ชีวิตที่พอเพียง 2632. สี่สหายชมวัดราชนัดดาและวัดไตรมิตร



วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๙ คณะสี่สหายมีกำหนดกินอาหารเที่ยง และไปชมวัดราชนัดดาราม และวัดไตรมิตร

เนื่องจากจุดเริ่มทัวร์อยู่ที่วัดราชนัดดาที่ฝ่านฟ้า เราจึงนัดไปกินอาหารเที่ยงที่ภัตตาคารผ่านฟ้าเช่นเดียวกันกับ บันทึกนี้เราสั่งอาหาร ๔ อย่างคือ ปูไข่ ไก่ตอน แฮ่กึ๊น และไส้หมูทอดกรอบ ค่าอาหารรวมเบียร์ และส้มโอแสนอร่อย รวมไม่ถึงสองพัน นับว่าถูกมากสำหรับอาหารรสเลิศ แต่สถานที่แสนธรรมดา และคนเสิร์พวาจาไม่ไพเราะ คือเขาเป็นอย่างนั้นเอง

เวลาบ่ายโมงตรงเราก็ไปที่คณะ ๕ ของวัดราชนัดดารามวรวิหารตามนัดทีมงานของฝ่ายส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ทีมเดิมมาต้อนรับ และพาไปกินกาแฟที่ร้านในวัดที่ลมโชยสดชื่นยิ่ง แล้วจึงได้ไก๊ด์กิตติมศักดิ์คือท่านมหาแสง สิวโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสมาอธิบายเรื่องประวัติศาสตร์ของวัดราชนัดดารามฯ ซึ่งสร้างสมัย ร. ๓

สถานที่สำคัญคือ โลหะปราสาทที่สร้างแทนเจดีย์ เวลานี้เป็นโลหะปราสาทแห่งเดียวในโลก และเวลานี้กำลังดำเนินการปิดทองให้อร่ามทั้งองค์ และจะเสร็จสมบูรณืภายใน ๒ ปี หลังจากเราคุ้นเคยกับภาพสีดำ อีก ๒ ปี เราจะได้เห็นปราสาทสีทอง

ผมได้ทราบเป็นครั้งแรกว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงมีพระประสงค์ให้โลหะปราสาท เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เป็นที่ให้นักท่องเที่ยวไปเดินชมอย่างในปัจจุบัน ห้อง (หรือทางเดิน) แคบๆ ในองค์ปราสาท ลมโชยสบาย เหมาะแก่การนั่งสมาธิอย่างยิ่ง

ที่จริงมีบันไดเวียนให้ปีนขี้นไปดูวิวที่ชั้นบนได้ แต่สหายคนอื่นๆ ไม่สะดวกที่จะปีน ผมจึงอดขึ้นไปถ่ายรูป

จากนั้นท่านมหาแสงพาไปชมโบสถ์ ได้เรียนรู้เรื่องราวของการหล่อพระในพระบรมหาราชวังสมัย ร. ๓ สององค์ องค์หนึ่งคือพระประธานในโบสถ์นี้ ชื่อพระเสฏฐตมมุนี อีกองค์หนึ่งคือพระประธานในพระอุโบสถ วัดเฉลิมพระเกียรติที่นนทบุรี พระอุโบสถนี้งดงามมาก เพดานสูงมากเป็นพิเศษ และมีเสาอยู่นอกตัวโบสถ์ สะท้อนความก้าวหน้าด้านสถาปัตยกรรมในสมัยนั้น

จากวัดราชนัดดา เรานั่งรถไปวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหารต่อ เพื่อไปใหว้พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากรหรือพระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร ที่ประวัติโลดโผนลี้ลับ คือเดิมท่านอยู่ที่วัดพระยาไกร ที่เป็นวัดร้าง และเป็นที่ตั้งโรงเลื่อยของบริษัทอีสต์เอเชียติ๊ก และสถานที่นั้นเวลานี้ตลิ่งพังลงเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนนั้นบริษัทฯ ต้องการรื้อวัดเพื่อใช้ที่ดิน จึงต้องย้ายพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทององค์นี้มาไว้ที่วัดไตรมิตร จนปี ๒๔๙๘ จึงรู้กันว่าเป็นพระพุทธรูปทอง (๘๐%) ที่นักโบราณคดีบอกได้จากลักษณะพุทธศิลป์ว่าสร้างสมัยสุโขทัย อ่านประวัติในเว็บไซต์ที่ลิ้งค์ไว้ให้เอาเองนะครับ

ที่นี่มีนิทรรศการหล่อพระพุทธรูป และวิธีหล่อปูนทับ รวมทั้งภาพจำลองวิธีล่องแพขนพระพุทธรูป จากเมืองเหนือมายังกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ผู้นำชมบอกว่ามีพระพุทธรูปถูกล่องแพมาถึง ๑,๒๔๘ องค์

หลังจากนั้น เราไปชม นิทรรศการแหล่งกำเนิดชุมชนจีนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คือสำเพ็งและเยาวราช ซึ่งก็ดูแบบผ่านๆ เพราะเวลาเกือบ ๔ โมงเย็นแล้ว

อาจารย์ฉัตรทิพย์เขียนสมุดเยี่ยมชม ชื่นชมสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในการทำหน้าที่ อนุรักษ์และฟื้นฟูโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และมรดกทางวัฒนธรรมไว้ให้คนรุ่นนี้และคนรุ่นต่อๆ ไปมีความภาคภูมิใจในรากเหง้าของตนเอง



สี่สหายที่ภัตตาคารผ่านฟ้า


โลหะปราสาทกำลังอยู่ระหว่างปิดทองทั้งองค์


ถ่ายจากวัดราชนัดดาฯ เห็นภูเขาทองอยู่ไกลๆ


ห้องหรือทางเดินแคบๆ ที่ฐานปราสาท เหมาะสำหรับไปนั่งฝึกปฏิบัติธรรม


พระเสฏฐตมมุนี พระประธานในพระอุโบสถวัดราชนัดดาฯ


ภาพฝาผนังโบสถ์วัดราชนัดดาฯ แสดงภาพสามโลก


พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร วัดไตรมิตร


ด้านหลังองค์พระเห็นรอยต่อชิ้นส่วนตอนหล่อ ๙ ชิ้น


ห้องนิทรรศการพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร


ภาพการอัญเชิญพระพุทธรูปล่องแพจากเมืองเหนือมายังกรุงรัตนโกสินทร์


ภาพจำลองการเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปไปยังวัดพระยาไกร


ภาพจำลองการเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปจากวัดพระยาไกรมายังวัดไตรมิตรในปี ๒๔๗๘


ภาพจำลองเรือเดินสมุทรจีนที่ขนคนจีนอพยพมายังประเทศไทย


มาเป็นกุลีแบกหามอย่างนี้ในชั้นต้น


ตัวอย่างของคนที่กลายเป็นเจ้าสัว


นั่งพักที่หน้าห้องประวัติศาสตร์เยาวราช ศ. ฉัตรทิพย์เขียนสมุดเยี่ยม


ข้อความในสมุดเยี่ยม


วิจารณ์ พานิช

๑ มี.ค. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 604566เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2016 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2016 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท