ประวัติเมืองสงขลา (21) วัดท่าทาง


สงขลาเองเป็นเมืองเก่า คงเคยมีบทนิราศอยู่มากพอสมควร เพราะต้องอาศัยการเดินทางด้วยเรือและรถไฟเป็นหลัก

เมื่อมีเหตุจำเป็นต้องค้นหาความเป็นมาของชื่อสถานที่ต่างๆ บางครั้งผมนึกถึงบทกวีประเภทนิราศ

ที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ก็คือ นิราศของสุนทรภู่ เช่น นิราศเมืองแกลง นิราศสุพรรณ นิราศพระประธม และนิราศเมืองเพชร เป็นต้น สังเกตว่าชื่อนิราศเป็นชื่อสถานที่ต่างๆ ที่กวีเดินทางไปถึง

นิราศ เป็น บทกวีที่แต่งขึ้นเพื่อบรรยายถึงสภาพการเดินทาง ด้วยสมัยก่อนการเดินทางลำบากและใช้เวลานาน นักเดินทางจึงแต่งกลอนแก้เบื่อ บอกเล่าให้รู้ว่าระหว่างการเดินทางพบเจอสิ่งที่น่าสนใจอะไรบ้าง สภาพภูมิประเทศเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญที่คู่กับนิราศคือ มักคร่ำครวญโหยหาถึงคนรักที่จากมา

สงขลาเองเป็นเมืองเก่า คงเคยมีบทนิราศอยู่มากพอสมควร เพราะต้องอาศัยการเดินทางด้วยเรือและรถไฟเป็นหลัก น่าเสียดายที่เหลือตกทอดมาให้ศึกษาไม่มากนัก และกระจัดกระจาย ยังไม่ค่อยมีการรวบรวมไว้เป็นหลักแหล่ง

นิราศเทพา บทประพันธ์ของ ก.แสงจันทร์ หรือนายกระจ่าง แสงจันทร์ ซึ่งเป็นครูรุ่นเก่าของโรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา ประพันธ์คราวไปทำสำมะโนครัวที่อำเภอเทพา พ.ศ. 2460 มีบทกลอนตอนหนึ่งว่า

... ลงบันไดไคลคลาอุราเศร้า ให้ง่วงเหงาเปล่าอกระหกระเหิน จนมาถึงสถานีไม่มีเพลิน ก้มหน้าเมินขึ้นรถไฟครรไลลา กระทั่งถึงวัดโรงวาศอนาถเนตร แสนเทวษมิได้สิ้นถวิลหา เหมือนเขาวาดรูปมิตรมาติดตา ทัศนาสิ่งทั้งหลายมิได้ยล อินยิเนียร์เปิดแตรแซ่สนั่น แม้เสียงฉันก้องฟ้าเวหาหน จะกล่าวคำอำลากลางอรญ ให้ยุบลทราบกรรณของขวัญใจ

มาถึงวัดท่าทางยิ่งหมางจิต ดำริคิดในอุราน้ำตาไหล อยู่ร่วมห้องครองกันไม่ทันไร จะต้องไปสู่ป่าวัดท่าทาง...

วัดท่าทางที่กล่าวถึงในนิราศนี้ สันนิษฐานกันว่าชื่อวัดอาจมาจากตั้งอยู่ริมทางรถไฟ สมัยนั้นถ้านั่งรถไฟออกจากสถานีสงขลาลงใต้มุ่งหน้าไปหาดใหญ่ จะผ่านด้านหลังวัดโรงวาสทางขวามือ จากนั้นจะผ่านทางแยกไปท่าเรือรถไฟริมทะเลสาบสงขลา แล้วจะผ่านวัดท่าทางอยู่ซ้ายมือ ทางฝั่งตะวันออกของทางรถไฟ

ฝั่งตรงข้ามกับวัดท่าทาง คือวัดหัวป้อมนอก วัดเล็กๆ มีพื้นที่เพียงนิดเดียว หลังวัดจะติดกับวัดหัวป้อมใน ซึ่งหันประตูวัดออกไปทางถนนรามวิถี ถนนสายสำคัญของเมืองสงขลาที่สร้างขึ้นในราว พ.ศ. 2458 เพื่อรำลึกถึงรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งเสด็จเลียบมณฑลปักษ์ใต้

ส่วนทางรถไฟนั้น มาถึงสงขลาเมื่อ พ.ศ. 2456 ก่อนที่ ก.แสงจันทร์จะประพันธ์นิราศเทพาเพียง 4 ปีเท่านั้น สภาพที่ท่านบรรยายว่า จะต้องไปสู่ป่าวัดท่าทาง ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าเหตุใดท่านจึงไม่ได้กล่าวถึงวัดหัวป้อมในซึ่งเป็นวัดใหญ่แห่งหนึ่งของสงขลามาช้านานเลย และอีกประการหนึ่ง วัดท่าทางได้ชื่อนี้เพราะอยู่ข้างทางรถไฟจริงหรือ

อนึ่ง ต้องหมายเหตุไว้ว่า ที่ดินแคบๆ ของวัดหัวป้อมนอกเดิม ฝั่งตะวันตกของทางรถไฟนั้นได้กลายเป็นชุมชนไปแล้วในปัจจุบัน ส่วนวัดท่าทางก็เปลี่ยนชื่อเป็นวัดหัวป้อมนอกแทน การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อใดยังค้นไม่ได้

วัดหัวป้อมนอก (วัดท่าทาง) ในวันนี้ ยังเป็นวัดสงบเหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อน แม้จะมีโบสถ์หลังใหม่กำลังก่อสร้าง มาวัดนี้อย่าลืมแวะไปดูห้องน้ำของวัดที่สร้างจากเงินทำบุญ เป็นรูปขบวนรถไฟที่มีไอ้เท่งเป็น พขร.และมีไอ้หนูนุ้ยเป็นผู้ช่วย คิดถึงขบวนรถไฟสายสงขลาที่ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว

หมายเลขบันทึก: 607795เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2016 12:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2016 06:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท