รู้อะไร ที่รู้ยิ่ง


"รู้อะไร ถือว่า รู้ยิ่ง (ตรัสรู้)"

What is knowing as meta-knowledge?


---------------------

๑) ความรู้คือ อะไร
๒) เรารู้ได้อย่างไร
๓) รู้เหนือรู้ คือ อะไร
๔) ความรู้ มีอิทธิพลต่อชีวิตอย่างไร

-----------------

วันวิสาขะ เป็นวันที่พระพุทธตรัสรู้ความจริงในชีวิต เป็นการรู้ที่เรียกว่า "รู้เหนือรู้" (Intuition beyond knowing) มิใช่รู้แบบที่รู้กันในสหศาสตร์ทั้งปวง ที่ผู้คนเรียกว่า ดอกเตอร์ แต่เป็นความรู้ที่เกิดจากการตั้งเจตจำนงข้างในไปสู่เป้าหมายปลายทางคือ "หลุดพ้น" (Liberated) เรียกในทางพุทธนัยว่า "ญาณจิต"

(๑) ในชีวิตของเรา เราใช้เวลาไปเพื่อการศึกษาในเบื้องต้น เกือบ ๓๐ ปี (อนุบาล จนถึงดอกเตอร์) กว่าเราจะมองเห็นโลก เห็นชีวิตจริง หรือมีโลกทัศน์ที่ถูกต้องได้ตามที่มันเป็น นั่นหมายถึงเราก็ใช้ประสบการณ์ควบคู่ไปด้วย จนทำให้เราเกิดความชำนาญในการรับรู้ ดูตนและโลกออก

จากนั้น เราก็ต้องอาศัยประสบการณ์ บวกกับศาสตร์ต่างๆ ที่รู้มาแสดงออกหรือปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมสังคม เพื่อความอยู่รอดของตนเอง จนกว่าเราแก่ชราลง ระบบความรู้ สมองของเราก็จักเสื่อมลง ความรู้ที่ได้มาก็จะถูกหลอมหรือกร่อนไปจนเลอะเลือนไปตามกลไกของศักยภาพสมองที่ลดประสิทธิภาพลง

เมื่อทบทวนอดีตของชีวิตที่รับรู้มา เราได้อะไร เรารู้อะไร มีอะไรตกค้างหรือตกผลึกบ้าง สิ่งที่เรารู้ผ่านมา ในชีวิต ในโลกวัตถุ ที่เราสัมผัสนี้ เราสามารถตั้งเป็นคำถามได้ไหมว่า เรารู้อะไร? เรารู้โลก และตัวเองได้อย่างไร? นี่คือ คำถามในทางญาณวิทยาของปรัชญา ที่ถกเถียงกันมาถึงทุกวันนี้

เราจะถามตัวเอง เพื่อทบทวนวิธีการรู้ของตนเองระหว่าง โลกภายใน (ตัวเรา) และภายนอก (โลกวัตถุ) ว่า มันเอื้อประโยชน์หรือสัมพันธ์อย่างไร จนเกิดความรู้ขึ้น แน่นอนว่า จะต้องกลับไปอ่านบทความที่ ๒ ที่ว่า ชีวิตวิวัฒนามาอย่างไร นั่นคือ จุดกำเนิดของความรู้

สรุปคร่าวๆ อีกทีว่า ชีวิตเกิดมาจาก ๓ ทัศนะ คือ จากพระเจ้า (ฝ่ายศาสนาและปรัชญา) จากดวงดาว สสาร (ฝ่ายดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์) จากสายพันธุ์ ยีน ดีเอ็นเอ (จากชีววิทยา) ส่วนพระพุทธศาสนามองว่า มาจากธรรมชาติ (ไม่แน่ชัดว่า ธรรมชาติแบบไหน) แต่อ้างตำนานเก่ามาว่า จากง้วนดิน และไปสอดคล้องกับหลักชีววิทยา (วิวัฒนการใน ๕๒ สัปดาห์)

แต่หลักการพระพุทธศาสนายืนยันคือ อายตนะภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และอายตนะภายนอกคือ รูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อารมณ์ทางใจ คือ ความสัมพันธุ์ที่ก่อให้เกิดความรู้ขึ้น กระนั้น ก็ต้องอิงฐานกลไกวิทยา (mechanism) ด้วย กล่าวคือ ระบบกลไกภายในร่างกายคือ ระบบประสาท

ระบบประสาทของมนุษย์มีทั่วร่างกาย โดยมีสองฐานที่สำคัญคือ ที่แกนประสาทสันหลัง และสมอง สมองคือ ศูนย์ข้อมูลวิเคราะห์ สื่อสาร ทั้งรับรู้ และต่อต้าน วันๆ เราจะมีข้อมูลออกและข้อมูลเข้ามากมาย ข้อมูลเหล่านี้ คือ กระบวนการในการตอบสนองชีวิตข้างในและต่อโลกภายนอกด้วย

อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่า เราจะมองข้ามต้นตอช่องทางในการสร้างองค์ความรู้จากปลายประสาททั่วกาย เช่น ปลายนิ้วมือ สายตา โสตประสาท ฯ ซึ่งเป็นแหล่งสร้างสรรค์ความรับรู้ ไปสู่ความเข้าใจ จนเกิดมโนทัศน์ในใจได้ และที่สุดก็จะกลายเป็นเนื้อหา อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของเราเอง

แต่ส่วนใหญ่เราจะหมายเอาความรู้จากประสบการณ์ ความรู้จำจากครู ตำรา และผลการกระทำ ที่พิสูจน์ ทดสอบมาแล้วว่า เป็นความรู้ ซึ่งความรู้เหล่านี้เป็นเพียง "สัญญา" (memory) เท่านั้น มิได้เกิดมาจากความรู้ที่เรียกว่า "ญาณ" ซึ่งต้องผ่านกระบวนการฝึกจิต ผ่านความร้อน ความอดทน อดกลั้นทางจิตใจกับเจตจำนงเพื่อความจริงก่อน

ดังนั้น ถ้าจะตอบว่าความรู้คือ อะไรคำตอบคือ ความสามารถในการรับรู้ข้อมูลจากโลก (Object) มาสู่มโนทัศน์ของเรา (subject) จากนั้น เราจึงยืนยันว่า สิ่งที่รู้มา จึงพิสูจน์ว่า "รู้" หรือเชื่อว่า เรารู้ เราเข้าใจ แล้วความรู้นี้ มีมาก่อนเราหรือว่า มาทีหลังประสบการณ์เรา? นี่คือ ประเด็นด้านญาณวิทยาเช่นกัน ในข้อต่อไป

(๒) เรารู้ได้อย่างไรว่า เรารู้ (สิ่งต่างๆ) แต่เดิมมนุษย์ไม่รู้หรอกว่า ตนเองมีความสามารถในการรับรู้ เพราะไม่รู้ ไม่เข้าในโครงสร้างของร่างกาย ส่วนมากจะมองออกนอกตัว (out-there) โดยเชื่อว่า พระเจ้าหรือสิ่งเหนือธรรมชาติดลบันดาลให้ตนเองรู้หรือบอกตนเองเช่น โมเสส บอกว่า ตนเองได้รับพระสาร์นจากพระเจ้าบนเขาสุไน

หรือศาสนาพราหมณ์มักจะกล่าวว่า ความรู้อยู่ที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้มา เราไม่มีภูมินี้อยู่เลย ในขณะเพลโตบอกว่า ความรู้มาจากการใช้เหตุผลเพื่อให้เข้าถึงต้นเค้าของแบบ (Idea) ที่แท้จริง จึงจะถือว่า รู้จริง ในขณะอริสโตเติลบอกว่า ความรู้อยู่ในฟอร์มของสสารหรืออยู่ในตัวเราเองที่เรียกว่า "ศักย์" หรือเรียกว่า "เหตุ" (cause)

ส่วนวิทยาศาสตร์บอกว่า มาจากสมอง เคมีที่ทำงานส่งถ่ายมาจากข้อมูล ไปสู่สมอง ทำให้เกิดเป็นองค์ความรู้ทั้งความคิด จินตนาการและเหตุผล ส่วนพระพุทธศาสนายืนยันใน ๓ ฐานคือ ๑) ระบบประสาทเรียกว่า การได้รู้ ได้ยิน ได้ฟัง ฯ เรียกว่า ประสาททัศน์ ๒) การคิดตริตรอง มองด้วยความสุขุม หาเหตุ หาผล เรียกว่า จินตาทัศน์ ๓) เกิดจากการภาวนา ฝึกฝนทางจิต เป็นปัญญา ที่จะเรียกว่า ญาณทัศน์

คำถามว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังรู้? คำตอบคือ ๑) ร่างกายคือฐานประสาท ที่เปิดพร้อมเสมอในการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก หากร่างกายเรา สมองเราไม่บกพร่อง (อัลไซเมอร์หรืออัมพฤกษ์) มันทำงานสนองเราทุกขณะ เราจะรู้ได้ว่า เวลาเรานั่งเฉยๆ เราจะรู้สึกได้ถึงสถานการ์รอบตัว รู้ ได้ยินเสียง เห็นสิ่งต่างๆ ฯ

๒) เรามีความรู้สึก รู้ตัว ในขณะเคลื่อนไหวทางร่างกายและเคลื่อนไหวทางความคิด โดยมีความสามารถอย่างหนึ่งที่เรียกว่า คุณสมบัติคือ "สติและสัมปชัญญะ" หมายถึง การจับตัวรู้ ตัวกระทบและพิกัดในความรับรู้ในเนื้อหาเฉพาะนั้นๆ ในกรอบแคบๆ ของกายเช่น การจะเคลื่อนไหว ขา มือ นิ้ว เรารู้ตัวก่อนและพร้อมเจตนาที่จะขับเคลื่อนอวัยวะส่วนนั้นๆ

๓) เมื่อกระบวนการดังกล่าวดำเนินไป ก็จะเกิดความทุ่มเทหรือเจตนาใส่เข้าในการกระทำนั้นๆ เพื่อให้เกิดความมั่นคงและแน่นอนในเป้าหมาย จนการกระทำนั้นบรรลุผลและเกิดประสบการณ์ตามมานั่นคือ ผลกระทำที่เรียกว่า ความรู้ (หลังกระทำ) ค้านท์ (Kant) มองจุดนี้ว่า ความรู้ของเรามี ๒ อย่างคือ ความรู้ก่อนหรือความรู้ที่เกิดมาแต่กำเนิด (a priori knowledge) และความรู้ที่เกิดขึ้นทีหลังประสบการณ์แล้วเรียกว่า a posteri knowledge

๔) เมื่อเกิดความรู้ดังกล่าว เป็นความรู้ที่อยู่ในกรอบของปัจเจกบุคคลเท่านั้น ยังไม่อาจถือเป็นบทสากลที่ใครจะยอมรับได้ จึงต้องมีการพิสูจน์ว่า ความรู้นั้น จริงเท็จแค่ไหน น่าเชื่อถือแค่ไหน เมื่อพิสูจน์แล้วจึงจะถูกยอมรับว่า เป็นความรู้เรียกว่า ความเป็นจริง (Reality) หากไม่ผ่านการพิสูจน์ก็จะเรียกว่า ข้อเท็จจริง (Fact)

๕) ความรู้ที่ทดสอบด้วยตัวเองนั้น มี ๒ มิติคือ ความรู้แบบอิงข้อมูล โดยอาศัยตรรกะพิสูจน์ อาศัยภาษาสื่อสารออกมา เพื่อให้คนอื่นจำ นำไปขยายต่อ นี่คือ ข้อมูลหรือความรู้ทั่วๆ ไปในชีวิต แต่มีมิติที่ ๒ ที่เป็นข้อมูลเชิงลึกที่ไม่อาจพิสูจน์ได้โดยตรงและทันทีคือ ความรู้ที่เรียกว่า "ญาณทัศน์" (Insight) เช่น ญาณพิเศษ ที่บุคคลเข้าถึงภาวะเหนือธรรมชาติ ซึ่งยากที่เชื่อและพิสูจน์ได้

พระพุทธองค์ก็อาศัยฐานตนเองในการพิสูจน์การค้นหาความรู้จริงภายในจิตของตนเอง จนเกิดญาณทัศน์ขึ้นมา เรียกว่าการรู้แบบเหนือรู้ ภาษาทางศาสนาเรียกว่า "ตรัสรู้" (Enlightenment) แปลว่า การรู้เหนือความรู้ การรู้ความจริงที่ยิ่งกว่า สิ่งที่พระองค์รู้คือ ความจริงในตัวตน (สสารสากล) ที่ทุกคนครองอยู่

ดังนั้น คำที่จะยุติได้ว่า เรารู้พระพุทธศาสนายืนยันในคุณธรรม ๒ อย่างคือ "สติ ที่แปลว่า แล่นไปในระหว่างประสาทของกาย จึงรู้กาย รู้ใจ (subject) ตัวระลึกจะมีตัวกำกับรู้อีกตัวคือ สัมปชัญญะ หมายถึง ตัวตีกรอบ ตัวล้อมรอบ ตัวกระชับสติให้มั่นคงมากขึ้น แน่นขึ้น รู้สึกในตัวตนแน่นขึ้น

กระนั้นก็ตาม เราจะเชื่อมั่นหรือไว้ใจสติ สัมปชัญญะไม่ได้ ต้องมีคุณธรรมอีกตัวกำกับเหนือทั้งสองนั่นคือ "ปัญญา" ที่แปลว่า รู้รอบคอบ รู้รอบรู้ และรู้ใน ๓ มิติคือ รู้แรก รู้ระหว่าง และรู้ปลาย (สังขาร) ถ้าอาศัยสติ สัมปชัญญะนั้น เราไม่อาจไว้ใจได้ว่า สติจะคัดกรอง วิเคราะห์ดี ชั่ว หรือการกระทำของเราว่า เหมาะสม ควรไม่ควรหรือไม่ สภาวะนี้ พวกโจรก็มีสติ คนชั่วก็มีสติ

แต่ที่ขาดไปคือ ตัวปัญญา ที่จะบอกสติ ให้สำนึกในกรรมนั้นว่า ดี ไมดี เหมาะ ไม่เหมาะ เรียกว่า รู้ดี รู้ชั้ว เหมือนกลุ่มโฟซิสต์บอกว่า คนมีปัญญาจะไม่ทำชั่ว ในขณะฟรานซิส เบคอนบอกว่า ความรู้คือ อำนาจ (Knowledge is power) แต่ไอสไตน์มองว่า จินตนาการนั้น สำคัญกว่า ความรู้ เราจะเชื่อใคร

ส่วนพระพุทธองค์บอกว่า ปัญญา จะมาพร้อมกับความรู้สึกถึงคุณค่าของชีวิต จิตใจ จึงไม่อยากให้เราประมาทในกาลเวลาของชีวิต แม้จะเก่งดี มีความรู้ มีปัญญา มากแค่ไหน ก็ไม่พ้นความตาย ความสิ้นสุดของการดับได้ พระองค์จึงเน้นถึงความไม่ประมาทคู่กับปัญญา เพื่อจะได้ระลึกถึงกายและสติปัญญา อย่างมีคุณค่าอย่างยิ่ง

(๓) ในพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาแห่งปัญญา ซึ่งเป็นปัญญาจากจิตทัศน์ มิใช่มาจากการศึกษาทางโลกนั้น พระพุทธศาสนาในเบื้องต้น (พุทธกาล) ไม่มีระดับขั้นในการศึกษาหาความรู้ มีพื้นฐานหลักอยู่ ๒ เรื่อง "ธรรมและวินัย" วินัยนั้น เป็นมูลฐานการแสดงออกของพระภิกษุ เป็นกิริยามารยาทที่ควรแสดงออกต่อตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อความพร้อมไปสู่ธรรม

ธรรมในพระพุทธศาสนามีหลายชนิด ผู้เขียนขอสรุปเป็นทัศนะส่วนตัวดังนี้ ธรรมมี ๓ ระดับคือ ๑) ระดับที่เป็นพระวินัย คือ ให้ประพฤติตาม และให้ละ ให้งด ให้สลัดขัดเกลา เช่น นิสัยที่ไม่ดี ทัศนะที่แข็งกร้าวในตนของสมณะในสมัยนั้น เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องกำหราบนิสัยเดิมหรือทัศนะเก่าที่มีเชื้อพราหมณ์อยู่ เมื่อผ่านกฎเหล่านี้ได้ จิตก็จะเปิดไปสู่ขั้นต่อไปคือ

๒) ให้ฝึกจิต ดูจิต ดูสิ่งครอบงำตน มิให้หลงไหลตาม เป็นการถากถางเยื่อใยของโลกให้ออกไป เป็นการดำเนินไปสู่อริยมรรคที่พระองค์วางอุมคติเอาไว้ให้สมณะเข้าถึงจุดสูงสุดคือ พระนิพพาน ในขั้นนี้ มีวิธีอยู่ ๒ ทางคือ สมถะ และวิปัสสนา ที่จะดำเนินไปสู่ทางพ้นทุกข์ที่แท้จริง เป็นธรรมที่เหนือโลก เหนือปุถุชนกว่าขั้นที่ ๑

๓) แม้สมณะจะไม่ถึงธรรมขั้นสูงดังกล่าวนั้น แต่พระองค์ก็รับรองด้วยคุณสมบัติทางจิตเอาไว้เผื่ออยู่ กล่าวคือ สำหรับปุถุชน หากรักษาศีลได้ตลอดชีพ ย่อมหวังมนุษย์สมบัติ สำหรับพระอริยบุคคลตั้งแต่โสดาบันจนถึงอนาคามี ย่อมมีวงรอบของวัฏฏะน้อยลง หรือเห็นอรหันต์ผลรำไร ส่วนผู้ที่ได้ฝึกฝนทำฌาน และญาณ ย่อมมีผลทางจิตคือ มีฤทธิ์ มีพลังพิเศษรับรอง

แต่นั้น ก็ไม่แน่นอน เพราะเงื่อนไขทางจิตและสังคม อาจสร้างให้เสื่อมได้ และอาจไปไม่ถึงดวงดาวที่ว่านี้ นั่นคือ ความรู้พิเศษที่เกิดขึ้นสำหรับชาวพุทธ ในอุดมคติของปัจเจกบุคคลที่พึงได้ ด้วยเหตุนี้ พระพุทธศาสนาจึงไม่มีชุดความรู้เหล่านี้ เผยแผ่ที่เป็นเฉพาะหรือเป็นมาตรฐานสากล

เนื่องจากว่า ความรู้เหล่านี้ จะต้องอาศัยการปฏิบัติแบบลงมือด้วยตนเอง มิอาจถ่ายทอดให้แก่กันได้โดยทั่วๆไป จึงเป็นความรู้พิเศษไป ด้วยเหตุนี้ จึงสร้างข้อสงสัย ให้กับผู้คนว่า มีจริงหรือไม่ พิสูจน์ได้หรือไม่ การพิสูจน์ความรู้เหล่านี้ ไม่ได้ใช้แบบสากลทั่วไป คือ ใช้เหตุผล ใช้ภาษาหรือใช้ความเชื่อ

แต่ใช้คำท้าทายว่า "เอหิปัสสิโก" คือ เชิญมาดูพิสูจน์เถิด และตามมาด้วย "โอปนยิโก" แปลว่า น้อมมาสู่ตน ทดสอบทดลองเอง จึงจะเกิดความหมายว่า "ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ" แปลว่า รู้ได้เฉพาะตน เป็นความรู้ที่อยู่เหนือสากลเป็นธรรมเฉพาะบุคคล ซึ่งมองได้สองแง่คือ ท้าทายให้ลอง แต่ไม่อาจโน้มน้าวด้วยวิธีง่ายๆ กว่านี้ได้

อนึ่ง เมื่อบรรลุถึงจุดดังกล่าวนี้แล้ว ไม่อาจบอกที่มาได้ว่า ความรู้ ความจริง ข้อมูลต่างๆ มันพรั่งพรูมาจากไหน เราจะพบได้สำหรับพระนักปฏิบัติ เมื่อถึงแก่นธรรมทางจิตมรรคแล้ว จะเทศนาออกมาอย่างบริสุทธิ์ใจ ธรรมะหรือความรู้ ข้ออรรถ ข้อธรรม มันมาจากไหน เช่น สายวัดป่าของหลวงปู่มั่น มักจะสอนลูกศิษย์เสมอว่า "พุทโธ" (Buddhahood) คือ ตัวรู้ ตัวผล ตัวตื่น

เวลาปฏิบัติสายนี้ จะให้กำหนดเอาตัว "พุทโธ" หายใจเข้าว่า "พุท" หายใจออกว่า "โธ" จนจิตนิ่งจนเข้าสู่ฌานได้ ท่านกล่าวว่า “อย่างไรจะต้องนำคำบริกรรมพุทโธมากำกับจิตทุกเวลา ไม่ว่าเข้าสมาธิ ออกสมาธิ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน แม้ที่สุดปัดกวาดลานวัด หรือทำกิจวัตรต่าง ๆ จะไม่ยอมให้สติพลั้งเผลอจากคำบริกรรมนั้นเลย ... การบริกรรมภาวนา ให้จิตอยู ณ จุดเดียว คือ พุทโธ ซึ่ง พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นกิริยาของจิต"

หลวงพ่อเทศก์ เทสรังสีกล่าวว่า "ผู้บริกรรมภาวนาพุทโธ พึงทำใจเย็นๆ อย่าได้รีบร้อน ขอให้เชื่อมั่นในคำบริกรรมพุทโธ มีสติควบคุมจิตของตนให้อยู่ในพุทโธ ความเชื่อมั่นเป็นเหตุให้จิตตั้งมั่นไม่คลอนแคลน ปล่อยวางความลังเลสงสัย แล้วรวบรวมจิตเข้ามาอยู่ในคำบริกรรม จะยืน เดิน นั่ง นอน หรือประกอบกิจการงานอะไร จงมีสติรู้เท่ากับพุทโธอย่างเดียว"

เมื่อย้อนกลับไปหาพ่อแม่ครูบาจารย์ของท่านคือ หลวงปู่เสาร์ ท่านก็สอนเรื่องพุทโธ โดยท่านกล่าวว่า "พุทธะ พุทโธ โดยธรรมชาติเกิดขึ้นที่จิตแล้วพุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นกิริยาของจิตมันใกล้กับความจริง แล้วทำไมเราจึงมาพร่ำบ่นพุทโธๆๆ ในขณะที่จิตเราไม่เป็นเช่นนั้นที่เราต้องมาบ่นว่า พุทโธนั่นก็เพราะว่าเราต้องการจะพบพุทโธ"

เรื่องนี้ ก็สอดคล้องกับหลักพุทธภาวะของสายมหายานที่มองว่า ทุกสรรพสิ่งมีพุทธภาวะปรากฏอยู่ทุกสิ่ง แม้สิ่งดีไม่ดี ก็มีภาวะหรือศักย์แห่งพุทธะอยู่เสมอ จนมีอิทธิพลมาถึงญีปุ่นเรื่องเซ็น ที่สร้างปริศนาธรรมจากสวนเซ็นขึ้นมา เพื่อสอนให้ผู้เห็นมองในแง่ปัจเจกบุคคลให้ออก

ดร.ซูซิกิ ผู้นำเอาเซ็นไปเผยแผ่ในตะวันตกได้ค้นพบความรู้แบบ "ซาโตริ" ว่า "การหยั่งรู้อย่างฉับพลันอาจชี้บ่งถึงประสบการณ์แห่งซาโตริซึ่งมีอยู่ภายใน ซึ่งได้ส่องประกายของมันเข้าไปสู่จิต แต่ก็ไม่อาจจะสังเกตเห็นได้โดยง่าย แต่สำหรับผู้ปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง เมื่อซาโตริปรากฏขึ้นมา มันก็จะส่งผลไปอย่างตรงดิ่งและดำเนินเรื่อยไปอย่างไม่ถดถอย”

ส่วนแนวหลวงพ่อพุทธทาสท่านกล่าวว่า "ความเป็นตัวกู ของกูเกิดขึ้นจากเมื่อยึดมั่นถือมั่นภายในจิต จะไม่เห็นความว่างเปล่า เห็นแต่ว่าเป็นของกู เพราะการยึดมั่นถือมั่นจึงทำให้อวิชาและกิเลสกรรมเกิด เมื่ออวิชาและความไม่รู้มีในใจ ความยึดมั่นเกิดขึ้นเป็นตัวกู ความทุกข์ เกิดขึ้นโดยการยึด คือยึดอุปาทานขันธ์ ๕

การปล่อยการยึดได้ ทุกข์ก็ดับ เมื่อไม่มีสัตว์ มนุษย์ ธาตุ ขันธ์ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มี มีแต่ความว่าง ความว่างจากตัวตน เมื่อไม่ยึดมั่น ถือมั่น ความทุกข์จะไม่เกิดขึ้น นี้เป็นผลแห่งการรู้ การเข้าใจ รู้ภายใน (ปัญญาเห็นแจ้ง) ในสัจธรรม แห่งอุปาทานขันธ์ ตามหลักแห่งปฏิจจสมุปบาท"

เมื่อกล่าวโดยสรุปคือ การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าในวันเพ็ญเดือน ๖ นี้ เป็นการเปิดเผยให้เห็นศักย์ภายในของมนุษย์คนหนึ่งให้เห็นว่า มนุษย์เท่านั้นคือ ผู้สามารถเผยพุทธภาวะของตนเองได้ ด้วยพุทธวิธี (สมถะ วิปัสสนา)

และนี่คือจุดยืนที่พระพุทธศาสนามองว่า เป็นจุดที่ยกระดับความเป็นมนุษยนิยม ให้เกิดเป็นจิตนิยม ในภาวะสัจนิยม มิใช่มาจากแรงดลของพระเจ้าใดๆ ที่เราไม่รู้ หรือเกินศักย์ของเรา แต่สำหรับเส้นทางนี้ มีผู้ที่มีความสามารถเข้าถึงได้คือ พระพุทธองค์และปัญจวัคคีย์ที่รับรองความจริงนี้แล้ว

๔) แม้โลกปัจจุบันจะเน้นเรื่อง ความรู้ เพื่อการแสวงหาความเป็นเลิศ อำนาจทางทุนิยม ธุรกิจต่างๆ เพื่อความสำเร็จ ความรุ่งรวย ก็ตาม ที่สุดแล้วเราก็ไม่อาจนำเอาผลของการแสวงหารู้ความทางโลกนั้น มาสร้างมูลค่า คุณค่าให้จิตวิสัย อันจะมีผลไปสู่ภพหน้าได้ เว้นไว้แต่ผู้รู้ดี เข้าใจจิตแจ้ง

ความรู้จึงมีประโยชน์ต่อตนเอง และสังคม ตลอดไปถึงสิ่งแวดล้อมด้วย แต่เราพบเห็นแล้วว่า ความรู้ ความสามารถ ไม่อาจรับรองความซื่อสัตย์ ความสุจริต ความโปร่งใสได้ ใจธรรมได้ เพราะยิ่งเรียนรู้มาก ยิ่งโกยเนียน คุณธรรมต่างหากที่สร้างคุณค่าทางใจและยกระดับความรู้ให้โดดเด่นได้

เมื่อกล่าวโดยสรุปพอจะจัดเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

๑) ความรู้ทั่วไปคือ พื้นฐานในการดำรงชีพให้เอาตัวรอดได้ พึ่งพาตนเองได้ อันจะเป็นพื้นฐานในการสร้างความมั่นคงให้กับตนและครอบครัวต่อไป

๒) ความรู้กับความสามารถ จะยิ่งสร้างบุคคลให้โดดเด่น เป็นสง่า เหมือน
เบคอนกล่าวว่า ความรู้คือ อำนาจ ที่จะต่อรอง และปกครองผู้คนต่อไป

๓) ความรู้กับปัญญา คือ พลังที่จะสร้างสรรค์ตนเองและสังคมให้
เป็นสังคมอุดมคติได้ เพราะปัญญาคือ ความเข้าใจในฐานสรรพสิ่ง

๔) สติ ปัญญา คือ ระดับความรู้ในตนเอง ที่จะประคองให้อยู่ในครรลองของสังคมและศาสนา ให้ละเอียดยิ่งขึ้นไป

๕) ความรู้คู่คุณธรรม คือ คุณสมบัติที่ดีของมนุษย์ เป็นเนื้อใจ เนื้อความคิด ที่กลมกลืนไปกับหลักธรรม เหมือนโสเครตีสบอกว่า "ความรู้คือ คุณธรรม" (Knowledge is virtue) หรือ ความดี แต่พระพุทธศาสนา ก็ยังยืนยันความดีสูงสุดในตนเองคือ ความหลุดพ้นวัฏฏะและความทุกข์ของชีวิต ด้วยวิธีการตรัสรู้ ที่เรียกว่า "รู้เหนือรู้" ซึ่งนี่คือ แก่นแท้ในวันวิสาขะนี้

คำสำคัญ (Tags): #รู้เหนือรู้
หมายเลขบันทึก: 606744เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2016 09:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2016 11:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

รู้เองเห็นเอง..(โดยไม่อ้างอิง)..จะได้ไหมเนี่ยะ..ชักสงสัย..เจ้าค่ะ

ใช่แล้วยายธีครับ.. ผู้รู้ (subject) ที่พิกัดในกายธาตุคนหนึ่ง ที่รู้สัจธรรมสากล (object) ที่ไม่จำกัดสภาวะ ใครก็ได้ที่อาศัยกาย ใจ รู้สัจโลก นั่นคือ ผู้รู้เหนือรู้

พระพุทธตรัสรู้ ... ความจริงในชีวิต เป็นการรู้ที่เรียกว่า "รู้เหนือรู้" (Intuition beyond knowing) ..... พระพทธเจ้า ทรงศาสดาเอก ของโลก ... ทรงสอนที่เป็น วิทยาศาสตร์ นะคะ ...

สาธุๆ

ได้ความรู้มากเลย

อาจารย์หายไปนานเลยครับ

ขอคุณอ.หมอเปิ้ลครับ พุทธศาสตร์คือ อัตตศาตร์ ที่มุ่งรู้ในตัวเองจนบรรลุครับ

ขอบคุณอ.ขจิต ครับ ช่วงนี้ มีเฟส เลยไม่ค่อยเข้ามาครับ

เออ....! นั่นสิ รู้อะไร ?

ก็ได้ความรู้จากบันทึกของอาจารย์นี่แหละ

ขอบคุณจ้าา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท