สถาบันวิจัยของรัฐกับการสร้างนวัตกรรมแก่ประเทศ



ศ. ดร. ภัทรพงศ์ อินทรกำเนิด ส่งบทความเรื่อง Role of Public Research Institutes in National Innovation Systems in Industrialized Countries: The cases of Fraunhofer, NIST, CSIRO, AIST, and ITRI มาให้จากญี่ปุ่นอ่านแล้วได้ความรู้มาก

งานวิจัยนี้ ตรวจสอบบทบาทของหน่วยงานวิจัยของรัฐ (PRI – Public Research Institutes) ๕ แห่งใน ๕ ประเทศ งานวิจัยแบบนี้มีการทำมาแล้วหลายครั้งในโลก และให้ความรู้มาก ในเรื่องระบบนวัตกรรม ของประเทศที่อุตสาหกรรมเข้มแข็งแล้ว และที่กำลังพัฒนาอุตสาหกรรม

อ่านแล้วผมเกิดคำถามว่า ประเทศในระดับประเทศไทยจะวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศกระโดดไปเน้นรายได้ จากอุตสาหกรรมบริการ (แทนที่จะตามรอยเดิมที่เข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตตามแบบประเทศตะวันตก) จะได้ไหม

ไม่ว่าจะโมเดลไหน PRI ทำหน้าที่เชื่อมระหว่างการวิจัยพื้นฐาน กับการวิจัยโดย ผู้ใช้” (อุตสาหกรรม) โดยตรง ในภาษาวิชาการเรียนว่าเป็นสะพานเชื่อมหุบเหวมรณะ (Valley of Death) ของการวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์ หรือบริการ

หน้าที่หลักของ PRI คือสนับสนุนอุตสาหกรรม ซึ่งหมายความว่า ต้องมีกลไกที่ทำให้ PRI สนองความต้องการของอุตสาหกรรม โดยที่อุตสาหกรรมเปลี่ยนเร็วมาก จึงต้องมีกลไกให้นักวิจัยของ PRI ตามการเปลี่ยนแปลงนี้ทัน

กลไกการกำหนดนโยบายการวิจัยเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ต้องมาจากทั้งฝ่ายอุตสาหกรรม และจากนักวิจัย สถาบันวิจัย PRI ๕ แห่งใน ๕ ประเทศนี้ ทำวิจัยลงวิจัยพื้นฐาน และวิจัยค่อนไปทาง ประยุกต์มากๆ แตกต่างกัน เพราะตั้งมาด้วยจุดเน้นที่ต่างกัน

จุดที่สำคัญยิ่งคือ ต้องมีการประเมินผลงานอย่างจริงจัง โดยผู้ประเมินภายนอกที่ประเมินอย่างจริงจัง นำมาใช้ปรับทิศทาง และยุทธศาสตร์ การทำงาน ผู้เขียนรายงานการวิจัยนี้บอกว่า ตำแหน่งที่ตั้งของสถาบันวิจัย ที่ทำให้ใกล้ชิดกับอุตสาหกรรม มีความสำคัญมาก

ระบบกำกับดูแล คือบอร์ดนโยบาย บอร์ดบริหาร และบอร์ดของโปรแกรม ต้องมีฝ่ายอุตสาหกรรม ร่วมด้วย อย่างเหมาะสม และข้อน่าสนใจคือ PRI ต้องเชื่อมโยงกับกระทรวงด้านเศรษฐกิจ เช่น แห่งหนึ่ง (NIST ของสหรัฐอเมริกา) สังกัดกระทรวงพาณิชย์ อีกแห่งหนึ่งสังกัดกระทรวงเศรษฐกิจ (ITRI ของไต้หวัน) อีกแห่งหนึ่ง สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ (CSIRO ของออสเตรเลีย) อีกแห่งหนึ่ง (AIST ของญี่ปุ่น) อยู่ใต้กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ส่วน FhG เป็นหน่วยงานอิสระของรัฐบาล เยอรมนี


วิจารณ์ พานิช

๒๕ เมษายน ๒๕๕๙


หมายเลขบันทึก: 607552เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2016 15:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2016 15:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท