​จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๕๕ : ชีวิตกับวรรณศิลป์


Rita Sharon เขียนตำราเล่มหนึ่งชื่อ Narrative Medicine เนื้อหาเกี่ยวกับ "เรื่องเล่า และ/หรือ การเล่าเรื่อง" กับการแพทย์ โดยพื้นฐานมีจุดเริ่มต้นที่อันว่าความสุข หรือความทุกข์ของคนนั้น ส่วนหนึ่งก็เกี่ยวกับว่าคนเรา "เล่าชีวิต" ของเราอย่างไร และการเล่าชีวิตของคนนั้นไม่ได้เล่าแต่เพียงเรื่องทางกายอย่างเดียว ที่มนุษย์จะรับรู้ทางผัสสะทั้งห้า แต่ยังประกอบหรือปรุงแต่งด้วยความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมภายนอกกับสิ่งแวดล้อมภายในเรา ออกมาเป็นผลิตผลแห่งสุขภาวะอันเป็นองค์รวม (holistic) คือ "สุขภาวะอันเป็นองค์รวมนั้น มีค่ามากกว่าผลรวมของส่วนย่อยต่างๆ" พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ ถ้าหากร่างกายเราประกอบด้วยศีรษะ ลำตัว แขนขา ต่อให้ศีรษะเราสุขภาพดี ลำตัวเราก็ดี แขนขาเราก็สมบูรณ์ แต่ความสุขทุกข์ของเราก็ใช่ว่าจะต้องดีไปตามผลรวมของอวัยวะต่างๆของเราไม่ สุขทุกข์ของเรายัง "กระเพื่อม" ไปตาม "เรื่องราว" ชีวิตของเราอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวก็หัวเราะ เดี๋ยวก็ร้องไห้ เดี๋ยวก็เศร้า เดี๋ยวก็ตื่นเต้นตกใจ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราไปชมภาพยนต์เรื่องหนึ่งๆ ในเวลาแค่ชั่วโมงสองชั่วโมง สุขภาวะเราก็เปลี่ยนแปลงได้หลากหลายในแต่ละนาทีที่ผ่านไป เป็นเพราะ "เรื่องราว" ที่เหนี่ยวนำความรู้สึกของเรานั่นเอง

ก็มีการประกวดตัดสินภาพยนต์ เช่นรางวัล Academy Award หรือรางวัลลูกโลกทองคำ ที่ผู้กำกับ คนเขียนเรื่อง นักแสดงนำ และนักแสดงประกอบ ไปถึงคนแต่งเพลง ฯลฯ สามารถ "สัมผัสและโน้มน้าวอารมณ์" คนดู และนำเสนอข้อคิด ความเห็นที่ต้องการจะสื่อได้อย่างลึกซึ้งที่สุด บ่อยครั้งที่ความเห็นเหล่านี้ก็ไม่ได้ไปด้วยกันร้อยเปอร์เซนต์ อาจจะมีขัดตาขัดใจคนมากมายหลายกลุ่ม ก็เพราะคนเราแต่ละคนนั้น "เล่าเรื่องไม่เหมือนกัน" การตัดสินเรื่องแบบนี้ซึ่งเป็น subjective (อัตตวิสัย) ซะเยอะ ก็แปรไปตามมุมมองของคนไปด้วย

ในทางการแพทย์ก็มี "เรื่องเล่า" มากมาย เรื่องเศร้า เรื่องสุข เรื่องประทับใจ ฯลฯ อาจจะแตกต่างจากวรรณกรรม วรรณศิลป์อื่นๆตรงที่ว่า "ทุกๆเรื่องเป็นเรื่องจริง" มีผู้คนที่สุขจริงๆ ทุกข์จริงๆ ประทับใจจริงๆ และมีผลกระทบต่อชีวิตและเลือดเนื้อจริงๆ นั่นคือ เกิดก็เกิดจริง เจ็บก็เจ็บจริง และตายก็ตายจริง ความทุกข์ที่เกิดจากความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้น ไปกระทบต่อ "เรื่องเล่าชีวิต" ของคนไข้จริงๆ ต่อสิ่งที่เขามี สิ่งที่เขาเป็น และสิ่งที่เขาสามารถกระทำได้ เรื่องเล่าที่เกิดขึ้นในวงการแพทย์จึงมีพลังงานมากมายนัก ที่คนที่เข้ามาสัมผัสสามารถที่จะเลือก หรือชีวิตสามารถที่จะถูกกระทบโดยพลังงานเหล่านี้ในรูปแบบต่างๆกัน

ในขณะที่ถ้ามองแบบวิชาการ วรรณศิลป์อันเป็นศิลปศาสตร์แห่งการใช้คำ เรียงร้อยเป็นประโยค เป็นย่อหน้า เป็นเรื่องราว กระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิด และเราพอจะสามารถจัดลำดับทักษะการใช้ภาษาเหล่านี้ได้ว่าใครเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเลือกและเรียงร้อย แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นทางการแพทย์จะไม่ได้มีเฉพาะมิติด้านวรรณศิลป์เท่านั้นที่แฝงอยู่ แต่มีมิติของ "พลังชีวิต" ของการ "เล่าชีวิต" ความมุ่งมั่น ความเสียสละ การให้ความหมายของชีวิตของตนเองและต่อสิ่งที่ตนเองให้ความสำคัญ ของความกล้าหาญในการเผชิญกับความจริงที่เจ็บปวด ความพรากจาก ความหวัง นั่นคือ "องค์รวมแห่งความเป็นมนุษย์" การที่จะ "จัดลำดับ" เรื่องเล่าทางการแพทย์จะแทบเป็นไปไม่ได้เลยว่าจะทำได้อย่างไร หรือโดยใคร เพราะในทันทีที่เราจะทำเช่นนั้น เรากำลังเอา "มาตรฐาน" อะไรบางอย่างอันเป็นสิ่งสมมติ ไปบอกว่าเรื่องราวไหน "ดีกว่า" เรื่องราวไหน

เป็นความอหังการประการหนึ่ง

อักษรที่เขียนด้วยลายมือโย้ๆเย้ๆ สะกดผิด สะกดถูก ก็แฝงไปด้วย "ชีวิต"
อักษรที่พูดสั้นๆห้วนๆด้วยความเจ็บปวด ก็เป็นความเจ็บปวดของ "ชีวิต"
อักษรแห่งความเจ็บช้ำน้ำใจ ก็เป็นการร้องหาการได้ยินของ "ชีวิต"
อักษรแห่งความภาคภูมิใจ ซาบซึ้งใจ ก็เป็นต้นทุนแห่ง "ชีวิต"
อักษรที่จารึกด้วยดินสอ ปากกา พิมพ์ ก็เรียงร้อยจาก "ชีวิต"
เรื่องเล่าที่ไม่ได้ถูกจารึกขีดเขียน แต่เป็นคำครวญครางหวลไห้ก็จาก "ชีวิต"
เรื่องราวสั้นๆไม่กี่บรรทัด ก็อาจจะเป็นเพราะความสั้นที่มีอยู่ของ "ชีวิต"
เรื่องราวที่ยาวหลายหน้ากระดาษ ก็อาจจะเป็นเรื่องย่อของความทุกข์ทรมาณแห่ง "ชีวิต" ที่ไม่อาจจะพรรณาได้จบหรือครบ

ทุกเรื่องมีค่าเหนือคณา และวิชาชีพแพทย์นั้นมีอภิสิทธิ์ที่จะได้สัมผัสกับเรื่องราวเหล่านี้ มีค่าขนาดที่ว่าเราอาจจะไม่ควรจะไปตัดสินหรือจัดลำดับเรื่องราวชีวิตที่เราได้มีอภิสิทธิ์ได้ยินได้ฟัง แต่ให้ศิโรราบต่อทุกๆเรื่องราวที่เข้ามากระทบกับชีวิตของเรา เคารพในเรื่องราวเหล่านั้น และเรียนรู้จากเรื่องราวเหล่านั้น

น.พ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันจันทร์ที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ เวลา ๑๓ นาฬิกา ๖ นาที
วันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะแม

หมายเลขบันทึก: 602587เขียนเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2016 13:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2016 13:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท