KM ผู้ประสานงานรายวิชาศึกษาทั่วไป (๒) "ระดมปัญหาการจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป ปีการศึกษา ๒๕๕๘"


บันทึกที่ (๑)

กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ลปรร.) ระหว่างอาจารย์ผู้ประสานงานกับบุคลากรสำนักศึกษาทั่วไป กำหนดขั้นตอนคร่าวไว้ดังนี้

วันแรก เดินทางจาก มมส. ๑๐.๓๐ น. ไปถึงวิชชิ่งทรีรีสอร์ท ขอนแก่น ๑๒.๐๐ น. -> ทานอาหารเที่ยง -> เข้าที่พัก -> เริ่มแลกเปลี่ยนตอน ๑๓.๓๐ น.

  • ระดมปัญหา "การจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป ปีการศึกษา ๒๕๕๘"
  • กำหนดเป้าหมายของการ ลปรร. (BAR)

ตอนเย็นๆ วิทยากรเดินทางมาถึง ให้สื่อสารถึงผลสรุปการ ลปรร. และเป้าหมายของการมา KM ให้วิทยากรกำกับทิศทางทราบ พร้อมทั้งชี้แจงกระบวนการวันถัดมาให้ทราบ

วันที่สอง เริ่มรวม ๘.๓๐ น.

  • ศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา ประเทพา บรรยายถึงเป้าหมายของการจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป (ดังที่ได้สรุปไว้ในบันทึกที่ ๑)
  • แยกกลุ่มย่อย Mapping เป้าหมายของรายวิชา กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่คาดหวังของหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป
  • แต่ละกลุ่มนำเสนอจุดมุ่งหมายและการจัดการเรียนการสอนของรายวิชาต่อเวทีรวม สลับกับฟังคอมเมนต์จากวิทยากรหลัก
  • หลังเที่ยง นำเอาประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ได้ระดมรวบรวมไว้ มาอภิปราย ตอบคำถาม และหาข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขร่วมกัน
จบวันที่สองตอนเย็นมากครับ (เกือบ ๑๘.น.) รับประทานอาหารเย็นร่วมกันแล้วเดินทางกลับ


บันทึกนี้ผมนำเอาสรุปปัญหาและข้อเสนอแนะของอาจารย์ผู้ประสานงานมารวมไว้ บันทึกต่อๆ ถึงจะหยิบเอาประเด็นต่างๆ เหล่านี้ มาชี้แจงให้ทราบหรือรายงานความก้าวหน้าต่อไปสำหรับกรณีที่นำเอาแนวทางแก้ไขที่ท่านให้ข้อเสนอแนะไว้ไปทำ

ประเด็นปัญหาทั้งหมดสามารถจัดไว้ใน ๖ ด้าน ได้แก่ ๑) ด้านการพัฒนาหลักสูตรฯ ๒) ด้านการบริหารจัดการหลักสูตร ๓) ด้านอาจารย์ผู้สอน ๔) ด้านการจัดการเรียนการสอน ๕) ด้านห้องเรียนรวม สื่อและสิ่งแวดล้อม และ ๖) ด้านการประเมินผลและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ส่วนนอกเหนือจากนี้ก็มีบ้างบางประเด็น และได้รวมไว้ในด้านอื่นๆ

ด้านการพัฒนาหลักสูตรฯ

อาจารย์หลายท่านสะท้อนว่า การพัฒนาหลักสูตรฯ ที่ผ่านมา อาจารย์ผู้สอนไม่ได้มีส่วนร่วมเท่าที่ควร หรือบางท่านสะท้อนว่ "อาจารย์ไม่ได้มีส่วนร่วมเลย" และเสนอให้การปรับปรุงครั้งถัดไป สำนักศึกษาทั่วไปต้องเปิดโอกาสให้อาจารย์ผู้สอนเข้ามาร่วมด้วย

ผมเสนอว่า เมื่อหลักสูตรฯ ใช้ไปครบกึ่งหนึ่ง (๒ ปี) ของวงรอบการปรับปรุง (๔ ปี) เราจะจัดเวที ลปรร. สำหรับอาจารย์ผู้สอนในแต่ละรายวิชา และเปิดประเด็นสำหรับการปรับปรุงคำอธิบายรายวิชา เพื่อให้อาจารย์สามารถเพิ่มเติมแก้ไขคำอภิบายรายวิชา หรือ "ปรับเล็ก" ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ลงตัวกับบริบทของนิสิต อาจารย์ และมหาวิทยาลัยมากขึ้น

นอกจากนี้แล้ว อาจารย์ท่านหนึ่งเสนอว่า สำนักศึกษาทั่วไป ควรจะเอาจุดมุ่งหมายและเป้าหมายของแต่ละรายวิชาทั้ง ๓๐ หน่วยมาร่วมพิจารณา ให้เห็นภาพรวมและความสอดคล้องกับเป้าหมายของหลักสูตร ... ซึ่งตรงกับกระบวนการที่เราออกแบบไว้พอดี

อาจารย์ชุนเสนอแนะว่า หากสำนักศึกษาทั่วไปนำเอาตัวชี้วัดต่างๆ ที่ตอนนี้ สกอ. กำกับไว้เพื่อการพัฒนาหลักสูตรปริญญาตรี มาใช้ในระบบประกันคุณภาพของหน่วยงานด้วย จะถือเป็นการประกันคุณภาพหลักสูตรฯ ได้อย่างดี เพราะปัจจุบันนอกจากการทวนสอบผลสัมฤทธิ์แล้ว ศึกษาทั่วไปยังไม่มีการประเมินผลลัพธ์การจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป โดยเฉพาะด้านคุณธรรมจริยธรรม

เกี่ยวกับประเด็นนี้ งบวิจัยของสำนักศึกษาทั่วไป ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้มอบทุนวิจัยให้ศูนย์วิจัยทดสอบและประเมินผลการศึกษา (ERTEC) คณะศึกษาศาสตร์ ทำการวิจัยผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ๘ ด้าน (ไม่รวมทักษะภาษา) โดยใช้กลุ่มเป้าหมายของนิสิตชั้นปี ๑ ที่เรียนรายวิชาศึกษาทั่วไปหลักสูตรฯ เดิม (พ.ศ. ๒๕๕๔) และนิสิตชั้นปี ๒ ที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไปในหลักสูตรฯ (พ.ศ. ๒๕๕๔) รวมจำนวน ๑,๐๐๐ คน ปรากฎผลที่น่าสนใจหลายอย่าง ขอนำไปเล่าไว้ในบันทึกถัดๆ ไปก็แล้วกันนะครับ

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวแล้วผมเห็นด้วยที่จะนำเอาตัวชี้วัดที่เป็นประโยชน์ของหลักสูตร มาไว้ในระบบประกันคุณภาพการศึกษาของสำนักศึกษาทั่วไป

ด้านการบริหารหลักสูตรฯ

๑) เรื่องค่าตอบแทนการสอน

ปัญหา : ตารางสอนซึ่งมหาวิทยาลัยกำหนดให้ใช้เป็นหลักฐานแสดงภาระงานสำหรับเบิกค่าสอนของรายวิชาศึกษาทั่วไป ไม่แสดงสัดส่วนการปฏิบัติงานจริงของอาจารย์ ทำให้สำนักศึกษาทั่วไปไม่สามารถคำนวณภาระงานให้ได้ตามการปฏิบัติจริง

คำอธิบาย : ปัญหานี้เกิดขึ้นในกรณีที่ในรายวิชาเฉพาะของสาขาวิชา มีอาจารย์ผู้สอนหลายท่านแต่สอนไม่เท่ากัน การคำนวณภาระงานจะใช้วิธีตั้งหาร อาจารย์แต่ละท่านจะมีภาระงานเท่า ๆ กันในรายวิชานั้นๆ จึงทำให้ตารางสอนไม่สะท้อนภาระงานจริง

วิธีแก้ไข : อาจารย์ต้องให้ทางคณะ-วิทยาลัย ทำบันทึกข้อความชี้แจ้งรายละเอียดสัดส่วนภาระงาน ของรายวิชานั้นๆ มายังสำนักศึกษาทั่วไป ฝ่ายการเงินจะใช้ "ต้นเรื่อง" นั้น ในการคำนวณภาระงานเพื่อเป็น "หน่วยกิตฐาน" ในการคำนวณค่าตอบแทน

กระบวนการที่ควรจะเป็น : ความจริงแล้ว ผู้รับผิดชอบการคำนวณภาระงาน "หน่วยกิตฐาน" ควรจะเป็นงานของภาควิชาฯ ผ่านขึ้นมายังคณะ-วิทยาลัย เนื่องจากจะมีรายละเอียดภาระงานที่แท้จริงของอาจารย์ผู้สอน แต่ที่ผ่านมา การเงินของสำนักศึกษาทั่วไป รับหน้าที่นี้มาทำ เพื่อลดขั้นตอนการส่งเอกสารระหว่างคณะ-วิทยาลัยกับสำนักฯ และเพื่อให้สามารถเบิกจ่ายค่าตอบแทนได้รวดเร็ว

๒) อาจารย์ผู้ประสานงาน

ปัญหา : บทบาทหน้าที่ไม่ชัดเจน อาจารย์ผู้สอนไม่ให้ความร่วมมือ และขาดแรงจูงใจในการปฏิบัติหน้าที่

ข้อสรุปของการแลกเปลี่ยน : สำนักศึกษาทั่วไปควรกำหนดบทบาทหน้าที่ของอาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชาให้ชัดเจน และสร้างระเบียบหรือมาตรการในกรณีที่อาจารย์ไม่ให้ความร่วมมือกับอาจารย์ผู้ประสานงาน รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชา โดยการพาไปศึกษาดูงานและเข้ารับการฝึกอบรมด้านการศึกษาทั่วไปตามสมควร

๓) นิสิต LA

ปัญหา ๑ : นิสิต LA ไม่ทั่วถึง ค่าตอบแทนน้อยเกินไป

ชี้แจง : สำนักศึกษาทั่วไปพยายามพัฒนาการเรียนการสอนสำหรับชั้นเรียนขนาดใหญ่ การกำหนดให้มีนิสิตช่วยงานมีมานานแล้ว ภายใต้ระเบียบว่า หากชั้นเรียนได้มีนิสิต ๑๕๐ - ๓๙๙ มีนิสิตช่วยงานได้ ๑ คน (๓๐ ชั่วโมง) ถ้ารายวิชานั้นมีนิสิตรวมกัน ๔๐๐ -๕๙๙ จะมีนิสิตช่วยงานได้ ๒ คน (๖๐ ชั่วโมง) ถ้ามี ๖๐๐ - ๗๙๙ คน มีนิสิตช่วยงานได้ ๓ คน (๙๐ ชั่วโมง) ถ้ามีนิสิต ๘๐๐ - ๙๙๙ คน จะมีนิสิตช่วยงานได้ ๔ คน (๑๒๐ ชั่วโมง) และถ้ามีนิสิตลงทะเบียนเรียนในรายวิชานั้นตั้งแต่ ๑,๐๐๐ คนขึ้นไป จะมีนิสิตช่วยงานได้ ๕ คน (๑๕๐ ชั่วโมง) ระเบียบนี้เหมาะสำหรับหลักสูตรเก่า (พ.ศ. ๒๕๕๔) ที่มีจำนวนวิชากว่าร้อย ซึ่งรายวิชาส่วนใหญ่จะมีนิสิตลงทะเบียนเรียนไม่มาก แต่สำหรับหลักสูตรใหม่ จำนวนวิชาน้อยลงมาก นิสิตที่ลงทะเบียนเรียนในแต่ละรายวิชามีตั้งแต่ ๑,๐๐๐ ถึง ๕,๐๐๐ ดังนั้นระเบียบนี้จึงต้องปรับ

วิธีแก้ไข : สำนักศึกษาทั่วไป ได้ดำเนินการปรับระเบียบใหม่ให้เอื้อต่อการจ้างนิสิตช่วยงานแล้ว โดยหากมีงบสนับสนุนเต็มที่ ด้วยระเบียบใหม่ จะมีนิสิตช่วยงานได้ทุกกลุ่มเรียน ส่วนเรื่องค่าตอบแทนที่น้อยเกินไป คงต้องเป็นการขับเคลื่อนระดับมหาวิทยาลัยต่อไป ... อาจารย์หลายท่าน ใช้วิธีแบ่งค่าสอนของตนเองเพิ่มให้นิสิตช่วยงานเท่าตัว จาก ๒๕ บาทต่อชั่วโมง เป็น ๕๐ บาทต่อชั่วโมง

ปัญหา ๒ : ความรับผิดชอบและคุณภาพการปฎิบัติงานของนิสิต LA บางคนไม่โอเค

แนวทางแก้ไข : สำนักศึกษาทั่วไป ได้จัดให้มีโครงการนิสิตผู้ช่วยอาจารย์ (Lecturer Assistant) หรือนิสิต LA โดยใช้ระเบียบการจ้างนิสิตช่วยงานที่มีอยู่เดิม และสร้างกระบวนการรับสมัคร จัดฝึกอบรม และจัดระบบการปฏิบัติงานและรายงานผลของนิสิต LA ให้เป็นไปในทำนองเดียวกัน

การดำเนินการที่ผ่านมาพบว่า อาจารย์ผู้สอนอาจเข้าใจผิดระหว่าง "LA" กับ "TA" จึงคาดหวังให้นิสิต LA สามารถตรวจงานได้ ความจริงแล้วนิสิต LA ไม่ได้มีหน้าทีตรวจงาน หรือทำงานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยเฉพาะต้องไม่ให้ช่วยสอน (Teaching Assistant) แต่มีหน้าที่เพียง ช่วยเช็คชื่อการเข้าเรียน การรวบรวมงานของนิสิตให้อาจารย์ตรวจ รับงานจากอาจารย์มากรอกคะแนนลงใน Excel แล้วส่งคืนให้อาจารย์ และทำหน้าที่ปิดเปิดหรือช่วยเหลือในการใช้สื่อโสตในชั้นเรียน

(มีต่อประเด็นถัดไปในบันทึกหน้าครับ)






หมายเลขบันทึก: 608272เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2016 14:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2016 14:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท