กิจกรรมบำบัดในผู้ป่วยสมองเสื่อม (Occupational Therapy in Dementia)


กิจกรรมบำบัด ในผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม

จากการสืบค้นโรคต่างๆที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุพบว่า ภาวะสมองเสื่อมเป็นโรคเรื้อรังที่พบมากในผู้สูงอายุโดยจะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้าน พฤติกรรม อารมณ์และความคิด บกพร่องด้านภาษา การคิด การรับรู้และการตัดสินใจความสามารถจะเสื่อมถอยลง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินกิจวัตรประจำวันและการดำรงชีพในบั้นปลายชีวิตของผู้สูงอายุ ดิฉันจึงได้สืบค้นวารสารวิชาการทีเกี่ยวข้องกับโรคดังกล่าวและได้ศึกษาดังนี้


เรื่องแรกคือ “The effects of a comprehensive rehabilitation program of Alzheimer’s Disease in a hospital setting” เป็นการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างในผู้ป่วย Alzheimer’s Disease ในโรงพยาบาล 50 คน อายุ 71-81ปี อายุโดยเฉลี่ย 76ปี โดยเป็น โรคสมองเสื่อมในระดับ เล็กน้อยจนถึงรุนแรง นำมาให้การบำบัดฟื้นฟูแบบ Reality Orientation Therapy (ROT) ซึ่งเป็นการบำบัดฟื้นฟูแบบกลุ่ม เป็นเวลา 17 เดือนในโรงพยาบาล จากการใช้แบบคัดกรอง Mini Mental State Examination (MMSE) เพื่อประเมินระดับความรู้ความเข้าใจ (Cognitive), การประเมินการทำกิจวัตรประจำวันและการประเมินสภาพจิตใจของผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังการให้การรักษาด้วย ROT พบว่าคะแนนเฉลี่ย MMSE และคะแนนเฉลี่ยการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยสูงขึ้น นอกจากนั้นการประเมินสภาพจิตใจของผู้ป่วยด้วย NeuropsychiatricInventory (NPI) ยังพบว่าสภาพจิตใจของผู้ป่วยดีขึ้นอีกด้วย


ภาพที่ 1 แสดงผลการประเมิน NPI ก่อนและหลังให้การบำบัดฟื้นฟู

หลังจากนั้นดิฉันก็ได้หาข้อมูลเพิ่มเติมในวิธีการดูแล ฟื้นฟูผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม จึงพบวารสารวิชาการเรื่อง “Cognitive stimulation therapy for people with dementia: cost-effectiveness analysis โดยทำการศึกษาในผู้ป่วยสมองเสื่อม ให้การบำบัดฟื้นฟูแบบ cognitive stimulation therapy (CST) ซึ่งเป็นการบำบัดฟื้นฟูแบบกลุ่มอีกเช่นเดียวกัน จำนวน 91 คน ได้รับการบำบัดฟื้นฟูแบบ CST และ 70 คน เข้ารับการรักษาแบบทางการแพทย์ทั่วไป เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่า การใช้ CST มีประสิทธิภาพมากกว่าการรักษาโดยทั่วไปเนื่องจากมีราคาที่ถูกกว่าอีกทั้งยังสามารถพัฒนา ความรู้ความเข้าใจ (Cognitive) และคุณภาพชีวิต (Quality of life) ของผู้ป่วยสมองเสื่อมได้

ดิฉันจึงเกิดความสงสัยว่า แล้ว ROT และ CST จะมีวิธีการปฏิบัติกับผู้ป่วยได้อย่างไร จึงได้ค้นหาวารสารวิชาการเพิ่มเติม เรื่อง “การฟื้นฟูสภาพผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม (Rehabilitation of Elders with Dementia) ในภาษาไทยได้ให้ความหมายของการบำบัดฟื้นฟูไว้ว่า การบำบัดด้วยการรับรู้ตามความเป็นจริง (reality orientation therapy; ROT) และการบำบัดด้วยการกระตุ้นการรู้คิด (cognitive stimulation therapy; CST) ซึ่งจากวารสารได้กล่าวถึงวิธีการบำบัดฟื้นฟูไว้ดังนี้

1. การบำบัดด้วยการรับรู้ตามความเป็นจริง (ROT) เป็นกิจกรรมบำบัดที่ช่วยส่งเสริมการรับรู้ความเป็นจริงเช่นวันเวลาสถานที่บุคคลพฤติกรรมการแสดงออกของตนเองและสิ่งแวดล้อมรอบตัวโดยมุ่งเน้น ให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้สิ่งต่าง รอบตัวใหม่อีกครั้งหนึ่งเป็นการให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่องและซ้ำไปซ้ำมาช่วยส่งเสริมความสามารถทางด้านการรับรู้การจดจำการโต้ตอบการฝึกความตั้งใจและสมาธิการรับความรู้สึกและการเคลื่อนไหวทำให้เกิดความมั่นใจและสามารถทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น

การบำบัดด้วยการรับรู้ตามความเป็นจริงทำได้หลายรูปแบบ อาจใช้สถานการณ์เหตุการณ์ประจำวันช่วยกระตุ้นผู้สูงอายุเช่น หนังสือพิมพ์ รายการทีวี ปฏิทินหรือบุคคล การทำกิจกรรมอาจทำเป็นกลุ่มหรือรายบุคคล ญาติหรือบุคคลรอบข้างอาจใช้การพูดคุยเหตุการณ์ประจำวัน หรือให้ข้อมูลในเรื่องเดียวกันในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เกิดการรับรู้ที่ถูกต้องการทำ ROT มักใช้ได้ผลในผู้สูงอายุที่มีอาการสมองเสื่อมเล็กน้อยถึงปานกลาง การจัดกิจกรรมกลุ่มจะมีจำนวนผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรม 4 รายขึ้นไปมักใช้กิจกรรมหลายๆอย่างร่วมกันและทำอย่างต่อเนื่อง

จากงานวิจัยพบว่า ผลของโปรแกรม ROT ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ที่มีการเสื่อมของการรู้คิดในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง คือมีคะแนน MMSE 14-25 คะแนนจัดผู้ป่วยเป็นกลุ่มเล็กๆกลุ่มละ 4 รายใช้เวลาทำกิจกรรมกลุ่มสัปดาห์ละ 5 ครั้งครั้งละ 1 ชั่วโมงเป็นเวลานาน 1 เดือนพบว่าโปรแกรม ROT ทำให้การทำหน้าที่ทางด้านการรู้คิดและความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยดีขึ้น โดยพบว่าผู้สูงอายุที่มีคะแนนการทำหน้าที่ทางด้านการรู้คิดต่ำ (วัดด้วยแบบทดสอบ MMSE) ตอบสนองต่อ ROT ได้ดีโดยในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ที่ต้องได้รับการรักษาด้วยยา cholinesterase inhibitor โดยเปรียบเทียบผลระหว่างกลุ่มที่ได้รับโปรแกรม ROT ที่บ้านร่วมกับยาและกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาเพียงอย่างเดียวสรุปได้ว่าการให้ ROT ร่วมกับยาช่วยบำบัดผู้ป่วยได้ดีกว่าการให้ยาเพียงอย่างเดียวและ ROT ช่วยให้การรู้คิดของผู้ป่วยดีขึ้น

2. การบำบัดด้วยการกระตุ้นการรู้คิด(CST) เป็นการส่งเสริมให้ใช้กระบวนการประมวลผลข้อมูลมากกว่าความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงเช่น กิจกรรมเกี่ยวกับ “ใบหน้า” จะมีคำถามให้ตอบว่า “ใครดูอ่อนที่สุด” มีการใช้ reality orientation boardหรือกระดานเตือนความจำ ที่แสดงทั้งข้อมูลส่วนบุคคลรวมทั้งชื่อกลุ่ม กระดานนี้มีไว้เพื่อเตือนให้จำชื่อและธรรมชาติของกลุ่มได้และช่วยในการสร้างความต่อเนื่องของกลุ่ม การทำกิจกรรมกลุ่มแต่ละครั้งจะเริ่มด้วยกิจกรรมอุ่นเครื่อง คือการออกกำลังกายเบาๆก่อนเริ่มต้นทำกิจกรรมอื่นๆที่กระตุ้นการรู้คิด, กระตุ้นความทรงจำในอดีต เช่น การระลึกถึงวัยเด็กและการกระตุ้นประสาทรับความรู้สึกหลายๆทาง (multi-sensory)

จากงานวิจัยพบว่า CST ในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมเป็นเวลา 7-8 สัปดาห์สัปดาห์ละ 2 ครั้งพบว่ากลุ่มทดลองที่เข้าร่วมโปรแกรมCST มีคะแนนการรู้คิดที่วัดโดย MMSEและ ADAS-Cog (Alzheimer’s DiseaseAssessment Scale-Cognition) และมีคุณภาพชีวิตสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับการรักษาทั่วไป นอกจากนั้นยังพบว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาต่ำกว่าอีกด้วย


เปรียบเทียบ ROT และ CST

แนวคิดและหลักการของ ROT และCST สามารถนำมาผสมผสานเข้าไปกับกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันได้


ภายในบ้านหรือห้องพักของผู้สูงอายุ ควรมีปฏิทินและนาฬิกาที่มองเห็นได้ชัดเจน สมาชิกครอบครัวควรพูดคุยกับผู้สูงอายุทุกวันเกี่ยวกับวันที่และเวลา เพื่อกระตุ้นการรับรู้วัน เวลาของผู้สูงอายุ ควรใช้โอกาสต่าง ๆ ในการพูดคุยเรื่องในอดีตเพื่อกระตุ้นความทรงจำ ควรให้ผู้สูงอายุได้ปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเองให้มากที่สุดตามความสามารถ และให้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ กับสมาชิกในครอบครัวเช่น การเตรียมอาหาร การดูรายการข่าว สารคดี หรือละครทางโทรทัศน์ และการซื้อของจ่ายตลาดเป็นต้น ร่วมกับการพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่ทำ บุคคลในข่าว และเรื่องราวที่ได้ดูและพบเห็น เพื่อให้ผู้สูงอายุได้โต้ตอบและแสดงความคิดเห็น และผู้สูงอายุที่อ่านหนังสือได้ ควรให้อ่านหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ตามความสนใจ เพื่อคงไว้ซึ่งความสามารถเกี่ยวกับการใช้ภาษา และสิ่งที่อ่านยังช่วยกระตุ้นความคิดของผู้สูงอายุได้ สำหรับในชุมชนควรมีการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ชมรมผู้สูงอายุ ชมรมแม่บ้าน หรือกลุ่มอื่น ๆ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นทำให้มีการคิดโต้ตอบ มีการระลึกถึงความทรงจำทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ซึ่งช่วยส่งเสริมการทำงานของสมองในส่วนของการรู้คิด และทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น


สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่

The effects of a comprehensive rehabilitation program of Alzheimer’s Disease in a hospital setting

http://content.iospress.com/articles/behavioural-n...

Cognitive stimulation therapy for people with dementia: cost-effectiveness analysis

http://bjp.rcpsych.org/content/188/6/574.short

การฟื้นฟูสภาพผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม (Rehabilitation of Elders with Dementia)

http://journal.hcu.ac.th/pdffile/jn-27/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%2010.pdf

หมายเลขบันทึก: 602456เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2016 01:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2016 02:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท