ยุทธศาสตร์นักจัดการความรู้ : ๒๐. สรุปและ AAR (จบ)



บันทึกชุด “ยุทธศาสตร์นักจัดการความรู้” นี้ ถอดความจากหนังสือชื่อ Designing a Successful KM Strategy : A Guide for the Knowledge Management Professionals เขียนโดย Stephanie Barnes and Nick Milton ที่ปรึกษา KM มากประสบการณ์

บันทึกตอนที่ ๒๐ นี้ ได้จากการตีความบทที่ 20 Final Words และจากการไตร่ตรองสะท้อนคิด (Reflection / AAR) ของผม

สรุปได้ว่า ยุทธศาสตร์การจัดการความรู้มีเป้าหมายใหญ่ คือให้ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ ทุกคน มีความรู้ที่สำคัญยิ่งยวดต่อการตัดสินใจทำหน้าที่ของตน ไว้ใช้งาน เพื่อการตัดสินใจที่ส่งผลให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย และมีความยั่งยืน คือนอกจากบรรลุเป้าหมายผลประกอบการหลักแล้ว องค์กรยังมีการเรียนรู้ และปรับตัวเพื่อความต่อเนื่องและยั่งยืนได้

หัวใจของกิจกรรม KM คือ ให้มั่นใจว่า ผู้มีหน้าที่ (อำนาจ) ตัดสินใจ ในทุกระดับ ภายในองค์กร มีและเข้าถึงความรู้ที่สำคัญยิ่งยวดต่อการตัดสินใจนั้น ซึ่งหมายความว่า การตัดสินใจนั้นเริ่มตั้งแต่ระดับล่างสุดคือคนหน้างาน ไล่ขึ้นไปจนถึงผู้บริหารสูงสุด และบอร์ด ที่ควบคุมกำกับองค์กร โดยที่ความรู้ที่สำคัญยิ่งยวด (critical knowledge) ของคนแต่ละระดับ แต่ละบทบาท ไม่เหมือนกัน

ระบบ KM มีหน้าที่ ทำให้มีการแสดงบทบาท (roles), มีกระบวนการ (process), มีเทคโนโลยี, และมีการกำกับกติกา (governance) อย่างถูกต้อง เพื่อให้มีการค้นหา ตรวจจับ และถ่ายทอดความรู้ ขององค์กร รวมทั้งมีการจัดการการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร สู่วัฒนธรรมให้คุณค่าความรู้

งานส่วนที่ยากที่สุดของ KM คือ การจัดการการเปลี่ยนแปลง โดยส่วนที่ยากคือการเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์ และนั่นคือหัวใจของหนังสือเล่มนี้

บทความชุด ยุทธศาสตร์นักจัดการความรู้ ชุดนี้ ช่วยไขเคล็ดลับของการใช้ KM ให้เกิดผลต่อองค์กร ในระดับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร หรือเปลี่ยนในระดับรากฐาน ที่ผมเรียกว่าเป็น transformation ซึ่งลึกกว่า change มาก

ผลของการดำเนินการตามบันทึกชุดนี้ จะได้เอกสาร ๒ ชุด คือเอกสารยุทธศาสตร์ กับเอกสารแผนดำเนินการ สำหรับเอาไว้ใช้ตรวจสอบและอ้างอิงตลอดการเดินทางของการประยุกต์ใช้ KM อย่างน้อยก็ในช่วง ๒ - ๓ ปีแรก โดยที่ต้องหมั่นตรวจสอบและปรับปรุง จากการเรียนรู้ในกระบวนการลงมือประยุกต์ KM เอง

บันทึกชุดนี้ เน้นให้ผู้คิดยุทธศาสตร์ KM คิดใหญ่ คิดเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์และเป้าหมายหลักขององค์กร มุ่งใช้ KM เพื่อตอบสนองความต้องการขององค์กร ในการบรรลุเป้าหมายหลัก

ร้อยละ ๘๐ ของกิจกรรม KM ล้มเหลว ซึ่งหมายความว่าไม่ส่งมอบผลงานที่ผู้บริหารระดับสูงต้องการ และเหี่ยวเฉาล้มเลิกไปในที่สุด หากดำเนินการตามแนวทางที่แนะนำในบันทึกชุดนี้ กิจกรรม KM จะอยู่ในร้อยละ ๒๐ ที่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งหมายความว่า ส่งผลดีต่อผลประกอบการหลักขององค์กร และเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร เป็นองค์กรเรียนรู้ ให้คุณค่าต่อความรู้ที่เกิดจากการทำงาน และนำความรู้นั้นไปใช้ปรับปรุงงานในทุกระดับ

ข้อไตร่ตรองสะท้อนคิดของผม หลังอ่านหนังสือและตีความเขียนบันทึกทั้ง ๒๐ ตอนนี้คือ ที่ผ่านมาสังคมไทยเรายังใช้ KM แบบไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เรามักจะกระโจนลงไปที่เครื่องมือ KM และมักเลือกทำในหน่วยงานย่อยที่มีความพร้อม โดยไม่ได้ทำกระบวนการพัฒนายุทธศาสตร์เสียก่อน KM ของไทยจึงมักไปไม่ถึงเป้าหมายใหญ่ตามที่ระบุในบันทึกชุดนี้ เพราะเราทำ KM ชุดเล็ก ทำตามที่ทำได้ ซึ่งตรงกันข้ามกับคำแนะนำในบันทึกชุดนี้ ที่แนะนำให้ทำ KM ชุดใหญ่ หาทางทำให้ได้ผล โดยมีช่วงจัดทำยุทธศาสตร์

บันทึกชุดนี้ทั้งชุด ๒๐ ตอน เป็นเรื่องการทำยุทธศาสตร์เท่านั้น ยังไปไม่ถึงการประยุกต์หรือลงมือปฏิบัติจริงๆ ซึ่งผมเชื่อว่า ถึงตอนนั้น ผู้เกี่ยวข้องจะได้เรียนรู้และฟันฝ่าอุปสรรค และค้นพบความเป็นจริงอีกหลายชุด เพราะผมเชื่อว่า ในทางปฏิบัติ บริบท (context) มีความสำคัญมาก บริบทของหน่วยงานไทย กับหน่วยงานอเมริกัน (ตามที่ผู้เขียนหนังสือมีประสบการณ์) แตกต่างกันมาก

ยุทธศาสตร์การจัดการความรู้ จึงเป็นเรื่องที่เรียนรู้ได้ไม่มีวันจบ ด้วยประการฉะนี้



วิจารณ์ พานิช

๒ ม.ค. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 602594เขียนเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2016 16:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2016 16:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท