การสำรวจและปรับสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตรายที่บ้านโดยนักกิจกรรมบำบัด เพื่อป้องกันการล้ม


ปัญหาการล้มและการกลัวการล้มเป็นปัญหาที่น่ากลัวในผู้สูงอายุ เพราะไม่เพียงแค่จะทำให้เกิดการกลัวการล้ม ไม่กล้าทำกิจกรรมต่างๆแล้ว ยังอาจทำให้กระดูกสะโพกหัก ซึ่งอาจนำไปสู่ความตายได้

แล้วเราจะทำอย่างไรได้บ้าง ? ถ้าไม่อยากให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นกับคนใกล้ตัว ปู่ ย่า ตา ยาย …ของเรา

แต่ละคนมีวิธีการต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการให้อุปกรณ์ช่วยเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดการล้ม การฝึกการออกกำลังกายเพื่อคงความสามารถความแข็งแรงของร่างกาย (ดังที่ได้กล่าวไปในบทความการให้การรักษาทางกิจกรรมบำบัดในผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการกลัวการล้ม ดังลิ้งนี้ http://www.gotoknow.org/posts/602413) หรือการปรับสิ่งแวดล้อมที่มีความอันตราย เสี่ยงต่อการล้ม ดังที่จะกล่าวต่อในบทความนี้

สภาพแวดล้อมนับเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุเกิดการล้ม เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ไม่มีความเหมาะสมต่อการดำเนินชีวิต ดิฉันได้เจองานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งจะขอกล่าวถึงในบทความนี้

งานวิจัยชิ้นนี้มีจุดประสงค์เพื่อดูความเสี่ยงของสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายลดลงจากการไปสำรวจบ้านของผู้รับบริการของนักกิจกรรมบำบัด โดยใช้วิธีการทดลองแบบสุ่ม(Randomized Controlled Trial) โดยมีผู้เข้าร่วมงานวิจัย 530 คน อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 77 ปี ซึ่งเข้าร่วมงานวิจัยก่อนที่จะออกจากโรงพยาบาล การไปเยี่ยมบ้านของนักกิจกรรมบำบัดเพื่อประเมินถึงสิ่งที่เป็นอันตราย และควรได้รับการปรับเปลี่ยน โดยการศึกษาชิ้นนี้วัดผลออกมาโดยดูถึงการล้มน้อยลงหรือไม่ โดยมีการติดตามผลตลอด 12 เดือน ผลที่ได้คือ 36 %ของผู้เข้าร่วมกลุ่ม มีการล้มอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงที่ติดตามผล โดยเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม 45 % ผลของการรักษาแบบนี้ถือว่าได้ผลดี จากคำบอกเล่าของผู้เข้าร่วมกลุ่มที่มีการล้มหนึ่งครั้งหรือมากกว่าหนึ่งครั้งตลอดช่วงปีก่อนที่จะมาเข้าร่วมกลุ่มวิจัย ผลของงานวิจัยทำให้เห็นว่าการเยี่ยมบ้านของนักกิจกรรมบำบัด สามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงในการหกล้มของผู้สูงอายุ แต่อย่างไรก็ตามอาจจะไม่เกิดผลกระทบจากการปรับสภาพแวดล้อมด้วยตัวเอง การเยี่ยมบ้านโดยนักกิจกรรมบำบัดนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่จะทำให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตทั้งที่บ้านและสิ่งแวดล้อมภายนอกบ้านได้อย่างปลอดภัย

การปรับสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงภายในบ้าน

  • บริเวณพื้นที่มีเสื่อ ผ้ายาง ที่ทำให้มีความต่างระดับกับพื้น หากไม่ติดกับพื้นแน่หนา อาจก่อให้เกิดการสะดุดล้มได้ สามารถแก้ได้โดยติดกับพื้นให้แน่น หรือนำออก แล้วติดแผ่นกันลื่นแทน
  • พื้นลื่น สาเหตุพื้นลื่นไม่ว่าจะเป็นจากน้ำหก หรือพื้นผิวสัมผัสของพื้นกระเบื้อง ควรติดแผ่นกันลื่น เพื่อป้องกันปัญหาการลื่นล้ม
  • มีสิ่งของวางกีดขวางทางเดินภายในบ้าน ควรเก็บสิ่งของเหล่านี้ให้เรียบร้อย ไม่ให้วางขวางบนทางเดิน อาจเก็บใส่ตู้ หรือชั้นวางของ รวมถึงสายไฟที่ระโยงรยางค์ ควรเก็บให้เรียบไปกับฝาผนังบ้าน ป้องกันการสะดุดล้ม หรืออาจติดต่อช่างไฟให้มาเดินสายไฟให้เป็นระเบียบ
  • ขั้นบันไดและทางเดินมีแสงสว่างเพียงพอหรือไม่ หากแสงสว่างไม่เพียงพอ ทำให้ทัศนวิสัยในการมองลดลง เกิดความเสี่ยงมากขึ้นที่จะสะดุด/ลื่นล้ม
  • จมูกบันไดมีสีสันที่แตกต่างกับตัวบันไดชัดเจน เพื่อให้แยกได้ง่ายว่าเป็นทางต่างระดับ
  • บริเวณบันไดมีพรมเช็ดเท้า ควรนำออก แล้วติดแผ่นกันลื่นแทน
  • ราวบันไดชำรุด หรือมีราวบันไดแค่ข้างเดียว ควรมีราวบันไดทั้งสองข้าง และระดับความสูงสะโพก
  • วางของที่ใช้บ่อยไว้ให้ใกล้มือ ความสูงเหมาะสม หยิบใช้งานได้ง่าย(ระดับเอว)ไม่ต้องเอื้อมหยิบมากเกิน
  • เพิ่มราวจับบริเวณทางเดิน ที่ผู้สูงอายุใช้ทำกิจกรรมต่างๆบ่อย
  • ติดไฟหัวเตียงในบริเวณที่ เปิด-ปิดได้ง่าย เอื้อมถึงได้
  • ทางเดินระหว่างห้องน้ำไปห้องนอน มีแสงสว่างเพียงพอในตอนกลางคืน

ผู้อ่านทุกท่าน สามารถนำความรู้ในการปรับสภาพบ้านไปใช้ในการปรับสภาพบ้านให้เหมาะสมตามความต้องการของผู้สูงอายุที่บ้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ของแพง สามารถปรับ ประยุกต์จากของที่หาได้ในชุมชน ราคาถูก เช่นการนำไม้ไผ่มาติดเป็นราวจับ แทนราวเหล็ก , แผ่นกันลื่นที่หาได้ง่ายตามท้องตลาด เป็นต้น

ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี ลูกหลานก็สุขใจ

References : Robert G. Cumming, Margaret Thomas, George Szonyi, Glenn Salkeld, Elizabeth O'Neill, Christine Westbury, Gina Frampton

: คู่มือป้องกันการล้มในผู้สูงอายุ สสส., HITAP, มส.ผส.

หมายเลขบันทึก: 602466เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2016 05:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2016 05:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท