงบันดาลใจในการทำงานให้เกิดผลงานชั้นเยี่ยม และมีการพัฒนาต่อเนื่องเป็นพลังขับเคลื่อน ซึ่งมองจากมุมของหลักการเรียนรู้ในยุคนี้ว่า “มีกระบวนทัศน์พัฒนา” (Growth Mindset) เป็นประทีปนำทางชีวิตการทำงาน

นั่นคือข้อเรียนรู้สำหรับคนรุ่นหลัง

ผมขอแถมข้อเรียนรู้ของตนเอง สำหรับตนเอง (หมายถึงตัวผม) นำเอามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ว่าคนเราสามารถสร้างตัวเป็นคนที่มีคุณค่า มีความหมายพิเศษได้ (ดังตัวอย่างชีวิตการทำงานของคุณนิรันดร์) หากคนคนนั้นค้นพบคุณค่าของงานของตน และเรียนรู้วิธีผลิตผลงานที่มีคุณภาพสูงผมภูมิใจที่ในช่วงชีวิตสั้นๆ ไม่ถึงหนึ่งปี ผมได้ทำหน้าที่ชี้ให้คุณนิรันดร์เกิดแรงบันดาลใจ เห็นโอกาสสร้างตัวเป็นนักทำวารสารวิชาการ

แต่ความสำเร็จที่ตามมาได้จากความพากเพียรมานะพยายามของคุณนิรันดร์เอง

ในโอกาสที่คุณนิรันดร์ สุมาลี จะเกษียณอายุราชการ ผมขอแสดงความยินดีต่อความสำเร็จในชีวิต การทำงาน สร้างตัวเป็น “มือหนึ่ง” ของนักทำวารสารวิชาการ ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และขอแสดงความหวังว่า ชีวิตการทำงานของคุณนิรันดร์จะเป็นตัวอย่างที่ดี และช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ในการสร้างตัว แก่อนุชนรุ่นหลัง


วิจารณ์ พานิช

๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙

เมืองมงเทรอซ์ สวิตเซอร์แลนด์


หมายเลขบันทึก: 608519เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2016 10:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2016 10:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท