รายวิชาศึกษาทั่วไป : ทำไมต้องเช็คชื่่อตรวจสอบการเข้าเรียน


หลังมีข่าวเรื่องการโพสท์รับจ้างเรียนแทนในสื่อสังคมออนไลน์ มีหลายคนตั้งคำถามต่อรายวิชาศึกษาทั่วไปที่ใช้ห้องเรียนรวมขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ตั้งแต่ ๑๐๐ ถึง ๓๕๐ คน ว่า เป็นไปได้ไหมถ้าไม่ต้องเช็คการเข้าเรียน คำตอบคือ "ไม่ได้" ดังจะขออธิบาย ดังนี้ครับ

ระเบียบหรือข้องบังคับของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่เกี่ยวข้องกับกรณีเช็คชื่อเข้าเรียน กำหนดไว้ในหมวดของการวัดผลประเมินผล บอกว่า "นิสิตต้องมีเวลาเรียนในรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียน ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ ของเวลาเรียนทั้งหมดของรายวิชา จึงจะมีสิทธิ์เข้าสอบ" (จากคู่มือนิสิตระดับปริญญาตรี ปี ๕๗ ของ มมส.) และอีกข้อหนึ่งที่บอกว่า หากไม่ได้สอบปลายภาคจะมีผลการเรียนเป็น F หรือตกในรายวิชานั้นไป ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย จึงกำหนดให้อาจารย์ทุกท่านต้องตรวจสอบการเข้าเรียนของนิสิตอยู่แล้ว ไม่ด้วยวิธีใดก็วิธีหนึ่ง...

รายวิชาศึกษาทั่วไป (ตามหลักสูตปรับปรุงใหม่ พ.ศ. ๒๕๔๘) มีหลากหลายรายวิชา แต่ละวิชามีธรรมชาติของรายวิชาซึ่งหวังผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาแตกต่างกัน บางวิชาเน้นความรอบรู้ บางวิชาเน้นทักษะการเรียนรู้ บางวิชาเน้นทักษะชีวิต และบางวิชาก็เน้นพัฒนาจิตวิญญาณในการดำรงอยู่เพื่อสังคม ดังนั้น วิธีการประเมินผลการศึกษาจึงแตกต่างหลากหลายไปตามรายวิชาในแต่ละประเภท ทำให้แนวปฎิบัติในการตรวจสอบการเข้าเรียนของอาจารย์แต่ละท่านแตกต่างกันไป

รายวิชาที่เน้นสร้างแรงบันดาลใจ ขยายความรอบรู้ รู้กว้าง รู้เท่าทันโลก ส่วนใหญ่จะจัดในห้องเรียนขนาดใหญ่ และสอนแบบบรรยาย หรือบรรยายประกอบสื่อโสต รายวิชาแบบนี้แม้มีการตรวจเช็คการเข้าเรียน ก็เพื่อปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียนเรื่องความตรงต่อเวลาและความรับผิดชอบ วิธีการวัดผลส่วนใหญ่จะเป็นคะแนนจากการทดสอบและคะแนนงานที่อาจารย์มอบหมาย

รายวิชาที่เน้นด้านทักษะ เช่น ทักษะด้านภาษาที่เน้นให้ พูด อ่าน เขียน หรือทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรมต่างๆ หรือรวมถึงทักษะด้านการสื่อสารและสารสนเทศ ซึ่งล้วนแต่ต้องออกแบบให้นิสิตได้ฝึกคิด ฝึกทำ ฝึกนำเสนอ รายวิชาเหล่านี้ จำเป็นที่นิสิตจะต้องเข้าเรียน และการตรวจเช็คต้องเป็นไปอย่างเข้มข้น ใครที่คิดจะจ้างคนมาเรียนแทน ก็ลองดูครับ คนที่อยู่สำนักศึกษาทั่วไป ก็คงไม่ยอมให้คนเหล่านี้หลุดไปได้ แนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอนจึงต้องลดขนาดของนิสิตต่อกลุ่มเรียนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้อย่างคุ้มค่า

ส่วนรายวิชาที่เน้นสร้างจิตวิญญาณ ปลูกฝังอุดมการณ์ให้เป็นที่พึ่งแก่สังคม ตามปรัชญาและอัตลักษณ์มหาวิทยาลัย ยิ่งต้องใช้วิธีการตรวจสอบที่หลากหลาย เพราะต้องออกแบบการเรียนการสอนให้นิสิตต้องเรียนรู้ผ่านกระบวนการทำงานเพื่อสังคมจริงๆ

จากประสบการณ์และจากการแลกเปลี่ยนกับอาจารย์ผู้สอนหลายท่าน พบแนวปฏิบัติในตรวจสอบการเข้าเรียนดังนี้

  • ตรวจสอบด้วยการทดสอบย่อย หรือ คำถามท้ายชั่วโมง หรือให้สรุปการฟังบรรยายเป็น mind map แล้วส่งทุกคาบเรียน
  • ให้ลงลายมือชื่อเข้าเรียน แล้วนับจำนวนเปรียบเทียบป้องกันการมาเรียนแทน
  • ให้นั่งประจำที่นั่ง ที่นั่งใดว่าง ที่นั่งนั้นขาดเรียน และถ่ายรูปภาพรวมไว้เป็นหลักฐานในการเข้าเรียน
  • ตรวจสอบจากใบงานหรือใบกิจกรรมในชั้นเรียนประจำสัปดาห์ หากไม่มาก็ไม่มีงาน
  • ให้เขียนสะท้อนการเรียนรู้ (Reflection) ในแบบฟอร์ม ท้ายชั่วโมงทุกครั้ง
  • เป็นต้น

หลักสำคัญ การจัดการเรียนการสอนของในทุกๆ รายวิชา จะต้องน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากำกับ ต้องยืดหยุ่นด้วยเหตุและผล คำนึงถึงการระเบิดจากภายในตัวคนคือการพัฒนาตัวคนเป็นสำคัญ ไม่ใช่ติดกรอบจนสุดโต่งหรือหลงไหลไปกับชื่อเสียงเกียรติยศจนละเลยคุณค่าจนไร้ปัญญาไป

หมายเลขบันทึก: 608087เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2016 16:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2016 17:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ใช้วิธีการ Quiz ใน ClassStart ค่ะอาจารย์ เป็นการ check ชื่อไปในตัว

ขอบพระคุณครับอาจารย์ คิดเหมือนกันครับ ว่าหลายรายวิชา น่าจำนำ classstart.org มาทดลองนำร่องใช้ อาจต้องรบกวนอาจารย์สักวันครับ ....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท