เมื่อชุมชนร่วมสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สื่อดี ครูดี เด็ก “โป่งสลอด” มีพัฒนาการ


ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) บ้านโป่งสลอด สังกัดองค์การบริการส่วนตำบล (อบต.) หนองกะปุ เป็น ศพด.ขนาดเล็ก ตั้งอยู่พื้นที่ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี มีเด็กเข้าเรียนประมาณ 30 คน โดยมี จิดาภา นวมนิ่ม หรือที่ชาวบ้านเรียกอย่างคุ้นเคยว่า “ครูอ้วน” เป็นครูพี่เลี้ยงภายในศูนย์ฯ แห่งนี้

“ครูอ้วน” ได้ย้ายมาอยู่ที่ ศพด.บ้านโป่งสลอด แห่งนี้ ตามคำสั่งของ นายก อบต.หนองกะปุ ที่ต้องการให้มาพัฒนา ศพด.ที่แทบจะรกร้างแห่งนี้ให้ฟื้นกลับขึ้นมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง

เป็นระยะเวลากว่า 3 ปี ที่ “ครูอ้วน” ก้าวเข้ามาที่ ศพด.บ้านโป่งสลอด จากเดิมที่ไม่มีอะไรเลย สภาพพื้นที่ภายนอกไม่มีรั้วรอบขอบชิด มีแต่ป่ากับหญ้าที่รกร้าง ส่วนสื่อการเรียนการสอนก็มีแต่เดิมๆ ที่แทบจะผุพังไร้การดูแล จำนวนเด็กก็ลดน้อยถอยลงทุกปี เพราะผู้ปกครองไม่เชื่อมั่นคุณภาพ จึงพาลูกหลานไปฝากเลี้ยงที่อื่นหมด แต่วันนี้ “ครูอ้วน” สามารถพลิกฟื้น ศพด.แห่งนี้ให้กลับมามีชีวิต และยกระดับมาตรฐานการเรียนการสอนจนเป็นที่ยอมรับของสังคมอย่างกว้างขวาง

ศพด.บ้านโป่งสลอด นำรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ๆ และยกระดับการเรียนรู้อยู่เสมอ ซึ่ง “ครูอ้วน” เองก็ไม่หยุดนิ่งที่จะหาวิธีและโครงการต่างๆ เข้ามาเพื่อส่งเสริมคุณภาพการเรียนการสอนให้เด็กอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่น โครงการ "มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ 3 ดี สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี" ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ในการสร้างสื่อเพื่อการเรียนรู้และเสริมสร้างพัฒนาการ ด้วยการปรับภายในอาคาร ชั้นวางหนังสือ การประดิษฐ์หุ่นมือ บ้านบอล และจัดกิจกรรมอบรมการทำหุ่นมือให้กับเครือข่าย

แต่ส่วนสำคัญที่สุด คือการประสานความร่วมมือ สร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนทุกระดับ ให้มาช่วยกันคนละไม้คนละมือในการปรับภูมิทัศน์ และสละเวลามาช่วยสอนและดูแลในยามว่างเว้นงานประจำ ส่งผลให้เด็กๆ มีสุขภาวะที่ดีทั้ง 4 มิติ กาย ใจ ปัญญา และสังคม

“ครูอ้วน” ซึ่งนอกจากจะเป็นครูพี่เลี้ยง ศพด.บ้านโป่งสลอด แล้วยังเป็นประธานเครือข่ายผู้ดูแลเด็กศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า โครงสร้าง ศพด.บ้านโป่งสลอด จะมีคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้าน อสม. ปลัด อบต. และชาวบ้านในชุมชน เข้าร่วม โดยมี นายก อบต. เป็นประธาน ซึ่งจะคอยอำนวยการดำเนินงานของ ศพด.ให้ราบรื่น บางครั้งทางศูนย์ฯ ต้องการอะไรให้ติดขัดอะไร ชาวบ้านก็จะร่วมแรงร่วมใจกันช่วยเหลือ เช่น ทาสีเครื่องเล่นที่สนามเด็กเล่น ปรับปรุงภูมิทัศน์ ตัดแต่งต้นไม้ หรือทำรั้วโรงเรียน เมื่อไม่มีงบประมาณมาซื้อวัสดุ ชาวบ้านก็ไปช่วยกันตัดก้านตาลมาทำเป็นรั้วให้ ซึ่งชุมชนถือว่ามีบทบาทอย่างยิ่งที่ช่วยหนุนการดำเนินงานของศูนย์ฯให้สำเร็จลุล่วง เมื่อศูนย์ฯ มีบริบท มีคุณภาพที่ดี ลูกหลานของเขาก็จะได้เรียนรู้ในที่ดีๆ

“แนวคิดในการจัดการศูนย์ฯ ของเรา คือให้ความสำคัญกับชุมชนและตัวเด็ก ชุมชมต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนศูนย์ฯ และช่วยกันดูแลลูกหลานร่วมกันกับเราด้วย ไม่ใช่ผลักภาระให้กับครูพี่เลี้ยงเพียงอย่างเดียว เราเข้ามาก็ต้องมาปรับใหม่เกือบทั้งหมด เช่น เรื่องมารยาท อนามัย การแต่งกาย หรือการรับประทานอาหาร เป็นต้น” ครูอ้วน บอก

โครงการ "มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ 3 ดี สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี" จึงเป็นตัวหนุนเสริมให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ดีๆ ได้มีสื่อการเรียนรู้ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ เช่น สนามเด็กเล่น แต่เดิมมีเพียงชิงช้ากับม้าโยก ครูอ้วนได้ชวนชาวบ้านมาทำเครื่องเล่นเพิ่มเข้ามาอีกหลายชิ้น และทาสีใหม่ เด็กๆ จึงเพลิดเพลิน เพิ่มพัฒนาการทางด้านสมอง กล้ามเนื้อ อารมณ์ และมนุษยสัมพันธ์

“แรกๆ เด็กเสื้อผ้าเลอะกลับไปบ้าน ผู้ปกครองก็มาบ่น เราก็บอกว่า ถ้าวันไหนลูกเสื้อผ้าไม่เลอะ นั่นแสดงว่า ลูกไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย เขาก็เข้าใจในตรงนี้” ครูอ้วน เล่าและอธิบายเพิ่มว่า ในส่วนห้องเรียน เธอได้ทำสื่อการสอนหลายอย่าง เช่น โรงหุ่นนิทาน หุ่นเชิดหนังตะลุง โดยใช้หุ่นมือเล่านิทานและให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วม สวมหุ่นมือมาแสดงให้เพื่อนๆ ดูด้วย และจะมีการถามตอบระหว่างครูพี่เลี้ยงกับเด็กตลอดเวลา ไม่เหมือนอดีตที่ครูจะเปิดหนังสือนิทาน แล้วให้เด็กนั่งฟัง แต่การทำแบบนี้เด็กจะมีส่วนร่วม ถือเป็นการกระตุ้นจินตนาการ ดีกว่าให้เด็กนั่งเฉยๆ

นอกจากนี้ ครูอ้วนยังสร้างเสริมประสบการณ์จริงให้เด็กๆ ด้วย เช่น การฝึกทำขนมบัวลอย ถือเป็นสื่อการเรียนรู้เพิ่มพัฒนาการ เมื่อเด็กได้ปั้นแป้งจะช่วยเรื่องกล้ามเนื้อมัดเล็ก ขณะเดียวกันยังสอดแทรกการสอนการนับเลขได้ เช่น สัดส่วนเครื่องปรุง หรือการนับเม็ดขนมที่ปั้นเสร็จ เป็นต้น

ขณะที่ สุวรรณ หว่างจิต นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกะปุ กล่าวว่า ทางอบต.หนองกะปุให้ความสำคัญกับพัฒนาการของเด็กเล็กมาโดยตลอด โดยให้การสนับสนุนอาหารกลางวันและงบประมาณในการจัดกิจกรรมของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ดูแลอยู่ทั้ง 3 แห่งเป็นอย่างดี มีเด็กได้รับประโยชน์กว่าหนึ่งร้อยคน

สำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโป่งสลอดแห่งนี้ ได้รับการยกย่องจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้เป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กดีเด่นประจำปี 2558 ด้านการใช้สื่อสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาการเด็ก ซึ่งความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากความร่วมมือของชุมชนบ้านโป่งสลอด ที่ช่วยกันพัฒนาศูนย์ฯแห่งนี้ ทั้งการปรับภูมิทัศน์ สร้างสื่อการสอน และอุทิศตัวมาช่วยสอนในบางครั้ง ทำให้เด็กๆ ได้มีพัฒนาการที่ดีกว่าเดิมมาก

“ต่อไปศพด.บ้านโป่งสลอด ก็จะเป็นต้นแบบให้กับศพด.อื่นๆ ในอำเภอบ้านลาด ซึ่งขณะนี้อีก 2 ศูนย์ที่อยู่ในการดูแลของอบต.หนองกะปุ เริ่มปรับปรุงบ้างแล้ว” สุวรรณ กล่าว

การเสริมสร้างพัฒนาการเด็กให้เติบโตสมวัย นั่นหมายถึง ต้องมี สื่อดี ครูดี พื้นที่ดี และต้องได้รับการหนุนเสริมจากชุมชนและท้องถิ่นเป็นอย่างดีด้วย เหมือนที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโป่งสลอดเป็นอยู่

เด็กๆ กำลังสนุกกับนิทานจอเล็ก

ครูอ้วน กำลังเล่านิทานให้เด็กฟังผ่านหุ่นมือที่ผลิตขึ้นเอง

เด็กๆ บ้านโป่งสลอดแจ่มใสสมวัย

สื่อการสอนรูปแบบต่างๆ

สื่อการสอนรูปแบบต่างๆ


สนามกลางแจ้งที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างให้กับเด็กๆ

“ครูอ้วน” จิดาภา นวมนิ่ม

สุวรรณ หว่างจิต นายกอบต.หนองกะปุ

กิจกรรมวันครู 16 ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นการคืนความรู้ให้กับครูพี่เลี้ยงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วจังหวัดเพชรบุรี


หมายเลขบันทึก: 605455เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2016 20:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2016 20:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอชื่นชมทีมงานคุณครูที่เพชรบูรณ์

ทำการศึกษาให้น่าสนใจ

นักเรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ

ขอบคุณมากที่บันทึกเรื่องดีๆให้อ่านครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท