หมุดหมายการเรียนรู้ : วิชาการพัฒนานิสิตและวิชาภาวะผู้นำ (2/2558)


วิชาการพัฒนานิสิตและวิชาภาวะผู้นำ หรือกระทั่งเนื้อหาที่บรรยายทั้งหมดล้วนเป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งบ่มเพาะเรื่อง "จิตอาสา-จิตสาธารณะ" หรือกระทั่ง "อาสาสมัคร" แก่นิสิต (ผู้เรียน) ขนานแท้ สอดรับกับปรัชญาการศึกษาไทย และปรัชญาของ มมส อย่างไม่ต้องกังขา








ประเด็น “บัณฑิตที่พึงประสงค์” ถือเป็นประเด็นสำคัญในการจัดการเรียนรู้ในรายวิชา การพัฒนานิสิต” และวิชา “ภาวะผู้นำ” ซึ่งในภาคเรียนที่ 2/2558 ผู้ประสานงานวิชาการพัฒนานิสิตและภาวะผู้นำ คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา รับผิดชอบการบรรยาย หรือการจัดการเรียนรู้

ด้วยความเป็นครูฯ ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา มิได้รีบเร่งมุ่งเข้าสู่ประเด็นหลักของการเรียนรู้จนเกินไป หากแต่ค่อยๆ ทักทายถามสารทุกข์สุขดิบความเป็นนิสิต พร้อมๆ กับการทำความเข้าใจกับนิสิตเกี่ยวกับเรื่องภาพรวมของการเรียนรู้ กฎกติกามารยาทการเรียนรู้ แนวทางการประเมินผลการเรียนรู้ ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่นิสิต (ผู้เรียน) ต้องรับรู้และทำความเข้าใจ มิใช่สักแต่เรียนและรอเวลาทำข้อสอบเพื่อชี้วัดด้วย “เกรด” เพราะสิ่งที่ ผศ.ดร.ฉันทนาฯ ได้สื่อสารนั้น มีทั้งที่เป็นวิชาชีพและวิชาชีวิตควบคู่กัน


ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา (ผู้ประสานงานวิชาการพัฒนานิสิตและวิชาภาวะผู้นำ)



เปิดประเด็น : หมุดหมายหลักของการเรียนรู้ในระดับชาติ

ในวิชาการพัฒนานิสิตและภาวะผู้นำ มีหมุดหมายปลายทางการเรียนรู้สัมพันธ์กับกรอบแนวคิดหรือปรัชญาการศึกษาระดับชาติคือ “เก่ง ดี มีความสุข” (เก่ง ดี มีสุข) ประกอบด้วยเก่งในความรู้และมีทักษะที่ชัดเจนในวิชาชีพ หรือ “ศาสตร์” ที่ร่ำเรียน เป็นคนดีมีศีลธรรม ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพและมีทักษะในการดำรงชีวิตในสังคมร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีคุณค่า รู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลก

เช่นเดียวกับการย้ำเน้นให้นิสิต (ผู้เรียน) ได้ทำความเข้าใจเรื่อง “กรอบมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษาไทย” (TQF) อันเป็นเกณฑ์ชี้วัดคุณภาพหลักของการศึกษาหรือการเรียนรู้ของนิสิตทั้ง 5 ประเด็น ได้แก่

  • คุณธรรมจริยธรรม (Ethics and Moral)
  • ด้านการมีความรู้ (Knowledge)
  • ด้านทักษะทางปัญญา(Cognitive Skills)
  • ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ (Interpersonal Skills and Responsibility)
  • ทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสารและการใช้เทคโนโลยี (Numerical Analysis, Communication and Information Technology Skills)




อย่างน้อยที่สุด เมื่อนิสิตได้เรียนรู้อะไร ก็ควรย่อมนำมาเปรียบเทียบหรือประเมินการเรียนรู้ของตนเองว่า “เปลี่ยนแปลง” อย่างสร้างสรรค์ตามกรอบทั้ง 5 ข้อมากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็ไม่ลืมบอกย้ำว่ามิใช่วิ่งตามลู่อันเป็นเกณฑ์ตามตัวชี้วัดแบบไร้ชีวิต แต่ต้องเข้าใจว่าตัวชี้วัดเหล่านั้น แท้จริงก็คือ ภาพสะท้อนของการพัฒนาชีวิตของนิสิต (ผู้เรียน) ดีๆ นั่นเอง หรือเป็นบรรทัดฐานพื้นฐานของการเป็น “บัณฑิตที่พึงประสงค์” ที่สังคมพึงปรารถนา –

นอกจากนี้แล้ว ยังได้หยิบยกเรื่อง “ค่านิยม 12 ประการ” มาแลกเปลี่ยนกับนิสิต เพื่อบ่งบอกหมุดหมาย หรือสถานะของการความเป็นปัจจุบันที่นิสิต (ผู้เรียน) ต้องทำความเข้าใจ ประหนึ่งการสะกิดให้นิสิตได้ตระหนักถึงสถานการณ์ปัจจุบันอันเป็นพื้นฐาน หรือกระทั้งเส้นทางที่ “เรา” และ “เรา” กำลังดุ่มเดิน หรือแม้แต่ท่องทะยาน

  • มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
  • ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน
  • กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์
  • ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม
  • รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทย
  • มีศีลธรรม รักษาความสัตย์
  • เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตย
  • มีระเบียบ วินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่
  • มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ
  • รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
  • มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ
  • คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง



และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือการสื่อสารถึงกรอบแนวคิดขอ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” (3 ห่วง 2 เงื่อนไข) อันเป็นระบบและกลไกของการสร้างชีวิตและสร้างสังคมตามแนวทาที่ “พ่อหลวง” ได้พระราชทานให้กับคนไทยทั้งปวง เพื่อการรู้ตัวเอง พึ่งพาตัวเอง รู้เท่าทันต่อความผันผวนแห่งโลกและชีวิต รวมถึงการหยัดยืนด้วยทุนทางสังคมของตนเองอย่างมีสติและการเกื้อกูลกันและกัน มิใช่ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างช่วงชิงเพื่อการอยู่รอด จนหลงลืมมิตรภาพและความอาทรต่อกัน ได้แก่...

  • 3 ห่วง (ความพอประมาณ ความมีเหตุผล ความมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว)
  • 2 เงื่อนไข (ความรู้ และคุณธรรม)





เปิดประเด็น : หมุดหมายหลักของการเป็นนิสิต มมส

สำหรับประเด็นการจัดการเรียนรู้ว่าด้วยหมุดหมาย หรือเป้าประสงค์ของการพัฒนานิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สู่การเป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์นั้น ผศ.ดร.ฉันทนา ฯ ได้สื่อสารทำความเข้าใจอย่างชัดแจ้งในประเด็นสำคัญๆ เช่น

  • ปรัชญามหาวิทยาลัย (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน)
  • เอกลักษณ์มหาวิทยาลัย (เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน)
  • อัตลักษณ์นิสิต (เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุนชน)





นอกจากนั้นก็เติมเต็มด้วย “ค่านิยมของการเป็นนิสิต” ผ่านวาทกรรม MSU FOR ALL : พึ่งได้ อันหมายถึงการสามารถพึ่งตนเองได้ และเป็นที่พึ่งของผู้อื่น ประกอบด้วยสาระสำคัญ ดังนี้

  • M : Morality ได้แก่ คุณลักษณะของการเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และความ ดีงาม ประกอบด้วยการระพฤติดี มีวินัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม น้อมนำใจปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียง
  • S : Social Responsibility ได้แก่ คุณลักษณะของการเป็นผู้ที่มีวินัย มีความ รับผิดชอบต่อตนเองและสังคม
  • U : Unity ได้แก่ คุณลักษณะของการเป็นผู้ที่มีความรัก ความสามัคคี มีน้ำใจ





เหนือสิ่งอื่นใด

ถึงแม้การเรียนรู้ในชั่วโมงดังกล่าวนี้ ดูเหมือนจะมุ่งเน้นการบรรยายภาคทฤษฎีเป็นหลัก เพราะเป็นกรอบแนวคิดพื้นฐานของการเรียนรู้ที่ผูกโยงกับทิศทางของการพัฒนานิสิต (ผู้เรียน) สู่การเป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์ ทั้งในระดับชาติและในระดับ “มมส” อันหมายถึงมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

หรือการตอกย้ำให้นิสิต (ผู้เรียน) ได้เข้าใจถึงจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ในวิชาการพัฒนานิสิตและวิชาภาวะผู้นำที่มุ่ง “พัฒนาให้นิสิตเป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์” ผ่านฐานคิดสำคัญๆ ของการเรียนรู้ที่บูรณาการระหว่างกิจกรรมในหลักสูตรกับกิจกรรมนอกหลักสูตร คือ

  • ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner-Centered)
  • เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Learning by doing)
  • เรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน (Activity-Based Learning) หรือเรียนรู้คู่บริการ (Service Learning)



ซึ่งประเด็นต่างๆ ที่บรรยายในวันนี้ล้วนแล้วแต่จะถูกนำไปขยายเป็นเนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้ในชั่วโมงถัดๆ ไป ดังนั้นเนื้อหาที่บรรยายในวันนี้ จึงเป็นเสมือน “เสบียงความรู้” ที่นิสิตต้องนำติดตัวไปเป็นต้นทุนในการเรียนรู้ในห้วงเวลาของพรุ่งนี้และถัดๆ ไป ซึ่งเป็นได้ทั้งวิชาชีพ และวิชาชีวิต –

ว่าไปแล้ว - วิชาการพัฒนานิสิตและวิชาภาวะผู้นำ หรือกระทั่งเนื้อหาที่บรรยายทั้งหมดล้วนเป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งบ่มเพาะเรื่อง "จิตอาสา-จิตสาธารณะ" หรือกระทั่ง "อาสาสมัคร" แก่นิสิต (ผู้เรียน) ขนานแท้ สอดรับกับปรัชญาการศึกษาไทย และปรัชญาของ มมส อย่างไม่ต้องกังขา

ขึ้นอยู่กับว่า นิสิต (ผู้เรียน) จะใส่ใจและให้ความสำคัญกับการเรียนรู้อย่างจริงจังและจริงใจแค่ไหนเท่านั้นเอง



ภาพ : ทีมกระบวนกร และนิสิตจิตอาสา Kamonrat Leethahan




หมายเลขบันทึก: 602598เขียนเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2016 17:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2016 18:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชื่นชมครับ

อยากเห็นงานจิตอาสา

จากปัญญาชนที่เข้มแข็ง

คงต้องช่วยกันหลายๆแรงนะครับ

หล่อหลอมสร้างอัตลักษณ์ให้ มมส. และสังคมไทย อย่างมีความหวังนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท