แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2559และการปรับตัว


ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มอง “ปี 2559 ลมเริ่มเปลี่ยนทิศ” คาดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง เล็งจีดีพีปี 2559 โตร้อยละ 3.5 ยังขับเคลื่อนโดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการท่องเที่ยวที่สดใสต่อเนื่อง พร้อมการลงทุนภาคเอกชนเริ่มกลับมามีบทบาท ท่ามกลางการส่งออกที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆจากจีนชะลอตัว ส่งผลให้สินเชื่อรวมปี 2559 มีแนวโน้มเติบโตที่ร้อยละ 6.1 นำโดยสินเชื่อภาคธุรกิจ และคุณภาพสินเชื่อโดยมีแนวโน้มปรับดีขึ้นช่วงปลายปี 2559
ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยในงาน “จับประเด็นเศรษฐกิจ กับ TMB Analytics” ว่าเศรษฐกิจไทยโค้งสุดท้ายของปี ยังคงได้ผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัวแรง และทำให้จีดีพีในปี 2558 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 (ลดลงจากประมาณการเดิมในเดือนพฤษภาคมที่ร้อยละ 3.0) แต่เศรษฐกิจยังมีแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ และได้อานิสงส์เพิ่มจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน วงเงินรวม 1.36 แสนล้านบาท กอปรกับการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มกลับสู่ภาวะปกติได้เร็วกว่าคาด ที่ยังช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศได้
สำหรับในปี 2559 ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าเครื่องยนต์ด้านต่างๆจะมีแรงส่งมากขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากความต่อเนื่องของการลงทุนภาครัฐเป็นหลัก โดยเฉพาะแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีการอนุมัติในช่วงปลายปี 2558 ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และจะเริ่มก่อสร้างในไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 ซึ่งคาดว่าจะผลักดันให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวตามได้ กอปรกับมาตรการเร่งรัดการลงทุนภาคเอกชน ทั้งเรื่องมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน SMEs และมาตรการเร่งรัดการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุนเพิ่มขึ้น จะช่วยให้บรรยากาศการลงทุนโดยรวมปรับตัวดีขึ้น
นอกจากการขับเคลื่อนของนโยบายภาครัฐแล้ว การท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มสดใสต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ทะลุ 30 ล้านคน การบริโภคโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นแม้ยังเป็นระดับต่ำกว่าปกติ เช่นเดียวกับภาคการส่งออกที่คาดว่าจะพลิกขยายตัวเป็นบวกได้ที่ร้อยละ 2.0 ตามการฟื้นตัวอย่างช้าๆของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอลงของเศรษฐกิจจีนอยู่ โดยคาดว่าจีดีพีปี 2559 สามารถขยายตัวได้สูงขึ้นที่ร้อยละ 3.5 เร่งตัวขึ้นจากปี 2558
ความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจปี 2559 ยังมาจากต่างประเทศเป็นหลัก นำโดย อุปสงค์จากจีนที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องตลอดเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักยังคงมีแนวโน้มลดลง และกดดันการฟื้นตัวของการส่งออก นอกจากนั้น ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามต่อในปี 2559 ยังมี จังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลต่อทิศทางเงินบาท และสถานการณ์ภัยแล้งและภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังกดดันการบริโภคภาคเอกชน
ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้งในปี 2559 โดยอาจมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในครึ่งหลังปี 2559 ซึ่งช่วงที่เศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ กอปรกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังตกต่ำ เป็นปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทยังอ่อนค่าต่อเนื่องปีหน้า โดยคาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในช่วง 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปี 2559
การฟื้นตัวเศรษฐกิจ จะส่งผลให้ภาพรวมของการเงินการธนาคารขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยคาดว่าสินเชื่อและเงินฝากขยายตัวได้ที่ร้อยละ 6.1 และ 6.8 ตามลำดับ สินเชื่อถูกขับเคลื่อนโดยภาคธุรกิจทั้งรายใหญ่และSMEs โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับแรงหนุนจากนโยบายของรัฐ เช่น อุตสาหกรรมการก่อสร้าง ในขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวจากความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น ส่วนเงินฝากจะเติบโตตามแนวโน้มขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การขยายตัวของสินเชื่อ และการปรับลดเพดานคุ้มครองของเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาทในเดือนสิงหาคมปีหน้า ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องสร้างฐานเงินฝากเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ภายใต้ภาวะการแข่งขันเงินฝากที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น
นอกจากนั้น คุณภาพสินเชื่อมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นมากกว่าปี 2558 โดยที่สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (%NPL) มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.6 หลักๆ มาจากการปรับตัวดีขึ้นของสินเชื่อภาคธุรกิจ ที่ได้รับอานิสงส์จากนโยบายรัฐที่จะให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนภายในระบบมากขึ้น ในส่วนคุณภาพของสินเชื่ออุปโภคบริโภคโดยรวมยังทรงตัว แต่ในส่วนที่เป็นสินเชื่อบัตรเครดิต %NPL ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง

ที่มาของบทความ:http://www.smethailandclub.com/knowledges-view.php...

คำสำคัญ (Tags): #เศรษฐกิจ
หมายเลขบันทึก: 605452เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2016 20:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2016 20:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท