KM ผู้ประสานงานรายวิชาศึกษาทั่วไป (๔) "ระดมปัญหาการจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป ปีการศึกษา ๒๕๕๘" (เติม)


บันทึกที่ (๑) บันทึกที่ (๒) บันทึกที่ (๓)

ข้อสอบและคลังข้อสอบ

กระบวนการเรื่องข้อสอบและคลังข้อสอบ มี ๖ ขั้นตอน ได้แก่ อาจารย์ออกข้อสอบ -> ประสานต้นฉบับข้อสอบ -> ผลิตข้อสอบ -> วิเคราะห์ข้อสอบ -> ส่งผลการวิเคราะห์สอบให้อาจารย์ประกอบการปรับปรุงข้อสอบ ปัญหาที่พบมาจากหลายจุด โดยเฉพาะปัญหาการรวบรวมข้อสอบ แต่น่าจะเป็นเฉพาะช่วงแรกๆ ของการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ หากร่วมกันพัฒนาอย่างต่อเนื่อง น่าจะมีพัฒนาการตามลำดับ

การจัดตารางสอน

ปัญหา : จำนวนอาจารย์ผู้สอนต่อกลุ่มเรียนมากเกินไป

ชี้แจง : น่าจะขึ้นอยู่กับธรรมชาติของรายวิชาที่มีจุดมุ่งหมายและวิธีการสอนที่แตกต่างกัน ดังที่ได้กล่าวแล้วในบันทึกที่ (๒)

ปัญหา : จำนวนนิสิตต่อกลุ่มเรียนมากเกินไป

ชี้แจง : จำนวนนิสิตต่อกลุ่มเรียนจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่คาดหวังของรายวิชานั้น เช่น รายวิชาที่เน้นให้เกิดทักษะด้านภาษา จะจัดการเรียนการสอนแบบให้ฝึกฟัง อ่าน เขียน พูด ดังนั้น จำนวนนิสิตต่อกลุ่มเรียนจึงต้องน้อยที่สุดเท่าที่จะจัดได้ เช่น รายวิชาภาษาอังกฤษ เป็นต้น ส่วนรายวิชาที่จัดการเรียนการสอนแบบบรรยาย ควรจะจัดห้องเรียนขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วบันทึกคลิปบรรยายออนไลน์ให้นิสิตสามารถเรียนซ้ำได้ตามอัธยาศัย เช่น รายวิชามนุษย์กับอารยธรรมและศาสนา เป็นต้น .... อย่างไรก็ดี ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดที่มีของมหาวิทยาลัย ที่ต้องใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุดเพื่อประโยชน์สูงสุดของนิสิตและสังคม

การประเมินผลและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

ปัญหา ๑) : รายชื่อนิสิตหายไปจากระบบเนื่องจากชำระค่าลงทะเบียนช้า แล้วปรากฎกลับมาภายหลัง ทำให้ไม่มีคะแนนเก็บ จึงติด F ในรายวิชานั้น

ชี้แจง : เป็นปัญหาเกี่ยวกับระบบระเบียน ซึ่งในปัจจุบันจำนวนนิสิตที่มีปัญหานี้ได้ลดจำนวนลงมากแล้ว เนื่องจากมหาวิทยาลัยได้กำหนดมาตรการเข้มงวดกับการชำระค่าลงเบียนช้ากว่ากำหนดให้ต้องเสียค่าปรับและต้องดำเนินเรื่องหลายขั้นตอน

แนวทางแก้ไข : ผู้ที่จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ที่ดีที่สุดคือ การตัดเกรดอย่างรอบคอบและระมัดระวังของอาจารย์ผู้สอน ด้วยการตรวจเช็คทีละคนสำหรับกรณีที่คะแนนเก็บบางช่องหายไป และเก็บบันทึกข้อมูลคะแนนของทุกคนที่เข้าเรียน แม้จะไม่มีชื่อในระบบ

ปัญหา ๒) : สัดส่วนคะแนน ๗๐ : ๓๐ ไม่เหมาะสำหรับทุกวิชา

คำชี้แจง : สำนักศึกษาทั่วไป ได้กำหนดแนวปฏิบัติในการวัดผล การประเมิน การอนุมัติ การรายงาน และการแก้ไขผลการศึกษาหมวดวิชาศึกษาทั่วไป พ.ศ. ๒๕๕๒ ซึ่งกำหนดให้ใช้ระเบียบการวัดผลตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ (หมวด ๖) โดยอนุโลม และกำหนดแนวปฏิบัติ ให้คิดคะแนนสอบระหว่างภาคการศึกษาและสอบเมื่อสิ้นสุดภาคการศึกษารวมแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๐ นั้น เมื่อพิจารณาถึงจุดมุ่งหมายของหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๕๘) จะเห็นว่าสำนักศึกษาทั่วไปต้องการส่งเสริมให้อาจารย์ผู้สอน "ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน" ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและความจำเป็นในศตวรรษที่ ๒๑ ดังนั้น จึงได้ส่งเสริมให้มีการปรับปรุงกระบวนการวัดผลประเมินให้สอดคล้องกับผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังของแต่ละรายวิชาโดยอนุโลม ให้ใช้การทดสอบย่อย หรือการทดสอบด้วยกระบวนการต่างๆ ที่มีหลักฐานชัดเจน แทนการสอบปกติ ระหว่างที่กำลังศึกษาดำเนินการปรับปรุงระเบียบให้ทันสมัยต่อไป

แนวทางแก้ไข : ให้ฝ่ายวิชาการของสำนักฯ รวบรวม มคอ.๓ เสนอต่อคณะกรรมการบริหารสำนักศึกษาทั่วไป เพื่อพิจารณา และรวมถึงเสนอให้มีการปรับปรุงประกาศหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ปัญหา ๓) : ความแตกต่างของมาตรฐานการให้คะแนน

แลกเปลี่ยน : อาจารย์ร่วมกันกำหนดเกณฑ์ ๓ ระดับสำหรับ ได้แก่ ผ่าน ดี ดีมาก โดยให้คะแนนเป็น ๒ ๓ ๔ ตามลำดับ หากมีกรณีที่งานมีคุณภาพมากๆ อาจให้คะแนนเต็ม ๕ ได้ หรือกรณีที่งานไม่สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้เลย ก็อาจให้คะแนนต่ำกว่า ๑ ได้ แต่กรณีไม่ส่งงานคือ ๐ คะแนน เป็นต้น

ปัญหา ๔) นิสิตรับจ้างเรียน

มาตรการ : มหาวิทยาลัยได้ประกาศเอาผิดวินัยสำหรับนิสิตที่ทำให้มหาวิทยาลัยเสื่อมเสียชื่อเสียงจากการโพสท์รับจ้างเรียนแล้ว โดยกำหนดโทษหักคะแนนความประพฤติ ๔๐ คะแนน และกำหนดให้บำเพ็ญประโยชน์เพิ่มจาก ๒๐ ชั่วโมงเป็น ๘๐ ชั่วโมง

แนวทางการป้องกัน : รายวิชาศึกษาทั่วไปจำเป็นต้องมีการตรวจสอบการเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้อย่างเข้มงวด เพื่อปลูกฝังบ่มเพาะคุณธรรมจริยธรรมและฝึกทักษะที่จำเป็นต่างๆ (ดังที่ได้อธิบายไว้ที่นี่ และที่นี่) และแนวทางที่กำลังจะนำมาทดสอบใช้ในการตรวจสอบและระบุบุคคลเข้าเรียนคือ การใช้ QR code มาใช้ โดยให้นิสิตติด QR code เฉพาะตนและเฉพาะวิชาใว้บนบัตรหรือชิ้นงาน เมื่อาจารย์อ่านด้วย app QR code Reader ก็จะปรากฎข้อมูลนิสิตเพื่อตรวจเทียบทันที นอกจากนี้ ระบบนี้ยังจะสามารถกรอกคะแนนและส่งคะแนนไปยังไฟล์ Excel เพื่อความสะดวกให้อาจารย์อีกด้วย

อาจารย์ผู้สอน

ปัญหา : ไม่ทราบกระบวนการคัดเลือกอาจารย์ผู้สอน

ข้อเสนอแนะ : อาจารย์ผู้สอนควรมีความชำนาญในเนื้อหารายวิชาที่สอน มีคุณวุฒิตรงกับรายวิชาที่สอน และอาจารย์ผู้ประสานงาน ควรมีบทบาทในการคัดเลือกอาจารย์ผู้สอนด้วย

คำชี้แจง : กระบวนการคัดเลือกอาจารย์ผู้สอนในปัจจุบัน เริ่มจาก อาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยยื่นใบสมัครมายังผู้อำนวยการสำนักศึกษาทั่วไป (ผ่านคณบดีในสังกัดของตน) -> คณะกรรมการบริหารพิจารณาให้ความเห็นชอบตามคุณสมบัติของอาจารย์ผู้สอน ซึ่งกำหนดไว้ ดังนี้

(๑) เป็นอาจารย์ที่มีประสบการณ์ด้านการสอนในมหาวิทยาลัยมหาสารคามหรือสถาบันอุดมศึกษา ของรัฐหรือเอกชนไม่น้อยกว่า ๒ ปี

(๒) ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ทรงคุณวุฒิ (ตามคุณสมบัติแนบท้ายประกาศ)

(๓) มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาโทหรือเทียบเท่า และมีคุณวุฒิตรงหรือสัมพันธ์กับสาขาวิชาที่จัดการเรียนการสอนในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๕๘) หรือเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะกลุ่มรายวิชาศึกษาทั่วไป ดังต่อไปนี้

(ก) กลุ่มภาษา
(ข) กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
(ค) กลุ่มวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
(ง) กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพและนันทนาการ
(จ) กลุ่มสหศาสตร์
(ฉ) กลุ่มวิชาเลือกเพิ่มเติม
ผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการประจำสำนักศึกษาทั่วไปจะพิจารณาเป็นกรณีไป

-> จากนั้น สำนักศึกษาทั่วไปจะประกาศรายชื่ออาจารย์ผู้สอนให้ทราบ เพื่อผู้ประสานงานสามารถนำไปพิจารณาจัดตารางสอนต่อไป

แนวทางการพัฒนา : แม้ว่าอาจารย์ผู้สอนที่สมัครใหม่ ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นแล้ว อนุกรรมการพัฒนาการเรียนการสอนของแต่ละรายวิชา (กำลังอยู่ในระหว่างขับเคลื่อนให้มีการแต่งตั้งให้ครบทุกรายวิชา) ควรกำหนดกระบวนการพัฒนาอาจารย์ก่อนการจัดให้สอน เช่น กำหนดให้ต้องผ่านการฝึกอบรมการสอนหรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของรายวิชาก่อน เป็นต้น

สรุปการแลกเปลี่ยน : สำนักศึกษาทั่วไปควรจัดหลักสูตรพัฒนาศักยภาพของอาจารย์ และมอบใบประกาศผ่านการฝึกอบรม โดยกำหนดให้เป็นหนึ่งในคุณสมบัติของอาจารย์ผู้สอน

ปัญหา ๒) : การจัดโครงการพัฒนาอาจารย์กำหนดหัวเรื่องไม่ตรงกับความต้องการของอาจารย์ผู้สอน และช่วงเวลาในการจัดโครงการไม่เหมาะสม อาจารย์หลายท่านไม่สามารถมาร่วมได้

ข้อเสนอแนะ : สำนักศึกษาทั่วไปควรสำรวจความต้องการในการพัฒนาตนเองด้านการจัดการเรียนการสอนของอาจารยผู้สอน แล้วนำมาจัดเป็นหลักสูตรอบรมฯ ก่อนจะสำรวจและให้ยืนยันการเข้าร่วมฝึกอบรมฯ โดยกำหนดให้มีหลายช่วงเวลาให้เลือก

(ขอจบเท่านี้ครับ)








ท่านสามารถส่ง ความเห็นหรือคำแนะนำส่วนตัวมาทาง [email protected] ได้ครับ


บันทึกที่ (๑)

บันทึกที่ (๒)
..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/608281

KM ผู้ประสานงานรายวิชาศึกษาทั่วไป (๓) "ระดมปัญหาการจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป ปีการศึกษา ๒๕๕๘" (ต่อ)..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/608281

หมายเลขบันทึก: 608338เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2016 12:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2016 16:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท