วิชาการพัฒนานิสิต : ชั่วโมงต้นๆ ผ่านการเรียนรู้แบบบันเทิงเริงปัญญา


​​การเรียนรู้เช่นนี้จะไม่เพียงก่อให้เกิดเพียงแค่ความรู้เท่านั้น หากแต่จะช่วยให้นิสิตมีทัศนคติที่ดีต่อการดำรงชีวิตและรับผิดชอบต่อสังคม (จิตสาธารณะ) ตลอดจนมีทักษะในการที่จะเรียนรู้-ทำงาน-ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า และเป็นสุข

การเรียนการสอนในรายวิชาการพัฒนานิสิต เมื่อวันที่ 30-31 พฤษภาคม 2559 (ภาคเรียนที่ 3/2558) ดำเนินการโดย ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา และทีมกระบวนกร (ผู้ช่วยสอน)

ก่อนการเรียนการสอน มีการประชุมตระเตรียมทุกอย่างร่วมกัน นับตั้งแต่ประเด็นการบรรยาย สื่อประกอบการเรียนรู้ การประเมินผลรายชั่วโมง การมอบหมายภารกิจรายบุคคล





เรียนรู้ผ่านคลิป : เติมมุมคิดของการสร้างสื่อการเรียนรู้

ถึงแม้รายวิชาพัฒนานิสิต จะไม่มีห้วงบรรยาย หรือเชิงปฏิบัติการให้นิสิตมีความรู้และทักษะในการผลิตสื่อการเรียนรู้ แต่มีการออกแบบให้นิสิตได้เรียนรู้จาก “ของจริง” หรือ “กรณีศึกษา” เป็นหัวใจหลัก ซึ่งเราจะเลือกเฟ้นว่าสื่อ หรือคลิปใดเหมาะสมกับเนื้อหาการเรียนรู้ในแต่ละครั้ง

โดยหวังใจว่า เมื่อนิสิตได้ดูแล้ว จะไม่ได้แค่ความรู้เท่านั้น แต่อาจมีแรงบันดาลใจในการที่จะลุกขึ้นมาศึกษาเรียนรู้การผลิตสื่อด้วยตนเอง

ครั้งนี้ก็เช่นกัน ปรับจูนความคาดหวัง อธิบายรายวิชา และดูผลการเรียนรู้จากปีที่ผ่านๆ มา รวมถึงผลงานอันเป็นภารกิจของมหาวิทยาลัยมหาสารคามในมิติการเรียนรู้คู่บริการ หรือการศึกษาเพื่อรับใช้สังคม เช่น

  • เรียนวิชานิสิตกันไปทำไม (ผลงานของนิสิต)
  • ภาพรวมและผลพวงการเรียนรู้วิชาการพัฒนานิสิต (ผลิตโดยทีมกระบวนกร)
  • สารคดี “ปลาเปลี่ยนชีวิต” (ผลิตโดยคณะกรรมการโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนและสาขาประมง)



รู้จักฉันรู้จักเธอ : ละลายพฤติกรรมบนฐานคิดการจัดการความรู้สู่การแบ่งปันเรื่องราวชีวิต

กิจกรรมรู้จักฉันรู้จักเธอ เป็นกิจกรรมหลักที่เรานำมาใช้เป็นกระบวนการหนุนเสริมการเรียนรู้ในช่วงชั่วโมงต้นๆ เป็นหนึ่งในกระบวนการละลายพฤติกรรมผู้เรียนเข้าหากัน ผ่านกิจกรรมวาดภาพ การเล่าเรื่องผ่านภาพ การส่งสารผ่านเรื่องราวของเพื่อน

แน่นอนครับ กระบวนการเหล่านี้คือ “ศิลปะบำบัด” และเป็นการ “ถอดบทเรียนชีวิต” ไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ ฝึกทักษะการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ผ่านภาพ ถ้อยคำอันเป็นอักษรและคำพูด ฝึกการฟัง – ฟังแล้วจับประเด็นเพื่อสื่อสารอีกทอดต่อสาธารณะ




ก่อนการวาดภาพ – กระบวนการเริ่มต้นง่ายๆ คือ กำหนดให้แต่ละคนนั่งสมาธิเพื่อทบทวนเรื่องราวบางเรื่องของตนเอง จากนั้นให้จับคู่แล้วเล่าเรื่องราวที่ตนเองนึกคิดเมื่อสักครู่ให้เพื่อนฟัง (มีคนพูด-มีคนฟัง) เมื่อเล่าเสร็จก็สลับกันเล่า โดยไม่ให้มีข้อซักถามใดๆ จากนั้นก็ขยับเปลี่ยนคู่ไปยังคนอื่นๆ

นี่เป็นกระบวนการง่ายๆ หรือเตรียมความพร้อมเข้าสู่กระบวนการอันเต็มรูปแบบของการ “รู้จักฉันรู้จักเธอ” นั่นเอง






บรรยายภาคทฤษฎี : บัณฑิตอุดมคติ

ประเด็นการบรรยายเรื่อง “บัณฑิตอุดมคติ” รับผิดชอบโดย ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา อดีตผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต โดยปัจจุบันรับผิดชอบเป็นอาจารย์ผู้ประสานงานวิชาการพัฒนานิสิต

ประเด็นการบรรยายเริ่มต้นจากการอธิบายภาพรวมของการเรียนรู้และการประเมินผลการเรียนรู้ในวิชานี้ เช่น

  • จุดมุ่งหมายรายวิชา (พัฒนานิสิตให้เป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์)
  • บัณฑิตอุดมคติไทย (เก่ง ดี มีสุข)

    จากนั้นก็เชื่อมโยงมายังกรอบมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษา (TQF) พร้อมๆ กับการหยิบยกให้นิสิตได้เข้าใจคำว่า Hard skills & Soft skills โดยเฉพาะ Soft skills นั้นค่อนข้างเจาะลึกลง เนื่องจากเป็นทักษะที่เกี่ยวโยงกับการใช้ชีวิตและสังคม ทั้งในฐานะการเป็นนิสิตและบัณฑิต หรือคนทำงานในอนาคต




เช่นเดียวกับเชื่อมโยงไปยังเรื่องทักษะการเรียนรู้ในศตรรษที่ 21 และทักษะการจัดการความรู้ (Km) ที่นิสิตจำต้องรู้ จำต้องเรียนรู้ และจำเป็นต้องมีทักษะในการขับเคลื่อน

หรือกระทั่งการพุ่งประเด็นไปยังเรื่อง เช่น

  • ปรัชญา (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพือมหาชน)
  • เอกลักษณ์มหาวิทยาลัย (เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน)
  • อัตลัษณ์นิสิต (เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมละชุมชน)
  • ค่านิยมของนิสิต (MSU FOR ALL : พึ่งได้)


    ประเด็นเหล่านี้ล้วนยึดโยงอยู่กับปลายทางการผลิตบัณฑิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งวิชาการพัฒนานิสิต เป็นหนึ่งในระบบและกลไกอันสำคัญของการบ่มเพาะเรื่องเหล่านี้ไม่แพ้วิชาเรียน หรือกระบวนการอื่นๆ เนื่องจากวิชาการพัฒนานิสิตเป็นการเรียนรู้ในแบบ Active Learning เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ หรือเรียนรู้ผ่านกิจกรรม และมีชุมชนเป็นห้องเรียน


    การเรียนรู้เช่นนี้ไม่เพียงก่อให้เกิดเพียงแค่ "ความรู้" (knowledge) เท่านั้น หากแต่จะช่วยให้นิสิตมี "ทัศนคติ/เจตคติ" (Attitude) ที่ดีต่อการดำรงชีวิตและรับผิดชอบต่อสังคม (จิตสาธารณะ) ตลอดจนมีทักษะ (Skill) ในการที่จะเรียนรู้-ทำงาน-ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า และเป็นสุข





AAR ผ่านใบงานรายชั่วโมง

ท้ายชั่วโมงของการเรียนรู้ในแต่ละวัน ทีมผู้สอนและผู้ช่วยสอนทั้งหมด จะให้นิสิตทบทวนการเรียนรู้ผ่านฐานคิด “สุ จิ ปุ ลิ” เริ่มตั้งแต่การตั้งประเด็นซักถาม เชื้อเชิญให้นิสิตถาม หรือแชร์ความคิด รวมถึงการให้นิสิตแต่ละคนเขียนสะท้อนผลการเรียนรู้ลงในใบงาน



ครับ- กระบวนการเช่นนี้ เป็นกระบวนการประเมินผลการเรียนรู้รายชั่วโมงง่ายๆ แต่เราก็เชื่อว่าความง่ายที่ว่านี้ คือ ความง่ายงามของการเรียนรู้ เสมือนการตีเหล็กขณะที่กำลังร้อนๆ มิใช่สัปดาห์หน้า หรือชั่วโมงถัดไปค่อยมาทบทวน –

และนี่คือกระบวนการเรียนรู้ในช่วงชั่วโมงต้นๆ ของวิชาการพัฒนานิสิตในแบบบันเทิงเริงปัญญา ที่ได้ทั้งความรู้และความบันเทิง และแอบอิงอิงอยู่กับแนวคิดการจัดการเรียนรู้ในแบบ Active Learning ดี ๆ นั่นเอง




ภาพ : อัมพล นุกิจ จันเพ็ญ ศรีดาว
ออกแบบ : จันเพ็ญ ศรีดาว
ถอดคำ : พนัส ปรีวาสนา

หมายเลขบันทึก: 607800เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2016 15:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2016 02:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท