ตามไปดูเขาแห่ผ้าขึ้นธาตุ(ตอนที่ ๒)


เช้าวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ที่ เรือนพักมลิวัลย์ โฮมสเตย์ ทุกคนเป็นผู้สูงวัยแน่นอนว่าย่อมตื่นแต่เช้ามืดกันทุกคน อาบน้ำแต่งตัวกันพร้อมแล้ว มีอาหารเช้าหลากหลายเตรียมไว้บริการตัวเอง โดยอาจารย์สมศักดิ์ กำลังใบ จัดหาไว้ให้รวมทั้งเพื่อน ๆ ชาวนครศรีธรรมราชของอาจารย์ดวงเดือน กำลังใบ ขอขอบพระคุณทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ บางคนทานไปเก็บภาพธรรมชาติรอบบ้านกับต้นไม้สวย ๆ ความสุขค่ะ ....ความสุข ...สุชใจค่ะ

เมื่อทุกคนพร้อมแล้ว ขึ้นรถเดินทางกลับชุมพร แวะชมภูมิปัญญาชาวบ้านในการทำขนมไทย ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ที่นี่ทำขนมโดยใช้ภูมิปัญญาจริง ๆ ไม่มีเครื่องทุ่นแรงใด ๆ ไร้เทคโนโลยี และคนที่ทำจะเป็นผู้สูงวัยทั้งนั้น ทำในครอบครัว ไม่มีตัวช่วยใด ๆ ขนมอร่อยที่สุด ไม่มีวางขายเพราะมีคนมาสั่งทำรับไปเป็นของฝาก หรือกินกันเองค่ะ

ระหว่างรอขนมที่สั่ง เขาทำสด ๆ ค่ะ ไปชมเครื่องเงินหน้าวัดพระธาตุ ได้ขนมแล้วเดินทางต่อ จุดหมายคือท่าศาลา บ้านอาจารย์จรัสศรี (ครูเก่าโรงเรียนสอาดเผดิมวิทยา) ซึ่งที่นั่นอาจารย์จรัสศรี เตรียมอาหารกลางวันไว้ต้อนรับ

อาจารย์จรัสศรีและครอบครัวให้การต้อนรับด้วยความดีใจ และอบอุ่น อาหารมีทั้งแกงที่แสนอร่อย น้ำพริกและปลา กุ้ง สด ๆ เพราะบ้านอยู่ติดทะเล มื้อกลางวันเรียบร้อยระหว่างที่เพื่อน ๆ เขาเจอกันและคุยกันด้วยความคิดถึง เราออกไปดูทะเล ทะเลยามกลางวันอากาศร้อน แดดแรง ลมแรง แต่สวย แม้คลื่นจะสูงค่ะ บ่ายแล้วทุกคนลาเจ้าของบ้านใจดี กลับขึ้นรถมุ่งหน้าไปวัดเจดีย์ ไอ้ไข่

เมื่อกล่าวถึงความเชื่อ และความศรัทธาซึ่งในแต่ละพื้นที่แต่ละภูมิภาคในประเทศไทยมีมากมาย หลายแบบแตกต่างกัน ซึ่งความเชื่อและความศรัทธาล้วนแล้วแต่มีประวัติความเป็นมาแทบทั้งสิ้น

ไอ้ไข่ หรือ ตาไข่เด็กวัดเจดีย์ ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลฉลอง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเมื่อพิจารณาโดยรอบบริเวณวัดแล้ว วัดเจดีย์ก็ไม่แตกต่างกับวัดทั่วๆไปในประเทศไทยแต่สิ่งที่แปลก และเป็นที่เคารพศรัทธา นับถือ ของชาวบ้านในละแวกนั้นและผู้คนทั่วสาระทิศคือ คือ ไอ้ไข่ วัดเจดีย์

ไอ้ไข่ วัดเจดีย์ หรือ ตาไขวัดเจดีย์ เป็นรูปไม้แกะสลักเป็นรูปเด็กอายุประมาณ 9 – 10 ขวบ สวมชุดลายพรางทหารสวมแว่นตาดำ ซึ่งมาจากสิ่งของที่ชาวบ้านที่นับถือศรัทธานำมาถวายแก้บน สังเกตบริเวณปากทางเข้าวัดจะมีรูปปั้นไก่ชนจำนนวนมากวางอยู่บริเวณใกล้กับปากทางเข้าวัดและใกล้ๆกันมีร่องรอยการจุดประทัด เศษชิ้นส่วนของประทัดกองอยู่เป็นเนินสูงและมีผู้คนเข้าออกมาไหว้พระและต่อด้วยไหว้แก้บนกับรูปแกะสลักไอ้ไข่ จุดประทัดกันอยู่เนื่องๆ นั้นคงแสดงถึงเหตุผล หรือความเชื่ออะไรบ้างอย่าง ?

นาย เรียม ผิวล้วน ชาวบ้านอยู่ในละแวกใกล้เคียงกับวัดเล่าให้ฟังว่า วัดเจดีย์เมื่อก่อนเป็นวัดที่รกร้างมาประมาณ 1,000 ปี แล้ว ได้บูรณะใหม่เมื่อปี่ พ.ศ. 2500 ซึ่งที่ ที่กำลังก่อสร้างอุโบสถอยู่นั้นเมื่อก่อนเป็นเจดีย์รกร้างชาวบ้านไม่กล้าเข้าไป

ส่วนประวัติของ ไอ้ไข่ วัดเจดีย์ หรือ ตาไข่วัดเจดีย์ ทำไมถึงเรียกเชื่อแตกต่างกัน? ได้รับคำตอบว่าเมื่อพิจารณาอายุของไอ้ไข่แล้วอายุหลายปีแล้ว ชาวบ้านเชื่อว่าคงไม่เหมาะสมที่ลูกหลาน เด็กรุ่นใหม่จะเรียก “ไอ้ไข่” สมควรเรียก “ตาไข่” ซึ่งน่าจะเหมาะสมกว่า

มีการเล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนว่า สถานที่ตั้งวัดเจดีย์ปัจจุบันนั้นเมื่อก่อนได้มี หลวงปู่ทวดซึ่งเป็นเกจิอาจารย์ดังสายปักษ์ใต้ได้มาปักกรด เดินธุดงค์ อยู่บริเวณนั้น ส่วนไอ้ไข่ นั้นเชื่อว่าเป็นวิญญาณเด็กอายุประมาณ 9 – 10 ขวบเป็นลูกศิษย์ซึ่งติดตามหลวงปู่ทวด เมื่อหลวงปู่ทวดมาถึงสถานที่ดังกล่าวกลับพบว่ามีทรัพย์สมบัติ และ ศาสนสถานที่สำคัญเป็นจำนวนมากซึ่งได้ให้ ไอ้ไข่ สิงสถิตเฝ้าทรัพย์สมบัติดังกล่าว ณ ที่นั้น และหมู่บ้านนั้นภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “หมู่บ้านโพธิ์เสด็จ” จวบเท่าปัจจุบัน

หลังจากปี พ.ศ. 2500 ผู้ใดที่เข้ามานอนพักข้างแรมภายในบริเวณวัดเจดีย์ถ้าไม่เอ่ยชื่อ หรือบอกล่าว หรือขอขมาต่อไอ้ไข่แล้ว จะนอนไม่ได้ มีการก่อกวนทั้งคืนเช่น เมื่อทำท่าจะหลับจะมีเด็กเอามือมาตีศรีษะบ้าง ดึงขา ดึงแขนบ้าง ก่อกวน ตามประสาแบบเด็กๆทั้งคืน

เมื่อปี พ.ศ. 2526 พ่อท่านเทิ่ม ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์ในขณะนั้นได้จัดสร้างเหรียญบูชาไอ้ไข่ เป็นรุ่นแรก พร้อมกับพัฒนาวัดเรื่อยมาแต่ในพื้นที่ขณะนั้นยังเป็น “พื้นที่สีชมพู” คือยังมีความเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ทางราชการจึงส่งทหารพรานประมาณหนึ่งกองร้อยมาตั้งฐานปฏิบัติการชั่วคราวที่วัดเจดีย์ ซึ่งก็ปรากฏการณ์เช่นเดียวกันคือ เมื่อทหารกำลังหลับรู้สึกว่ามีเด็กมาดึงขาบ้าง ดึงแขนบ้าง เอาปืนตีศรีษะบ้าง ผลักปืนให้ล้มบ้าง จนไม่ได้นอนทั้งคืน เมื่อรุ่งเช้าทหารพรานชุดดังกล่าวจึงได้ไปสอบถามชาวบ้านบริเวณใกล้ๆกับวัดเจดีย์พร้อมกับเล่าเหตุการณ์ดังกล่าวให้ฟังชาวบ้านฟัง ชาวบ้านละแวกนั้นรู้เรื่องราว และเกียติศักดิ์ของไอ้ไข่เป็นอย่างดีจึงได้บอกวิธีการแก้ไข คือ ก่อนกินข้าวหุงเตรียมอาหารต้องเอ่ยถึง ไอ้ไข่ซึ่งสถิตอยู่ ณ ที่นั้นด้วย หลังจากเมื่อทหารพรานชุดดังกล่าวได้ทำตามที่ชาวบ้านแนะนำแล้วคืนต่อมาก็ นอนหลับพักผ่อนกันอย่างสบายเนื้อ และสบายใจ ปราศจากการรบกวนของเด็ก

ซึ่งลุงเรียม ยังกล่าวเน้นคำว่า สัจจะ เป็นเรื่องสำคัญมากเท่าที่ประสบและเจอมาเมื่อบ่นบานศาลกล่าวอะไร ก็ต้องนำสิ่งของนั้นมาแก้บนด้วย แล้วลุงก็ตอบอย่างมั่นใจว่า “ขอให้ไหว้รับอย่างแน่นอน” ........ขอบคุณเจ้าของบทความนี้ค่ะ

แดดร้อน แต่จะเห็นคนมากันเยอะมาก รถหรู คนแต่งตัวดี ๆ หิ้วกล่องใส่ปะทัด กล่องใหญ่มาก มาแก้บนกัน เขาคงขออะไรแล้วได้ตามที่ขอ บริเวณวัดมีรูปปั้นไก่เป็นหมื่นเป็นแสน จัดไว้เป็นระเบียบเรียบร้อย ดูแล้วที่นี่มีระบบบริหารจัดการที่ดี แม้แต่ถนนทางเข้าวัดซึ่งเข้ามาไกลมาก แต่มีป้ายบอกตลอดทาง เป็นป้ายที่ดูง่าย มาตามป้ายก็ถึงวัด ออกจากวัดตาไข่เมื่อ ๑๕.๐๐ น. เลียบทะเลที่สิชล แวะนั่งพักผ่อนดูทะเล และฟังเสียงคลื่น

ทุกครั้งที่ได้ไอทะเล จะมีความสุข คงเพราะเราหายใจได้สูดอากาศบริสุทธิ์เข้าไปเต็มปอด ความเหนื่อย ความล้าจะหมดไป ทุกคนกลับขึ้นรถพกเอาความสุขมาเต็มปอด คราวนี้มุ่งตรงไปกินมื้อเย็นก่อนถึงชุมพร แวะร้านอาหารแถวตาปี "เรือนไทยซีฟูด" เป็นอาหารทะเลสด ๆ กุ้ง หอยนางรม ปูไข่ ทั้งหมดตัวโต ๆ มีปลาบ้าง อิ่มกันถ้วนหน้า กลับขึ้นรถกลับบ้านค่ะ

สามทุ่มครึ่งถึงบ้านโดยสวัสดิภาพ ขอบคุณเจ้าของโครงการนี้ที่ชักชวนให้ตามไปดูเขาแห่ผ้าขึ้นธาตุ และยังได้เห็นได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยเห็นเคยรู้....ขอบคุณอาจารย์ดวงเดือน อาจารย์สมศักดิ์ กำลังใบ และเพื่อน ๆ ของอาจารย์ดวงเดือน ที่ให้การต้อนรับและดูแลคณะเราเป็นอย่างดี


ขอบคุณค่ะ

หมายเลขบันทึก: 602470เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2016 07:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2016 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท