ประวัติ ราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์



พุ่มพวง ดวงจันทร์

ราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์

ณ วันนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จัก "ราชินีลูกทุ่ง" พุ่มพวง ดวงจันทร์ เจ้าของบทเพลงฮิตมากมาย ที่แม้แต่เด็กตัวเล็กๆ ที่เกิดไม่ทันในยุคนั้น ก็ยังคลอเพลงของ "พุ่มพวง ดวงจันทร์" ตามไปได้ และชื่อของ "พุ่มพวง" เป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อ นายสรภพ ลีละเมฆินทร์ หรือ "พระเพชร" บุตรชายคนเดียวของพุ่มพวง เปิดศึกวิวาท นายไกรสร ลีละเมฆินทร์ (แสงอนันต์) สามีพุ่มพวง ถึงขั้นกล่าวหาพ่อ-ยายและน้าว่าเป็นคนฆ่าแม่ เพียงเพราะไม่พอใจที่ถูกทักท้วงเรื่องที่จะสร้างหุ่นขี้ผึ้งตัวใหม่ของพุ่มพวง ผ่านการขอรับเงินบริจาคจากแฟนเพลง ทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างแถลงข่าวโต้เถียงกันไปมา งานนี้จึงทำให้ชื่อของราชินีเพลงลูกทุ่ง "พุ่มพวง ดวงจันทร์" กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง และทำให้หลายคนอยากรู้จักเธอคนนี้กัน วันนี้กระปุกดอทคอมจึงขอนำประวัติและเรื่องราวของเธอมาฝากกันค่ะ "พุ่มพวง ดวงจันทร์" หรือชื่อจริงว่า "รำพึง จิตรหาญ" มีชื่อเล่นที่ทุกคนรู้จักกันดีว่า "ผึ้ง"เกิดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ .2504 ที่บ้านหนองนกเขา ตำบลไพรนกยูง อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ก่อนจะไปเติบโตที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี "ผึ้ง" เป็นลูกสาวคนที่ 5 ในพี่น้องทั้งหมด12 คน ของนายสำราญ จิตรหาญ และนางเล็ก จิตรหาญ ซึ่งประกอบอาชีพทำไร่อ้อยชีวิตวัยเด็กของ "ผึ้ง" ค่อนข้างลำบาก เพราะครอบครัวของเธอมีฐานะยากจน "ผึ้ง" ได้เรียนเพียงชั้น ป.2 ก็ต้องออกจากโรงเรียน และไปช่วยเก็บผัก หาดอกไม้ป่า หาบไปขายตามโรงงาน เพื่อมาเลี้ยงน้องๆ และครอบครัว แม้ "ผึ้ง" จะอ่านหนังสือไม่ออก แต่โชคดีที่ "ผึ้ง" มีพรสวรรค์อย่างหนึ่งติดตัวมา นั่นคือการร้องเพลง ตั้งแต่เด็กๆ "ผึ้ง" มักจะสมัครประกวดร้องเพลงตามงานต่างๆ โดยใช้ชื่อว่า "น้ำผึ้ง ณ ไร่อ้อย" ตระเวนเดินสายกวาดรางวัลทั้งในระดับอำเภอ ข้ามอำเภอ จนถึงข้ามจังหวัด จนเมื่ออายุได้ 10 ปี ก็ได้มาอยู่กับวงดนตรีของ "ดวง อนุชา" ที่กรุงเทพฯ ก่อนจะกลับบ้านที่สุพรรณบุรีจนเมื่อ "ผึ้ง" อายุได้ 15 ปี ได้ขึ้นร้องเพลงที่วัดทับกระดาน และความสามารถเกิดไปเตะตา "ไวพจน์ เพชรสุพรรณ" นักร้องลูกทุ่งชื่อดังเข้า "ไวพจน์" จึงเมตตารับ "ผึ้ง" เป็นบุตรบุญธรรม และพาไปอยู่ที่กรุงเทพฯ ครั้งนั้น "ผึ้ง" เริ่มเข้าสู่เส้นทางเพลงลูกทุ่ง ด้วยการเป็น "หางเครื่อง" ก่อนที่ "ไวพจน์" จะแต่งเพลง "แก้วรอพี่" และอัดเสียงชุดแรกให้ "ผึ้ง" ในนามของ "น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ"


พุ่มพวง ดวงจันทร์

ขณะที่อยู่กับวงของ "ไวพจน์" นั้น "ผึ้ง" ได้รู้จักกับ "ธีระพล แสนสุข" ซึ่งกลายเป็นแฟนคนแรกของ "ผึ้ง" ก่อนที่เธอจะแยกตัวมาเป็นหางเครื่องและนักร้องให้กับ "ศรเพชร ศรสุพรรณ" และย้ายไปอยู่กับ "ขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด" จนปี พ.ศ.2519 "มนต์ เมืองเหนือ" ได้รับ "ผึ้ง" ไว้เป็นลูกศิษย์ และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "พุ่มพวง ดวงจันทร์" และผึ้งก็ได้ร้องเพลง "รักไม่อันตรายและรำพึง" ก่อนจะตั้งวงดนตรีของตัวเอง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนัก
ชื่อของ "พุ่มพวง ดวงจันทร์" เริ่มเป็นที่รู้จัก หลังจากได้รับการสนับสนุนจาก "ประจวบ จำปาทอง" และ "ปรีชา อัศวฤกษ์นันท์" ให้ตั้งวงร่วมกับ "เสรี รุ่งสว่าง" ในชื่อวง "เสรี-พุ่มพวง" แต่ที่ทำให้ "พุ่มพวง" ประสบความสำเร็จถึงขีดสุดก็หลังจาก "ลพ บุรีรัตน์" ได้แต่งเพลงแนวสนุกๆ ให้ "พุ่มพวง" ร้อง จนทำให้ผู้ฟังสนใจเธอเป็นอย่างมาก โดยเพลงที่มีชื่อเสียงของพุ่มพวง เช่นเพลง "สาวนาสั่งแฟน", "นัดพบหน้าอำเภอ", "อื้อฮือหล่อจัง","ดาวเรืองดาวโรย", "คนดังลืมหลังควาย", "นักร้องบ้านนอก", "กระแซะเข้ามาซิ" และอื่นๆ อีกมากมาย เรียกได้ว่า ตั้งแต่ช่วง พ.ศ.2515 – พ.ศ.2534 "พุ่มพวง" ได้รับความนิยมอย่างสูงสุด ด้วยน้ำเสียงหวาน ออดอ้อน และจำเนื้อร้องได้ แม้จะไม่รู้หนังสือ ก่อนที่ "พุ่มพวง" จะได้รับรางวัลพระราชทานเสาอากาศทองคำพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในเพลง "อกสาวเหนือสะอื้น" และได้รับเลือกให้ร้องเพลง "ส้มตำ" พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกด้วย ความสำเร็จในวงการเพลง ทำให้ "พุ่มพวง" ได้รับฉายาว่า "ราชินีลูกทุ่ง" สืบต่อจาก "ผ่องศรี วรนุช"หลังจาก "พุ่มพวง" ประสบความสำเร็จในงานเพลง "พุ่มพวง" เริ่มเบนเข็มเข้าสู่วงการภาพยนตร์ โดยได้แสดงหนังเรื่องแรก "สงครามเพลง" ในปี พ.ศ.2526 ก่อนที่จะได้แสดงหนังเรื่อง "มนต์รักนักเพลง" และได้รู้จักกับ "ไกรสร แสงอนันต์" ที่พา "พุ่มพวง" มาเข้าสังกัด "อาจารย์ไพจิตร ศุภวารี" และมีผลงานอีกหลายชุด ทั้ง "ตั๊กแตนผูกโบว์" หรือ "โลกของผึ้ง" หลังจากนั้น "พุ่มพวง" ก็ได้มาอยู่กับห้างท็อปไลน์ ก่อนจะมาร้องเพลง "สยามเมืองยิ้ม" และได้รับรางวัลพระราชทานรางวัลขับร้องเพลงดีเด่น จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกครั้ง


พุ่มพวง ดวงจันทร์


เรื่องงานเพลง และภาพยนตร์ ถือได้ว่า "พุ่มพวง" ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก แต่กับเรื่องชีวิตและความรัก ช่างตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง โดย "พุ่มพวง" กับ "ธีระพล แสนสุข" แฟนคนแรก ได้เลิกรากัน หลัง "พุ่มพวง" รู้ว่าแฟนของเธอปันใจให้น้องสาว "สลักจิตร ดวงจันทร์" แต่ก็ยังทำงานร่วมกันอยู่ จนในปี พ.ศ.2527 "พุ่มพวง" ได้จดทะเบียนสมรสกับ "ไกรสร แสงอนันต์" และมีบุตรชาย 1 คน ชื่อ "สันติภาพ" ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "สรภพ" หรือน้องเพชร ลีละเมฆินทร์ ส่วน "ธีระพล" ถูกน้องชายของพุ่มพวงยิงเสียชีวิต เมื่อปี พ.ศ.2530 ภายหลัง ปี พ.ศ.2535 "พุ่มพวง" ป่วยด้วยโรคเอสแอลอี (SLE : Systemic Lupus Erythematosus) หรือโรคภูมิแพ้ตัวเอง และมีข่าวทะเลาะกับสามี "ไกรสร แสงอนันต์" อยู่บ่อยครั้ง จน "ไกรสร" ออกมายอมรับว่า ได้ทะเลาะกับพุ่มพวงจริง ขณะที่ญาติของพุ่มพวง เชื่อว่าที่พุ่มพวงป่วยเพราะถูกทำคุณไสย จึงพา "พุ่มพวง" ออกจากโรงพยาบาลศิริราช และเดินทางไปจังหวัดพิษณุโลก แต่หลังจากกราบไหว้พระพุทธชินราชแล้ว "พุ่มพวง" เกิดอาการช็อคหมดสติ และเสียชีวิตในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2535 รวมมีอายุ 31 ปี โดยในพิธีพระราชทานเพลิงศพนั้น มีแฟนเพลงเดินทางไปร่วมแสดงความอาลัยต่อการจากไปของ "พุ่มพวง" กว่า 100,000 คน หลังจาก "พุ่มพวง" จากไปแล้ว ญาติๆ และแฟนเพลง ยังนึกถึง "พุ่มพวง" อยู่เสมอ จึงจัดสร้างหุ่นพุ่มพวง ไว้ที่วัดทับกระดาน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี และมีการจัดงานรำลึกถึงพุ่มพวง ช่วงวันที่ 13-15 มิถุนายนของทุกปี นอกจากนี้ยังมีการสร้างภาพยนตร์เรื่อง "บันทึกรักพุ่มพวง" เพื่อรำลึกถึงชีวิตของพุ่มพวง รวมทั้งช่อง 7 ยังได้สร้างละครโทรทัศน์เรื่อง "ราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์" โดยให้ "ต้อม รชนีกร พันธุ์มณี" รับบทเป็น "พุ่มพวง ดวงจันทร์" เพื่อเล่าเรื่องราวชีวิตของ "พุ่มพวง"สำหรับเรื่องที่เป็นประเด็นพิพาทล่าสุด เกี่ยวกับ "พุ่มพวง ดวงจันทร์" เกิดขึ้น เมื่อ "เพชร" หรือ "พระเพชร" เกิดการโต้เถียงอย่างรุนแรงกับนายไกรสร ผู้เป็นพ่อ และญาติพี่น้องของ "พุ่มพวง" ถึงกรณีการจัดสร้างหุ่นขี้ผึ้งพุ่มพวง และ "พระลูกเพชร" ได้เปิดเทปลับของ "พุ่มพวง" ที่มีเนื้อหาต่อว่า อดีตสามีที่ไม่เคยมาดูแลในยามเจ็บป่วย และยังพาลูกชายหนีไปเชียงใหม่อีก ซึ่งขณะนี้กรณี "เทปลับพุ่มพวง" และการโต้เถียงกันระหว่าง "พระลูกเพชร" กับนายไกรสร และญาติของพุ่มพวงถูกกล่าวถึงเป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ไปแล้ว แต่เหตุการณ์จะจบลงอย่างไร คงต้องติดตามดูกันต่อไปค่ะอย่างไรก็ตาม เรียกได้ว่า "พุ่มพวง ดวงจันทร์" เป็นนักร้องลูกทุ่งที่เป็นขวัญใจของคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กถึงคนแก่ ไม่ว่าจะคนรวยหรือคนจน ซึ่งแน่นอนว่า ณ วันนี้ แม้ "พุ่มพวง" จะจากไปแล้ว แต่แฟนเพลงหลายๆ คน ยังคงคิดถึงบทเพลงของ "ราชินีลูกทุ่ง" คนนี้ไม่เสื่อมคลาย


พุ่มพวง ดวงจันทร์

ประวัติ
ชื่อจริง : รำพึง จิตรหาญ
ชื่อเล่น : ผึ้ง
ชื่อในวงการ : พุ่มพวง ดวงจันทร์, น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ,น้ำผึ้ง ณ ไร่อ้อย
วันเกิด : 4 สิงหาคม พ.ศ.2504
วันเสียชีวิต : 13 มิถุนายน พ.ศ.2535

ผลงานอัลบั้มเพลง
แก้วรอพี่
เสียสาวเมื่ออยู่ม.ศ.
อกสาวเหนือสะอื้น
จะให้รอพ.ศ.ไหน
ดวงตาดวงใจ
สาวนาสั่งแฟน
นัดพบหน้าอำเภอ
ทิ้งนาลืมทุ่ง
คนดังลืมหลังควาย
อื้อฮือหล่อจัง
ห่างหน่อยถอยนิด
ชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน
รวมเพลงยอดนิยม
รวมเพลงยอดนิยม ๒
เพลงเศร้าสุดรัก
ซุปเปอร์ฮิตพุ่มพวง
พุ่มพวงเงินล้าน
ทุ่งนางคอย
พุ่มพวงเห่ระเบิด
ท็อปฮิตลูกทุ่งมาตรฐาน
ทีเด็ดพุ่มพวง
ตั๊กแตนผูกโบ
หนูไม่รู้
หนูไม่เอา
เงินน่ะมีไหม
พุ่มพวงหลายพ.ศ.
ขอให้รวย
น้ำผึ้งเดือนเก้า
ซุปเปอร์ลูกทุ่งท็อปฮิต
มนต์เสียงเพลง สายัณห์-พุ่มพวง
พุ่มพวง ดวงจันทร์ ซุปเปอร์ลูกทุ่ง ๑
พุ่มพวง ดวงจันทร์ ซุปเปอร์ลูกทุ่ง ๒
พุ่มพวง ดวงจันทร์ ซุปเปอร์ลูกทุ่ง ๓
พุ่มพวง ดวงจันทร์ ซุปเปอร์ลูกทุ่ง ๔
พุ่มพวง ดวงจันทร์ ซุปเปอร์ลูกทุ่ง ๕

ผลงานภาพยนตร์
พ.ศ. 2526 สงครามเพลง (คู่กับ ยอดรัก สลักใจ)
ผ่าโลกบันเทิง
รอยไม้เรียว
หลงเสียงนาง
พ.ศ. 2527 มนต์รักนักเพลง
คุณนาย ป.4
ชี
นางสาวกะทิสด
สาวนาสั่งแฟน
อาจารย์เด๋อเจอพุ่มพวง
อีแต๋น ไอเลิฟยู
ขอโทษที ที่รัก
จงอางผงาด
พ.ศ. 2528 ที่รัก เธออยู่ไหน
พ.ศ. 2529 มือปืนคนใหม่
พ.ศ. 2530 เชลยรัก
เพลงรัก เพลงปืน
พ.ศ. 2531 เพชรพยัคฆราช
เสน่ห์นักร้อง

รางวัล
รางวัลพระราชทานเสาอากาศทองคำจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากเพลง "อกสาวเหนือสะอื้น" (2521)
รางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สาขารางวัลขับร้องเพลงดีเด่น จากเพลง "สยามเมืองยิ้ม" ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่ง ภาค 2 (2532)



หมายเลขบันทึก: 606743เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2016 07:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2016 09:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท