ลักษณะจำเพาะของบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยชั้นยอด


....ต้องผลิตบัณฑิตที่มีคุณสมบัติเป็นผู้นำ (leadership attributes) ออกไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) ให้แก่ชุมชน สังคม/ประเทศ และแก่โลก คุณลักษณะดังกล่าวไม่สามารถพัฒนาขึ้นได้ หากมหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนแบบเน้นถ่ายทอดความรู้ ที่เรียกว่าสอนแบบ lecture-based แต่จะพัฒนาขึ้นได้โดยจัดการเรียนการสอนแบบที่เรียกว่า 21st Century Learning คือเน้นให้นักศึกษาเรียนจากปฏิบัติการ (Active Learning) ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด (Reflective Learning)


ในการประชุมแบบ retreat ของ มช. ที่มัณฑะเลย์ เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๙ มีการกล่าวถึง ลักษณะจำเพาะของบัณฑิต มช. ว่าควรเป็นอย่างไร

ผมจึงเสนอความเห็นว่า มหาวิทยาลัยในระดับชาติและระดับโลก ต้องผลิตบัณฑิตที่มีคุณสมบัติเป็นผู้นำ (leadership attributes) ออกไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) ให้แก่ชุมชน สังคม/ประเทศ และแก่โลก

คุณลักษณะดังกล่าวไม่สามารถพัฒนาขึ้นได้ หากมหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนแบบเน้นถ่ายทอดความรู้ ที่เรียกว่าสอนแบบ lecture-based แต่จะพัฒนาขึ้นได้โดยจัดการเรียนการสอนแบบที่เรียกว่า 21st Century Learning คือเน้นให้นักศึกษาเรียนจากปฏิบัติการ (Active Learning) ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด (Reflective Learning)

การเรียนจากการปฏิบัติ จะมีพลังที่สุดเมื่อการปฏิบัตินั้น เป็นงานจริง สำเร็จจริง ล้มเหลวจริง และเป็นการทำงานเป็นทีม นักศึกษาจะได้เรียนรู้ทั้งจากความสำเร็จ และจากความล้มเหลว การไตร่ตรอง สะท้อนคิด (reflection) จะช่วยให้นักศึกษาเข้าใจความหมายของทฤษฎี เข้าใจบริบทของการปฏิบัติ หรือการทำงาน ในชีวิตจริง ได้ลิ้มรสทั้งความรู้สึกเมื่อประสบผลสำเร็จ และเมื่อประสบความล้มเหลว

การทำงานเป็นทีมในสภาพจริง (หรือคล้ายจริง) จะเป็นโอกาสให้นักศึกษาได้ร่วมกันฝึกประยุกต์ใช้ความรู้ และได้ฝึกทักษะด้านการสื่อสาร (communication) ด้านการเจรจาต่อรอง ด้านการรับฟังความเห็นและเหตุผล ของคนอื่น ด้านฝึกรับฟังและเรียนรู้ความเชื่อและวิธีคิดในรูปแบบที่แตกต่างจากตน ด้านฝึกทำความเข้าใจ วัฒนธรรมที่แตกต่าง ด้านทำความเข้าใจความรู้เชิงบริบท (contextual knowledge) ด้าน การผลัดกันทำหน้าที่ ผู้นำทีม และการเป็นลูกทีม ด้านทักษะในการสื่อสารความเห็นที่แตกต่าง ที่ไม่ก่อความขัดแย้ง ได้ฝึกพัฒนา ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (creativity) ด้านทักษะและฉันทะในความเสียสละ ทำเพื่อผู้อื่น และเพื่อส่วนรวม เท่ากับได้ฝึกงอกงามคุณลักษณะด้านใน หรือด้านจิตวิญญาณ ที่จะไม่มีทางได้ฝึกฝนเรียนรู้จากการเรียน ในรูปแบบ รับถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูปอย่างที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน

บัณฑิตจะได้รับการฝึกฝนแนวนี้ได้ อาจารย์ต้องฝึกทักษะการทำหน้าที่ “สอนแบบไม่สอน” คือทำหน้าที่โค้ช เป็น “คุณอำนวย” เป็นนักออกแบบโจทย์เพื่อการเรียนรู้จากการปฏิบัติ เป็นนักประเมินแบบ EFA ตามด้วย CFB

บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยชั้นยอด ต้องไม่เพียงแค่มีความรู้ และทำงานได้ แต่จะต้องเรียนรู้ต่อเนื่องเป็น และเข้าร่วมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ในทุกสถานการณ์ที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้อง

มหาวิทยาลัยจะต้องสร้างบรรยากาศ และอำนวยความสะดวกต่อการเรียนรู้ในรูปแบบดังกล่าว ทั้งในกิจกรรมในหลักสูตร และกิจกรรมนอกหลักสูตร


วิจารณ์ พานิช

๖ มี.ค. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 604543เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2016 18:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2016 16:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท