"รักษาสิทธิของตัวเอง" อย่างไรให้สังคมสงบสุข


ดัชนีชี้วัดอย่างหนึ่งของคนที่รู้สึกขาด รู้สึกไม่พอ คือคนที่มีแนวโน้มที่ใช้ชีวิตทุกวันคิดถึงแต่ตัวเอง คิดว่าตัวเองถูกเอาเปรียบตลอดเวลา มักจะมองไม่เห็นสิ่งที่ตัวเองได้รับ ถึงแม้ว่าจะได้อะไรมากมายในชีวิตก็ตาม เมื่อคนเราไม่พอใจและไม่สามารถบริหารสิ่งที่ตัวเองได้รับให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวเองได้ แล้วจะหาความสุขกับชีวิตได้อย่างไร

ที่สำคัญคนที่ทำตัวอ่อนแอเป็นผู้รับ และใช้ชีวิตที่หวังให้คนรอบข้างต้องเสียสละให้ตัวเองตลอดเวลา ซึ่งการเสียสละ หรือการให้กับคนประเภทนี้บ่อยครั้งขึ้น มันจะกลายเป็นความเคยชินของคนที่ได้รับ จนทำให้ผู้ที่รับคิดว่า นี่คือหน้าที่ของผู้ให้ที่ต้องให้ และต้องเสียสละ และสิ่งนั้นกลายเป็นสิทธิของตัวเอง โดยหารู้ไม่ว่า นั่นคือการละเมิดสิทธิของคนอื่น ปัญหาความขัดแย้งในสังคมจึงเกิดขึ้น

ความเป็นจริงในสังคม หากใครก็ตามเป็นคนเข้มแข็ง เป็นผู้ที่เสียสละ ยอมไปเสียทุกอย่าง มักจะถูกเอาเปรียบเสมอ เพราะแค่ยืนยันเพื่อรักษาสิทธิของตัวเองก็ถูกมองว่าไม่เสียสละ รังแกผู้ที่อ่อนแอกว่า ด้วยเหตุนี้ สังคมจึงต้องมีกรอบ มีกฏ กติกา ไว้เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิของกันและกัน และตัวเราเองบางครั้งยังจำเป็นต้องสร้างเกราะไว้ป้องกันตัวเองอีกด้วย

การเอาเปรียบกับการเห็นแก่ตัวแตกต่างกัน การเอาเปรียบคือการละเมิดสิทธิของคนอื่น ไปเบียดบังสิทธิของคนอื่น พยายามไปเอาของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง ในขณะเดียวกัน การเห็นแก่ตัว คือการมองเห็นแต่ตัวเอง มองเห็นแต่สิทธิของตัวเอง และรักษาสิทธิของตัวเองมากเกินไป โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของคนอื่น การเห็นแก่ตัวเป็นการไร้น้ำใจ แต่อาจจะไม่เป็นการเอาเปรียบคนอื่นก็ได้ตราบใดที่ไม่ไปละเมิดสิทธิของเค้า

ใครก็ตามรักษาสิทธิของตัวเอง โดยไม่ไปก้าวล้ำสิทธิของผู้อื่น ก็ไม่ควรจะถูกตำหนิ แต่หากเมื่อใดที่นึกถึงคนอื่น พยายามดูแลและรักษาสิทธิของคนอื่นพร้อมๆ กันไปด้วย หมายถึงการมีน้ำใจ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ในขณะที่การให้หรือการเสียสละ คือการมอบสิทธิของตัวเอง ให้กับคนอื่นด้วยความเต็มใจ โดยไม่ถูกบีบบังคับ

ในสังคมจริงๆ เราต้องรักษาสิทธิของคนอื่น ให้มากกว่าหรือพอๆ กับการรักษาสิทธิของตัวเอง และที่สำคัญเราต้องไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น และต้องไม่ตำหนิคนอื่นที่ไม่ยอมเสียสิทธิของเค้า เพราะเป็นสิทธิ์ของเค้าที่เค้าจะเสียสละหรือไม่ ถ้าเค้าเสียสละ ก็ต้องรู้จักขอบคุณในความมีน้ำใจ แค่นี้สังคมก็สงบสุขแล้วคะ แต่ก็นั่นแหละ คนบางคนยังแยกไม่ออกเลยว่า อะไรคือสิทธิของตัวเอง อะไรคือสิทธิของคนอื่น แล้วจะไม่ให้สังคมวุ่นวายได้อย่างไร



หมายเลขบันทึก: 607693เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2016 12:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2016 12:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ข้อความมีประโยชน์มากเลยครับ

ขอบคุณมากๆครับ

ขอบคุณ อ.ขจิตมาก สำหรับกำลังใจ ให้คนเขียนคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท